Skip to main content
sharethis


โดย เกษียร เตชะพีระ


 


"สิทธิมนุษยชนในความหมายความสมานฉันท์ในหมู่มวลมนุษย์ได้สร้างภาษาใหม่ที่เป็นสากลและเสมอภาคอันข้ามพ้นพรมแดนทางเชื้อชาติ, เพศสภาพ, ชาติพันธุ์หรือศาสนาขึ้นมา นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเราถือมันเป็นทางเข้าประตูสู่การสนทนาสำหรับผู้คนจากทุกกลุ่มเศรษฐกิจสังคมและอุดมการณ์"


มูนีร์ ซาอิด ธาลิบ


 


0 0 0


 


 



มูนีร์ ซาอิด ธาลิบ


 


ปี 2547 ที่แล้วมานับเป็นปีแห่งโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของวงการผู้ปกป้องสิทธิ  มนุษยชนในเอเชียอาคเนย์ เพราะไม่เพียงแต่ประเทศไทยจะสูญเสีย ทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอุ้มสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยตราบเท่าทุกวันนี้เท่านั้น หากอินโดนีเซียอันเป็นเพื่อนบ้านของเราก็ได้สูญเสีย ทนายมูนีร์ ซาอิด ธาลิบ นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชั้นนำของประเทศไปในทำนองคล้ายกันด้วย


 


คำนิยามเปรียบเทียบมูนีร์ ซาอิด ธาลิบที่กระชับชัดถึงแก่นที่สุดสำหรับการรับรู้ของสังคมไทยน่าจะเป็นว่า เขาคือสมชาย นีละไพจิตร (ในแง่บทบาทผลงานในประเทศ) + สุลักษณ์  ศิวรักษ์ (ในแง่ฐานะชื่อเสียงต่างประเทศ) ของอินโดนีเซียนั่นเอง!


 


มูนีร์ (ชื่อของเขาแปลว่า "แสงสว่าง" ในภาษาพื้นเมือง) เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) ปีเดียวกับที่นายพลซูฮาร์โตเริ่มกระบวนการยึดอำนาจและสถาปนาระบอบเผด็จการกดขี่ภายใต้ฉายา "ระเบียบใหม่" โดยตัวเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดของการกวาดล้างฆ่าหมู่ "คอมมิวนิสต์" ทั่วอินโดนีเซียราว 5 แสนคน เขาเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบราวิจายา หลังเรียนจบ เขาเข้าร่วมงานมูลนิธิให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายของอินโดนีเซีย (YLBHI) ในปี ค.ศ. 1989 โดยเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายแก่เหยื่อความรุนแรงและกดขี่ของรัฐในเมืองสุราบายา ทางตะวันออกของเกาะชวา มูนีร์ขยับขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายประจำเมืองเซมารัง ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าปฏิบัติการภาคสนามของมูลนิธิฯที่จาการ์ตานับแต่ปี ค.ศ. 1996 เรื่อยมา


 


มูนีร์เริ่มโดดเด่นเป็นที่รู้จักของสาธารณชนอินโดนีเซียช่วงปลายสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์-โตในฐานะแกนนำรณรงค์ประท้วงกรณีนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยร่วม 20 กว่าคนถูกลักพาตัวหายสาบสูญไปอย่างน่าสงสัยตอนปลายปี ค.ศ. 1997 ต่อต้นปี ค.ศ. 1998 เมื่อการรณรงค์ดังกล่าวขึ้นสู่กระแสสูง เขาก็ก่อตั้งองค์การสิทธิมนุษยชน คอนตราส (Kontras) ขึ้นหรือในชื่อเต็มว่าคณะ กรรมาธิการเพื่อกรณีผู้สูญหายและเหยื่อความรุนแรง โดยมีเอ็นจีโอประชาธิปไตย 12 องค์กรรวม ทั้งมูลนิธิ YLBHI สนับสนุน เขารับเป็นผู้ประสานงานคณะทำงานของคอนตราสในระยะแรกและประธานคณะกรรมการจัดการองค์การนี้ในเวลาต่อมา


 


พร้อมกับการล่มสลายของระบอบซูฮาร์โต ความตื่นตัวด้านเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซียทำให้เห็นชัดว่าจำต้องขุดรากถอนโคนมรดกวัฒนธรรมการเมืองแห่งความรุนแรง การฉวยใช้อำนาจในทางมิชอบและคอรัปชั่นที่เผด็จการแพร่ทิ้งไว้และหยั่งรากลุกลามเรื้อรังในรัฐและสังคม โดยการผลักดันของมูนีร์ คอนตราสจึงรวมศูนย์เคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องความรุนแรงทางการเมือง ส่งเสริมให้เคารพกระบวนการที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย หาหลักประกันให้เหยื่อความรุนแรงได้ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ และสนับสนุนความสมานฉันท์และสันติภาพ คอนตราสตีพิมพ์นิตยสารออกเผยแพร่รายงานเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นและจัดตั้งสำนักงานโครงการกระจายไปในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ คอนตราสยังร่วมกับมูลนิธิ YLBHI พัฒนาสื่อสาธารณะเพื่อให้การศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านรายการวิทยุด้วย ผลงานเหล่านี้ทำให้คอนตราสได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชน Yap Thiam Hien อันทรงเกียรติคุณในปี ค.ศ. 1998 นอกจากคอนตราสแล้ว ต่อมามูนีร์ก็ได้ร่วมกับเพื่อนมิตร 16 คนก่อตั้งกลุ่มเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนอีกองค์กรหนึ่งชื่ออิมพาร์เซียล (Imparsial) ในปี ค.ศ. 2002


 


กระบวนการลงประชามติเรื่องเอกราชของติมอร์ตะวันออกและถอดถอนอำนาจยึดครองของทหารอินโดนีเซียเหนือเกาะนั้นนำไปสู่เหตุนองเลือดรุนแรงครั้งใหญ่ต่อหน้าสายตาสื่อมวลชนและชาวโลกอีก สืบเนื่องจากเหตุดังกล่าว คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซียได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในติมอร์ตะวันออก (KPPHAM) ขึ้นโดยมูนีร์ร่วมเป็นสมาชิกคนหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1999 คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ค้นพบหลักฐานจำนวนมากที่แสดงชัดว่ากองทัพอินโดนีเซียเข้าไปพัวพันกับการรับสมัคร ให้เงินทุนหนุนหลัง ฝึกอบรมและสั่งการบรรดากองกำลังอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ก่อจลาจลรุนแรงในติมอร์ตะวันออกช่วงลงประชามติเรื่องเอกราชใต้การอำนวยการของสหประชาชาติ รายงานของคณะกรรมาธิการฯเมื่อต้นปี ค.ศ. 2000 นำไปสู่การสอบสวนพฤติกรรมนายทหารบกชั้นผู้ใหญ่ 6 นายรวมทั้งอดีตเสนาธิการทหารบกพลเอกวิรันโต อย่างไรก็ตาม อัยการของรัฐไม่ยอมเอาผิดนายทหารหรือตำรวจคนใดในข้อหาก่ออาชญากรรมด้านสิทธิมนุษยชนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯซึ่งระบุชื่อเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไว้ในรายงาน, มูนีร์ยังได้รับแต่งตั้งให้ร่วมคณะกรรมการยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนที่เสนอต่อรัฐสภาอินโดนีเซียในปี ค.ศ. 2000 ด้วย


 


มูนีร์ได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมายรับเป็นทนายว่าความแก้ต่างให้นักเคลื่อนไหวรณรงค์สิทธิมนุษยชนหลายคนในคดีที่ขึ้นสู่ศาล อีกทั้งเป็นตัวแทนรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิประโยชน์ของชนชาติส่วนน้อยหลายกล่มทั่วหมู่เกาะต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย เขายังรับสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนในการฝึกอบรม สัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการของทหารตำรวจอินโดนีเซียมากมายหลายครั้ง เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื้อรังที่เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน


 


ด้วยประวัติผลงานอันโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ดังกล่าวมา ชื่อเสียงของมูนีร์จึงขจรขจายออก ไปและได้รับยกย่องเกียรติคุณอย่างสูงทั้งในและระหว่างประเทศทั้งที่อายุยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ ดังปรากฏว่าในวาระย่างสหัสวรรษใหม่ ค.ศ. 2000 ปีเดียว UMMAT อันเป็นวารสารมุสลิมชั้นนำในอินโดนีเซียได้ยกย่องเขาเป็น "บุคคลแห่งปี", นิตยสาร Asia Week เลือกเขาเป็นหนึ่งในบรรดา  "ผู้นำวัยเยาว์สำหรับสหัสวรรษในเอเชีย", และท้ายที่สุดมูนีร์ก็ได้รับรางวัล Right Livelihood Award ของปีนั้นพร้อมคำนิยมว่าเพื่อเป็นเกียรติแก่ "ความกล้าหาญและเสียสละของเขาในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและการให้พลเรือนมีอำนาจควบคุมทหารในอินโดนีเซีย"


