Skip to main content
sharethis


 


ศราวุฒิ ประทุมราช : รายงานจากอินโดนีเซีย 21 มกราคม 2549


 


เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2548 ศาลอาญาจาการ์ต้า เขตตะวันตก ประเทศอินโดนีเซียได้อ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการของรัฐเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนาย โพลีคาปุส บูดิฮาริ ปริยันโต นักบินสายการบินการูด้า ในความผิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการฆาตกรรม มูนีล บิน ซาอิด นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนผู้มีชื่อเสียงของอินโดนีเซีย ด้วยการสั่งลงโทษจำคุกนายโพลีคาปุส 14 ปี


 


และในวันที่ 12 มกราคม 2549 ศาลอาญาของไทยได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก พ.ต.ท.เงิน ทองสุข จำเลย เป็นเวลา 3 ปีในความผิดเกี่ยวกับการทำร้ายนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน คนสำคัญที่หายสาบสูญไป


 


ทั้งสองกรณีมีความคล้ายคลึงกันของเหตุการณ์และการดำเนินคดี แม้จะเกิดเหตุต่างกรรม ต่างวาระ และ สถานที่เกิดเหตุก็เป็นคนละประเทศ แต่ด้วยเหตุที่ทั้งนายสมชายและมูนีล ต่างก็เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน จึงขอตั้งข้อสังเกตเป็นบันทึกความคล้ายคลึงกันของเหตุการณ์และบุคคลทั้งสอง ไว้ ในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้


 


1. เป็นทนายความ ที่มุ่งมั่นและยึดถือคำสอนในศาสนาอิสลาม และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เหมือนกัน


คุณสมชาย นีละไพจิตรเกิดเมื่อปี พ.ศ.2494 ในครอบครัวชนชั้นกลางชาวมุสลิม ที่เขตหนองจอก กรุงเทพฯ มีชื่อมุสลิมว่า อบูบักร ได้เข้าเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก เมื่อจบการศึกษาได้เริ่มประกอบวิชาชีพทนายความ และได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะผู้เป็นมุสลิมมาโดยตลอด เช่นในปี 2525 ได้เป็นทนายความให้แก่กลุ่มนักศึกษามุสลิม จากรามคำแหงที่ถูกฟ้องข้อหาวางระเบิดทั่วกรุงเทพฯ ในคราวฉลองครบรอบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น


 


เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือในคดีที่ชาวมุสลิมตกเป็นผู้ต้องหา เข้าร่วมเป็นกรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2538 และเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งในบทบาททนายความได้เป็นทนายความในคดีสำคัญๆ มากมาย


 


ในฐานะชาวมุสลิมที่เคร่งครัด คุณสมชายได้ปฏิบัติตามหลักคำสอนของอิสลาม และปวารณาตัวเองที่จะเดินในแนวทางของพระอัลเลาะห์ที่ตนนับถือ


 


"มูนีลเกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2508 ในครอบครัวของนักการศาสนาอิสลามที่เคร่งครัด มีชื่อเต็มว่า มูนีล บิน ซาอิด อ.เกษียร เตชะพีระ ได้เคยบันทึกเรื่องราวของมูนีล ไว้ในบทความ "แด่ มูนีร์ (เป็นคำสะกดของเกษียร - กองบรรณาธิการ) : สมชาย นีละไพจิตรแห่งอินโดนีเซีย" ว่า "เขาเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยบราวิจายา หลังเรียนจบ เขาเข้าร่วมงานมูลนิธิให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายของอินโดนีเซีย (YLBHI) ในปี ค.ศ.1989 โดยเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายแก่เหยื่อความรุนแรงและกดขี่ของรัฐในเมืองสุราบายา ทางตะวันออกของเกาะชวา


 


"มูนีร์ขยับขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายประจำเมืองเซามารัง ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าปฏิบัติการภาคสนามของมูลนิธิที่จาการ์ตา นับแต่ปี ค.ศ.1996 เรื่อยมา


 


"มูนีร์เริ่มโดดเด่นเป็นที่รู้จักของสาธารณชนอินโดนีเซียช่วงปลายสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โตในฐานะแกนนำรณรงค์ประท้วงกรณีนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยร่วม 20 กว่าคน ถูกลักพาตัวหายสาบสูญไปอย่างน่าสงสัยตอนปลายปี ค.ศ.1997 ต่อต้นปี ค.ศ.1998 "


 


ในด้านศาสนาเนื่องจากมูนีลเกิดในครอบครัวของนักการศาสนาที่เคร่งครัด จึงมีวัตรปฏิบัติตามพิธีกรรมของศาสนามิได้ขาด เขาละหมาดวันละ 5 เวลาตามหลักอิสลาม ไม่เคยข้องแวะเกี่ยวกับอบายมุข เครื่องดองของเมา และไม่สูบบุหรี่


 


2. ตายและ หายสาบสูญ ในปีเดียวกัน


มูนีล ถูกวางยาพิษ (สารหนู) ในอาหารขณะเดินทางโดยเครื่องบิน จากอินโดนีเซียไปเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ส่วนคุณสมชาย นีละไพจิตร เป็นที่ทราบกันดีว่าหายสาบสูญไปตั้งแต่คืนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 และมีข้อน่าสังเกตว่า มูนีลเสียชีวิตในเดือนที่ 9 ของปี ซึ่งอีก 3 เดือน ก็จะสิ้นปี 2547 ในขณะที่คุณสมชาย เสียชีวิต ในเดือนที่สามของต้นปี 2547 (นับแบบไทย) เช่นเดียวกัน


 


3. สาเหตุการตาย เป็นประเด็นทางการเมืองเหมือนกัน


มูนีล มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยฝ่ายทหาร มาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี ซูฮาร์โตเรืองอำนาจ และเมื่อซูฮาร์โตสิ้นอำนาจลงในปี 1998 เขาก็ยิ่งทำการขุดคุ้ยประเด็นการฆ่าหมู่ประชาชนในอีสติมอร์ ก่อนที่จะแยกเป็นประเทศตีมอร์ เลสเต และทำการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบทางทหาร ที่เป็นการละเมิดสิทธิในการปกครองตนเองของปาปัวและอาเจะห์ อันมีผลทำให้นายทหารระดับสูง เช่น พลเอกวิรันโต ถูกสอบสวนและถูกฟ้องว่าเป็นผู้สั่งการให้มีการสังหารหมู่ หรือนายทหารระดับสูงชื่อ มุกดี้ ก็ถูกย้ายจากตำแหน่ง ซึ่งเชื่อว่า เป็นผลงานของมูนีล  มูนีลจึงตกเป็นเป้าหมาย ที่ต้องถูกกำจัด เพื่อมิให้มีการขุดคุ้ยประเด็นเหล่านี้อีก


 


คุณสมชาย นีละไพจิตร ก่อนหายสาบสูญเป็นผู้หยิบยกประเด็นรณรงค์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยการขอให้มีการลงชื่อ 5 หมื่นชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และเมื่อได้รับเป็นทนายความของจำเลย 5 คน ในคดีปล้นปืนที่กองกำลังทหารพัฒนาที่นราธิวาส ได้รับการร้องเรียนจากลูกความที่เป็นจำเลยว่า ถูกซ้อมให้รับสารภาพ จึงออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ และประกาศว่าจะเอาผิดแก่นายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการทรมานดังกล่าว จึงตกเป็นเป้าหมายที่ต้องถูกกำจัดเช่นกัน


 


4. เจ้าหน้าที่รัฐ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายเหมือนกัน


การเสียชีวิต ด้วยการถูกผสมสารหนูในอาหารของมูนีล คณะค้นหาข้อเท็จจริงที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี และอัยการ ต่างมุ่งประเด็นไปที่หน่วยสืบราชการลับแห่งชาติอินโดนีเซีย ว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนสังหารมูนีล แม้จะไม่สามารถสืบค้นไปยังความสัมพันธ์ระหว่างนายโพลีคาปุส นักบินที่เป็นจำเลย ว่าเป็นสายลับของหน่วยสืบราชการลับแห่งชาติก็ตาม แต่จากรายงานการตรวจสอบของคณะค้นหาข้อเท็จจริง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในปี 2003  นายโพลีคาปุสไปปรากฏตัวอยู่ในอาเจะห์กว่าสัปดาห์ ซึ่งในขณะนั้นยังมีการประกาศกฎอัยการศึกอยู่


