Skip to main content
sharethis


 



สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


ท่ามกลางเสียงขับไล่ทักษิณที่ดังกระหึ่มอยู่ขณะนี้ สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่าทางออกที่สวยงามที่สุดของนายกฯ ทักษิณขณะนี้คือลาออก อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าวันที่ 4 ไม่ใช่วันยุติกระบวนกระบวนการประชาชนที่จะ "ทำความสะอาด" ระบบการเมืองที่เอื้อประโยชน์แก่นักการเมืองที่เข้ามาแสวงประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยใช้กลวิธีทางกฎหมาย


 


ประชาชนจะทวงอำนาจในการ "ทำความสะอาด" กันแบบไหน ถ้าไม่ใช่การชุมนุมขับไล่นายก โปรดติดตาม


 


ทางลงของคุณทักษิณที่เป็นไปตามกลไกทางรัฐสภา หรือตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นมีทางไหนบ้าง


ทางลงคือต้องลาออกจากตำแหน่ง คือผมคิดว่าสิ่งที่คุณทักษิณได้ทำในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่คนในสังคมรับไม่ได้ในการกระทำที่พยายามแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเองโดยใช้กฎหมายมาเป็นข้ออ้าง เพราะแม้ว่าคุณทักษิณเป็นนักธุรกิจ แต่คุณทักษิณก็เป็นผู้นำประเทศด้วย


 


โดยระบบของรัฐสภานั้น รัฐบาลจะตั้งอยู่ได้ก็โดยการได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคือการได้รับเสียงสนับสนุนจากสังคม ผมคิดว่าถึงจุดนี้ ในทัศนะผม คุณทักษิณล้มละลายทางศีลธรรมและจริยธรรมไปเรียบร้อย เป็นการล้มละลายอย่างชนิดที่ว่าไม่น่าจะสามารถกู้กลับคืนได้


 


ฉะนั้นทางที่สวยงามที่สุด ผมคิดว่าลาออกจากตำแหน่งเถอะ


 


ถ้าคุณทักษิณลาออก กระบวนการต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไร


ถ้าคุณทักษิณลาออก ก็ต้องมีการคัดเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกคนใหม่ แต่ถ้ายุบสภาก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่


 


ถ้าคุณทักษิณลาออกก็เป็นเรื่องในพรรคไทยรักไทยก็ต้องซาวเสียงว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ส่วนจะเป็นใครต้องไล่ลำดับยังไงนั้น ยังไม่เคยมีประเพณีเกิดขึ้น เพราะเมืองไทยเพิ่งมีการเลือกตั้งระบบใหม่ได้ 2 ครั้งเท่านั้น และยังไม่เคยเกิดปรากฏการณ์ว่านายกฯ ลาออก ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับพรรคไทยรักไทยว่าจะเลือกใครขึ้นมา


 


ถ้าคุณทักษิณไม่ยอมลาออก จะมีกระบวนการทางรัฐสภาหรือกระบวนการอื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดอย่างไรในการทำให้นายทักษิณพ้นจากตำแหน่ง


อาจจะใช้วิธีการให้ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อถอดถอน ในกรณีที่เห็นว่าการกระทำของนายกรัฐมนตรีส่อว่าขัดต่อกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ


 


วันนี้เห็นจดหมายจากนักเรียนไทยในฮาวายเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อถอดถอนนายกฯ ออกจากตำแหน่ง คิดว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน


ผมคิดว่าทางนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะโดยปกติมันต้องเริ่มจากการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี  ผมคิดว่าที่จะเป็นไปได้ก็คือการชื่อถอดถอน แต่ว่าต้องเป็นกรณีที่ ส.ว. และ ส.ส. เข้าชื่อถอดถอน ซึ่งในทัศนะผม พูดตรงๆ ว่า ชัดเจนกันอยู่แล้วว่า ส.ว. และ ส.ส.ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของใคร


 


นอกเหนือจากกระบวนการตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีกระบวนการอะไรบ้างที่จะทำให้นายกฯ ต้องลาออก


ถ้าย้อนไปในประวัติศาสตร์ การแสดงเจตนาทางสังคม จะเป็นปัจจัยหนึ่ง เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้ผู้นำพ้นจากตำแหน่งไป แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยมักจะจบลงด้วยความรุนแรงซึ่งส่วนใหญ่รัฐจะเป็นผู้สร้างขึ้น ซึ่งผมคิดว่าถ้าจะเป็นกรณีแบบนี้ ผมคิดว่าก็ไม่อยากให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความรุนแรงหรือการสูญเสีย ผมคิดว่าถ้ามีการชุมนุม มีการเรียกร้องอย่างกว้างขวางให้นายกฯ ลาออก แต่นายกฯ ยังไม่ลาออก ผมคิดว่าเราอาจจะต้องคิดไปถึงปฏิบัติทางสังคมเพื่อให้นายกฯออกไปอย่างสันติ ซึ่งประเทศไทยอาจจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก แต่ผมยกตัวอย่างว่าบางประเทศมีการชุมนุมเรียกร้องให้นายกลาออก การนัดหยุดงาน เพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดลงสักพักหนึ่งอาจจะ 3 วันหรือ 5 วันหรือสัปดาห์หนึ่ง เป็นสัญญาณให้นายกฯ รู้ว่าถ้ายังอยู่ในตำแหน่งต่อไประบบเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนไปไม่ได้


 