 


(อนึ่ง รางวัล Right Livelihood Award มักถือกันว่าเป็นรางวัลโนเบลทางเลือกสำหรับผู้อุทิศตนแก่ภารกิจก้าวหน้าภาคประชาชนดังที่นางวันทนา ชีวะแห่งอินเดียได้รับในปี ค.ศ. 1993 เคน ซาโร-วิวาแห่งไนจีเรียได้รับในปี ค.ศ. 1994 ก่อนจะถูกประหารชีวิตอย่างอยุติธรรมในปีถัดมาและอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ได้รับในปี ค.ศ. 1995 เพื่อเป็นเกียรติแก่ "วิสัยทัศน์และความยึดมั่นของเขาต่ออนาคตที่หยั่งรากอยู่ในประชาธิปไตย, ความยุติธรรมและบูรณาการทางวัฒนธรรม")


 


ในทางกลับกัน การยืนหยัดต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อเลิกราเพื่อเปิดโปงการใช้อำนาจโดยมิชอบและคอรัปชั่นของรัฐบาลและทหารอินโดนีเซีย ก็ทำให้มูนีร์มีศัตรูไม่น้อยและตัวเขาเองกับครอบ ครัวมักตกเป็นเป้าของการรังควานคุกคามอยู่เสมอและถึงขั้นขู่เอาชีวิตก็หลายครั้ง แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุร้ายจะเกิดขึ้นกับเขาในวาระโอกาสและลักษณะอย่างนั้นเลย


 


เย็นวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 2004 มูนีร์ขึ้นเครื่องของสายการบิน Garuda เที่ยวบินที่ 974 ออกเดินทางจากจาการ์ตาไปอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อศึกษาต่อด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยยูเทร็คท์ ตามที่ได้ทุนการศึกษามา


 


หลังเครื่องออกไม่นาน จู่ ๆ เขาก็เกิดป่วยหนักกระทันหัน มีอาการท้องเสียรุนแรงและอาเจียนเป็นพัก ๆ นายแพทย์คนหนึ่งที่เดินทางไปในเที่ยวบินเดียวกันพยายามรักษาเขาแต่ก็ช่วยไว้ไม่ได้ วันที่ 7 กันยายนก่อนเครื่องบินจะถึงสนามบินในกรุงอัมสเตอร์ดัมเพียงเล็กน้อย มูนีร์ก็ถึงแก่ความตาย ในช่วงป่วยหนักอยู่บนเครื่องบินนั้นเอง มูนีร์ได้ฝืนส่งข้อความ SMS ผ่านโทรศัพท์มือถือไปถึงนางสุจิวาตี ผู้เป็นภรรยาครั้งสุดท้ายก่อนตายว่าเขาถูกวางยาพิษในอาหาร!


 


สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เนเธอร์แลนด์ในกรุงอัมสเตอร์ดัมได้ผ่าตัดชันสูตรศพมูนีร์และตรวจพบว่าเขาตายเพราะพิษของสาร arsenic ปกติแล้วคนธรรมดาหากรับสาร arsenic เข้าไปใน ร่างกายเกิน 200 มิลลิกรัมก็ถือว่าอันตรายถึงชีวิตแล้ว ทว่าในกรณีมูนีร์ เขามีสาร arsenic ที่ไม่ถูกย่อยตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารถึงกว่า 460 มิลลิกรัม! สำหรับคนรูปร่างเล็กบางอย่างเขาเมื่อโดนพิษมากขนาดนั้นย่อมไม่มีทางรอดเลย


 


ข้อสรุปทั้งในและนอกอินโดนีเซียจากพยานหลักฐานที่ประจักษ์ชัดมิอาจเป็นอื่นไปได้นอกจากมูนีร์ถูกฆาตกรรมทางการเมืองบนเครื่องบินของทางการอินโดนีเซียด้วยการวางยาพิษ! แต่ใครคือฆาตกร? ใครคือผู้บงการ? ด้วยมูลเหตุจูงใจและวิธีการอย่างไร? ใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ? จะทวงถามความยุติธรรมและความจริงให้แก่การตายของมูนีร์ได้อย่างไร?


