จดหมายเปิดผนึกถึง องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประชาไทยินดีที่จะเป็นทางผ่านต่อการส่งทัศนะและความคิดเห็นในจดหมายเปิดผนึกของ   ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ  และเห็นว่าประเด็นนี้น่าจะเป็นเรื่องที่เปิดกว้างให้เกิดการถกเถียงกันในเรื่องพลังเคลื่อนไหวของนักศึกษา และจะยินดีเป็นที่ยิ่งถ้าจะมีผู้แทนของ อมธ. มาตอบคำถาม หรือ อธิบายความต่อถ้อยในจดหมายเปิดผนึกนี้ ถือเป็นความงอกงามทางปัญญาและเพิ่มพูนความสมานฉันท์ให้แข็งแรง

...............................................

จดหมายเปิดผนึกถึงองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตามที่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้มีการจัดการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเรียกร้องให้มีการรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ครบ 50,000 ชื่อ เพื่อทำการตรวจสอบการดำเนินการของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ตามครรลองของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าและประชาชนคนหนึ่ง การดำเนินกิจกรรมขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าได้รับความชมเชยมาก เพราะที่ผ่านมาอมธ.ชุดก่อนๆ จะมีนโยบายการทำกิจกรรมแค่เพียงในมหาวิทยาลัยเท่านั้น น้อยครั้งมากที่จะมีกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้ยังไม่ได้เป็นแค่การรวมตัวของนักศึกษาธรรมศาสตร์เพราะนิสิตนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายต่างๆของนายกฯทักษิณได้มาร่วมด้วย เช่น ได้มีนิสิตนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.รามคำแหง มหาวิทยาลัยอื่นๆ และประชาชนไปร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก

ซึ่งจดหมายเปิดผนีกฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ข้อเสนอแนะอมธ.บางจุดหลังจากการประชุมเครือข่ายนักศึกษาจากหลากหลายมหาวิทยาลัยในวันเสาร์ที่ 11 ก.พ. โดยที่ อมธ. เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม ซึ่งได้มีองค์กรนิสิตนักศึกษา กลุ่มอิสระ และเครือข่ายนักศึกษาเข้าร่วมมากกว่า 40 คนจาก ม.ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ ม.รามคำแหง ม.เกษตร ม.มหิดล วิทยาลัยนานาชาติมหิดล ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ม.ราชภัฎนครปฐม ม.สยาม และจากที่อื่นๆ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนของอมธ.ที่ในฐานะผู้จัดการประชุมได้มีท่าทีบางอย่างแสดงถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่รับฟังความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษากลุ่มต่างๆ ดังนี้:

1. การประชุมครั้งนั้นองค์กร/กลุ่มนักศึกษาต่างๆ มีจุดประสงค์เพื่อหาจุดร่วมระหว่างกันเพื่อหาจุดยืนร่วมกันพร้อมทั้งเสนอการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเหมือนในเวทีเสวนาทั่วไป แต่เมื่ออมธ. รู้ว่าองค์กรต่างๆ มีข้อเรียกร้องให้มีการเคลื่อนไหวมากกว่าการล่ารายชื่อ เช่น เรียกร้องให้มีการปฎิรูปการเมือง ให้รัฐบาลทบทวนกรณีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และ การเซ็นสัญญา FTA อมธ. กลับมีท่าทีที่พยายามวนประเด็นกลับไปที่การล่ารายชื่อ

2. ในการเริ่มต้นของการประชุมอมธ. มีการกำหนดว่าในทุกวาระจะมีการลงคะแนนเสียงเพื่อที่จะได้ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม แต่เมื่อกลุ่มนศ. ส่วนใหญ่มีมติร่วมกันว่าต้องมีการเคลื่อนไหวนอกเหนือจากการล่ารายชื่อ อมธ.กลับมีการเรียกร้องให้มีฉันทามติ (consensus) โดยที่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนต้องมีความเห็นที่ตรงกันหมดทั้ง 40 คน ถ้ามีผู้เห็นต่างเพียงคนเดียวมตินั้นจะตกไป ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะไม่สามารถนำมาสู่ขอเสนอที่เป็นรูปธรรมได้ในท้ายที่สุด ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นว่าอมธ. ไม่ต้องการให้มีการเคลื่อนไหวอย่างอื่นนอกจากการล่ารายชื่อ