มันยังมีวิธีการอีกมากมายที่จะแสดงให้รัฐบาลเห็นว่าเราไม่สนับสนุนแล้ว รัฐบาลควรจะออกไป หรืออาจจะเป็นการแสดงออกโดยอาจจะใช้สัญลักษณ์บางอย่าง เช่น การติดธง หรือการตัดความสัมพันธ์ไม่ติดต่อไม่คบหากับผู้นำรัฐบาลที่เราเห็นว่าล้มละลายทางศีลธรรมแล้ว ซึ่งวิธีการยังมีอีกเยอะนะครับ ซึ่งถ้าหากใช้วิธีการชุมนุมแล้วไม่ได้ผล ผมคิดว่าอาจจะต้องคิดถึงปฏิบัติการทางสังคมเพิ่มขึ้นซึ่งไม่จำเป็นต้องไปชุมนุมเพียงอย่างเดียวนะครับ


 


อาจารย์มองว่าต้องมีกระบวนการต่อไปหลังจากวันที่ 4


ผมคิดว่ามันไม่จบแค่วันที่ 4


 


อาจารย์เสนอการนัดหยุดงานหรือการทำให้ระบบเศรษฐกิจชะงักลง จะเป็นประเด็นละเอียดอ่อนเกินไปสำหรับสังคมไทยไหม เพราะแค่มีกระแสขับไล่นายกฯ หุ้นก็ตกวูบแล้ว


ผมคิดว่าหุ้นตกวูบมันเป็นปัญหาเพราะว่าตัวกลไกทางเศรษฐกิจมันถูกนักการเมืองเข้าไปครอบงำ มันไม่ดำเนินไปโดยอิสระ แต่คุณทักษิณมีวิธีการมากมายในการทำให้หุ้นของตัวเองขึ้น ผมคิดว่าวันนี้คนพร้อมจะโดดออกจากตลาดหุ้น อย่างน้อยคือสถานการณ์มันไม่มั่นใจ ผมคิดว่ามันไม่ใช่ปัญหาระบบเศรษฐกิจโดยตรงแต่เป็นปัญหามาจากการที่การเมืองเข้าไปแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ บางที่อาจจะต้องพูดให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจหรือพูดให้ตรงๆ คือตลาดหุ้นนั้น ต้องมีการชำระสะสาง ถ้าตราบใดที่มีกลเม็ดเด็ดพรายมีการหมกเม็ดที่ทำให้มีการโกงกินอย่างนี้ แม้นายกไม่ลาออก ต่อไปก็จะมีคนแสวงหาประโยชน์ตรงนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็คือหยุดระบบเศรษฐกิจเพื่อจะล้าง ถ้าเกิดจะทำกันต่อก็ทำกันต่อแบบที่มีการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายน้อยลง บางทีมันอาจจะต้องหยุด ไม่อย่างนั้นมันจะหมายความว่า คนที่สกปรกก็สกปรกต่อไป สังคมจะเอาไหมล่ะ  แต่ถ้าเราล้างให้ตลาดหุ้น


 


กรณีการขายหุ้นชินคอร์ป นายกทักษิณพูดว่าทำถูกกฎหมายทุกอย่าง เป็นการสะท้อนว่ากฎหมายของไทยมีปัญหาไหม


คือถ้าคุณทักษิณทำในแง่ที่เป็นนักธุรกิจนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่คุณทักษิณทำเป็นสิ่งที่นักธุรกิจทั่วไปก็ทำ เพราะว่าก่อนหน้านี้บริษัทอื่นๆ ก็ใช้วิธีเลี่ยงภาษี ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นแผนการจัดการภาษีหรืออะไรก็ตามแต่ก็คือการหาวิธีเสียภาษีน้อยที่สุด บริษัทส่วนใหญ่เขาก็ทำกันแบบนี้ ซึ่งผมก็คิดว่าคนเป็นนักธุรกิจทำแบบนี้ก็ไม่เหมาะสมหรอก แต่บังเอิญคุณทักษิณแกนั่งอยู่ในตำแหน่งนายกฯด้วย ซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็เป็นบุคคลสาธารณะที่คนก็คาดหวังด้วยว่าคนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีจริยธรรมคุณธรรมสูงกว่าคนอื่น ไม่อย่างนั้นคุณจะไปเรียกร้องคนอื่น ๆ ให้เสียภาษีเพื่อนำเงินไปพัฒนาประเทศชาติได้อย่างไร คุณจะไปเรียกร้องให้นักธุรกิจต้องทำตรงไปตรงมาได้อย่างไรก็ในเมื่อก็คนเรียกร้องมันยังไม่ทำเลยน่ะ  ผมคิดว่ามันมีปัญหานี้ประการหนึ่ง


 


อีกปัญหาหนึ่งคือ การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเพื่อหาประโยชน์ใส่ตน เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมาก ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลเป็นเสียงข้างมากแบท่วมท้น มากแบบเด็ดขาดจึงทำให้การตรวจสอบการถ่วงดุลเกิดขึ้นได้ยาก ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ฝ่ายบริหารไม่เข้มแข็ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงบัญญัติหลักเกณฑ์ให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง แต่พอถึงตอนนี้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งจนตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย เราคงต้องคิดกันนะครับว่า จะทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการตรวจสอบให้เข้มแข็งกว่านี้ไม่ถูกแทรกแซง ผมอยากให้เป็นหัวใจสำคัญที่ต้องทำต่อ แม้ว่าคุณทักษิณจะออกหรือไม่ก็ตาม


 


...............................................................................


อ่านความบทความสมชาย ปรีชาศิลปกุล "ฉ้อฉลโดยกฎหมาย" http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act01030249&day=2006/02/03


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net