Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้ร่วมกันจัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "ปัญหาชายแดนภาคใต้กับการสร้างสังคมสมานฉันท์ : มุมมองทางวิชาการไทยศึกษา"ที่ห้องประชุม ศ.ดร.หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


นายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน กอส. กล่าวปาฐกถานำ เรื่อง "ปัญหาชายแดนภาคใต้กับการสร้างสังคมสมานฉันท์" โดยมีตอนหนึ่งสรุปว่า การฆ่ากันตายทั้งคนที่เป็นไทยมุสลิมและคนไทยพุทธ เสมือนเป็นอาการของโรค ที่กำเริบหนึกขึ้นทุกวัน และต้องแก้ไขโดยรัฐ


 


เมืองไทยคืออะไร คนไทยคืออะไร


นายอานันท์อธิบายว่า ในเมืองสยาม ตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งมาเป็นกรุงเทพฯ ในช่วงราชวงศ์จักรกรี คนไทยมีเชื้อสายปนไปหมดทุกคน จะมีเลือดแตกต่างกันไป มีเลือดลาว มีเลือดเขมร มีเลือดพม่า มีเลือดไทยใหญ่ มีเลือดจีน มีเลือดแขกฮินดู มีเลือดแขกมุสลิม ตัวพื้นที่ก็เปลี่ยนไป องค์ประกอบของคนที่อยู่ในสังคมก็เปลี่ยนไป


 


อย่างสามจังหวัดภาคใต้นั้นก็มีลักษณะพิเศษ คนที่อยู่ในพื้นที่เก่าแก่ เป็นกลุ่มคนมลายู อาจจะมีคนเลอยู่แถวนั้น พวกเราเองส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานคนที่อยู่ดั้งเดิม กับคนที่อพยพมาจากเมืองจีน มาจากเขมร พม่า โปรตุเกส ญี่ปุ่น มีการอพยพลี้ภัยต่างๆ จากปัญหาเศรษฐกิจในบ้านเมืองเขา มันก็เหมือนประเทศอื่นที่ไม่รู้กี่ร้อยประเทศ ที่องค์ประกอบของบุคคลที่อยู่ในสังคมนั้น


 


ที่พูดเช่นนี้ เพราะก่อนที่เราจะเข้าใจปัญหาของภาคใต้ และการสมานฉันท์ มันต้องมีพื้นฐานที่ว่า อะไรคือเมืองไทย อะไรคือราชอาณาจักรสยาม อะไรคือราชอาณาจักรไทย อะไรที่เป็นองค์ประกอบของมัน ศาสนาก็เช่นเดียวกัน ฮินดูเข้ามาก่อนสี่ร้อยปี พวกอาหรับได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาในมาเลเซีย จากมาเลเซียขึ้นมามลายูแล้วขึ้นมาที่เมืองไทย พุทธศาสนาของเราก็มาจากศรีลังกา


 


สมัย 7-8 ร้อยปีก่อน ก็มีสุโขทัย มีล้านนาไทย มีแว่นแคว้นหรืออาณาจักรเล็กๆ ภาคใต้ก็มีอาณาจักรแห่งหนึ่งในพื้นที่ หากไปดูหนังสือประวัติศาสตร์ไทยของอังกฤษ อาจจะไม่เคยเอ่ยถึงพื้นที่นั้น แต่ถ้าไปดูตำนานพงศาวดารจีน ตอนสืบประวัติศาสตร์จีน อินเดีย ในศตวรรษที่ 10 พื้นที่แห่งหนึ่งตรงนั้นมีชื่อว่า "ลังกาสุกะ"


 


"ลังกาสุกะ" เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับทะเลมีอ่าวเป็นธรรมชาติ เรือเข้าไปจอดได้ มีแหลมยื่นมา มีกำบังลม เป็นอาณาจักรที่เติบโตมาจากการค้าขายระหว่างประเทศเมื่อพันกว่าปี มีการค้าขายระหว่างอินเดียและจีน รวมทั้งยุโรปด้วย


 


หลังจากอาณาจักรลังกาสุกะ ก็มีการเปลี่ยนแปลงชื่อกันมาเรื่อยๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว ความสำคัญของอาณาจักรแห่งนั้น คือเป็นท่าเรือ เป็นจุดที่เรือมาจอดเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างตะวันออกของจีน กับตะวันตกของเอเชีย อินเดีย และยุโรป


 


สมัยนั้นยังไม่มีนราธิวาส ไม่มียะลา คนมลายูอยู่กันเยอะ เป็นคนท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูและพวกอาหรับเข้ามาทำการค้าขายมากขึ้น ก็ค่อยๆ เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม แต่วันหนึ่ง เมื่อ 400 ปี ก็มาเปลี่ยนชื่อ


 