 


ผู้สื่อข่าวหลายสำนักต่างจำนายโพลีคาปุสได้ และยืนยันข้อมูลนี้ นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่านายโพลีคาปุส ไปอยู่ที่อีสติมอร์ด้วย ซึ่งหากไม่ได้เป็นสายของทางราชการแล้ว นักบินธรรมดาจะไปปรากฏตัวอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งได้อย่างไร อีกประเด็นก็คือ ในระหว่างการตรวจสอบของคณะค้นหาข้อเท็จจริง ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยสืบราชการลับแห่งชาติ ไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเลย ไม่ยอมให้คณะฯ เข้าพบ  แต่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า มูนีลไม่ใช่เป้าหมายทางการเมืองที่ต้องถูกกำจัด


 


ประเด็นสำคัญอีกประเด็นก็คือ เมื่อซูฮาร์โต หมดอำนาจ มีการจัดตั้งคณะกรรมการยกร่างเพื่อแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับหน่วยสืบราชการลับแห่งชาติ มูนีล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการด้วย และเขาได้เสนอให้มีการลดอำนาจและตัดงบประมาณของหน่วยงานนี้


 


ในกรณีคุณสมชายนั้น นอกจากมีการฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายในข้อหาปล้นทรัพย์และข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดแล้ว ต่อมาเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาในวันที่ 12 มกราคม 2549 นายกรัฐมนตรีได้ออกมายืนยันว่า นายสมชายได้เสียชีวิตแล้วจาการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และได้เร่งรัดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษติดตามหาผู้อยู่เบื้องหลังการฆ่าคุณสมชายโดยเร็ว


 


5. รัฐบาลตั้งคณะทำงานขึ้นมาหาข้อเท็จจริง เหมือนกัน


กรณีมูนีล ประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน ได้ตั้งคณะทำงานค้นหาข้อเท็จจริงกรณีมูนีล (Fact Finding Team for the Case of Munir) ขึ้นมาหลังจากมูนีลเสียชีวิตประมาณ 3 เดือน ตามคำสั่งประธานาธิบดีที่ 111/2004(President Decree No.111/2004) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2547 คณะทำงานมีจำนวน 14 คน โดยมีนายพลตำรวจจากสำนักการบริหารและการวางแผนเป็นประธาน นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นรองประธาน และคณะทำงานอีก 12 คน จากบุคคลหลายสาขาอาชีพทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรด้านผู้ใช้แรงงาน นักวิชาการ สื่อมวลชน คณะทำงานได้เริ่มทำงานครั้งแรก 13 มกราคม 2548 และสรุปผลการค้นหาข้อเท็จจริง รายงานส่งประธานาธิบดีเมื่อ 23 มิถุนายน 2548


 


เมื่อคุณสมชายหายตัวไปได้ไม่นานนัก คือเมื่อวันที่  18 มีนาคม  2547 พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งที่ 61/ 2547 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการหายตัวไปของ นายสมชาย นีละไพจิตร โดยมีพลตำรวจเอกสมบัติ อมรวิวัฒน์  อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร  3 คณะอนุกรรมการ


 


1) คณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ข้อมูลหลักฐาน  โดยมี นายอรรถพล  ใหญ่สว่าง  อธิบดีอัยการสำนักคดีพิเศษเป็นประธาน


2) คณะอนุกรรมการติดตามการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร โดยมี นายศิริชัย  โชติรัตน์  รอง ผ.อ.  สำนักข่าวกรอง เป็นประธาน


