Skip to main content
sharethis

            จากการประชุมของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2549 เรื่องคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 27 คน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ม. 96, ม. 216, และ ม. 209 หรือไม่


            ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 8 ต่อ 6 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องไว้วินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่าคำร้องมิได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการกระทำใดๆ ของนายกรัฐมนตรีเป็นการเข้าไปบริหารจัดการเกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของบริษัทหรือนิติบุคคลที่เป็นการต้องห้ามตาม ม. 209 นั้น


            คณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเห็นว่าการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังต่อไปนี้


            ประการแรก การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นขั้นตอนเบื้องต้นว่าคำร้องดังกล่าวมีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไปหรือไม่ ในขั้นตอนนี้ผู้ร้องจึงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์จนเป็นที่ประจักษ์ชัดแต่อย่างใด เพียงแสดงข้อมูลและเหตุผลที่รับฟังได้ว่าคดีมีมูลก็เป็นการเพียงพอแล้ว


ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างว่าคำร้องมิได้แสดงให้เห็นว่าการกระทำใดของนายกรัฐมนตรีเป็นการเข้าไปบริหารก้าวก่ายเกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการนั้น แต่ในคำร้องของ ส.ว. ได้อ้างคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีและบุตรเกี่ยวกับการจัดการหุ้นบริษัทชินคอร์ป  ซึ่งตามหลักกฎหมายพยานนั้นก็ถือเป็นคำรับที่ผูกมัดตัวเองและสามารถนำมารับฟังได้ แต่เหตุใดในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่นำมาพิจารณาประกอบ


ประการที่สอง การกระทำความผิดตาม ม. 209 วรรค 2 เป็นกรณี "ห้ามมิให้รัฐมนตรีกระทำการอันใดอันมีลักษณะเข้าไปบริหารหรือจัดการใดๆ เกี่ยวกับหุ้น" ก็เป็นข้อห้ามในการมีส่วนร่วมที่ได้มิได้ดำเนินการโดยตรงแต่เป็นการกระทำในลักษณะทางอ้อม หรือหลบเลี่ยงกฎหมาย เช่น การโอนหุ้นให้ลูก หรือบุคคลใกล้ชิด โดยที่ตนเองยังมีอำนาจแท้จริงในการตัดสินใจ


การที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ส.ว. ยังไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในความผิดตาม ม. 209 จึงเท่ากับเรียกร้องให้พิสูจน์ความผิดที่มีลักษณะหลบเลี่ยงกฎหมายซึ่งมีความเป็นไปได้ยากในการนำพยานหลักฐานมายืนยันอย่างชัดแจ้ง ต้องไม่ลืมว่า ส.ว. มิใช่หน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบสวน สอบสวน แต่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนิติบัญญัติ หากยึดการตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้เป็นบรรทัดฐานต่อไป ก็จะเป็นผลให้การดำเนินการกับนักการเมืองหรือบุคคลอื่นใดที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่สามารถเป็นผลขึ้นจริงได้ไม่เพียงกับในปัจจุบันแต่จะรวมถึงในอนาคตด้วย บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มุ่งป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองกับการแสวงประโยชน์ทางธุรกิจก็จะไม่มีความหมายใดเลย


ประการที่สาม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทหน้าที่มีบทบาทในการค้นหาความจริงในข้อพิพาทต่างๆ ดังที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ใน ม. 265 ในการเรียกเอกสาร บุคคล เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานรัฐ มาให้ปากคำหรือดำเนินการอื่นใดอันจะเป็นประโยชน์แก่การวินิจฉัยคดี ศาลรัฐธรรมนูญมิใช่มีหน้าที่เพียงรับฟังพยานหลักฐานของคู่กรณีแต่เพียงอย่างเดียว


การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่าคำร้องของ ส.ว. ไม่มีความชัดเจนจึงไม่รับคำฟ้องมาวินิจฉัยจึงขัดกับเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญต้องมีบทบาทในการแสวงหาความจริงให้ปรากฏว่าข้อกล่าวหานั้นเป็นไปตามที่กล่าวอ้างหรือไม่


นอกจากเหตุผลทั้ง 3 ข้อแล้ว พึงตระหนักว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันทางการเมืองที่จะเป็นกลไกในการแสวงหาข้อยุติในความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันทางการเมืองระหว่างบุคคล กลุ่ม องค์กรต่างๆ ในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมและส่วนรวม อันจะทำให้การเมืองระบอบประชาธิปไตยสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่มีคำถามต่อความชอบธรรมของผู้นำทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง


การยกคำร้องของ ส.ว. โดยศาลรัฐธรรมนูญนอกจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์และหลักการของรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะไม่เป็นผลดีอย่างใดกับสังคมไทยเลยเพราะเท่ากับได้ปิดประตูของการต่อสู้โดยใช้เหตุผลและกระบวนการทางรัฐธรรมนูญให้เหลือน้อยลง และรวมถึงความเชื่อถือที่มีต่อสถาบันแห่งนี้ที่จะลดต่ำลงไปอีก ภายหลังจากที่ได้เกิดความกังขาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันนี้มาหลายครั้งแล้ว


จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น คณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนคำวินิจฉัยในคำร้องของ ส.ว. 27 คนใหม่ โดยให้การพิจารณาดำเนินไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขวิกฤตการณ์ของสังคมในขณะนี้


 


 


 


คณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


                                                                        18 กุมภาพันธ์ 2549


                                                                        ไพสิฐ พาณิชย์กุล


                                                                        กอบกุล รายะนาคร


                                                                        สมชาย ปรีชาศิลปกุล


                                                                        บุญชู ณ ป้อมเพ็ชร


                                                                        ศักดิ์ชาย จินะวงศ์


                                                                        นัทมน คงเจริญ


                                                                        ลักคณา พบร่มเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net