Skip to main content
sharethis


 



 


ลุ่มน้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมประมาณ 795,500 ตารางกิโลเมตร มีกำเนิดอยู่ที่ประเทศจีน โดยมีชื่อเรียกภาษาจีนว่า ลานชางเจียง  แม้ว่าแม่น้ำโขงจะเป็นเสมือนสายใยชีวิตของคน 2 ฟากแม่น้ำใต้ประเทศจีน แต่สำหรับจีนเองนั้น แม่น้ำโขงก็เป็นเพียง 1 ในแม่น้ำสายใหญ่ที่จีนมีอยู่ และพร้อมจะพัฒนาให้เป็นเขื่อนขนาดใหญ่หลายพันเขื่อน และนั่นก็คือที่มาของความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคนปลายน้ำใน ไทย ลาว และกัมพูชา ซึ่งประมาณการว่ามีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 60 ล้านคนและเป็นประชากรที่อาศัยแม่น้ำโขงเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงวิถีเกษตรกรรม


 


มหากาพย์แห่งเขื่อน ตำนานแห่งการพัฒนาจากยุคสงครามเย็น


ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้อำนวยการเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่าเขื่อนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนในภาคอีสานของไทยที่ถูกอธิบายมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีว่า คือหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่จะพัฒนาปะเทศนั้น แท้ที่จริงแล้ว โปรดสังเกตให้ดีว่ามันผุดขึ้นราวดอกเห็ด พร้อม ๆ ไปกับการสร้างฐานทัพในภาคอิสานของไทยในช่วงทศวรรษ 1960


 


ที่ไหนมีเขื่อน ที่นั่นมีฐานทัพอเมริกัน!!  นั่นหมายความว่า


 


ทศวรรษที่ 1960 องค์กรสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของสหรัฐ 2 องค์กรเข้ามาศึกษาและวางแผน "พัฒนา" เขื่อนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน แน่นอนว่านักสร้างเขื่อนมาพร้อมด้วยความเชื่อที่ว่า "การสร้างเขื่อนคือการสร้างชาติ" และความเชื่อเช่นนั้นก็ฝังอยู่ในหัวของชนชั้นปกครองไทยมานับแต่บัดนั้น


 


แม้ในระยะหลังภายในประเทศไทยเอง กระแสสร้างเขื่อนเพื่อสร้างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเพื่อระบบชลประทาน หรือสร้างเพื่อผลิตไฟฟ้า ได้ซบเซาลงไปเพราะ ถูกชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน และเอ็นจีโอ "จับได้" ว่า การสร้างเขื่อนไม่ได้ช่วยทั้ง 2 อย่างที่ผ่านมา เขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าหลายเขื่อนในภาคอีสานไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามประมาณการ และเขื่อนเพื่อการชลประทานก็ไม่ก่อประโยชน์แก่ภาคการเกษตร แต่การที่ธนาคารโลกอนุมัติการค้ำประกันเงินกู้ให้กับโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ในลาว เมื่อต้นปี 2548 เป็นคล้ายสัญญาณเตือนว่า อุตสาหกรรมสร้างเขื่อนไม่ได้ล้มหายตายจากไปจริง


 


ชัยณรงค์ให้ข้อมูลว่า ปลายปี 2548 กรมพลังงานทดแทนของรัฐบาลไทยได้รื้อฟื้นโครงการสร้างเขื่อนกันแม่น้ำโขง โดยว่าจ้างบริษัทปัญญาคอนซัลแต้นท์ให้ทำการศึกษาโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง 7 แห่ง ด้วยงบประมาณ 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และ "เขื่อนผามอง" ซึ่งเป็นโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงบริเวณจังหวัดเลย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็จะถูกนำมาปัดฝุ่นศึกษาเป็นโครงการแรก ๆ ....นี่เป็นสถานการณ์ฝั่งไทย


 


เขื่อนจีนเพื่อจีน


เมื่อแหงนขึ้นไปมองจีนซึ่งอยู่ต้นน้ำ จีนได้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำลานชาง (แม่น้ำโขง) ไปแล้ว 3 เขื่อน จากโครงการที่จะสร้างนับพันเขื่อน เพียงเท่านี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างก็แปรปรวนและส่งสัญญาณอันตรายมาแล้ว


 


เพียรพร ดีเทศ จากเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านริมฝั่งโขงต้องประสบปัญหาตลิ่งพังทำลายพื้นที่เกษตรกรรมริมฝั่งโขงไปจำนวนมาก และระดับน้ำที่ไม่ขึ้นลงตามธรรมชาติ ก็ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจไม่ได้ว่าควรจะปลูกพืชผลใด ๆ ต่อไปหรือไม่ เพราะวันนี้น้ำลด อีกวันหนึ่งน้ำอาจจะท่วม จากการเก็บข้อมูลเธอบอกว่าปัจจุบันนี้ การขึ้นลงของแม่น้ำโขงสัมพันธ์กับตารางเดินเรืออย่างเห็นได้ชัด