3) คณะอนุกรรมการตรวจพิสูจน์ร่องรอยวัตถุพยานทางนิติวิทยาศาสตร์  โดยมี พ.ญ. คุณหญิงพรทิพย์  โรจนสุนันท์เป็นประธาน


 


และต่อมาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2548 นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาสอบสวน อีกหน่วยงานหนึ่ง


 


6 .ข้อมูลการบันทึกการใช้โทรศัพท์ ถูกนำมาเป็นหลักฐานในการสืบสวนสอบสวนทางคดี เหมือนกัน


ข้อมูลการบันทึกการใช้โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบที่ถูกฟ้องในกรณีคุณสมชาย ถูกนำมาใช้ในการสืบสวน สอบสวน นำไปสู่การจับกุมและใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลเพื่อพิสูจน์ว่า จำเลยทั้ง  5  มีส่วนร่วมในการปล้นทรัพย์และขืนใจทนายความสมชายในคืนวันที่เกิดเหตุคือวันที่  12 มีนาคม  2547 เวลาประมาณ  20.30 น. ทั้งที่ไม่มีหลักฐานการค้นพบโทรศัพท์มือถือ  เงินสด และนาฬิกาของนายสมชายตามคำฟ้องในการครอบครองของจำเลยทั้ง  5 แต่อย่างใด  และหลักฐานที่ได้ก็ไม่เพียงพอที่จะฟ้องร้องในข้อหาที่หนักกว่าเช่นการลักพาตัว  ซ่อนศพ หรือการฆ่าได้   


 


หลักฐานทางโทรศัพท์จำนวนกว่า 75 ครั้งในวันที่ 12 มีนาคม  พ.ศ. 2547 ผูกมัดว่าจำเลยที่   1, จำเลยที่  2, จำเลยที่ 3  และจำเลยที่  4 ได้ติดตามทนายสมชายมาตลอดวันตั้งแต่เวลา 9.00 - 20.35 น.  ซึ่งถือได้ว่าเป็นคดีแรกๆ ในประเทศไทยที่มีการนำหลักฐานการใช้โทรศัพท์มาเป็นพยานแวดล้อมอ้างอิงเพื่อการดำเนินคดีอาญา (แม้ศาลอาญา จะระบุในคำพิพากษา เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549 ว่าหลักฐานบันทึกการติดต่อทางโทรศัพท์ของจำเลยไม่ใช่ต้นฉบับที่น่าเชื่อถือ จึงไม่สามารถรับฟังเป็นหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลยได้ก็ตาม)


 


กรณีมูนีล การค้นหาข้อเท็จจริงโดยคณะค้นหาข้อเท็จจริงตามคำสั่งประธานาธิบดีที่ 111/2004 ได้พุ่งเป้าไปที่การใช้โทรศัพท์ของนาย โพลีคาปุส นักบินร่วม คนหนึ่งของสายการบินการูด้า ที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักบิน ในขณะเกิดเหตุ คณะค้นหาข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบพบว่า นายโพลีคาปุส ได้ใช้โทรศัพท์ทั้งมือถือ และที่สำนักงานประมาณ 35 ครั้งติดต่อกับอดีตนายทหารนอกราชการผู้หนึ่งชื่อ มุกดี้ (Muchdi) ที่เป็นที่รู้จักกันดีในอินโดนีเซียว่า เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับแห่งชาติ (Badan Inteligen Negara - BIN) ซึ่งเคยรับผิดชอบกองกำลังเฉพาะกิจ ในปี 1998 กองทหารหน่วยนี้ได้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าได้ทำการ อุ้ม ฆ่า นักสิทธิมนุษยชนและนักประชาธิปไตย ในช่วงดังกล่าว และมูนีล ในนามของ คอนทราส (KontraS) องค์กรที่เขาตั้งขึ้น ได้ทำการตรวจสอบและนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ จนทำให้ นายมุกดี้ ต้องถูกออกจากตำแหน่ง  


 