ในอินโดนีเซียเองเดิมทีก็นับถือฮินดู แล้วต่อมาศาสนาอิสลามก็มาครองพื้นที่ แต่ยังคงมีพื้นที่แห่งเดียวคือ เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ที่นับถือฮินดูทั้งเกาะหลงเหลืออยู่ ปัจจุบันนี้อัตลักษณ์ของฮินดูในบาหลีก็ยังมีการอนุรักษ์ไว้อยู่ คนในพื้นที่มีการปกครองของตัวเอง ผู้ว่าการก็เป็นคนฮินดูและส่วนใหญ่เป็นคนมาจากพื้นที่


 


สมัยดั้งเดิมในแหลมมลายู ก็ประกอบด้วยคนเชื้อชาติ ประกอบด้วยแคว้นต่างๆ ภาษาอังกฤษเรียกว่า simis malasia ไม่แน่ใจว่าแปลเป็นไทยว่าอะไร บางคนก็ใช้คำอธิบายว่า ประธานาธิบดีสุลต่านเป็นเจ้าของแผ่นดิน เป็นผู้ปกครองประเทศดั้งเดิม


 


ในพื้นที่เหล่านั้น เขาเรียกว่าเป็น malaysia state เป็นรัฐที่มีคนมลายูดั้งเดิม โดยเมื่อ 150 ปีก่อนนี้พื้นที่ทางเหนือกลันตันขึ้นมาคือพื้นที่ปัตตานีนั้น เขาจะเรียกกันว่า simis malasia


 


ทำไมถึงเรียก simis malasia ตามที่มีหลักฐานปรากฏไว้ เมื่ออาณาจักรไทย อาณาจักรสยาม อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรธนบุรี จนถึงกรุงเทพฯ ได้แผ่ขยายไป มีการตีกันไปตีกันมา จนในสมัยรัชกาลที่ 1 คนในพื้นที่นี้ก็ยังไม่ยอมอ่อนข้อให้กับเมืองไทย และถูกเรียกว่า "กบฏ"


 


สมัยนั้นคนมลายูมีการส่งบรรณาการให้กับคนไทย เหมือนที่เราเองก็เคยส่งบรรณาการให้กับเมืองจีน การส่งบรรณาการ ไม่ได้แปลว่าเป็นเมืองขึ้น แต่เป็นการเอาดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปกระชับความสัมพันธ์ เป็นการแสดงความเคารพผู้ใหญ่ อันเป็นธรรมเนียมประเพณีทั่วไป โดยเฉพาะในเอเชีย เพราะไม่อยากให้ผู้ใหญ่มารังแก ปีหนึ่งก็เอาดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปคารวะทีหนึ่ง และต่อมาก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับประเทศในยุโรป


 


ฉะนั้น สิ่งที่เราเรียกว่า simis malasia คนทั่วไปในขณะนั้นยอมรับว่า มันคือดินแดนที่อยู่เหนือกลันตัน ถึงแม้จะเป็นแคว้นที่คนมลายูอยู่ทั่วประเทศมาตั้งแต่สมัยลังกาสุกะเมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว แต่เขายอมไปคารวะพระเจ้าแผ่นดินไทย จนตอนหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น "รัฐปัตตานี" ซึ่งเป็นรัฐที่มีความเป็นอิสรภาพ มีความเจริญรุ่งเรือง แต่ก็ยังต้องไปคารวะผู้ใหญ่ คนไทยปัจจุบัน เรียกคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นว่า คนไทยมลายู


 


เขามีความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติอยู่กับคนมลายูทั้งหมด เพื่อที่จะรวมกันไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน แต่งงานกันไปมา ญาติเต็มไปหมด เขาไปขอลูกชายเจ้าผู้ครองรัฐกลันตัน และให้ลูกชายองค์หนึ่งมาเป็นราชาหรือเป็นพระราชาธิบดีของปัตตานี ฉะนั้น ความสัมพันธ์เชื้อชาติญาติพี่น้องระหว่างคนไทยในสามจังหวัดภาคใต้กับคนมลายูในมาเลเซียนั้นมีมาช้านาน ปัจจุบันพระราชาธิบดีแห่งรัฐกลันตัน ก็มีเชื้อไทย มีพี่น้องอยู่ปัตตานีเต็มไปหมด


 


เมื่ออังกฤษให้อิสรภาพกับมาเลเซีย หลังจากที่ก่อนหน้านั้น เมื่อ พ..1908 หรือประมาณ 97 ปีมาแล้ว อังกฤษเข้ามาครอบครองที่เรียกว่า Malaysia State เป็นอาณานิคม แต่อังกฤษก็ยอมรับว่า simis state นั้น อังกฤษไม่บังอาจครอบครอง จึงมีการลงนามสนธิสัญญาระหว่างกันซึ่งอังกฤษบอกว่า อาณานิคมของอังกฤษ คือรัฐกลันตัน แต่ไม่พูดถึงแคว้นปัตตานี ที่ต่อมาก็รวมอยู่เป็นของเมืองไทย กลายเป็นพื้นแผ่นดินไทย มีการแบ่งปันเขตแดนพื้นที่สามจังหวัดเป็นของไทยแน่นอนอย่างเป็นทางการ เมื่อ 97 ปีที่แล้วรองรับโดยสนธิสัญญา ปี 1909 ทั่วโลกรู้ เราเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ เป็นสมาชิกสหประชาชาติ


 


สิ่งที่ผมพูดว่าเป็น simis malasia state นั้นตอนที่อังกฤษมอบให้กับไทย คนมลายูก็ไม่พอใจ เพราะอยู่ดีๆ เอาพวกเขามาเป็นของคนไทย พอรัฐมลายูได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ พวกปัญญาชน กลุ่มนักคิด ก็ไม่พอใจว่า อยู่ดีๆ ญาติพี่น้องเขาที่อยู่กลันตันกลายเป็นอิสระแล้ว แต่เขายังอยู่ในส่วนหนึ่งของประเทศไทย นี่เป็นความรู้สึกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งทุกคนนั้นสามารถมีได้


 


จิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ไม่ใช่เป็นของเสียหาย จริงๆ แล้วผู้นำทุกประเทศจะต้องมี แม้แต่ครอบครัวทุกครอบครัวก็ต้องมีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ของครอบครัวนั้นว่าปู่ย่าตายายมาจากไหน เพื่อความเป็นเอกภาพ ความเป็นกลุ่มสังคมของประเทศนั้น


 


ประวัตศาสตร์จีนมีมา 5,000 ปี แต่คุณไปถามเด็กไทยที่มีเชื้อจีนว่า พ่อแม่เขารู้ประวัติศาสตร์จีนไหม เขารู้ แล้วถามว่า เขาอยากกลับไปเมืองจีนไหม เขาไม่อยากกลับ แล้วเขาลืมรากเหง้าตัวเองไหมก็ไม่ลืม แต่เขาไม่เอารากเหง้าจิตสำนึกเขามากำหนดวิถีชีวิตในปัจจุบันกับรัฐไทยที่เขาอยู่ เพราะจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์มันเป็นเรื่องของจิตใจ เราอาจจะมีความผูกพันกับประเทศนั้นประเทศนี้ เพราะว่าปู่เราทวดเรามาจากประเทศนั้น เราอาจจะมีพิธีกรรมบางอย่างที่สืบทอดมาจากผืนแผ่นดินที่ปู่ย่าตายาย ทวดเราจากมา แต่มันทำให้เรากลับไปเป็นคนจีนไหม ไม่ใช่


 


ในอีสานคนลาวเต็มไปหมด แล้วคนไทยที่ไปอยู่อีสานพูดภาษาอะไร ก็ภาษาลาว แล้วที่เราเรียกคนไทยที่อยู่แถวบุรีรัมย์ ปราจีนบุรี เขาพูดภาษาอะไร ก็ภาษาเขมร แล้วคนไทยที่อยู่แถวเชียงใหม่ เชียงราย ส่วนหนึ่งเขาก็พูดภาษาไทยใหญ่


 


นี่เป็นข้อเท็จจริง ที่เราต้องเอาใจใส่ว่าเมืองไทยคืออะไร คนไทยคืออะไร อย่าไปยึดติดกับคำว่าราชอาณาจักรไทย คำว่าไทยมันไม่มีความหมาย แต่ถ้าบอกว่า คนพม่า คนมลายู คนเขมร อันนั้นมันมีความหมายที่บ่งถึงเชื้อชาติ เรารับคนต่างชาติมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คนที่เรียนประวัติศาสตร์ไทยก็จะได้ยินว่า มีชาวเปอร์เซียนชื่อ เชค อาหมัด สมัยกรุงศรีอยุธยามารับใช้ในพระราชวังจนถึงกับเป็นคนใหญ่คนโต กลายเป็นต้นตระกูลของ บุนนาคในปัจจุบัน ผมว่าคนนามสกุลของบุนนาค มีเป็นพันๆ คน บางคนก็หน้าตามาเป็นแขกขาว บางคนก็หน้าตามาเป็นคนจีนผสมกันไปหมด


 


ครั้งหนึ่ง กรุงศรีอยุธยาก็มีคนกรีกสองท่านมารับราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรียกได้ว่าเกือบจะถึงระดับนายกรัฐมนตรี คนไทยที่มีต้นตระกูลเชื้อสายโปรตุเกสมีเยอะ ญี่ปุ่นก็มี เราต้องคุ้นเคยกับความหลากหลายของสังคมไทย


 


คำว่าหลากหลาย จำได้ว่า สมัยผมเด็กๆ คนไทยไม่เคยสนใจเลยว่า ใครเป็นใคร ใครถือศาสนาอะไร ตอนผมเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่รู้เลยว่า ได้เลือกคนนับถือศาสนาคริสเตียนเข้ามาในคณะรัฐมนตรีอยู่สองคน และผมไม่สนใจว่าเขาผิวคล้ำหรือผิวขาวผิวจีนอย่างผม หรือผิวคล้ำอย่างคนอื่น ขออย่างเดียวว่าเขาเป็นมนุษย์ เรามองเขาเป็นเพื่อนร่วมงาน


 


ความเห็นแตกต่างได้ไหม ต้องมีความเห็นแตกต่าง ท่านต้องการได้แต่คนที่สอพลอหรือ ทุกอย่างทำถูกหมด อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ บอกว่า คนเราต้องมีกัลยาณมิตร คือ มีเพื่อนที่พร้อมเตะก้นเราได้ คนเราไม่ได้วิเศษร้อยเปอร์เซ็นต์ มันไม่มีใครที่จะรู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือทำทุกอย่างได้ร้อยเปอร์เซ็นต์


 


เพราะฉะนั้น หลากหลายไม่ใช่เฉพาะเรื่องหน้าตา เรื่องศาสนา แต่รวมไปถึงความหลากหลายในทางความคิดความอ่าน ในวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ความแตกต่างไม่ใช่ในฐานะฉันกับเขา ไม่ใช่ในฐานะมิตรกับศัตรู แต่ความแตกต่างมีในฐานะเป็นมนุษย์ด้วยกัน อยู่ในสังคมเดียวกัน โดยเฉพาะในสังคมไทย


 


ความคิดที่แตกต่างกันนั้นพูดจากันได้ แต่ถ้าจะพูดให้รู้เรื่องเพื่อนำไปสู่ความสมานฉันท์ จะต้องพูดโดยยึดถือแต่ข้อเท็จจริง ยึดถือจากเหตุผลที่คนทั่วไปรับได้ และมาจากมุมมองที่ไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นความคิดแตกต่างกันในฐานะที่เราเป็นมนุษยชนในสังคมเดียวกัน


 


ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีศัตรู เพราะว่าสามจังหวัดภาคใต้ติดกับรัฐกลันตันและความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติ อีกทั้งการไปมาสะดวกกว่า ไม่มีแม่น้ำกั้น ไม่มีภูเขากั้น ง่ายกว่าระหว่างคนหนองคายกับคนเวียงจันทร์ แต่สตูลนั้นต่างไปถึงแม้จะติดกับรัฐสายบุรี ความแน่นแฟ้นกับทางฝั่งมาเลเซียไม่เหมือนกัน เมื่อ 30 ปีที่แล้วคนไทยในสตูลก็พูดภาษาไทยได้ถึง 98-99 เปอร์เซ็นต์


 


หลังจากค.ศ.1908 การปกครองของไทยตอนนั้นก็แบ่งการปกครองเป็นสี่จังหวัดจะเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลทางอะไรผมไม่แน่ใจ เจ้าเมืองที่มาจากกรุงเทพฯ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินส่งไปสตูลนั้น เป็นเจ้าเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากพระเจ้าแผ่นดินมากกว่า จึงเป็นการเปิดโอกาสปกครองบ้านเมืองได้สะดวกกว่า แต่เจ้าเมืองที่ส่งไปอยู่ปัตตานีนั้น คนกรุงเทพฯ จะมองว่า ไม่ได้รับการรับรองจากกรุงเทพฯอย่างใกล้ชิด บางครั้งบางคราวยังว่าเป็นกบฏ อันนี้คือความแตกต่างจากการปกครอง


 


เมื่อพูดถึงความสมานฉันท์ พอตั้งขึ้นชื่อนี้ขึ้นมาก็รู้สึกว่าเพราะดี แต่พี่น้องสามจังหวัดไม่รู้ว่าสมานฉันท์คืออะไร คำนี้ไม่ใช่ภาษาไทยแท้ เป็นภาษาสันสกฤต


 


เหตุการณ์สองปีครึ่งที่ผ่านมา เริ่มต้นจากเหตุการณ์ใหญ่ เมื่อ 4 มกราคม 2547 ที่มีการปล้นค่ายทหาร มีการฆ่ากันตาย ต่อมาก็มีเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ เกิดต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในสามจังหวัดหรือสี่จังหวัดเช่นกัน


 


ก่อนหน้าปี 2547 มีเหตุการณ์รุนแรงก็คือในช่วงเดือนธันวาคมปี 2518 มีการเดินขบวนที่ปัตตานี แล้วมีการส่งทหารไปปราบ ในการส่งทหารไปปราบนั้น ต้องเข้าใจจิตวิทยา แคว้นไหน เมืองไหนแข็งข้อขึ้นมา พระเจ้าแผ่นดินไทยก็จะส่งกองทัพไปปราบกบฏ ในประวัติศาสตร์ไทยก็มีให้เห็น สมัยนั้นเรื่องการตั้งกระบวนการยุติธรรมไม่มี เอะอะอะไรก็ปราบกบฏก่อน ถ้าเมืองไทยชนะก็ไชโย แต่ถ้าแพ้ก็เศร้าสลด ประวัติศาสตร์ไทยก็จะพูดถึงความป่าเถื่อนของชาตินั้น บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเราเองก็เป็นคนป่าเถื่อนเหมือนกัน ในสิ่งที่เราไปทำกับคนอื่น


 


อังกฤษก็เคยป่าเถื่อนกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสก็เคยป่าเถื่อนกับอังกฤษ จนเมื่อระยะหลัง เมื่อราว 150-200 ปีที่แล้ว ความป่าเถื่อนกลายเป็นความผิดความถูก แต่เรามองว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ข้อเท็จจริง เราปิดบังข้อเท็จจริงไม่ได้ ในสมัย 200 ปี สิ่งที่เขาทำอาจจะไม่ป่าเถื่อนก็ได้ เพราะมาตรฐานของการป่าเถื่อนของความเป็นอารยะมันแตกต่างกัน


 


ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงที่เราพูดความจริงแล้วเอามันไปประณาม คนเราต้องมีความจริง ถ้าเกิดเราไม่มีความจริงกับตัวเราเอง ก็เท่ากับไม่มีความจริงกับคนอื่น ถ้าเกิดเรายอมรับความจริงไม่ได้ อันนั้นจะเป็นข้อจำกัดของพฤติกรรมของเรา


 


การพูดความจริง มันทำให้เราปลดตัวเราออกจากการเป็นทาสของพระเจ้าต่างๆ ถ้ายังต้องปิดบัง ไม่โปร่งใส เราไม่สามารถมีความอิสระได้ แล้วเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่ดีเมื่อสองปีที่ผ่านมา ถามว่าเพราะอะไร


 


ถ้าเรามีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ ใช้จิตสำนึกในประวัติศาสตร์และใช้ความรู้ในปัจจุบัน เราก็หาต้นเหตุได้ ถามผมอาจจะ 5 ต้นเหตุ ถามอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) อาจจะบอกว่ามี 8 ต้นเหตุ ถามพิชัย(รัตนพล) อาจจะบอกว่ามี 10 ต้นเหตุ ถามว่าผมผิดไหม ไม่ผิด ถ้าคุณมีความเห็นไม่ตรงกัน นั่งคุยกันสิ ทำไมชอบมานั่งทะเลาะกัน


 


หน้าที่พื้นฐานแห่งรัฐ


สิ่งแรกก่อนที่จะพูดถึง ตอนนี้ เกิดการยิงกัน เกิดการฆ่ากันตาย ทั้งคนที่เป็นมุสลิม ทั้งคนที่เป็นคนไทยพุทธ อันนี้ไม่ใช่ต้นเหตุแต่มันเป็นอาการ อาการที่มันเกิดขึ้นทุกวันหนักไหม หนัก ต้องแก้ไขไหม ต้องแก้ไข แก้ไขโดยใคร ก็ต้องโดย รัฐ


 


รัฐมีหน้าที่จะต้องให้ความคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทุกประเทศล้วนมีความรุนแรง แล้วเขาแก้ไขอย่างไร เขาก็มีกฎหมาย มีการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม กฎหมายเป็นหนังสือ เป็นหลักการ แต่การใช้กฎหมายต้องใช้ด้วยความเป็นธรรม


 


เหตุการณ์ประจำวันเป็นหน้าที่ของรัฐ ถ้ารัฐไม่สามารถให้ความคุ้มครองชีวิตคนและทรัพย์สินได้จนเกินระดับหนึ่งแล้ว รัฐอยู่ในฐานะอะไร คนจะไม่เคารพรัฐ ไม่นับถือ ไม่มีความเชื่อถือ เพราะไม่สามารถดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของเขา และหาปล่อยไป ปัญหาความรุนแรงก็จะกลับมาอีก ความสามารถจะปกครองในพื้นที่นั้นก็หมดความชอบธรรมไป


 


เท่าที่ดู ที่ผ่านมานี้รัฐล้มเหลวในระดับที่ประชาชนไม่เชื่อไม่ไว้ใจ ไม่มีศรัทธา จนกระทั่งเขาอยู่มาด้วยความกลัว ในสามจังหวัด มีพลเมืองจำนวน 1ล้าน 8 แสนคนโดยประมาณ เป็นคนไทยพุทธ 3 แสนคน คนไทยมลายู คนมุสลิม ประมาณ 1 ล้าน 5 แสนคน


 


ถ้าได้ไปอ่านพระราชดำรัสตามพระบรมราโชบายของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 การปกป้องพื้นที่นั้น ราชการต้องภักดี ราชการต้องซื่อสัตย์ ราชการต้องเข้าใจ ต้องศึกษาเข้าใจวิถีชีวิตของเขา ในที่สุดราชการดี ความยุติธรรมต่างๆ ก็เกิดขึ้นมา ความยุติธรรมนี้ไม่ใช่เรื่องของกระบวนการยุติธรรม เพราะอันนั้นเป็นเรื่องแน่นอน การสอบสวน การตรวจสอบ การฟ้อง การจับกุม การจับเข้าคุก การพิพากษา และมาตรฐานของการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม


 


แต่มันมีอีกหลายอย่างที่มันเป็นเรื่องของความอยุติธรรมในสังคม เพราะไม่สามารถดูแลอะไรต่างๆ ของเขาได้ เขาไม่มีงานทำ ไม่ดูแลในเรื่องการศึกษาของลูกหลานเขา พัฒนาอาชีพไปในทางที่ไม่ถูกต้องกับวิถีชีวิตเขา ไม่เคยถามว่าเขาอยากได้อะไร เขาอยากได้อุตสาหกรรมไหม ไม่สนใจ เขาอยากได้ถนนแปดเลนไหม ไม่เคยถามแต่ไปตัดสินใจแทนเขาหมด วิถีชีวิตของคนภาคใต้สามจังหวัดนี้ เข้าใจชีวิตใกล้เคียงกับเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด


 


พระบรมราโชบายตั้งแต่รัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลนี้ ก็ยังพูดแบบเดียวกัน ต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ต้องเข้าใจวิถีชีวิตเขา และเข้าใจวิธีคิดเขา พอเข้าถึงแล้วนี้ ศรัทธาก็จะมาเอง ความหวาดกลัว ความหวาดเกรง ความไม่เข้าใจ ความน้อยใจ ความอคติ ก็ค่อยๆ หายไป


 


ถ้าพัฒนาต้องพัฒนาด้วยการเข้าใจวิถีชีวิตเขา ฟังดูแล้วไม่ยาก แต่เรามักทำเรื่องง่ายเป็นเรื่องยาก เพราะว่าเราไม่ยอมเข้าใจเขา และสุดท้ายคนไทยอีก 70 กว่าจังหวัด เขาก็เข้าใจผิดกันหมด ไปดูถูกเขา ไปดูแคลนเขา ไปมองว่าเขาเป็นศัตรู ไปมองว่าเขาเป็นกบฏ แล้วทวดผมเป็นเจ๊ก เป็นมอญ และมันเสียหายอะไร ทำไมคนที่พูดว่ารัฐปัตตานีแล้วต้องเป็นคนขายชาติ ความเกลียดชังเหล่านี้เป็นเนื้อร้าย


 


กอส.ทำอะไร


กอส.ไม่ได้มีหน้าที่สมานฉันท์กับผู้ก่อการร้าย แต่เป็นหน้าที่ของรัฐ เราพยายามสมานฉันท์เฉพาะผู้ที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งมีทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และพวกตกขอบ ถ้าเราเห็นใจคนชายขอบเราจะไม่มีคนตกขอบ เมืองไทยจะมีความสมานฉันท์ เราต้องพยายามให้มีความจริงใจ หาข้อเท็จจริงให้ พยายามหาเหตุที่ถูกต้อง หาต้นเหตุแล้วรักษาบำบัดในระยะยาว เพื่อที่อาการที่เกิดขึ้นทุก 20 ปี 30ปีมันจะไม่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง


 


จริงๆ ความรุนแรงมีอยู่เสมอ พระนักพัฒนาที่เชียงใหม่ก็เพิ่งถูกฆ่าตาย ทุกวันที่เปิดหน้าหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง ผมไม่อยากอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะผมไม่ชอบข่าว ไม่ใช่ว่าผมไม่สนใจข่าวในประเทศ แต่ผมดูแล้วถ้าคนไทยมัวแต่สนใจว่าวันๆ มีการตายกี่คน ในประเทศมีการชำเรา มีการฆ่าเท่าไร ถ้าอ่านแล้ว มัวแต่สนใจพวกนี้ มัวไปหมกมุ่นที่นี้ มาตรฐานความผิดของคนไทยจะเป็นอย่างไร


 


ถามว่ามีกระบวนการแบ่งแยกดินแดนไหม มี ถามว่ามีคนร้ายไหม มี คนทำผิดกฎหมายมีไหม มี ควรจะได้


รับการลงโทษไหม ควร แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายด้วยความชอบธรรม


 


สมานฉันท์ไม่ได้ปฏิเสธการใช้กำลัง สมานฉันท์คือการใช้กำลังที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยใช้คนที่มีคุณธรรม ไม่ใช่ให้ทหารวางปืนหรือตำรวจวางปืน แต่ไม่ควรใช้ด้วยความไม่เป็นธรรม โดยการอุ้ม โดยการหายตัว โดยการไม่เปิดเผยความจริงอย่างสมบูรณ์ เปิดครึ่งๆ กลางๆ ไม่ชัดเจนว่าใครควรรับผิดชอบ


 


สมานฉันท์จะต้องพยายามฝึกให้สังคมไทย 1. มีความขวนขวายหาความจริง ต้องการรู้ความจริง ไม่ใช่ต้องการรู้ความจริงไว้ไปเข่นฆ่า แต่ต้องการรู้ความจริง เพื่อให้เกิดอุปสรรคทางความคิด ถ้ารู้ความจริงมันจะเกิดความเข้าใจดีขึ้น มีความเชื่อถือดีขึ้น มันจะนำไปสู่การให้อภัย


 


สมานฉันท์พยามยามให้อารมณ์มันลดลงมาขั้นหนึ่ง ถ้าเผื่ออารมณ์ลดลงมา จะเริ่มต้นพูดด้วยเหตุผล ด้วยความจริงแล้วก็นำไปสู่ความเข้าใจ เมื่อนำไปสู่ความเข้าใจได้ มันก็จะเกิดความพร้อมที่จะให้อภัย ยกโทษ และนำไปสู่ขบวนการอื่นๆ นี่คือแนวทางความสมานฉันท์


 


แต่ก็ยังมีคนออกมาบอกว่า สิ่งที่ กอส.กำลังทำ เป็นการไปรื้อฟื้นทั้งที่เขาลืมไปแล้ว ถามว่าพ่อแม่พี่น้องถูกฆ่าตาย คนเขาถูกอุ้มฆ่า เขาจะลืมไหม ไม่มีใครลืมมันลง ไม่ใช่เป็นวัวเป็นควายและมาบอกตายโดยธรรมชาติ อากาศมันร้อน


 


เพราะฉะนั้น ต้องเปิดเผยออกมา มันจะช่วยนำไปสู่กระบวนการสมานฉันท์ อันนี้เป็นการแก้ไขระยะสั้นที่ต้องมีการแสวงหาความจริง


 


กระบวนการแก้ไขปัญหาระยะยาวในรายงานผมมีอยู่ 4 -5 ประเด็น


 


1. ในระบบการปกครองมันจะไม่มีชื่อใหม่ ไม่มีเรื่องอะไรที่จะกล่าวหาว่าแบ่งแยกดินแดน ราชอาณาจักรไทย


แบ่งแยกไม่ได้ ระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ 2.ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 3. พื้นที่ในประเทศไทยในปัจจุบันไม่ขอมากไปกว่านี้ หรือน้อยไปกว่านี้


 


ภายใต้รัฐธรรมนูญ ยอมรับเคารพความหลากหลาย การมีส่วนร่วมของประชาชนอิสระทางความคิดเสรีภาพใน


ทางความคิด รัฐธรรมนูญทุกมาตราเขียนไว้ชัดเจน กรอบรัฐธรรมนูญกว้างพอที่จะแก้ไข ไม่ใช่เฉพาะสามจังหวัดภาคใต้ แต่ทั่วประเทศไทย ขอให้ใช้เท่านั้น ขอให้เราเข้าใจรัฐธรรมนูญและใช้ให้ถูกต้อง


 


ในส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงภาคใต้ เป็นเพราะระบบราชการไม่สนใจ ไม่เข้าถึง โกงกินฉ้อราษฎร์บังหลวง พ่อค้าเอาเปรียบข่มแหงเขา และไม่มีความเข้าใจวัฒนธรรมพื้นถิ่น


 


โลกาภิวัฒน์ เรายังอยากทันสมัย คนไทยต้องไปเรียนภาษาต่างประเทศ ภาษาอังฤษ จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน ยิ่งรู้ภาษามากยิ่งดี ถ้าเขารู้ภาษามลายูก็ยิ่งดี รัฐควรทำเป็นนโยบายแห่งชาติให้ท้องถิ่นพูดภาษามลายูได้


 


ผมอับอาย เวลาไปประชุม เขมร ลาว เขาพูดภาษาไทยชัดมาก แต่ของเราไม่มี เพราะเราไม่เคารพประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่เคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น ชอบไปดูถูกเขา ไม่เคารพเพื่อนบ้าน รู้ประวัติศาสตร์เฉพาะแต่การสู้รบกัน ผมได้แต่หวังว่าการเรียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่จะดีขึ้น