 


จากวันนั้นจวบวันนี้ ยังไม่มีคำตอบจากรัฐบาลหรือตำรวจอินโดนีเซียแต่อย่างใด การสืบ สวนสอบสวนถูกถ่วงล่าช้าออกไปด้วยข้ออ้างต่าง ๆ ที่ฟังไม่ขึ้น ขณะเดียวกัน นางสุจิวาตี ภรรยาม่ายของมูนีร์กลับได้รับห่อพัสดุทางไปรษณีย์บรรจุซากไก่ที่ถูกตัดหัวทิ้งพร้อมข้อความว่า: -


 


"อย่าเอากองทัพอินโดนีเซียไปโยงกับการตายของมูนีร์ อยากจะลงเอยแบบนี้รึไง?"


 


อีกนั่นแหละ โดยแก่นแท้แล้วมันก็อีหรอบเดียวกับคดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร มิใช่หรือ?


 


0 0 0


 


"สัมภาษณ์มูนีร์: ศาสนาต้องอำนวยประโยชน์แก่มนุษยชาติ"


แปลโดย เกษียร เตชะพีระ


 


ก่อนมูนีร์เสียชีวิตไม่นาน เขาเปิดใจให้สัมภาษณ์แก่ อูลิล อับชาร์-อับดัลลาห์ - อดีตรองประธานองค์การ Nahdlathul Ulama (NU) อันเป็นองค์การชาวมุสลิมใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียระหว่างปี ค.ศ. 1994 - 1999 และปัจจุบันเป็นประธานเครือข่ายอิสลามเสรี (Jaringan Islam Liberal, JIL) กับสถาบันศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Lakpesdam) - เกี่ยวกับปรัชญาการดำเนินชีวิตและศรัทธาศาสนาของเขา ที่สำคัญมูนีร์ได้เล่าความหลังครั้งเป็นนักศึกษาที่เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวในองค์การอิสลามหัวรุนแรง รวมทั้งข้อคิดและประสบการณ์ที่ได้ซึ่งทำให้เขาเปลี่ยนใจหันมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแทนในเวลาต่อมา บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 13 กันยายน ศกก่อน และแปลเป็นอังกฤษลงในเว็บไซต์ของเครือข่ายอิสลามเสรีภายหลัง ดู http://islamlib.com/en/page.php?page=article&id=724


 




มูนีร์ ซาอิด ธาลิบ
(ภาพจาก Aljazeera.net)


 


อูลิล: ในฐานะนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน คุณคงเคยครุ่นคิดเกี่ยวกับความหมายของอิสลามในชีวิตการทำงานของคุณมาแน่ ๆ คุณเล่าให้เราฟังหน่อยได้ไหมครับ?


 


มูนีร์: ผมเข้าไปพัวพันกับแนวทางศาสนาสุดโต่งหรือหัวรุนแรงจากปี ค.ศ. 1984 - 1989 ตอนนั้นผมถึงกับพกมีดติดตัวไปไหนต่อไหนในนามของการต่อสู้ขัดแย้งทางศาสนา แต่อันที่จริงแล้ว ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่ามีอะไรบางอย่างขาดหายไปเกี่ยวกับหน้าที่ที่ศาสนาพึงมี จนถึงจุดหนึ่ง ผมก็เริ่มตั้งคำถามว่าอิสลามบัญชาการให้ผมแยกตัวออกมาต่างหากและโดดเดี่ยวตัวเองจากชุมชนอื่นจริงหรือ มันเหมือนเกิดการสู้รบกันในใจผมเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า: เอาเข้าจริงศาสนาอิสลามดำรงอยู่เพื่ออัลลอฮ์หรือว่าดำรงอยู่เพื่อมวลมนุษย์ในอันที่จะสรรค์สร้างสังคมที่ดีกว่านี้โดยทั่วไปขึ้นมากันแน่?


 


ผมพบว่าศาสนาถูกเผยประกาศเพื่อเป้าประสงค์ประการหลัง ผมเห็นด้วยกับกุสดูร์ (อดีตประธานา-ธิบดีอับดูร์ราห์มาน วาฮิด) ว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่จำเป็นต้องมีองค์รักษ์มาปกป้องพระองค์ดอก ศาสนาต้องอำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ เราพร่ำพูดถึงพรที่อิสลามประทานให้แก่เอกภพ (rahmatan lil- alameen) โดยไม่เข้าใจแก่นแท้ของมัน ท้ายที่สุด ผมจึงออกจากกลุ่มอิสลามสุดโต่งดังกล่าวเนื่อง จากมันเหลือวิสัยที่ผมจะอยู่รอดต่อไปไหวในชุมชนที่แยกตัวต่างหากแบบนั้น ก็เพราะอิสลามเกื้อหนุนอารยธรรมนี่เอง อิสลามจึงพึงดำเนินงานเพื่อปรับปรุงชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้น