 


"เวลาที่เราพักอยู่ในรีสอร์ตเราจะได้ยินเสียงตลิ่งพังลงมาชัดเจน  ชาวบ้านบอกผมว่า ถ้าน้ำขึ้น ๆ ลง ๆ ตามฤดูแล้วตลิ่งจะแข็ง แต่การเปิดน้ำของเขื่อนจะทำให้ตลิ่งพัง" ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว. นครราชสีมา และ ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภาให้ข้อมูลเพิ่มเติม


 


อีกสิ่งหนึ่งที่จีนพยายามจะทำก็คือการระเบิดแก่งในลำน้ำโขง เพื่อเปิดทางให้กับเรือสินค้าจากจีนถ่ายเทสินค้าลงมาสู่ปลายลำน้ำโขงได้สะดวกยิ่งขึ้น....แต่ยังติดอยู่ที่คอนผีหลง ทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงราย ชาวบ้านของไทยยังไม่ยินยอม และทัดทานโครงการดังกล่าวมาได้เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว


 


"ถึงแม้ผมเป็นวุฒิสมาชิก ผมก็ไม่เขาใจว่าเชียงของเล็กนิดเดียวทำไมถึงโวยวายกันมากขนาดนี้ แต่เมื่อไปดูแล้วมันกลายเป็นภาพใหญ่ไป ถึงแม้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะมีแค่ 25,000 คน แต่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับปัญหาเอฟทีเอ การเดินเรือ และการใช้งบประมาณของประเทศไทย" ไกรศักดิ์ กล่าว


 


จีน-ไทย พี่ใหญ่ หรือผู้ร้ายแห่งลุ่มน้ำโขง


ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว. นครราชสีมา ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ กล่าวในการสัมมนา "ลุ่มน้ำโขง: วิกฤติ การพัฒนา และทางออก" ในวันที่ 25 ม.ค.ว่า ปัญหาของภูมิภาคนี้คือการที่ ไทยและจีน ต่างแย่งกันเป็นผู้ทรงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนั่นคือปัญหาน้ำท่วมปากของประเทศเล็ก ๆ อย่างลาวและกัมพูชา


 


แม้การสร้างเขื่อนของจีนจะสร้างปัญหา แต่การพูดออกมาโต้ง ๆ จากปากของประเทศเล็ก ๆ อาจไม่ส่งผลดีต่อเจ้าของปากนัก เพราะแม้จีนจะทำร้ายประเทศเล็ก ๆ ด้วยการตัดทอนพลังแห่งสายเลือดหล่อลี้ยงชีวิตเส้นใหญ่ แต่เมื่อเหลียวดูไทย พวกเขาก็ถูกขูดรีดจากราคาสินค้าที่สูงกว่าจีนมากมาย เช่น มอเตอร์ไซค์จากจีน ราคาหมื่นบ้านต้น ๆ ในขณะที่ประเทศไทยส่งมอเตอร์ไซด์เข้าไปขายในราคาเหยียบสามหมื่นบาท


 


ที่ดูน่ากลัวกว่านั้น ในระยะหลังดูเหมือนผู้นำของไทยเลือกที่จะร่วมมือกับจีนเพื่อแลกกับการเปิดช่องทางผู้กุมอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสิ่งที่ผู้นำไทยเอาไปแลกก็กระทบถึงวิถีชีวิตของคนในประเทศตัวเอง ผลจากการเปิดเสรีการค้าไทย-จีน ที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าไทยไม่ได้ดุลการค้าจากจีน ในขณะที่ภาคเกษตรของไทยก็ประสบปัญหาผลผลิตราคาตกเนื่องจากไม่อาจทานกระแสราคาสินค้าของจีนที่ถูกกว่าได้


 


"เวลานี้ ไทยไปประกบจีนแล้วอนุญาตให้จีนมีสิทธิมากขึ้นด้วยเพื่อให้ตัวเองเพิ่มศักยภาพในภูมิภาค เหตุการณ์ในวันนี้คงจะไม่รุนแรงหรือลำบากถ้าเราไม่มีนายกฯ ชื่อทักษิณ คน ๆ นี้ ไปแลกผลประโยชน์กับจีนและสิ่งที่ทำให้จีนย่ามใจก็คือการไปเซ็นเอฟทีเอ เรามีปัญหาก็เพราะความโลภของคน ๆ นี้ ความโลภที่จะครองความเป็นใหญ่ในภูมิภาคนี้"


 


เอกสารประกอบการสัมมนา หมายเลข 9  ที่แจกในการสัมมนา "ลุ่มน้ำโขง: วิกฤติ การพัฒนาและทางออก" บันทึกสิ่งที่อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้ย่ำเท้าเข้าแดนจีนเกือบทุกมณฑลพูดไว้ในการสัมมนาโครงการตลาดวิชา "ผู้คน แผ่นดิน และผืนน้ำ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2548 ตอบคำถามของอำนวยวิทย์ ธิติบดินทร์ นิสิตปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า....


