Skip to main content
sharethis


 

                                 


 


ประชาไท -3 ก.พ. 2549 ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาโทรมหนัก ระดับคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ แฉ "ชุมชนเมืองหาดใหญ่ - เมืองสงขลา โรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือ" ตัวการสำคัญผลิตน้ำเสียทิ้งลุ่มน้ำทะเลสาบ


 


เมื่อเวลา 10.30 น. ที่โรงแรมโนโวเทล เซ็นทรัล สุคนธา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามและประเมินผล ในคณะกรรมการพัฒนราลุ่มน้ำทะเลทะเลสาบสงขลา โดยนายจาดุร อภิชาตบุตร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม


           


ที่ประชุมรับทราบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 เห็นชอบให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2535 เพื่อยกเลิกการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการคันกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุง ซึ่งต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2548 เห็นว่า คณะรัฐมนตรีเพียงแต่เห็นชอบในหลักการเท่านั้น จึงให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอขอยกเลิกโครงการฯ นี้ ต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง


           


จากนั้น ที่ประชุมรับทราบรายงานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2548 มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ การศึกษาสถานภาพชายฝั่ง และจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญการกัดเซาะชายฝั่งทะเลลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของการกัดเซาะที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน และแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รับผิดชอบ โดยให้จัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน ตั้งแต่ขั้นการจัดทำขอบเขตการศึกษา


           


ช่วงบ่าย น.ส.จงจิตร์ นีรนาทเมธีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 16 ได้บรรยายสรุปการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการระวังคุณภาพน้ำ โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมว่า การวิเคราะห์สถานการณ์คุณภาพน้ำทะเลสาบสงขลา ได้จัดลำดับความสำคัญของลุ่มน้ำตามปริมาณความสกปรกออกเป็น 4 กลุ่ม แยกเป็น กลุ่มที่ 1 ปริมาณความสกปกรน้อยกว่า 500 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน มี 1 ลุ่มน้ำ กลุ่มที่ 2 ปริมาณความสกปรกระหว่าง 500 - 1,500 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน มี 8 ลุ่มน้ำ กลุ่มที่ 3 ปริมาณความสกปรกระหว่าง 1,500 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน มี 2 ลุ่มน้ำ และกลุ่มที่ 4 ปริมาณความสกปรกมากว่า 3,000 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน มี 1 ลุ่มน้ำ


           


น.ส.จงจิตร์ บรรยายต่อไปว่า ผลการจัดลำดับความสำคัญดังกล่าว พบว่าลุ่มน้ำย่อยคลองอู่ตะเภา มีปริมาณความสกปรกมากที่สุด คือ 7,876 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน แยกเป็นน้ำเสียจากชุมชน 6,388 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน เนื่องจากไหลผ่านเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลตำบลคอหงส์ เทศบาลตำบลควนลัง เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรมากถึง 514,271 คน มีระบบบำบัดน้ำเสียเทศบาลนครหาดใหญ่เพียง 1 แห่ง รองรับน้ำเสียจากประชากรได้เพียง 160,000 คน แหล่งกำเนิดน้ำเสียในลุ่มน้ำย่อยอู่ตะเภาอีกแหล่งหนึ่ง คือ โรงงานอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดปริมาณความสกปรกสูงถึง 618 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน


           


"ผลการดำเนินการของกรมควบคุมมลพิษในปี 2547 พบว่าจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงงานในลุ่มน้ำย่อยอู่ตะเภา 39 แห่ง มีเพียง 7 แห่ง ที่บำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐานการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม มี 21 แห่ง ไม่ระบายน้ำทิ้งออกส่ภายนอก" น.ส.จงจิตร์ กล่าว


           


น.ส.จงจิตร์ บรรยายอีกว่า ลุ่มน้ำที่มีความสำคัญลำกับต่อมา คือ ลุ่มน้ำย่อยฝั่งคลองตะวันออก 1 ปริมาณความสกปรก 2,578 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน แหล่งกำเนิดสำคัญมาจากการเพาะเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ 13,995 ไร่ ในอำเภอระโนด ที่ก่อปริมาณความสกปรกสูงถึง 1,972 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน ต่อมา คือ ลุ่มน้ำย่อยคลองฝั่งตะวันออก 4 ครอบคลุมอำเภอเมืองสงขลา แหล่งกำเนิดน้ำเสียมาจากชุมชนแออัดในตัวเมืองสงขลา ที่ก่อให้เกิดความสกปรกสูงถึง 1,072 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน และท่าเทียบเรือจังหวัดสงขลา (ท่าสะอ้าน) ก่อให้เกิดน้ำเสียสูงถึง 869 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน


           


น.ส.จงจิตร์ กล่าวถึงมาตรการสนับสนุนในการแก้ปัญหาน้ำเสียในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาว่า ใช้มาตรการการสร้างเครือข่ายติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ ในปี 2547 มีเครือข่ายตรวจวัดคุณภาพน้ำ 20 เครือข่าย มีสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำ 24 สถานี ต่อมาปี 2548 มีเครือข่ายเพิ่มอีก 84 เครือข่าย สถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำ 84 สถานี จนถึงปัจจุบันมีเครือข่ายทั้งสิ้น 104 เครือข่าย 108 สถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำ แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกสายน้ำย่อย ที่เป็นแหล่งรองรับมลพิษทั้งหมด


           


"จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำพบว่า คุณภาพน้ำในปี 2548 อยู่ในระดับเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทั้งหมด กล่าวคือ คุณภาพน้ำในระดับเสื่อมโทรมมาก 23 เปอร์เซ็นต์ เสื่อมโทรม 36 เปอร์เซ็นต์ พอใช้ 28 เปอร์เซ็นต์ ดี 9 เปอร์เซ็นต์ ดีเยี่ยม 4 เปอร์เซ็นต์" น.ส.จงจิตร์ กล่าว


           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net