ผู้บริโภคส่งคำค้านศาลปกครองต่อ หักคำให้การ กฟผ.

ประชาไท - 31 ม.ค.49      สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และตัวแทนผู้ฟ้องคดีกว่า 2,000 คนที่ยื่นฟ้องการแปรสภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ต่อศาลปกครอง ได้ออกคำแถลงสรุปเพื่อยื่นคัดค้านคำให้การของภาครัฐ โดยมีสาระสำคัญ 10 ประเด็น


 

ทั้งนี้ จากกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค รวม 11 คนร่วมกันเป็นผู้ฟ้องคดี พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฏ.) 2 ฉบับที่มีผลต่อการแปลงสภาพ กฟผ. จากรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทจำกัดมหาชน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาพิพากษา ยกเลิกและเพิกถอน พ.ร.ฎ.ทั้งคู่ คือ พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2548 และพ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548

 

ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 พ.ย.48 ให้ระงับการกระจายหุ้น กฟผ.ในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 16-17 พ.ย.ที่ผ่านมา และหลังจากนั้นศาลได้ส่งคำฟ้องของกลุ่มองค์กรผู้บริโภค ไปยังผู้ถูกฟ้องคดี ทั้ง 5 ราย ประกอบด้วย 1.นายกรัฐมนตรี 2. คณะรัฐมนตรี 3. สำนักนายกรัฐมนตรี 4.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ 5. กระทรวงพลังงาน 

 

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.48 ทางผู้ถูกฟ้องคดีได้ได้ส่งคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีมาให้ศาลปกครองสูงสุด เพื่อแก้คำฟ้องของฝ่ายผู้ฟ้องคดี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 ม.ค.49 ได้มีผู้ประชาชนทั่วไปกว่า 2,000 คน มอบอำนาจให้ทนายขอเข้าเป็นผู้ร่วมฟ้องคดีด้วย ทำให้ปัจจุบันมีผู้ฟ้องคดี กฟผ.รวม 2,036

 

ความคืบหน้าล่าสุด ในวันนี้ (31 ม.ค.) ผู้ถูกฟ้องคดีนำโดยนางสาวรสนา โตสิตระกูล นางสาวสารี อ๋องสมหวัง นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน และทนายผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดี นายนคร ชมพูชาติ และนายนิติธร ล้ำเหลือ ได้เดินทางมายื่นคำคัดค้านคำให้การ ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยมีประเด็นสาระสำคัญคือ

 

1. พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ขัดต่อพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญ

 

2. การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับขัดต่อสาระในพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ตามมาตรา 261.2.4 การแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ไม่เป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ เนื่องจากไม่ได้ทำให้มีรายได้เข้ารัฐตามที่ควรจะเป็น กล่าวคือ

3. ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินและกิจการของบมจ.กฟผ. ได้ถูกลดทอนมูลค่าให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยมีการประเมินสินทรัพย์ไว้เพียง 2.4 แสนล้านบาท ในขณะที่มูลค่ากิจการและโอกาสในการทำธุรกิจในฐานะที่เป็นผู้ผูกขาดการซื้อ การขาย และส่งไฟฟ้า มีมูลค่าสูงถึง 3.797 ล้านล้านบาท ดังนั้น หากมีการกระจายหุ้นบมจ.กฟผ. ที่สัดส่วนร้อยละ 25 ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างถึง จะทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์เป็นมูลค่าสูงสุดถึง 9.07 แสนล้านบาท

4. การแปรรูปทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่เคยได้รับ เพราะกฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรส่งคลัง

มาโดยตลอดไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของกำไร แต่ตามหนังสือชี้ชวน ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า หากมีกำไรจะนำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปภาษีเงินได้นิติบุคคล เพียงร้อยละ 25 ตั้งแต่ปี 2549 - 2552 ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มีการนำส่งรายได้ให้กับรัฐ ร้อยละ 35 การแปรรูปที่ทำให้ผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของกิจการ จึงทำให้รายได้ของรัฐลดลง และต้องหาเงินจากแหล่งอื่นมาชดเชย และไม่ช่วยลดภาระทางการคลังของรัฐแต่อย่างใด ดังแสดงในตารางเปรียบเทียบรายได้นำส่งรัฐ และภาษีเงินได้นิติบุคคลของ กฟผ. ก่อนและหลังการแปลงสภาพ

 

