ทัศนะปัญญาชนชายแดนใต้ เมื่อพูโลขอเจรจากับรัฐไทย

 

 

 

วันพุธที่ 25 มกราคม 2006 19:04น.

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 

การที่มีผู้อ้างเป็นตัวแทนขบวนการการพูโล ประกาศยุติบทบาทการต่อสู้เพื่อเอกราชปัตตานี และพร้อมจะเจรจากับรัฐบาลบาลไทยเพื่อให้พื้นที่ชายแดนภาคใต้เกิดความสงบสุข ในความเห็นของปัญญาชนในพื้นที่ ซึ่งอยู่กับสถานการณ์ความไม่สงบมาอย่างยาวนาน พวกเขามีความเห็นที่น่าสนใจ ทั้งที่เชื่อว่าเป็นเจตนารมณ์ของขบวนการพูโลจริง รวมทั้งมีผู้ที่เชื่อว่านี่คือการฉกฉวยโอกาส

 

ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งเป็นผู้ศึกษาเรื่องความมั่นคงมานาน วิเคราะห์ว่า เหตุแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ที่กลุ่มพูโลเคยอุปโลกน์ใครสักคนขึ้นมาเป็นหัวหน้าการเจรจา แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่หัวหน้าจริง บางกรณี เจ้าหน้าที่ไทยได้ไปพบปะสร้างความสัมพันธ์กับสมาชิกกลุ่มพูโล แล้วอาจจะออกมาปล่อยข่าวว่าพูโลอยากเจรจา หลอกว่าผู้ใหญ่ทางพูโลขอเจรจา ทั้งๆที่เราไปขอพบเอง ทำเป็นเรื่องใหญ่โต โดยความจริงแล้วมีการขัดแย้งกันภายใน อาจจะมีบ้างที่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจสามารถเข้าถึงทางสัมพันธ์กับกลุ่มพูโล แล้วอ้างว่าขบวนการจะเจรจา

 

"ต่อสู้กันมาขนาดนี้ คิดว่าพูโลคงไม่คิดจะเจรจามากกว่า จากข่าวที่ลงในเวบไซต์พูโล ก็ดูเหมือนว่าจะสนับสนุนให้ก่อความไม่สงบ และด่ารัฐบาลแรงๆ อยู่ดีๆจะมาเจรจาได้อย่างไร ดำเนินการมานานแล้ว ไม่มีนัยอะไรบ่งบอกว่าอยากเจรจา"

 

นอกจากนี้ เธอยังให้ความเห็นว่า การออกมาแสดงท่าทีว่าต้องการเจรจาของขบวนการพูโลครั้งนี้ ติดต่อผ่านใคร คนติดต่อเป็นใคร อาจจะเป็นเพียงสมาชิกซึ่งไม่ใช่ผู้นำกลุ่มที่แท้จริง อาจเป็นแค่การพบปะสมาชิกพูโลเท่านั้น

 

"ต้องชัดเจนว่าจะเจรจากับใคร ถ้าไม่ใช่ระดับแกนนำก็ไม่มีประโยชน์ ที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ก็ตอบถูกแล้ว เพราะมันไม่มีความชัดเจน อุดมการณ์ตรงไหน ทำแบบลับๆล่อๆ บางเหตุการณ์ออกมายอมรับว่าทำบ้างไม่ทำบ้าง เรื่องอย่างนี้ต้องให้ชัดเจนว่าใครขอเจรจา ผ่านใคร"

 

เช่นเดียวกับแนวความคิดของ นายวรวิทย์ บารู รองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี ที่เปิดเผยว่า กระแสข่าวครั้งนี้เป็นเพียงกระบวนการฉวยโอกาส

 

"ขบวนการพูโลมีอุดมการณ์อยู่ 6 ไม่ เช่นไม่ร่วมมือกับราชการ ไม่อพยพโยกย้าย และที่สำคัญคือ ไม่เจรจา โดยส่วนตัวคิดว่าพูโลเก่งด้านเทคนิค ถือโอกาสครั้งนี้มาสร้างราคาให้กับกลุ่มพวกเขาเอง การปฏิเสธ แม้ว่าจะไม่มีการเจรจาจริง ก็ถือว่ารัฐทำถูกต้อง เพราะไม่รู้ว่าจะเจรจากับใคร"

 

รองอธิการบดี ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ลักษณะการเจรจานี้ไม่รู้ว่าใคร จับต้องไม่ได้ กลุ่มปฏิบัติค่อนข้างใหม่ ซึ่งอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐไทย ไม่ควรจะคุยกันง่ายๆจนกว่าจะหยุดจริงๆ แต่กลุ่มนี้ไม่หยุด เพราะไม่ใช่ระดับแกนนำ

 

"ข้อต่อรอง น้ำหนักในเชิงการเคลื่อนไหว มองว่าอ่อน อยากต่อรองโดยยื่นข้อเสนอให้ถอนกำลังทหาร แล้วมาขอในช่วงที่รัฐบอกว่ารัฐได้เปรียบ ไม่รู้ว่าใคร ของจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ซึ่งเรื่องนี้ อีก 2-3วัน สามารถเช็คได้ไม่ยาก ว่ากระแสข่าวมาจากไหน น่าจะเป็นแท็คติคอะไรสักอย่าง ข้องใจว่าจริงหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆไม่ใช่แก่นของขบวนการแน่นอน"นายวรวิทย์วิเคราะห์ก่อนที่จะสรุปว่า

 

"การเจรจานั้นดี เพราะแสดงให้เห็นถึงสันติวิธี โดยส่วนตัวเห็นด้วย และต้องเจรจาในระบบทางกฎหมาย แต่ถ้าไม่ชัดเจนว่ากลุ่มไหน ก็ไม่ควรเจรจา เพราะเป็นเรื่องเกียรติภูมิ"

 

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการสันติวิธี กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ให้ความเห็นว่า รัฐต้องยอมรับการมีตัวตนของกลุ่มพูโล และแสดงเจตนาเพื่อเจรจา ทั้งนี้เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลมีแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลมักกล่าวอ้างว่าแก้ปัญหาถูกทาง แต่กลับไม่สามารถลดความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เลย การออกมาแสดงท่าทีต้องการเจรจากับรัฐบาลไทยครั้งนี้ จึงน่าพิจารณาให้โอกาส ส่วนข้อเสนอจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องขบคิดให้รอบคอบ

 

"สาเหตุที่ทางขบวนการพูโลต้องการจะเจรจานั้น อาจจะมาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่สามารถหาต้นตอของผู้ก่อความไม่สงบได้ ความสูญเสียเกิดขึ้นทั้งพุทธ มุสลิม การเจรจาจึงเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง รัฐควรนั่งเจรจาไม่ใช่มุ่งแต่จะเอาชนะ ส่วนเจรจาแล้ว สถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้จะสงบเลยหรือไม่นั้น ต้องใช้เวลาพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลและขบวนการพูโล"นายอัฮหมัดสมบูรณ์กล่าวและว่า

 

"ผมเห็นด้วยถ้าการเจรจาเกิดขึ้น ไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตาม แต่ต้องตั้งอยู่บนศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน"

 

ขณะที่ นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ อดีตประธานสหพันธ์ครู จ.ยะลา และเป็นส่วนหนึ่งใน กอส. มองสถานการณ์ครั้งนี้ว่า รัฐอ่านเกมว่ารัฐเป็นฝ่ายรุก และพูโลเพลี่ยงพล้ำทางการทหาร เสียกำลัง รัฐจึงไม่เจรจา ซึ่งการที่ภาครัฐพูดว่าไม่เจรจานั้นไม่เป็นผลดี

 

"ไม่ควรพูด เรื่องอย่างนี้ต้องพูดทางลับ พูดออกสื่อในทางการเมืองถือว่าเป็นผลเสีย ในขณะที่การออกมาของพูโล เป็นเพียงเทคนิคของขบวนการใต้ดินทั่วไป ที่เปิดเวทีให้เจรจา เพื่อสร้างระดับองค์กรเท่ากันแล้วสามารถทำให้รัฐเจรจา เป็นการรุกทางการเมือง แย่งชิงพื้นที่ให้องค์กรสากลเห็นว่ามีตัวตน และมีสถานภาพเท่าเทียมกับรัฐ เทคนิคอย่างนี้เป็นธรรมชาติของขบวนการใต้ดินอยู่แล้ว"

 

อดีตประธานสหพันธ์ครู วิเคราะห์ว่า ตามปกติการเจรจาจะทำแบบลับๆใต้ดิน จนกว่าจะมีความชัดเจนว่าเป็นผลบวกกับประเทศแล้วจึงจะออกมาพูดกับสื่อ การพูดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องของความมั่นคงแต่เป็นเรื่องของนักธุรกิจ

 

ทั้งนี้ นายประสิทธิ์ แนะว่า ตามประเพณีนิยม การจะเจรจากับองค์กรใต้ดินต้องอาศัยคนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี จึงเป็นไปไม่ได้ว่านายกรัฐมนตรีจะตอบรับการเจรจา ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีวัฒนธรรมในการเจรจาเป็นขั้นลำดับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท