Skip to main content
sharethis

7 กุมภาพันธ์ 2549


 


คณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)


แถลงการณ์เรียกร้องให้


รัฐบาลปฏิรูปการบริหารประเทศเพื่อพิสูจน์ความจริงใจก่อนพบกลุ่มประชาสังคม


 


ตามที่ นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงผ่านสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 ว่า รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีดำริที่จะจัดประชุมเพื่อพบปะทำความเข้าใจและแสวงหาการมีส่วนร่วมจากองค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งนักวิชาการ เพื่อให้ได้เสนอแนะการบริหารงานของรัฐบาลในระยะเวลาที่เหลืออยู่ 3 ปีของคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้น[1]


คณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวของรัฐบาลเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความเสื่อมซึ่งความชอบธรรมของรัฐบาลในการบริหารบ้านเมือง และท่ามกลางการประท้วงและการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมต่างๆ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา


กป.อพช. มีความรู้สึกประหลาดใจและสงสัยในเจตนาของรัฐบาลที่แสดงท่าทีต้องการพบปะในครั้งนี้ เพราะการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น หาได้เคยให้ความสนใจรับฟังความคิดเห็นขององค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการทั้งหลายอย่างจริงแต่ประการใดไม่ ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาล โดยเฉพาะตัว พ.ต.ท. ทักษิณ เอง ยังมักแสดงท่าทีและทัศนคติที่ดูแคลนองค์กรภาคประชาสังคมที่เสนอแนะความคิดเห็นในการบริหารบ้านเมืองที่แตกต่างไปจากแนวความคิดและนโยบายของรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ราษฎรอาวุโสที่มีบทบาทในการแนะนำแนวทางการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด


ตลอดระยะ 10 ปีกว่าปีมานี้ กป.อพช. ในฐานะเครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับประชาชนในระดับรากหญ้ามากกว่า 300 องค์กรทั่วประเทศ ไม่เคยละโอกาสที่จะเสนอแนะต่อรัฐบาลต่างๆในอดีต อีกทั้งพยายามร่วมมือกับทุกๆรัฐบาลเสมอมา เพื่อให้สังคมไทยมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมต่อประชาชนทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ด้วยท่าทีและทัศนคติต่อภาคประชาสังคมของรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังที่กล่าวข้างต้น บวกกับท่าทีไม่ยี่หระของนายกรัฐมนตรีต่อปฏิกิริยาของประชาชนเกี่ยวพฤติกรรมการขายหุ้นชินคอร์ปที่ถูกตั้งคำถามเชิงจริยธรรมอย่างหนักหน่วง กป.อพช. เห็นว่า การพบปะแลกเปลี่ยนหรือความร่วมมือใดๆก็ตามระหว่างกป.อพช.และรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้และไม่มีประโยชน์อันใดอีก  เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้สนองตอบข้อเสนอ กป.อพช.แต่อย่างใด เว้นเสียแต่ว่า รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ สามารถพิสูจน์ถึงความตั้งใจจริงของตน (ในการแสวงหาความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในช่วง 3 ปีที่เหลืออยู่) โดยการดำเนินการดังต่อไปนี้


1.    พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องยอมรับต่อประชาชนว่า การแสวงหาช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงภาษี และการแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้บรรษัทต่างชาติเข้ามาครอบครองกิจการโทรคมนาคม การขนส่ง และสถานีโทรทัศน์ที่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ นั้น ไม่เพียงเป็นความผิดเชิงจริยธรรมที่ร้ายแรง แต่เป็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย


2.    รัฐบาลต้องหยุดการทำข้อตกลงเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ และแก้ปัญหาผลกระทบจากข้อตกลงเอฟทีเอที่ผ่านมาโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข  เนื่องจากเป็นที่แจ้งชัดแล้วว่า การทำเอฟทีเอดังกล่าวสร้างผลกระทบระยะยาว เปิดโอกาสให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามายึดครองประเทศและฐานทรัพยากรของชาติ บีบบังคับให้ไทยต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติ ในขณะที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดตกอยู่กับกลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล แลกกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรมากกว่า 10 ล้านคน และประชาชนโดยทั่วไป 