5. การแปรรูป ทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์ในรูปของเงินปันผลที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น เพราะตามหนังสือชี้ชวนได้ระบุไว้ว่า บมจ.กฟผ. จะต้องปันผลหุ้นจากกำไรสุทธิ ร้อยละ 40 ให้กับผู้ถือหุ้น หากรัฐสูญเสียความเป็นเจ้าของกิจการไปร้อยละ 25 หมายถึงว่า รัฐเสียประโยชน์เพราะต้องแบ่งกำไรที่เคยได้ทั้งหมดให้ผู้ถือหุ้นเอกชน จึงเป็นการถ่ายโอนรายได้ที่พึงมีของรัฐไปสู่เอกชน

 

6. คณะรัฐมนตรีไม่เคยมีมติให้ยุบเลิก กฟผ. แต่อย่างใด ในคำคัดค้านของผู้ถูกฟ้องเองก็ไม่สามารถระบุให้ชัดเจนได้ว่ามีมติของคณะรัฐมนตรีครั้งใด ที่กำหนดให้มีการยุบเลิก กฟผ. จากการตรวจสอบของผู้ฟ้องคดี พบว่า มติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับการแปลงสภาพ กฟผ. คือ มติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2546 และวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเพียงการอนุมัติในหลักการให้แปลงสภาพ กฟผ. ทั้งองค์กรเป็นบริษัทโดยใช้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542

 

7. ผลจากการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับทำให้เกิดการผูกขาดทางด้านกิจการพลังงานไฟฟ้า โดยองค์กรที่มีฐานะทางกฎหมายเป็นองค์กรเอกชน

 

8. ทรัพย์สินของชาติบางอย่าง มีลักษณะเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน หรือสิทธิบางอย่างมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจมหาชน ไม่สามารถที่จะขายหรือให้มีการครอบครองหรือยึดถือโดยองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเอกชน ที่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรได้ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีในการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ จึงเป็นการกระทำไม่สุจริต

 

9. กระบวนการในการตราพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้มีการปฏิบัติตามขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการนั้น ส่งผลให้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ในการจัดเวทีรับฟังความเห็น มีประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเพียงจำนวน 3,632 คน เท่านั้นจากจำนวนประชาชนของประเทศไทยทั่วประเทศกว่า 62 ล้านคน ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียกับการแปรรูปการ กฟผ. หรือมีเพียงน้อยกว่าร้อยละ 0.006 เท่านั้น

 

10. กรณีนี้อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในกระบวนการระหว่างแปลงสภาพ คือกรณีคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งกฟผ. มี ดร.โอฬาร ไชยประวัติ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งในช่วงเวลานั้น เป็นคณะกรรมการบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำธุรกิจโทรคมนาคม จึงขัดต่อมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจฯ 

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มี ดร.ปริญญา นุตาลัย เป็นประธานคณะกรรมการ ฯ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุน ฯ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็น ข้อ 5 ระบุไว้ว่า คณะกรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามข้อหนึ่งระบุว่า ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

11. หลักเกณฑ์ในการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิถือหุ้น บมจ. กฟผ. ไม่ได้เอื้อต่อประชาชนทั่วไปแต่อย่างไร ซึ่งจะทำให้การถือสิทธิหุ้น บมจ. กฟผ. หรือการลงทุนในกิจการของรัฐวิสาหกิจจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มนักลงทุนเท่านั้น และถึงแม้ผู้ถูกฟ้องคดี จะอ้างว่า ให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อหุ้นได้เพียงร้อยละ 30 แต่หากมีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีเรื่องการลงทุนในบริการสาธารณูปโภค จะไม่สามารถจำกัดการลงทุนนักลงทุนแตกต่างจากนักลงทุนในประเทศ เพราะมีข้อผูกพันเรื่องการให้สิทธิเยี่ยงชาติในการลงทุน

 

ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปศาลจะนำสำเนาของผู้ฟ้องคดี ส่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ราย หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีจะทำให้การเพิ่มอีกครั้งภาย ใน 15 วัน หลังจากนั้นศาลก็จะดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม นายบวรศักดิ์ อุวุรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ตั้งกลุ่มงานระดับกองขึ้นตรวจสอบคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรีต่อศาลปกครองแล้ว หลังจากศาลปกครองมีคำสั่งระงับการกระจายหุ้นของ กฟผ. โดยระบุว่าเพื่อแก้ปัญหาเตรียมข้อมูลไม่ทัน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า มีหลายคดีที่ประชาชนฟ้องเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีต่อศาลปกครอง แต่ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.)หรือ แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ทราบเรื่อง จนกระทั่งมีการเชิญให้ไปชี้แจงต่อศาลปกครองแล้วปรากฏผ่านสื่อมวลชน ทำให้ ครม.ไม่ได้เตรียมตัวเพื่อไปชี้แจงมากนัก การชี้แจงจึงไม่ชัดเจน โดยยกตัวอย่างกรณีของ กฟผ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท