Skip to main content
sharethis


 


ขณะที่ประเทศไทยกำลังเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคี หรือ เอฟทีเอ กับสหรัฐอย่างรีบเร่ง


 


หากไม่พลาดไปจากความต้องการของผู้กุมนโยบายประเทศ คาดว่า การเจรจาจะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายนนี้ และจะได้ลงนามในกลางปีเดียวกัน


 


แน่นอนว่า ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะสิทธิบัตรยา จะไม่ทำให้สหรัฐผิดหวัง


 


ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นที่ว่านี้จริง... ไทยจะต้องแก้กฎหมายขยายสิทธิบัตร จาก 20 ปี ออกไปเป็น 25 ปี เพื่อชดเชยกับความล่าช้าในการออกสิทธิบัตร


 


ต้องยอมให้บริษัทยาผูกขาดข้อมูลการทดลองยา ซึ่งจะส่งผลกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยของไทย ในการจัดหายาในวิกฤติสาธารณสุข


 


ต้องยอมออกสิทธิบัตรให้กับการวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค และให้คณะกรรมการอาหารและยาทำหน้าที่ตรวจสอบสิทธิบัตรก่อนขึ้นทะเบียนยา ฯลฯ


 


หากสำรวจองคาพยพในการออกสิทธิบัตรยา กับความพร้อมในการรับมือแล้ว ปรากฏการณ์ของข่าวที่ไม่ค่อยจะเป็นข่าว กรณีการขอสิทธิบัตรยาคอมบิด เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา สะท้อนภาพได้เด่นชัด


 


เมื่อตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย ประมาณ 10 คน ไปยื่นหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอคำชี้แจงจุดยืนของกระทรวงพาณิชย์ ต่อเรื่องการเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อเอชไอวี กรณีการขอสิทธิบัตรยาคอมบิด ของบริษัท Glaxo Smith Kline (GSK)


 


"คอมบิด (combid)" เป็นยาต้านไวรัส ชื่อการค้าของบริษัทแกล็กโซ สมิท ไคลน์ ที่เป็นสารผสมเภสัชกรรม ของ ลามิวูดีน(Lamivudine)+ แอแซดที(AZT) ซึ่งบริษัทยื่นจดสิทธิบัตรตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2540 โดยอ้างว่า เป็นของใหม่และมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ได้ยื่นคำร้องคัดค้าน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2543 เนื่องจากพบว่า ข้ออ้างของบริษัทในแง่กรรมวิธีผลิตโดยการนำสารทำให้ลื่น (glidant) เข้ามาผสม เพื่อลดการแยกตัวของส่วนผสมต่างๆ ในช่วงการอัดเม็ดนั้น


 


ในทางเภสัชกรรมถือว่าขั้นตอนดังกล่าว ไม่มีลักษณะเป็นการผลิตยาที่มีขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้นแต่อย่างใด


 


พูดง่ายๆ วิธีการนี้ในหลักสูตรปริญญาตรีก็เรียนกัน และคำขอทำนองเดียวกันนี้ก็ถูกปฏิเสธมาแล้วในประเทศอังกฤษ


 


แต่คำคัดค้านของมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ถูกปัดตกทั้งสองครั้ง


 


ที่สำคัญที่สุด องค์การเภสัชกรรมของไทยได้ผลิตยาสูตรนี้ออกจำหน่ายในประเทศไทยมานานแล้ว โดยมีราคาขายอยู่ที่ 1,500 บาท/เดือน เท่านั้น


 


ขณะที่ ยาคอมบิดที่มีสิทธิบัตรของบริษัทแกล็กโซ สมิท ไคลน์ ขายในราคา 8,346 บาท/เดือน โดยมีผู้ติดเชื้อในไทยใช้ยาตัวนี้มากกว่า 5,000 คน และยังส่งออกไปจำหน่ายประเทศเพื่อนบ้านด้วย


 


ดังนั้น การให้สิทธิบัตรแก่บริษัทแกล็กโซ สมิท ไคลน์ ครั้งนี้ นอกจากจะมีคำถามถึงศักยภาพในการตรวจสอบคำร้องเพื่ออกสิทธิบัตรแล้ว


 


ยังหมายถึงยาราคาถูกที่ไทยผลิตได้ จะต้องถูกกำจัดออกจากตลาดทั้งหมด ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก้ผู้ติดเชื้อทั้งในและต่างประเทศที่พึ่งพิงยาตัวนี้อยู่


 


ที่สำคัญยังจะทำให้ องค์การเภสัชกรรม ตกเป็นเป้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทแกล็กโซ สมิท ไคลน์ ย้อนหลังกลับไปได้ถึงปี 2540 ด้วย


 


คำถามจึงอยู่ที่ เหตุใดคณะกรรมการสิทธิบัตรจึงจะพิจารณาให้สิทธิบัตรแก่ยาคอมบิดแบบเงียบๆ เช่นนี้....


 


จากการตรวจสอบรายชื่อคณะกรรมการด้านยาที่พิจารณาเรื่องก่อนหน้าที่จะถูกส่งถึงมือคณะกรรมการสิทธิบัตร ได้พบประเด็นที่น่าสนใจ ในเชิงของผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่าง "กรรมการรายหนึ่ง" กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทแกล็กโซ สมิท ไคลน์


 


ขณะที่คำถามเรื่องความชอบธรรม ความโปร่งใส และผลประโยชน์ทับซ้อนกำลังดังในระดับชาติ นั่นหมายความว่า ระดับรองๆ ลงมาก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อย่างที่โบราณว่าไว้ หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก


 


คำถามท้าทายที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อทิ้งท้ายจดหมายที่มีถึงนายสมคิด...


 


กระทรวงพาณิชย์จะเป็นหน่วยงานที่เห็นแก่ประโยชน์และการเข้าถึงการรักษาของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของบริษัทยาข้ามชาติ โดยเฉพาะบางบริษัทที่มุ่งกอบโกยผลกำไรโดยไม่คำนึงถึงชีวิตคนหรือไม่


 


แต่งานนี้ "ดาร์กนิวส์" ขอบอกไว้ก่อนเลยว่า สนามหญ้าหน้ากระทรวงพาณิชย์ เหมาะสำหรับการตั้งแคมป์ผู้ติดเชื้ออย่างยิ่ง


 


แคมป์ "คอมบิดพัฒนา" จะยืดเยื้อและยาวนานกว่า "แคมป์ ddI พัฒนา" ที่ต่อสู้เพื่อเพิกถอนสิทธิบัตรยา ddI ของบริษัทบริสตอล-ไมเยอร์ สควิบบ์ (BMS) ซึ่งมาขอจดสิทธิบัตรในไทย


 


อันเป็นการต่อสู้ทั้งในศาลและนอกศาล เมื่อปี 2546 ที่ทำให้บริษัทบริสตอล-ไมเยอร์ สควิบบ์ ต้องยอมยกธงขาวขอคืนสิทธิบัตรในที่สุด...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net