 


"หนูอำนวยวิทย์ ก็ได้มาถามเมื่อคืนนี้บนโต๊ะอาหารว่า "จริงไหม ถ้าเผื่อจีนเขาจะส่งสินค้ามา เขาจะปล่อยน้ำออกจากเขื่อน พอเรือเขาลงมา ถ้าเผื่อเราจะส่งสินค้าขึ้นไป จีนก็จะปล่อยน้ำอีก ดันเรือของเราไม่ให้ขึ้นไป จริงไหม" ดิฉันก็อึ้งไปเหมือนกัน กลืนข้าวต้มไปหนึ่งคำ แล้วก็ตอบว่า "จริง" เท่าที่ดิฉันรู้จักจีน ดิฉันพูดได้ว่า "จริง" แล้วจีนก็ทำอย่างนั้นจริงๆ"...


 


ลุ่มน้ำโขง : วิกฤติ และทางออก


ดร. ศรีประภา เพชรมีศรี กล่าวในฐานะคนจัดงานสัมมนาว่าเมื่อเริ่มคิดนั้น ทางคณะผู้จัดงานได้เรียงประเด็นว่า "ลุ่มน้ำโขง วิกฤติ การพัฒนา และทางออก" แต่เมื่อเธอได้ฟังผู้ร่วมการสัมมนาหลายท่านแล้ว เธอคิดว่าผู้จัดงานต้องเรียงลำดับใหม่ "ลุ่มน้ำโขง การพัฒนา วิกฤต" ส่วนทางออกนั้น เธอยังไม่เห็นชัดว่าจะอยู่ตรงไหน


 


ในขณะที่ เตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว. เชียงรายบอกว่าเธอยังมีความหวังว่าประเทศลุ่มน้ำโขงแม่น้ำโขงจะสามารถจะพัฒนาไปด้วยกัน "...ให้แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำแห่งความรัก ดิฉันเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้"


 


ในมุมมองของ ส.ว. ไกรศักดิ์ เห็นว่าทางออกนั้นยังมี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการเมืองระหว่างประเทศ เขาให้ข้อมูลว่า เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนของไทยเองสามารถเจาะเข้าไปถึงผู้บริหารประเทศระดับรัฐมนตรีและวุฒิสภา และมีการจัดสัมมนานานาชาติปัญหาของประเทศในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ครั้งแรกก่อนการประชุมใหญ่ของ IUCN ในการสัมมนาครั้งนั้น ได้ขอให้จีนร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และในการประชุมใหญ่ของ IUCN  ประเทศกัมพูชาขอเอาเรื่องแม่น้ำโขงเข้าที่ประชุมใหญ่ของ IUCN ประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยกมือสนับสนุนทั้งหมด และที่ตามมาโดยไม่คาดหมายคือประเทศแถบละตินอเมริกาก็ยกมือสนับสนุนในประเด็นนี้


 


"อย่างไรก็ตามจีนได้ตอบโต้ว่าเป็นสิทธิของเขาที่จะสร้างเขื่อนในประเทศเขา แล้วยังภูมิใจอีกว่า เขาจะสร้างเขื่อนอย่างดี 3 ปี 5000 เขื่อน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทุกประเทศเล่ารายละเอียดและฟ้องในที่ประชุม และในที่สุดจีนวอล์กเอาท์ อย่างไรก็ตามผมขอเรียนว่าสิ่งที่ท่านได้ริเริ่มกันมาขณะนี้ 160 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม IUCN ได้ฟังแล้ว"


 


ท้ายสุดของการสัมมนาในวันแรก สมฤทธิ์ ฤาชัย พิธีกรมากอารมณ์ขันได้ตั้งคำถามแบบติดตลก แต่ชวนคิดว่า "ถ้าจีนสร้างเขื่อนและระเบิดแก่งแล้ว ที่หนองคายจะยังมีบั้งไฟพญานาคอยู่หรือเปล่า น่าคิดนะครับลุ่มน้ำโขงของเราถูกรุกรานโดยพญามังกรและพญาอินทรี นี่ยังไม่นับว่าเรายังมีซีอีโอเป็นไส้ศึกอีกด้วย แล้วพญานาคของเราจะยังอยู่ได้หรือเปล่า"


 


................................................................................................


หมายเหตุ


การสัมมนาวิชาการ "ลุ่มน้ำโขง วิกฤติ การพัฒนา และทางออก" จัดโดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,  มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมหอจดหมายเหตุไทย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net