Skip to main content
sharethis




 







บทความใน "มุมคิดจากนักเรียนน้อย" เป็นแบบฝึกหัดที่นักศึกษาทำเพื่อส่งผู้บรรยายในวิชาระดับปริญญาตรีของ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


แห่นางแมว: ฝนไม่ตก ก็สุขได้


 


 


ศรุต  โคตะสินธ์


คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสดูภาพยนตร์เรื่อง "ลูกอีสาน" ซึ่งสร้างมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ คำพูน บุญทวี 


 


อันที่จริงแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่ภาพยนตร์แนวที่ผมชอบดูเอาเสียเลย แต่เมื่อได้ดูแล้วผมรู้สึกไม่เสียดายเวลาเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะมันทำให้ผมได้แง่คิด และเข้าใจชาวบ้านในชนบทที่แห้งแล้งของอีสานมากขึ้น


 


"ลูกอีสาน" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวของเด็กชายคูนที่อาศัยอยู่ในชนบทที่แห้งแล้ง ทุรกันดารแห่งหนึ่งในอีสาน ครอบครัวของคูนและเพื่อนบ้านต้องเผชิญกับความอดอยากที่เกิดจากความแห้งแล้ง เพื่อนบ้านหลายคนได้อพยพไปยังที่อื่น แต่ครอบครัวของคูนและญาติ รวมไปถึงเพื่อนบ้านอีกจำนวนหนึ่งก็ยังคงปักหลักสู้ชีวิตต่อไปที่บ้านเกิด


 


ตัวภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวคูน และชาวบ้านคนอื่นๆ ว่าใช้ชีวิตอย่างไร หากินอย่างไร รวมไปถึงแสดงถึงประเพณีต่างๆ เช่น การทำบุญในวันศีล การแห่นางแมว


 


เมื่อมาถึงตอนแห่นางแมว ด้วยความที่ผมเป็นคนไม่เชื่อเรื่องที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ จึงคิดอยู่ในใจว่า จะแห่นางแมวไปทำไม มันไม่ช่วยให้ฝนตกลงมาได้หรอก แล้วแมวมันก็ไม่ชอบน้ำไม่ใช่เหรอ เอามันมาแบกไปทั่วหมู่บ้านนี่ทรมานสัตว์ชัดๆ


 


แล้วดูพวกชาวบ้านสิ น้ำไม่มีจะกินจะใช้แล้ว ยังเอามาสาดเล่นกันอีก


 


ในการแห่นางแมว จะจับเอาแมวตกแต่งเครื่องประดับโดยผูกคอแมวให้สวยงาม เอาแมวใส่เข่งหรือตะกร้าที่มีฝาปิด สอดไม้คานแล้วให้สองคนหาม จัดแต่ง "ขันห้า" คือ เอาดอกไม้ 5 คู่และเทียน 5 คู่ ใส่พานหรือขัน จากนั้นทำพิธีป่าวเทวดา เพื่อขอให้เทวดาดลบันดาลให้ฝนตก แล้วหามแมวไปตามละแวกหมู่บ้านจนทั่วทุกครัวเรือน เมื่อถึงบ้านใครก็สาดน้ำมายังขบวนแห่นางแมว แต่ระวังอย่าให้รดถูกแมว ขณะที่แห่แมวไปนั้นมีการว่าคำเซิ้งนางแมว และฟ้อนรำไปด้วยอย่างสนุกสนาน


 


ถึงแม้ผมจะเป็นคนที่ค่อนข้างยึดติดกับความคิดของตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่คนที่ไม่ยอมรับอะไรที่แตกต่างจากความคิดตนเองเลย หากการแห่นางแมวไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา ก็คงไม่มีการแห่นางแมวสืบต่อกันมาเป็นประเพณีเช่นทุกวันนี้


 


มีงานวิจัยเกี่ยวกับการแห่นางแมวได้ระบุว่า การแห่นางแมวเกิดมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านวัฒนธรรม 


 


ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมก็คือ ความแห้งแล้ง ส่วนปัจจัยด้านวัฒนธรรมก็คือ สังคมเกษตรจะมีลักษณะพึ่งพาตนเอง มีความเป็นชุมชนสูง และเคารพธรรมชาติ


