Skip to main content
sharethis

 


คลื่นความคิด


โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ และทีมงาน



ออกอากาศ เสาร์ 9.00 -10.00 น. อาทิตย์ 8.30 - 10.00 น.


ทางสถานีวิทยุ FM 101 เมกะเฮิร์ตซ์


(คลื่นความคิดเป็นรายการสนทนาเชิงวิเคราะห์ ในหลากหลายเรื่องราว ในมิติของประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน และอนาคต)


หมายเหตุ ขออภัยที่คอลัมน์นี้ขาดหายไประยะหนึ่งเนื่องจากผู้จัดทำติดภารกิจบางประการ


 


นิวเคลียร์อิหร่าน


(ออกอากาศ 21-22 มกราคม 2549)


 


"การป้องกันตนเอง เป็นกฎเกณฑ์อันเก่าแก่ที่สุดของธรรมชาติ"


จากหนังสือ ABSALOM AND ACHITOPHAL ค.ศ. 1681


 


ปัญหาโครงการนิวเคลียร์อิหร่านที่จริงเริ่มมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาเริ่มขมวดปมให้เห็นอะไรต่อมิอะไรชัดเจนขึ้น ถึงขั้นที่บรรดาประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ไม่ต้องการเห็นอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ เริ่มสรุปว่าถึงทางตันในการเจรจา ต้องหาหนทางอื่นในการจัดการกับอิหร่านต่อไป


 


ถ้าจะพูดกันอย่างกว้างๆว่า ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจทุกประเทศ รวมไปถึงอินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล ต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ใช้ด้วยกันทั้งสิ้น การจะห้ามอิหร่านไม่ให้แตะเรื่องนิวเคลียร์เลยนั้น ดูแล้วไม่น่าจะแฟร์กับอิหร่านสักเท่าไหร่


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูเหมือนแนวคิดที่ทำให้อิหร่านหันไปเอาจริงเอาจังกับเรื่องนิวเคลียร์นั้น น่าจะเกิดขึ้นไม่นานมานี้ คือหลังจากที่มหาอำนาจอย่างอเมริกา และพันธมิตรอังกฤษ ตัดสินใจบุกโจมตีอิรักบ้านใกล้เรือนเคียงของอิหร่านจนยับเยินทั้งๆ ที่ขัดมติสหประชาชาติด้วยซ้ำ และเป็นที่รับรู้กันว่าบรรดานักการเมืองและผู้มีอำนาจในแวดวงการเมืองอเมริกันนั้นมองและมีแนวคิดต่ออิหร่านไม่ต่างไปจากอิรัก คือต่างแสดงท่าทีหรือนัยยะสำคัญที่น่าเชื่อได้ว่าอิหร่านเป็นเป้าหมายหนึ่งที่อเมริกาจะจัดการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ หรือต้องการจะโค่นล้มระบอบการปกครองแบบรัฐอิสลามของอิหร่านมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้มีการตั้งรัฐบาลอิหร่านพลัดถิ่นในสหรัฐฯ การเสนอแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปตะวันออกกลางที่จะเริ่มต้นที่อิรัก พุ่งเข้าไปหาอิหร่าน และซีเรีย ตามลำดับ


 


จากหัวปฏิรูปสู่แนวทางแข็งกร้าว


กระแสแนวคิดที่ว่านี้ ได้ทำให้อิหร่านหันมาสู่แนวทางแข็งกร้าว ไม่ประนีประนอม หรือแนวทางที่ไม่ใช่แนวปฏิรูปมากขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ บทบาทของกลุ่มที่ถูกเรียกว่า "หัวปฏิรูป" นั้นมีอยู่ไม่น้อย เช่น อดีตประธานาธิบดี "โมฮัมหมัด คาตามี" ก็ถูกเรียกว่าพวกหัวปฏิรูป ที่มีท่าทียืดหยุ่น ผ่อนปรนในการบริหารประเทศ มีการออกฎหมาย เปิดโอกาสให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าไปลงทุนในอิหร่านได้ไม่น้อย แต่พออิรักถูกสอย และอะไรต่อมิอะไรทำท่าจะพุ่งเป้าเข้าหาอิหร่านมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บทบาทของพวกปฎิรูปแทบจะหายเกลี้ยง ผู้ที่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่คือ "มาห์มูด อาห์มาดิเนจาด" นั้น โดยประวัติว่ากันว่าเป็นอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสหน่วยพิเศษประจำกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม หรือที่เรียกว่ากันว่า "ปาสดาราน" เป็นกองกำลังที่เชื่อกันว่าเคยปฏิบัติการจับตัวประกันชาวอเมริกันขังไว้ในสถานทูตช่วงที่มีการปฏิวัติอิสลาม หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นพวกที่แรงมาตั้งแต่ต้น และยังแรงไม่หยุดแม้ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแล้วก็ตาม อย่างที่ทราบๆ กันว่าไม่นานมานี้ท่านได้แสดงความแรงชนิดที่ทำเอา "ตาค้าง" กันไปทั้งโลก ในการปราศรัยต่อหน้าประชาชนชาวอิหร่านว่าควรจะลบชื่ออิสราเอลออกจากแผนที่โลกบ้าง หรือว่าอิสราเอลคือเนื้องอก หรือมะเร็งร้ายก้อนหนี่งที่ควรจะต้องย้ายออกไปให้ไกลจากตะวันออกกลาง หรือควรให้ไปตั้งประเทศอยู่ที่มลรัฐอลาสกาของอเมริกาโน่น