 


ประวัติศาสตร์เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษยชน มิใช่การรบ แต่มันต้องลึกซึ่งกว่านั้น ประวัติศาสตร์ของชาติคือประวัติศาสตร์ของสังคมไทย และสังคมไทยมีหลายท้องถิ่น หลายเผ่าพันธุ์ ต้องเข้าถึงสิ่งเหล่านี้


 


ผมคงไม่รู้เรื่องราวภาคใต้มากนักถ้าไม่ได้มาเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ มาเรียนรู้จริงๆ เมื่อ 9 เดือนที่แล้วนี่เอง ถ้าเรารู้ประวัติศาสตร์ในทางที่ถูกต้อง เราจะเข้าใจถึงวิถีชีวิต วิธีการคิดของคนกลุ่มนั้น


 


เราต้องดูแลเรื่องราชการ ระบบกระจายข่าว กระบวนการยุติธรรม เรื่องการศึกษา การศึกษาควรเป็นเรื่องสนับสนุนให้เด็กเรียนภาษาไทย ภาษาไทยที่เรียนโดยมีคุณภาพ ฉลาดด้วยการไม่ทำลายภาษามลายู จะต้องดูแลระบบการพัฒนา อย่าไปยัดเยียดเขา การมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด


 


ตามปกติทุกประเทศจะมีความสมานฉันท์ มีกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ได้ก็ต่อเมื่อพื้นที่มีความสงบ ไม่ว่าจะเป็นไนจีเรีย แอฟริกาใต้ แต่ของเรายังไม่มี นั่นยิ่งเป็นความยากลำบาก


 


อีกอย่างเราต้องดูแลสิทธิของคนกลุ่มน้อยในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ คือ คนไทยพุทธซึ่งมีทั้งหมด 3 แสนคน แต่การที่คณะกรรมสมานฉันท์เพ่งเล็งในเรื่องของปัญหาที่เกิดความไม่เข้าใจ ความหวาดกลัว มันโยงไปที่ไทยมุสลิม ไทยมลายู เขามีความเกรงกลัวซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความไม่จริงจากเหตุการณ์ทั้งหมด


 


ถ้ามองประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งคนกลุ่มใหญ่เป็นคนไทยพุทธ คนไทยทั้งประเทศ 62 ล้านคน คนไทยพุทธ 56-57 ล้านคน แต่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ มีคนไทยมุสลิม 1 ล้าน 5 แสน คน มีคนไทยพุทธ 3 แสนคน


 


เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะดำเนินการบำบัดความทุกข์ร้อนของคนไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร เราก็ต้องดูแลปัญหาของคนไทยกลุ่มน้อย คือคนไทยพุทธ หรือในรัฐธรรมนูญ หลักการประชาธิปไตย คือยอมรับความคิดของคนส่วนใหญ่ แต่ต้องดูแลสิทธิของคนกลุ่มน้อย อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับในความเข้าใจผิดว่าในขณะนี้ยังมีความสับสนอยู่ทั้งสองฝ่าย


 


อีกประการที่ต้องระวังคือ เวลาที่เกิดปัญหาที่ภาคใต้ มันไม่ใช่เกิดขึ้นจากการขัดแย้งทางศาสนา เพราะศาสนาโดยเฉพาะพุทธกับมุสลิมสอนให้คนมีสันติสุข แต่มีคนที่ตกขอบใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อดำเนินการบางอย่าง เพื่อที่จะได้รับการยอมรับในบางอย่าง ดำเนินการเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายของการที่ต้องการมีอัตลักษณ์ของตนเอง และมันอาจจะเลยเถิดไปถึงกระบวนแยกดินแดน ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก การแบ่งแยกดินแดนไม่มีทางเป็นไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน


 


ปลายเดือนมีนาคมนี้ จะนำรายงานรวมข้อเสนอของ กอส.เสนอต่อรัฐบาล เป็นรายงานต้นเหตุและการแก้ไขระยะยาว ซึ่งรัฐบาลจะรับมากน้อยแค่ไหน ไม่รู้ รับไปแล้วเข้าใจหรือเปล่าก็ไม่รู้ ซึ่งรัฐบาลมีสิทธิจะรับหรือไม่รับก็ได้ เราเป็นแค่คณะที่ปรึกษา แต่มีความจำเป็นที่คนไทยต้องรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น จากการมีคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นการเปิดเวทีโดยมีความชอบธรรมให้คนได้มีส่วนร่วมในการรับรู้เรื่องราวต่างๆ พูดเสร็จไม่ต้องเห็นตรงกับผม แต่ต้องยอมรับว่า นี่เป็นข้อมูลที่เป็นจริง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net