 


ตรงกันข้าม ทรรศนะสุดโต่งและไม่อดกลั้นอดออมทางศาสนาจะทำลายอารยธรรมของมนุษย์ลง คนจำนวนมากคิดว่าตนกำลังสร้างสรรค์สังคม กระนั้นก็ตามความจริงพวกเขากำลังสร้างสัญลักษณ์ที่ทำลายอารยธรรมต่างหาก


 


อูลิล: ประสบการณ์ของคุณน่าสนใจในแง่ที่มันเป็นเรื่องของบุคคลที่เป็นสมาชิกของชุมชนอันดับสอง - หมายถึงชุมชนทางศาสนาหรือชาติพันธุ์ - แทนที่จะถือตนเป็นคนอินโดนีเซียอันดับแรกก่อนอื่นใดหมด?


 


มูนีร์: บางครั้งความหลากหลายก็กระตุ้นให้เกิดทรรศนะสุดโต่งทางศาสนาหรือชาติพันธุ์ขึ้นมาเหมือนกัน ซึ่งพอเกิดแล้วมันก็จะถือว่ากลุ่มของตัวเองสำคัญอย่างเด็ดขาดสัมบูรณ์และมองข้ามกลุ่มอื่น นอกจากทรรศนะสุดโต่งระหว่างต่างศาสนาแล้ว ทรรศนะอย่างเดียวกันก็เกิดภายในหมู่สำนักคิดต่าง ๆ ร่วมศาสนาด้วย ในอินโดนีเซีย เราได้เห็นการนองเลือดมากมายเนื่องจากความหลากหลายของวิธีเข้าสู่ปัญหาของสำนักต่าง ๆ ทางศาสนา จนชีวิตดูเหมือนเป็นสงครามแย่งชิงพื้นที่ในสวรรค์กัน อันนี้แหละคือปัญหา


 


อูลิล: ตอนไหนครับที่คุณตีตัวออกห่างทรรศนะสุดโต่ง?


 


มูนีร์: มันเกิดจากคำถามหนึ่งที่ มาลิค ฟาจาร์ อาจารย์ของผมตั้งขึ้นตอนนั้น (มาลิค ฟาจาร์ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการต่อมา - บรรณาธิการ) แกบอกว่า "ฉันไม่เคยเจอนักศึกษาโง่เง่าอย่างเธอเลย เที่ยวพกจิตใจสู้รบไปไหนต่อไหนในนามศาสนาเพื่อจะได้ควบคุมครอบงำคนอื่น" สำหรับผมตอนนี้ อิสลามนั้นเสรีและยอมรับความหลากหลาย อิสลามจะไม่มีสิทธิอำนาจอันใดเมื่อไม่เผื่อแผ่พื้นที่ให้คนอื่น คำถามนี้กลายเป็นบทแย้งความคิดกระแสหลักของหลายกลุ่มตอนนั้น นิกายสุดโต่งที่ผมเคยสังกัดก็ไม่เผื่อแผ่พื้นที่ให้คนอื่นเหมือนกัน


 


อูลิล: คุณช็อคไหมครับตอนที่มาลิก ฟาจาร์ดุคุณเรื่องนี้?


 


มูนีร์: ช็อคครับแต่ผมก็รู้สึกได้แรงดลใจด้วย


 


ตอนนั้นผมเป็นนักกิจกรรมในสมาคมนักศึกษาอิสลาม (HMI) คำวิจารณ์ประการที่สองของอาจารย์มาลิคแกว่าอย่างนี้ครับ: "เรียนรู้ศาสนาอิสลามที่แท้จริงซะ! ช่วยไปอ่านธรรมนูญของสมาคมนักศึกษาอิสลามทีเถอะ จริงหรือเปล่าที่สมาคมนี้เอาแต่สร้างความขัดแย้งหรือว่ามันมีภารกิจทางสังคมอยู่?"