 


ด้วยความแรงในระดับนี้ต้องเรียกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย ที่อิหร่านคิดจะเดินหน้าโครงการที่เรียกว่าโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ต่อไป ซึ่งได้ยืนยันมาตลอดว่าเป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้า ไม่ใช่มุ่งที่จะสร้างขีปนาวุธนิวเคลียร์ตามที่ใครต่อใครกล่าวหาหรือตั้งข้อสังเกตไว้ แต่ก็อย่างที่พอรู้ๆ กันอยู่แล้วว่าตั้งแต่ที่อิหร่านยังไม่คิดจะแตะอะไรกับนิวเคลียร์ อเมริกาก็จัดอิหร่านให้เป็น "หนึ่งในอักษะปีศาจ" ไปเรียบร้อย และเมื่อหนี่งในอักษะปีศาจที่ว่านี้เกิดไปทำอะไรเกี่ยวกับนิวเคลียร์ขึ้นมา โอกาสที่จะทำให้มหาอำนาจอย่างอเมริกาเชื่อว่าจะผลิตไฟฟ้าเท่านั้น คงเป็นไปไม่ได้       เพราะฉะนั้นความพยายามที่จะยับยั้งโครงการที่ว่านี้จึงเป็นไปอย่างเอาจริงเอาจังยิ่งขึ้นเรื่อยๆ


 


เดิมพันด้วยราคาน้ำมัน


ยิ่งเมื่อรัฐบาลอิหร่านตัดสินใจแกะตราผนึกที่สำนักงานพลังงานปรมาณูสากลหรือ IAEA ติดห้ามไว้ไม่ให้เดินหน้าโครงการ ก็ยิ่งทำให้การสร้างกระแสความร่วมมือเพื่อหยุดยั้งโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านเริ่มเดินหน้าอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาใช้วิธีการเจรจา โดยให้ประเทศในยุโรปคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นตัวประสาน แต่ท้ายที่สุดผลก็สรุปออกมาว่าการเจรจาถึงทางตัน วิถีทางที่จะยับยั้งอิหร่านไม่ให้เดินหน้าโครงการนี้ต่อก็หนีไม่พ้นต้องให้ IAEA เป็นผู้เสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณาว่าจะเอายังไงกับอิหร่านต่อ จะนำไปสู่การบอยคอต คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกันหรือไม่ หรือจะบานปลายไปจนถึงขั้นใช้กำลังทหารเข้าจัดการแบบเดียวกับที่ทำกับอิรัก หรือทำให้ต้องเกิดการโยงใยไปถึงท่าทีของจีน ของรัสเซียที่ต่างมีที่นั่งอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงฯ และต่างมีผลประโยชน์จำนวนมหาศาลกับอิหร่านด้วยกันทั้งคู่ และก็ต้องมองไปถึงท่าทีของอเมริกาที่ทำท่าเงื้อง่าจะเล่นงานอิหร่านมานานแล้ว ว่าจะยังมีเรี่ยวแรงมากพอที่จะจัดการกับอิหร่านภายในช่วงเวลาใกล้ๆ นี้หรือไม่ อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้นี่แหละ ที่มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันพุ่งพรวดขึ้นมาอยู่ที่ 60 กว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรลในทันทีทันใด ซึ่งมันจะขึ้นๆ ลงๆ กันแบบไหน จะยืดเยื้อคาราคาซังไปจนถึงในระดับที่มีโอกาสพุ่งทะลุไปเป็น 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลกันในวันใดวันหนึ่งได้หรือไม่ คงขึ้นอยู่กับท่าทีของบรรดาประเทศมหาอำนาจต่างๆ ที่ว่านี้ว่าจะกำหนดท่าทีต่ออิหร่านออกมาในแนวไหนกันบ้าง


 