3. ในช่วงแรก ได้มีการตกลงกันว่าการลงคะแนนเสียงจะเป็นไปโดยไม่นับเสียงเป็นหนึ่งเสียงต่อหนึ่งองค์กร แต่จะเป็นหนึ่งเสียงต่อผู้เข้าร่วมประชุมหนึ่งคน เพื่อความเป็นประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด ซึ่งเมื่อผู้ดำเนินรายการในตอนหลังเห็นว่าการตกลงเช่นนี้อาจจะทำให้มติส่วนใหญ่จะเสนอให้มีการเคลื่อนไหวนอกเหนือจากการล่ารายชื่อ ผู้ดำเนินรายการกลับเสนอให้มีการนับเสียงเป็น 1 เสียงต่อ 1 องค์กร

4. ในตอนหลังของการประชุม เมื่อที่ประชุมได้มีข้อสรุปในส่วนของจุดยืนที่องค์กรต่างๆ จะมีจุดร่วมกัน 7 ข้อ อมธ.กลับเสนอให้มติในวันที่ประชุมเป็นโมฆะไปโดยเสนอว่าต้องมีการประชุมครั้งต่อๆ ไป ทั้งๆ ที่จุดยืนทั้ง 7 ข้อได้รับการโหวดเป็นเอกฉันท์ โดยผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่

ซึ่งการกระทำของอมธ.ได้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้เขียนจดหมายเปิดผนึกจึงขอมีข้อเสนอดังนี้:

1. ขอให้อมธ. มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเห็นความหลากหลายในทางความคิด ตามคำพูดที่ว่า "ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" เพราะนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมประชุมมีความรู้สึกอยากทำงานร่วมกับอมธ. กลุ่มนิสิตนักศึกษามีจุดยืนร่วมกันกับอมธ. คือ ต้องการเห็นสังคมนี้ดีขึ้นโดยเพียงแค่มีแนวทางแตกต่างกัน คล้ายกับที่เพื่อนคนหนึ่งที่เข้าร่วมประชุมกล่าวว่า "ทุกคนมีจุดมุ่งหมาย คือ มาเพื่อไหว้พระ แต่เอาของที่จะถวายพระไม่เหมือนกัน การล่ารายชื่ออาจจะเป็นแค่ดอกไม้ดอกหนึ่งที่นำมาถวายพระ" แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นว่าควรมีการดำเนินการที่มากไปกว่าการล่ารายชื่อ อมธ. ควรดำเนินการแลกเปลี่ยนไปตามนั้น ไม่ใช่พยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นกรณีนั้นๆ

2. อมธ. ควรทำความเข้าใจถึงกระแสการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศว่า นิสิตนักศึกษาที่มาร่วมประชุมและส่วนมากเห็นด้วยกับการล่ารายชื่อของอมธ. แต่ต้องการให้มีการเรียกร้องมากกว่านั้น เพราะการล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อ มีจุดบอดหลายอย่างและมีขีดจำกัดหลายอย่าง และ กระแสการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศได้ก้าวไปไกลกว่าการล่ารายชื่อแล้ว เช่น ที่กลุ่มนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกข้อสัญญา FTA ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปัตตานีมีข้อเรียกร้องให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาในภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยบูรพาเรียกร้องให้หยุดการเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการเรียกร้องให้ปฎิรูปการเมืองและให้เสรีภาพกับสื่อ ฯลฯ

3. อมธ. ไม่ควรมองว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในกรอบแคบว่า นักศึกษาควรเคลื่อนไหวในกรอบของนักศึกษาเท่านั้นโดยไม่เข้าไปร่วมสนับสนุนองค์กรแรงงาน เกษตรกร กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน แต่ควรมองการเคลื่อนไหว แบบ "องค์รวม" เพราะการเคลื่อนไหวแค่ในส่วนของนักศึกษาส่วนเดียวจะทำให้ไม่มีพลังเหมือนดังเช่นการเคลื่อนไหวในอดีต หรือ การเคลื่อนไหวในอดีตสามารถมีพลังอันเข้มแข็งได้เพราะมีการเคลื่อนไหวรวมกันระหว่าง ขบวนการนักศึกษา ขบวนการแรงงาน และขบวนการชาวนาและเกษตรกร หรือที่รู้จักกันว่า "สามประสาน"

ท้ายที่สุดนี้ จดหมายเปิดผนีกฉบับนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิพากษ์วิจารณ์อมธ. แต่อย่างใด แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการปรับปรุงการทำงานภายใต้การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีภาพ เพื่อที่อมธ. จะสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อที่จะได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนักศึกษาประชาชน ดังเช่นที่ อมธ. รุ่นก่อนๆได้ทำมาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ เหตุการณ์อื่นๆ


ด้วยความสมานฉันท์

ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ
(ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ปี 2545 และ สมาชิกสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ปี 2547)

........................................................................................................................

อยากร่วมคุยกับประชาไท ส่งอีเมลมาที่ talk@prachatai.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท