Skip to main content
sharethis


 

โดย นิตยสารรายสัปดาห์พลเมืองเหนือ


 


ดันสุดลิ่ม แผนงานป้องกันน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ยั่งยืน เข้าครม.สวนสัตว์ หน่วยราชการเสนอสารพัดโครงการยาวเป็นหางว่าวทั้งที่หลายโครงการยังเป็นที่กังขา  พนังกั้นน้ำปิงมาตามคาด ตะลึงโครงการเดียวขอเงินร่วม 2,000 ล้าน สผ.ลงพื้นที่ระดมผลกระทบน้ำท่วมเชียงใหม่เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ


 


เป็นที่แน่ชัดยืนยันจากนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรีแล้วว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2549 จะมีการเสนอแผนการป้องกันน้ำท่วมเชียงใหม่อย่างยั่งยืน ที่จะเป็นหลักประกันได้ว่าหากดำเนินการตามแผนนี้น้ำจะไม่ท่วมเมืองเชียงใหม่อีกแน่นอน โดยแผนงานดังกล่าวมี 3 ประเด็นคือ 1.ระยะเร่งด่วนคือการจัดระบบข้อมูล การเตือนภัย 2.การชะลอน้ำหลากจากด้านเหนือลงมาเช่นการสร้างอ่างเก็บน้ำ ท่อส่งน้ำหรือฝายกันการปะทะ และ3.ประเด็นการปรับปรุงสภาพลำน้ำปิงที่ไม่เอื้อต่อการระบายน้ำ การเร่งระบายน้ำออกเร็วที่สุด และการเพิ่มการเก็บกักน้ำที่เหมาะสม โดยมีโครงการทั้งสิ้นครอบคลุมทั้งเชียงใหม่และลำพูน 36 โครงการ อยู่ในเขตเชียงใหม่ 33 โครงการ ลำพูน 6 โครงการ แต่ยังไม่สามารถระบุงบประมาณที่จะใช้ในแต่ละโครงการได้ ต้องให้มีการกลั่นกรองโดยสำนักงบประมาณก่อน


 


นายสุวัจน์ ยอมรับว่าตามแผนนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้เสนอโครงการก่อสร้างพนังกั้นน้ำระยะทาง 20 กม. ด้วยโดยเขียนแบบเบื้องต้นแล้ว และได้ให้นโยบายข้อห่วงใยเป็นพิเศษเรื่องความสูงที่กำชับให้คำนึงถึงสภาพภูมิทัศน์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวไปด้วยว่าถ้าจะต้องสร้างต้องรักษาระดับให้เหมาะสมด้วย


 


แผนงานดังกล่าวได้เคยมีการนำเสนอมาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว และมีความพยายามเสนอของบประมาณหลายครั้ง แต่ยังเป็นที่วิพากษ์ถึงความจำเป็นและผลกระทบภูมิทัศน์เมือง โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการอย่างต่อเนื่อง จากเดิมจะมีความยาว 12.8 กม. ความสูงของคันเฉลี่ย 2.10 เมตร ล่าสุดจากเอกสารการเสนอแผนเข้าครม.พบว่ามีการปรับเปลี่ยนความสูงเฉลี่ยเหลือ 1.20 เมตร แต่ความยาวเพิ่มเป็น 19.4 กม. และงบประมาณเพิ่มสูงเป็น 2,217.1 ล้านบาท


 


โดยโครงการนี้ใช้ชื่อว่างานป้องกันน้ำท่วมพื้นที่วงแหวนรอบในและพื้นที่วงแหวนรอบกลางด้านใต้ ประกอบด้วยคันป้องกันน้ำท่วม ประตูระบายน้ำ ประตูท่อ สถานีสูบน้ำ และท่อระบายน้ำหลัก ค่าก่อสร้างรวม 1,926.1 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง"งานระยะเร่งด่วน" ที่ต้องเสร็จใน2ปี ประมาณ1,354.8 ล้านบาท และ"งานต่อเนื่อง" ประมาณ 571.3 ล้านบาท นอกจากนั้นมีการศึกษา จัดทำแผนหลัก ศึกษาความเหมาะสมเพื่อป้องกันน้ำขังในเขตเทศบาลฯ