 


ตอนหลังผมถึงพบว่าอิสลามตระหนักความจริงเรื่องความอยุติธรรมในความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่อยู่และอิสลามควรเข้าข้างผู้ถูกกดขี่เพื่อสร้างความยุติธรรมขึ้นมา ผมคิดว่าอิสลามเป็นเรื่องของความยุติธรรม ไม่ใช่การแยกตัวออกไปต่างหากอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ นี่แหละที่ทำให้ผมทิ้งทรรศนะสุดโต่งไว้เบื้องหลัง และผมได้พบชุมชนใหม่ที่ยอมรับความหลากหลายแทน


 


อูลิล: คุณโชคดีที่ผ่านพ้นทรรศนะสุดโต่งโดยอาศัยได้กัลยาณมิตรที่ดีและตื่นรู้ขึ้นมา แล้วกับพวกหัวสุดโต่งทุกวันนี้ล่ะ จะมีทางตื่นรู้เหมือนคุณไหม?


 


มูนีร์: ผมคิดว่ามีทางนะครับ ปัญหาหลักอยู่ตรงทรรศนะสุดโต่งนั้นมุ่งหน้าหาอำนาจการเมืองแทนที่จะพยายามเข้าใจความไม่ยอมอดกลั้นอดออมต่อคนอื่นอันเจ็บแค้นขมขื่นให้ลึกซึ้ง อันที่จริงทรรศนะสุดโต่งที่เกิดจากกิเลสตัณหาทางการเมืองเป็นอันตรายยิ่งกว่าความตื้นเขินทางศาสนาเสียอีก ทุกวันนี้น่ะ ผมคิดว่าพวกหัวสุดโต่งโน้มเอียงไปทางการเมืองมากกว่าเทววิทยาครับ


 


อูลิล: คุณช่วยอธิบายที่คุณพูดต่ออีกหน่อยได้ไหมครับ?


 


มูนีร์: ผมคิดว่าทรรศนะสุดโต่งเกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์ทางสังคม-การเมืองสร้างแรงกดดันที่คุกคามชุมชน อย่างไรก็ตามมันก็มีเหตุผลทางศาสนาต่าง ๆ นานาที่ให้ความชอบธรรมกับแรงกดดันทางการเมืองด้วย ตัวอย่างเช่นผู้คนให้ความชอบธรรมกับการใช้โศลกที่ว่าชาวยิวและคริสเตียนจะเป็นศัตรูกับอิสลามตลอดไป ผู้คนใช้โศลกทำนองนี้โดยไม่ดูเลยว่าบริบททางประวัติศาสตร์ของมันเป็นอย่างไร พวกเขาใช้มันราวกับว่าความเป็นศัตรูกับยิวและคริสเตียนนั้นเป็นเรื่องถาวรอยู่เสมอ


 


ผมคิดว่ามีการนำเหตุผลมากมายมาใช้ให้ความชอบธรรมกับความกลัวว่าจะเกิดอิสลามภิวัตน์หรือ คริสเตียนภิวัตน์ ความหวาดวิตกแบบนั้นมีอยู่ในทุกศาสนา บางคนทึกทักว่าพื้นที่ทางศาสนาจะถูกปิดกั้นถ้าหากอิสลามพ่ายแพ้ทางการเมือง พวกเขากังวลว่าจะมีคนที่ละหมาดในมัสยิดไม่เป็นหรืออ่านคัมภีร์อัลกุรอานไม่ออก ความกังวลเช่นนี้อาจกลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่ล่อใจเราให้พยายามควบคุมและบังคับคนอื่นให้นับถือศาสนา ในบริบทแบบนี้แหละที่บังเกิดแนวคิดว่ารัฐจะต้องบังคับใช้ศาสนาทำนองเดียวกับที่ทรรศนะสุดโต่งเกิดขึ้นเนื่องจากความหวาดวิตกว่าจะถูกประเทศอื่นครอบงำ


 


อูลิล: ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่าพวกหัวสุดโต่งเชื่อว่าอิสลามกำลังถูกคุกคามดังนั้นก็เลยต้องตีโต้กลับไปใช่ไหม?


 


มูนีร์: ผมคิดว่าทีทรรศน์ทางศาสนาถูกกำหนดจากบริบทที่ผู้คนดำรงชีวิตอยู่ สำนักคิดอิสลามต่าง ๆ ดำรงอยู่ในบริบทและประวัติศาสตร์เฉพาะเหมือนกัน ในบริบทนี้ ศาสนาอาจกลายเป็นรูปแบบการต่อต้านสำหรับผู้ถูกกดขี่ได้ แต่พวกหัวสุดโต่งทางศาสนาไม่ควรโจมตีมนุษย์ที่ดูยังไงก็ไม่ใช่ผู้กดขี่ไปได้ ผมเห็นด้วยว่าอิสลามต้องสนองพลังงานให้การต่อสู้กับการกดขี่ แต่ไม่ใช่เพื่อเอาไปสู้กับบางศาสนา ตัวอย่างเช่นที่เรายากจนไม่ใช่เพราะถูกคริสต์ศาสนาครอบงำ แต่เพราะถูกทุนหรือโครง-สร้างครอบงำต่างหาก ฯลฯ ผมคิดว่าศาสนาสามารถสนองพลังงานใหม่ให้ผู้คนต่อต้านการกดขี่ได้ตราบที่มีเป้าที่ชัดเจน แต่ศาสนาไม่ควรฉวยใช้สิทธิอำนาจของตนไปสู้กับคู่อริด้วยการร้องตะโกนว่าคาฟีร์ (kafir หมายถึงพวกนอกศาสนา) บ้างล่ะ มูร์ทาดบ้างล่ะ (murtad หมายถึงพวกทรยศศาสนา) เป็นต้น