นอกจากนี้มีการตั้งข้อสงสัยว่า นายโพลีคาปุสไม่ได้คุ้นเคยกับมูนีล แต่ได้ติดต่อหามูนีลทางโทรศัพท์มือถือ เมื่อวันที่ 2 กันยายน โดยนางสุจีวาตี ภรรยาของมูนีลเป็นผู้รับโทรศัพท์  นางสุจีวาตี ได้ให้การต่อศาลว่า "นายโพลีคาปุส ได้แนะนำตัวว่าเป็นพนักงานของสายการบินการูด้า สอบถามว่ามูนีลจะออกเดินทางไปเนเธอร์แลนด์เมื่อไร นางได้ตอบไปว่าจะเดินทางในวันที่ 6 กันยายน นายโพลีคาปุส ได้บอกว่าเขาก็จะเดินทางไปในเที่ยวบินเดียวกับมูนีล" (จาการ์ต้า โพสต์ 6 กันยายน 2548) ซึ่งในขณะนั้นสายการบิน ยังไม่ได้ยืนยัน เวลา และเที่ยวบิน ของมูนีล


 


ซึ่งหลักฐานบันทึกการใช้โทรศัพท์ของจำเลยนำไปสู่การสอบสวน จนกระทั่งมีการจับกุมและใช้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานในศาลด้วยเช่นกัน


 


7. จำเลยถูกฟ้องว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัว หรือฆาตกรรม แต่ไม่สามารถหาหลักฐานมาฟ้องว่าเป็นผู้ลงมือ"ฆ่า" ได้


กรณีมูนีล  นายโพลีคาปุส ถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 ข้อหาเตรียมการฆาตกรรม และข้อหาทำเอกสารให้ผู้อื่นเชื่อว่าตนเป็น "เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยบนเครื่องบิน" เพื่อสามารถขึ้นเครื่องบินเป็นพิเศษได้ในเที่ยวบินเดียวกับมูนีล  และพยายามชักชวนให้มูนีล ย้ายที่นั่งจากชั้นประหยัดไปยังชั้นธุรกิจ ไม่มีหลักฐานชิ้นใดหรือประจักษ์พยานระบุว่า นายโพลีคาปุสเป็นผู้กระทำการฆาตกรรม ด้วยการใส่สารหนูในอาหารให้มูนีล นอกจากเอกสารแวดล้อม ที่น่าสงสัยว่า จำเลยมีหน้าที่อะไรบนเครื่องบินที่มูนีลเดินทาง และทำไมนายโพลีคาปุส จึงเข้ามาพูดคุยขอให้มูนีลย้ายที่นั่งมาอยู่ในชั้นธุรกิจ แทนที่นั่งของมูนีลในชั้นประหยัด (รายงานของ human rights first น.3-5)


 


กรณีคุณสมชาย ในวันที่ 16 มิถุนายน 2547 พนักงาน อัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1952/2547 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงาน อัยการพิเศษคดีอาญา 6 สำนักงาน คดีอาญา) โจทก์  พ.ต.ต.เงิน ทองสุข ที่ 1, พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ ที่ 2, จ.ส.ต.ชัยแวง พาด้วง ที่ 3, ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต ที่ 4 และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน ที่ 5  จำเลย ในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และข่มขืนใจผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่ข้อหาการฆ่าหรือการลักพาตัวที่ มีโทษสูงกว่า เนื่องจากการสืบสวนสอบสวนของตำรวจไม่สามารถหาหลักฐานที่เพียงพอที่เชื่อได้ว่านายสมชายได้เสียชีวิตไปแล้วหรือไม่  และมีการยุติการสืบสวนสอบสวนเพียงแค่การทำงานร่วมกันของจำเลยทั้ง ห้าคนในช่วงวันที่ 12 มีนาคม 2547 และในช่วงเวลาที่พบรถยนต์ของนายสมชายวันที่ 16  มีนาคม 2547


 