ใช้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังมืองในปีงบประมาณ 2549 จำนวน 29.1ล้านบาท รวมงบประมาณเพื่อการนี้ 2,217.1 ล้านบาท


 


ทั้งนี้งานเร่งด่วนที่จังหวัดเชียงใหม่เสนอ ประกอบด้วยการก่อสร้างคันกั้นน้ำสองฝั่งแม่น้ำปิง ระยะทางรวม19.4 กม. แบ่งเป็น7สัญญา มูลค่าสัญญาต่ำสุด 114.4ล้านบาท สูงสุด 277.2 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณปี2549จำนวน 680 ล้านบาทและปีงบประมาณ 2550 จำนวน 574.8ล้านบาท ครอบคลุมเขตตัวเมืองเชียงใหม่ และจุดสำคัญสองฝั่งแม่น้ำปิง เช่นสะพานนครพิงค์ สะพานนวรัฐ ตลาดวโรรส ย่านไนท์บาซาร์โดยมีรัศมีครอบคลุมทั้งทางตอนเหนือและใต้ของเมืองด้านละประมาณ 5 กม. และมีงานต่อเนื่องอีกคือก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 7     แห่งวงเงิน 193.2ล้านบาท,ประตูระบายน้ำ 8 แห่ง วงเงิน 46ล้านบาท,ประตูท่อระบายน้ำ 15 แห่ง วงเงิน 15.5 ล้านบาท,ปรับปรุง/ขุดลอกคลองระบายน้ำ 6.5 กม. วงเงิน 15 ล้านบาท,ท่อระบายน้ำหลัก 5.3กม.วงเงิน 274.3 ล้านบาท,ปรับปรุงสาธารณูปโภค (ท่อระบายน้ำ/ประปา/ไฟฟ้า) 27.3 ล้านบาท


 


ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงความชัดเจนของฝายเก่าแก่ 3 ฝายว่าได้เสนอในแผนงานเช่นใด นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ตอบในประเด็นนี้เพียงสั้นๆ ว่าอยู่ในแผนระยะยาว ที่จะเพิ่มประโยชน์ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงเหมาะสมทั้งด้านภูมิทัศน์ การท่องเที่ยวและการเกษตร


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2549 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนางดวงมาลย์ สินธุวนิช ผู้อำนวยการกองติมตามประเมินผล ได้มาเก็บข้อมูลปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่เพื่อจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ


 


นางดวงมาล์ยกล่าวว่าได้รับทราบข้อมูลจากภาคราชการแล้วว่า เตรียมเสนอแผนป้องกันน้ำท่วมเชียงใหม่ยั่งยืนเข้าเสนอต่อครม.สัญจร และได้ฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนเช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตคือ กลไกการทำงานของหน่วยงาน น่าจะมีการมีส่วนร่วมของประชาชนมาแก้ไขด้วย


 


ทั้งนี้ในการนำเสนอข้อมูลต่อทีมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยครั้งนี้ภาคประชาชนโดยการประสานงานของสถานจัดการวิจัยระบบสุขภาพภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำเสนอว่าการจัดทำแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่มองที่เขตเศรษฐกิจของเมือง และแต่ละหน่วยงานก็จะแก้ไขปัญหาตามกรอบของงานที่ตนเองรับผิดชอบ ไม่ได้มองถึงภาพรวมของสาเหตุและจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เช่นกรณีน้ำปิงแคบเป็นคอขวดที่กองบัญชาการตำรวจภาค 5 กลับไม่แก้ไขก่อน แต่เสนอการทำพนังกั้นน้ำ ทั้งนี้โครงการพนังกั้นน้ำเป็นการแก้ไขปัญหาที่ผิดธรรมชาติของแม่น้ำ ที่ต้องการความกว้างแต่กลับทำให้แคบ และรัฐก็แก้ไขโดยทำให้ลึกลงด้วยการขุดลอก และเมื่อน้ำลึกลงตลิ่งพังก็แก้ปัญหาด้วยการเทคอนกรีตทำพนัง อันเป็นการสร้างปัญหาเป็นลูกโซ่ นอกจากนั้นหลายโครงการยังไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย


 


นายชัยพันธ์ ประภาสวัตร ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชนกล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่นั้น มีอีกหลากหลายประเด็น ต้องดูทั้งระบบ ไม่ใช่ว่าจะมาแยกทำโครงการย่อยๆ ออกไป


 


"รัฐควรจะมองปัญหาน้ำท่วมในหลายๆ มิติ ไม่ว่าในเรื่องของการบุกรุกทำลายป่า การชะล้างหน้าดิน การขุดลอกเหมืองฝาย การรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่น การรองรับหาแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดการปัญหาการรุกล้ำน้ำปิงทั้งหมด ที่สำคัญ ควรจะมีการศึกษาวิจัยกันให้ละเอียดชัดเจน  ก่อนจะตัดสินใจดำเนินการใดๆ ลงไป"


ส่วนโครงการทำพนังกั้นน้ำนั้น นายชัยพันธ์กล่าวว่าไม่เห็นด้วย เพราะจะยิ่งทำกระแสน้ำไหลเชี่ยวแรงและจะทำให้เกิดการเซาะตลิ่งสองฝั่งพังเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่ท้ายน้ำ ต่อไปก็คงต้องย้ายไปสร้างเขื่อนกั้นน้ำปิงยาวไปจนถึงลำพูน ดอยเต่า


ด้าน ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ โครงการเมืองยั่งยืน สถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า การสร้างพนังกั้นน้ำ ไม่น่าจะเป็นวิธีการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ที่ถูกต้อง เพราะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ผิดธรรมชาติ และเสี่ยงต่อการที่จะทำให้เกิดการพังทลายของตลิ่งริมน้ำ เช่นเดียวกันกับการขุดลอกให้ลำน้ำมีความลึก


"ต้นเหตุปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ น่าจะอยู่ที่ความคับแคบของลำน้ำแม่น้ำปิง ช่วงผ่านตัวเมืองมากกว่า ซึ่งมีต้นเหตุมาจากการรุกล้ำพื้นที่ริมน้ำและมีการปลูกสร้าง ดังนั้น การแก้ไขปัญหา ควรขยายความกว้างของลำน้ำ ด้วยการดำเนินการกับผู้ที่รุกล้ำพื้นที่ริมน้ำ นอกจากนี้จะทำการรื้อฟื้นปรับปรุงระบบลำน้ำสาขา ให้ระบบระบายน้ำมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการระบายน้ำ ไม่ใช่การสร้างพนังกั้นน้ำ"


ในขณะที่ นางพาที ชัยนิลพันธุ์ ประธานชุมชนบ้านวัดเกตุ ที่อยู่ติดฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก ในเขต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการสร้างพนังกั้นน้ำปิง เพราะมันจะบดบังทัศนียภาพของสองฝั่งแม่น้ำปิงไปหมด มันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกวิธี จริงๆ แล้วสาเหตุที่น้ำท่วมเขตเมือง ก็เพราะว่าลำเหมืองเก่าแก่ดั้งเดิม ถูกถมจนใช้การไม่ได้ จึงทำให้ระบายน้ำไม่ทัน มันต้องแก้เรื่องการรื้อฟื้นขุดลอกลำเหมืองเก่าเพื่อเป็นทางระบายน้ำเมื่อถึงเวลาน้ำหลาก มันถึงจะถูก ยังไงก็จะขอคัดค้านหากมีการเสนอโครงการสร้างพนังกั้นฝั่งแม่น้ำปิง


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net