 


อูลิล: ดูเหมือนศาสนาจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านใช่ไหมครับ?


 


มูนีร์: ผมเชื่อว่าอิสลามเป็นศาสนาของผู้ถูกกดขี่ อิสลามให้คำตอบแก่ปัญหาทางสังคมของพวกเขา ขณะเดียวกัน บรรดาผู้ไม่ได้ถูกกดขี่ก็มีหน้าที่ช่วยเหลือพวกเขาและประกันว่าการกดขี่จะสิ้นสุดลง นั่นแหละคือสังคมอิสลามที่แท้จริง


 


การต่อสู้กับความยากจนเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากความยากจนนำพาผู้คนไปสู่การละทิ้งศาสนา ดังนั้นการต่อสู้กับความยากจนจึงเป็นบัญชาสำคัญสำหรับสังคมมุสลิม อิสลามไม่ได้บัญชาการเราให้สู้กับศาสนาอื่น แต่ให้สู้กับการกดขี่และความยากจน ผมคิดว่านี่เป็นรากฐานสำคัญสำหรับสังคมและอารยธรรมมุสลิม


 


อูลิล: ถ้างั้นก็หมายความว่าวิธีมองทางศาสนาเช่นนี้ผลักดันคุณให้ปกป้องผู้ถูกกดขี่และต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนใช่ไหมครับ?


 


มูนีร์: ผมเกิดในครอบครัวที่นับถือศาสนาในความหมายยึดเป็นบรรทัดฐานการประพฤติปฏิบัติ แต่ผมคิดว่าแค่นั้นมันไม่พอ การนับถือศาสนาควรไปเกินกว่าบรรทัดฐานการประพฤติปฏิบัติอาทิสมมุติฐานที่ว่าการนับถือศาสนาหมายถึงต้องละหมาดวันละห้าครั้งเป็นต้น อันนี้ถูกวิจารณ์โดย  คัก นูร์ (นูร์โคลิส มาญิด) ว่าเป็นเพียงการเคร่งศาสนาแต่ในทางสัญลักษณ์และรูปแบบเท่านั้น เราต้องตระหนักว่ามีคำกล่าวในละหมาดที่บงการให้ต้องกระทำบางอย่างในชีวิต อย่างเช่นผมนึกไม่ออกว่าจะให้ผมกล่าวละหมาดว่า "ด้วยความเที่ยงแท้, คำละหมาดของข้า, พิธีกรรมของข้า, ชีวิตของข้าและความตายของข้า..." และขณะเดียวกันก็ยังทำตัวทุจริตฉ้อฉลและมองข้ามความยากจน ฯลฯ ได้อย่างไร ในกรณีเช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้าคงประณามผมว่าเป็นคนเพิกเฉย ไร้ค่าและน่าทุเรศ


 


ในบริบทที่ว่านี้ เมื่อผมละหมาด ผมก็ต้องเข้าข้างคนยากจนและกัดฟันเลือกเพื่อทำให้ได้ตามคำบัญชา - อาทิปกป้องผู้ตกเป็นเหยื่อเป็นต้น - ในเมื่อผมได้หันหน้าหาความยุติธรรมแล้ว สำหรับผม ชุมชนมุสลิมต้องเข้าข้างผู้ถูกกดขี่ มันเป็นสิ่งที่ผมเลือกและความเชื่อของผม การสร้างสังคมที่ยุติธรรมนั้นเป็นการต่อสู้ทางศาสนา สังคมยุติธรรมไม่ได้กำหนดให้ทุกคนต้องเป็นมุสลิม แต่ให้แสดงออกซึ่งแนวคิดของอิสลามเรื่องความยุติธรรมภายในสังคม


 


อูลิล: คุณคิดว่าคุณยังต้องระบุเอกลักษณ์ตัวเองว่าเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดเวลาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมอีกไหม หรือว่าการต่อต้านความอยุติธรรมที่ว่านี้มันข้ามพ้นเรื่องชื่อฉายาและสัญลักษณ์ไปแล้ว?


 


มูนีร์: ผมไม่รู้จะอ้างตัวว่าเคร่งศาสนาได้หรือเปล่า แต่ผมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เชื่อว่าการสถาปนาความยุติธรรมซึ่งครอบคลุมและไม่เห็นแก่ตัวนั้นเป็นพลังงานสำคัญที่สุดในอิสลาม ผมคงละทิ้งอิสลามไปแล้วถ้าอิสลามไม่ส่งเสริมสิ่งนี้ และด้วยเหตุผลนี้แหละที่ผมชอบที่จะเลือกนับถืออิสลาม และผมไม่สามารถจะไปบังคับเคี่ยวเข็ญใครให้ยอมรับว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ครอบคลุมและดังนั้นเขาหรือเธอต้องกอดรับนับถืออิสลามได้ สำหรับผม เวลาผมชอบที่จะเลือกอะไรสักอย่าง นั่นควรจะกำกับควบคุมการกระทำและท่าทีของผมด้วย


 


ไม่ควรจะไปบังคับใครให้เข้ามาร่วมและใครก็มีสิทธิ์จะสถาปนากระบวนการอื่น ๆ ขึ้นมาเหมือน กัน แต่เหนือสิ่งอื่นใด ศาสนาเป็นพลังงานสำคัญสำหรับต่อสู้ความอยุติธรรม ในเรื่องนี้ ผมเชื่อว่า อิสลามมีอนาคตอันสดใส อิสลามที่ครอบคลุมไม่ได้มีไว้แสวงหาอำนาจหากแต่เป็นพลังงานสำคัญสำหรับคนชายขอบต่างหาก



อูลิล: คุณรู้สึกอย่างไรเรื่องสัญลักษณ์ของเอกลักษณ์ที่เปิดเผยโจ่งแจ้งมาก ๆ?


 


มูนีร์: บางทีผมก็พยายามจินตนาการนะว่าคนที่ไม่ใช่มุสลิมจะเป็นยังไงเวลาเขาเจอมุสลิมที่สำแดงออกให้เห็นซึ่งบุคลิกลักษณะทางกายภาพของอิสลามและอวดอ้างว่าตนครอบครองสัจธรรมหนึ่งเดียวที่มีอยู่ ผมเองยังรู้สึกเหมือนคนส่วนน้อยเลยเวลาผมเจอผู้ชายไว้เครายาวและหน้าผากมีรอยดำคล้ำ (เนื่องจากกระทบพื้นเวลาละหมาดเป็นประจำ - ผู้แปล) บางทีผมก็รู้สึกกังวลว่าจะถูกครอบงำโดยมาตรวัดสัจธรรมจำพวกนั้นเหมือนกัน สำหรับผมแล้ว สัญลักษณ์เหล่านี้กลับเป็นผลเสียต่อพันธกรณีที่จะแนะนำศาสนาอิสลามให้คนอื่น และถึงไงบุคลิกลักษณะเหล่านี้มันก็เป็นผลผลิตที่เกิดจากวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อีกด้วย เราต้องจำแนกแยกแยะระหว่างวัฒนธรรมต่าง ๆ ของอาหรับในยุคท่านนบีมุฮัมมัดกับอิสลามในฐานะที่เป็นศาสนา มันเป็นสองอย่างที่แตกต่างกัน


 


ฉะนั้น สัญลักษณ์วัฒนธรรมของอาหรับอย่างการสวมเสื้อคลุมจึงไม่ใช่โองการของอิสลาม ของพวกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในตะวันออกกลาง คนอัฟกันสวมเสื้อคลุมไว้เครามานมนานแล้วแต่นี่ไม่ใช่มาตรวัดของอิสลาม สำหรับผม การใช้สัญลักษณ์สร้างความห่างเหินให้เกิดขึ้นและส่งผลเสียต่ออิสลามเอง ฉะนั้นเราต้องหลีกเลี่ยงมัน จะผูกไทหรือสวมเสื้อคลุมก็ไม่คุกคามหรือครอบงำ   สัจธรรมด้วยกันทั้งนั้น เสื้อผ้าเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรม ไม่ใช่มีไว้ให้ความชอบธรรมกับการครอบงำดอก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net