 


กล่าวง่ายๆ ก็คือ เมื่อเกิดความแห้งแล้ง ชาวบ้านในชุมชนก็จะร่วมแรงร่วมใจกันแสดงออกซึ่งการเคารพในธรรมชาติ และอ้อนวอนขอให้ธรรมชาติเป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ โดยมี "เครื่องมือ" ก็คือ การ "แห่นางแมว" นั่นเอง


 


แห่นางแมวกลายเป็น "เครื่องมือ" อันทรงประสิทธิภาพเพื่อต่อสู้กับความแห้งแล้ง เพราะผลทางอ้อมที่ได้จากการแห่นางแมวก็คือ ความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันของชุมชน ที่ช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นภัยแล้งไปได้


 


ฉะนั้น "แห่นางแมว" แล้วฝนจะตกลงมาหรือไม่ จึงไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญมากนัก เพราะชุมชนก็จะอาศัยความสัมพันธ์อันเป็นพลังที่แข็งแกร่ง ในการรักษาชุมชนให้อยู่รอดไปตลอดภาวะภัยแล้ง


 


นอกจากนี้แล้ว การแห่นางแมวยังมีผลดีที่เห็นได้ทันทีนั่นก็คือ ความสนุกสนานจากการร้องรำทำเพลงไปกับขบวนแห่และการเอาน้ำมาสาด ชาวบ้านที่ต้องทำงานหนักมาตลอด ต้องสู้กับความแห้งแล้ง ต้องอดๆ อยากๆ การแห่นางแมวก็คงถือเป็นการพักผ่อน เป็นการคลายความเครียดจากการทำงานหนักชั้นดีเลยทีเดียว


 


ถ้าผมเป็นชาวบ้านผมคงนึกอยากจะให้มีการแห่นางแมวกันทุกวัน หากผมต้องทำงานหนักมาทั้งปี ต้องเผชิญกับความอดอยากแห้งแล้ง ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีกินหรือไม่ คงจะเป็นการดีไม่น้อยที่จะได้ทิ้งความเครียดไว้ข้างหลังชั่วคราว แล้วมาร่วมแห่นางแมวอย่างสนุกสนาน


 


ถึงแม้วันรุ่งขึ้นผมอาจจะไม่มีกิน แต่อย่างน้อยๆ วันนี้ผมก็ได้ร้องรำทำเพลง ได้สนุกสนาน ชีวิตท่ามกลางความแห้งแล้งเช่นนี้ หากมีความบันเทิงเข้ามาใกล้มือคงต้องรีบคว้าเอาไว้ก่อน


 


คนเมืองหลวงทำงานหนักเพื่อสร้างฐานะ เพื่อสะสมทรัพย์เอาไว้ไปใช้จ่ายซื้อความสุขให้กับตัวเองในภายภาคหน้า ความสุขของคนเมืองหลวงจึงอาจจะเป็นการได้เดินเที่ยว "สยามพารากอน" ในวันหยุด ได้ใช้จ่ายเงินที่หามาซื้อของในห้างหรู 


 


ชาวบ้านในชนบทแห้งแล้งของอีสานก็เช่นเดียวกันต้องทำงานหนัก แต่ไม่ใช่เพื่อสะสมทรัพย์ไปใช้ในภายหน้า หากเพื่อดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ในแต่ละวัน


 


ความสุขของชาวบ้านที่ได้จากการ "แห่นางแมว" คงเปรียบได้กับการเดินเที่ยว "สยามพารากอน" ของคนเมืองหลวงนั่นเอง


 


ไม่ต้องใช้เงินสักบาท ไม่ต้องรอวันหยุด แห่นางแมว... ฝนไม่ตกก็สุขได้


 












บทความทั้งหมด

 มุมคิดจากนักเขียนน้อย: อยู่ได้อย่างเป็นสุข (ในใจ)
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : กฎอัยการศึกฉบับป่าชุมชน

 มุมคิดจากนักเรียนน้อย:น้อมรับพระราชดำรัส พูดง่ายแต่ทำยาก

 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : แก้มลิง
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : Children of Heaven เรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : ชนะเลิศ...ได้ "ที่สาม"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net