3.    รัฐบาลต้องยุติการแทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ สถาบันสื่อมวลชน และวงการนักวิชาการ  รวมทั้ง หยุดคุกคามการทำหน้าที่ของนักสิทธิมนุษยชน นักสื่อสารมวลชนและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ที่มุ่งตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชน


4.    รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรและการจัดการทรัพยากรในระดับท้องถิ่นอย่างจริงจัง มิใช่การแก้ปัญหาอย่างฉาบฉวยด้วยนโยบายประชานิยมเอื้ออาทร รัฐบาลต้องให้การรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การจัดการป่าชุมชน การปฏิรูปที่ดิน และการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรให้ลุล่วงไปในแนวทางที่ยั่งยืน และรัฐบาลต้องหยุดโครงการหรือนโยบายที่ละเมิดสิทธิของชุมชนและสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมและเช่น โครงการเหมืองแร่โปแตช ที่จังหวัดชัยภูมิ และอุดรธานี และโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นต้น


5.    รัฐบาลต้องยุติการนำกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น กิจการไฟฟ้า เป็นต้น เข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างเด็ดขาด เพื่อตัดหนทางที่กิจการเหล่านี้อาจถูกแปรสภาพเป็นของเอกชนที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผูบริโภคและความเดือดร้อนของคนยากคนจนในอนาคต


6.    รัฐบาลต้องประกาศใช้ปรัชญาการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศ โดยมีแผนงาน กิจกรรมและงบประมาณสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างเพียงพอ


 


ทั้งนี้ กป.อพช. เห็นว่า รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มีอำนาจเพียงพอที่จะเร่งดำเนินการในทุกข้อข้างต้น ไม่ว่าจะด้วยเสียงสนับสนุนในรัฐสภา หรือด้วยเสียงสนับสนุน 19 ล้านเสียง ที่นายกรัฐมนตรีอ้างถึงบ่อยครั้ง คำถามอยู่ที่ว่า รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ มีเจตนารมณ์หรือไม่


หากรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถดำเนินการดังกล่าวทุกข้อ กป.อพช. มีความเชื่อมั่นว่า องค์กรต่างๆในภาคประชาสังคมและกลุ่มนักวิชาการจะยินดีเข้าร่วมการประชุมกับรัฐบาลเพื่อเสนอแนะแนวทาง ตลอดจนการให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศในอนาคต แต่ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเพราะบัดนี้พิสูจน์ชัดแล้วว่ารัฐบาลตกต่ำทางจริยธรรมและขาดแคลนความชอบธรรมเป็นอย่างมาก รวมทั้งแนวทางในการพัฒนาประเทศที่แตกต่างสวนทางกันอย่างชัดเจน


กป.อพช. มิได้มีเจตนาที่จะล้มล้างรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะยังคงอยู่ หรือมีรัฐบาลใหม่เข้ามา เราเห็นว่า ข้อเรียกร้องของเราต่อรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณข้างต้น คือภารกิจที่ทุกรัฐบาลในอนาคตจะต้องกระทำ หากต้องการเห็นสังคมไทยพัฒนาไปอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช)


7  กุมภาพันธ์ 2549


 


 






[1] "หลังจากบริหารประเทศครบ 5 ปี ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ ก็จะพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ ภาคประชาชน เอ็นจีโอ เพื่อกำหนดทิศทางการบริหารประเทศต่อไป โดยจะเชิญทุกฝ่าย ไม่จำกัดเฉพาะที่สนับสนุนรัฐบาลเท่านั้น แม้แต่ฝ่ายที่คัดค้านและยื่นหนังสือให้นายกฯลาออกเราก็จะเชิญมา" กรุงเทพธุรกิจ 2 กุมภาพันธ์ 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net