8. ครอบครัวถูกข่มขู่ คล้ายกัน


นับแต่มูนีลถูกฆาตกรรม และ ภรรยาได้ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ครอบครัวของมูนีลก็ได้รับการข่มขู่ทั้งทางโทรศัพท์ และจดหมาย  เช่น ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2547 บุรุษไปรษณีย์ได้นำพัสดุเป็นกล่องโฟม 1 กล่อง มาส่งที่บ้านของมูนีล ในเบกาซี เมื่อภรรยาของมูนีลเปิดออก ภายในกล่องพบหัวไก่ ขาไก่ 2 ขาและเนื้อไก่ หั่นเป็นชิ้นๆ ซึ่งเนื้อเน่าแล้ว พร้อมกับข้อความพิมพ์ อ่านได้ความว่า "จงหยุดติดตามเรื่องการตายของมูนีล ถ้าไม่อยากจบชีวิตลงอย่างนี้"


 


นางสุจีวาตีได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในอินโดนีเซียว่า นับแต่มูนีลมีบทบาทในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการกระทำของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ ในปลายทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมาครอบครัวของเธอและมูนีล ถูกข่มขู่ คุกคาม ถึง 7 ครั้ง ด้วยการส่งระเบิดปลอมบ้าง โทรศัพท์บ้าง แต่ไม่มีครั้งใดเลยที่คดีเหล่านี้ได้ถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่รักษากฎหมายหรือไม่เคยมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล


 


คุณสุจีวาตี ภรรยาของมูนีล ต้องรับภาระในการเลี้ยงดูลูกน้อย 2 คน ชาย 1 หญิง 1 อายุ 5 ขวบและ 3 ขวบตามลำดับ


 


คุณอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของคุณสมชายได้เล่าให้ที่ประชุม กลุ่มสตรีมุสลิมผู้ร่วมชะตากรรมแห่งความสูญเสียจากเหตุการณ์รุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี เมื่อ 17 ธันวาคม 2548 ว่า "แน่นอนว่าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ สิ่งหนึ่งที่ต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การถูกคุกคาม ซึ่งญาติๆ ก็ถามกันทุกคนว่า แน่ใจแล้วหรือที่จะมีเรื่องกับตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ดิฉันก็ตอบไปว่า เราไม่ได้ไปหาเรื่องใคร เป็นแค่ชาวบ้านคนหนึ่งที่อยากต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม"  ซึ่งในระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาล คุณอังคณาและครอบครัว ได้อยู่ในความคุ้มครองโดยสำนักคุ้มครองพยาน กระทรวงยุติธรรม จะไปไหนมาไหน มีเจ้าหน้าที่ให้ความดูแล แต่แล้วล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันฟังคำพิพากษา ภายหลังจากฟังคำพิพากษาเสร็จคุณอังคณาได้เดินกลับมาขึ้นรถของเพื่อนทนายความ เธอพบว่าไฟหน้าของรถยนต์ที่เธอนั่งมานั้นถูกทุบแตก เหตุเกิดที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร


 


9. รัฐบาล ถูกตั้งคำถามในเวทีโลก ถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมเหมือนกัน 


ทั้งกรณีคุณสมชาย นีละไพจิตร และมูนีล ได้รับความสนใจในระดับโลก โดยในการประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ (UN Commission on Human Rights)ประจำปี 2548 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คุณอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของคุณสมชาย และคุณสุจิวาตี ภรรยาของมูนีล ได้เข้าให้ข้อเท็จจริงต่อผู้แทนพิเศษสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง 


 


ในระหว่างการพิจารณาคดีทั้งสองคดี มีผู้แทนขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เข้าร่วมสังเกตการณ์ในศาล และจัดทำรายงานการเสียชีวิต การสอบสวน และการดำเนินคดีในศาลโดยตลอด พร้อมกับมีการตั้งคำถามถึงรัฐบาลทั้งสองประเทศว่า การที่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกลอบสังหารและหายสาบสูญนี้ รัฐบาลได้ให้ความมั่นใจอย่างไรต่อการอำนวยความยุติธรรมว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมจะได้รับการติดตาม นำตัวมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมในประเทศ ซึ่งหากรัฐบาลทั้งสองประเทศไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้ แสดงว่า รัฐบาลตกอยู่ภายใต้อิทธิพล อำนาจเถื่อน และมีความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ


 


 








ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net