Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ในท่ามกลางกระแสแห่กันไล่ทักษิณ ชินวัตร ผมว่ามีเรื่องที่ต้องคอยเตือนตัวเองอยู่บ้างเหมือนกัน


 


ในฐานะสื่อ มีข่าวและแถลงการณ์จากองค์กรวิชาการและภาคประชาชนจำนวนมากที่หลุดไม่พ้นไปจากกระแสอันเชี่ยวกรากของการเรียกร้องทักษิณแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก


 


กระนั้นนั่นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่มีความสำคัญอันดับหนึ่งในแถลงการณ์เหล่านั้น เราพบว่าจำนวนมาก ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงท่าทีต่อการร่วมชุมนุมว่าเป็นสิทธิ และเป็นกลไกของการพัฒนาประชาธิปไตยที่รัฐต้องปกป้องดูแล จำนวนมากที่มุ่งหมายถึงเป้าหมายที่การเรียกร้องทักษิณออกจากตำแหน่ง ขณะเดียวกับที่เรียกร้องให้สังคมใช้วิธีการเท่าที่เพียรจะหาได้จากระบบและกลไกที่มีอยู่ แต่ประเด็น "วิธีการล้ม" นั้นแถบจะไม่เป็นข่าว เพราะมันได้ถูก "เป้าหมาย" บดบังไปเสียหมด


 


ความสำคัญมิใช่อยู่ที่เราอับจนหนทางที่จะเปิดให้ระบบได้ทำงาน เพราะที่จริงเราไม่ได้อับจนหนทางขนาดนั้น อย่างน้อยการชุมนุมในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่เราควรจะใช้เพื่อมุ่งเป้าหมายที่ "ระบบ" เพื่อเปิดให้มันได้ทำงานเต็มที่ เรากลับไม่อาจควบคุมจนมันไปไกลเป็นเป้าหมายที่ "ตัวบุคคล"


 


ทักษิณ ขึ้นมาได้ด้วยนโยบาย การไม่ยอมลาออก เพราะต้องรับผิดชอบกับ 19 ล้านเสียงที่เลือกเขาขึ้นมา แม้จะฟังดูหยิ่งยโส โอหัง แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ฟังได้ เรามิอาจและมิควรที่จะประเมินคน 19 ล้านคนนั้นอย่างผู้โง่เขลาเบาปัญญาจึงได้เทคะแนนเลือกทักษิณมา แม้วันนี้ทักษิณจะหมดความชอบธรรม แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เขามาอย่างชอบธรรม มาเพราะนโยบาย มิใช่ใช้เงินซื้อมา (ก็ทุกพรรคแหละครับใช้เงินทั้งนั้น แต่ทำไมไทยรักไทยถึงได้)


 


สิ่งที่ภาคประชาชนและภาค วิชาการต้องถาม คือเราได้อะไรมาหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เราอาจจะได้พื้นที่ของประชาชนมากขึ้น แต่สร้างสังคมที่ดีได้น้อยลง ตลาดเสรีเข้ามาครอบงำกำหนดชีวิตมากขึ้น ครั้นเราได้ร่างรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองก็แล้ว เรายิ่งตกหลุมพรางเข้าไปอีก


 


ทักษิณ เป็นปัญหาของ "ระบบ" แน่นอนครับ เขาเก่งเกินไป ร้ายกาจเกินไป และเป็นนักธุรกิจเกินไป แต่หากเราแยกแยะ การขายหุ้นอย่างมีข้อเคลือบแคลงหรือจะชัดเจนในการหลีกเลี่ยงภาษีก็ตามที นั่นคือวิถีทุนที่ใครๆ ก็ทำ การไล่ทักษิณด้วยประเด็นนี้ โดยมิได้เชื่อมโยงให้มันเป็นปัญหาของ "วิถีทุน" จึงไร้ประโยชน์ และไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาให้สังคมเลย


 


ทักษิณ เป็นปัญหาของ "ประชาธิปไตย" ในฐานะที่ทำให้ระบบถ่วงดุลพิกลพิการ และการชุมนุมขับไล่เราอาจจะมองว่าเป็นกลไกหนึ่งของระบบที่ใช้ถ่วงดุล เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการพัฒนาการทางการเมืองก็ได้ แต่เราจะใช้กลไกนี้ทุกครั้งเพื่อล้มรัฐบาล และตัดสินว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชามติที่ถูกต้องชอบธรรมแทนมติที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้


 


มีนักวิชาการบางคน นักกิจกรรมบางคน ตอบคำถามว่า ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา เพราะทักษิณก็จะกลับมาอีก คำตอบแบบนี้มันออกจะแหม่งๆ และหมิ่มเม่มว่า ตัวเองคือความถูกต้อง  


 


หากทักษิณไม่อยู่ในตำแหน่งนายกฯ เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองแน่นอนครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราเรียกร้องอรหันต์หรือรัฐบุรุษมาปกครองบ้านเมืองไม่ใช่หรือ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงต้องชุมนุมกันทุกครั้ง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่กันทุกครั้ง จนกว่าจะถึงยุคพระศรีอาริย์ที่ทุกคนเป็นอรหันต์กันหมด


 


เราคิดถึงแต่กระแสและกลัวที่ "ตกขบวน" แค่นั้นไม่ได้ครับ ไม่อย่างนั้นเราจะ "เตะหมูเข้าปากหมา" เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา


 


นักวิชาการน่าจะได้ใช้โอกาสที่ได้ร่วมกันรวบรวมรายชื่อให้นายกฯแสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรมด้วยการลาออก ก้าวไปอีกขั้นเพื่อร่วมกันนำเสนอทางไป ให้กับประชาชนและสังคมด้วย


 


ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข


บรรณาธิการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net