อเมริกาไม่พร้อมเปิดศึกที่ 3


อันดับแรก คือสหรัฐอเมริกา ที่ทำท่าว่าอาจจะบุกอิหร่านและซีเรียต่อจากอิรักด้วยข้ออ้างว่าจะทำการปฏิรูปประชาธิปไตยในตะวันออกลาง แต่พอมาถึงตอนนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเห็นคล้ายๆ กันว่าโอกาสที่อเมริกาจะทำอะไรกับอิหร่านในแบบที่ทำกับอิรักและอัฟกานิสถานโดยใช้กำลังทหารเข้าเล่นงานกันดื้อๆ นั้น น่าจะยากมากๆ แม้กระทั่งประธานาธิบดี บุช จูเนียร์ เองก็ออกมาพูดตรงๆ เหมือนกันว่าคงไม่คิดจะใช้กำลังทหารเล่นงานอิหร่านแน่ๆ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ประกาศชัดว่ายังไม่มีแผนใช้กำลังโจมตีอิหร่าน แต่หากอิหร่านยังคงเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ต่อไป อาจเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องแจ้งเรื่องนี้กับคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น เพื่อหามาตรการลงโทษ โดยนายสกอต แมคเคลแลน โฆษกประจำทำเนียบขาวตอบคำถามเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ อาจใช้มาตรการทางทหารตอบโต้อิหร่านเมื่อวันอังคารที่ 10 มกราคมที่ผ่านมาบอกว่า "ท่านประธานาธิบดีพูดค่อนข้างชัดเจน ท่านบอกก่อนหน้านี้ว่าอิหร่านไม่ใช่อิรัก และว่าเรากำลังทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ในวิถีทางสันติและทางการทูต"


 


คงต้องบอกว่าเหตุที่อเมริกาไม่คิดจะใช้กำลังทหารกับอิหร่านนั้น คงไม่ใช่เพราะไม่อยากใช้ แต่ดูๆ แล้วน่าจะออกมาทางใช้ไม่ไหว หรือไม่มีแรงพอที่จะใช้มากกว่า เพราะศึกอิรักและศึกอัฟกานิสถาน ทั้งสองสมรภูมิยังคาราคาซัง ไม่รู้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อไหร่ กระทรวงกลาโหมอเมริกันเคยประเมินเป็นเอกสารชัดเจนว่า ถ้าหากคิดจะไปเปิดศึกที่สามเมื่อไหร่ รับรองว่าถึงจะชนะหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ทหารอเมริกันอาจจะล้มตายกันเป็นหมื่นๆ รายไปเลยก็ไม่แน่ พูดง่ายๆ ว่าในขณะนี้ อเมริกาไม่อยู่ในวิสัยที่จะเปิดศึกกับใครต่อใครได้ถนัดนัก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการระดมกำลังพล ปัญหาเม็ดเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วมาตลอดและแทบไม่มีโอกาสลดลงไปได้บ้างเลย ปัญหาของขบวนการต่อต้านสงครามภายในประเทศที่นับวันจะโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงกับต้องเริ่มคิดหาทางลดกำลังทหารในสมรภูมิต่างๆ กันบ้างแล้ว การถูกประชาชนหรือสมาชิกรัฐสภากดดัน เรียกร้องให้มีการกำหนดเส้นตายในการถอนทหาร รวมไปถึงปัญหาคะแนนนิยมของประธานาธิบดีในการทำสงครามกับอิรักหรืออัฟกานิสถานก็ตามที่เคยใช้เป็นจุดขายได้ แต่บัดนี้กลายเป็นตัวดึงคะแนนนิยมให้ตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะเล่นงานอิหร่านด้วยกำลังทหารในระยะเวลาอันใกล้คงลำบาก หรือไม่น่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ จึงต้องออกไปทางการทูตหรือวิถีทางสันติแทน


 


อิหร่าน VS มหาอำนาจ


จังหวะแบบนี้ถือเป็น "นาทีทอง" ของอิหร่านอยู่เหมือนกัน คือหากไม่อยากให้อเมริกาเล่นงานได้ง่ายๆเหมือนกับที่เคยทำกับอิรักและอัฟกานิสถานแล้ว ก็มีแต่จะต้องหาทางพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันประเทศไว้แต่เนิ่นๆ และการที่จะไม่ให้อเมริกากดดันข่มขู่กันได้ง่ายๆ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องแสดงศักยภาพในด้านนิวเคลียร์ให้เห็นกันบ้าง หรือพูดง่ายๆ ว่าคงต้องเร่งทำบางสิ่งบางอย่างก่อนที่อเมริกาจะสามารถฟื้นศักยภาพต่างๆให้กลับคืนมาได้เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น การเร่งเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์จึงต้องเป็นไปด้วยประการฉะนี้


 


ถึงแม้อเมริกาจะไม่พร้อมจัดการอิหร่านด้วยกำลังทหาร แต่การปล่อยให้อิหร่านสามารถเดินหน้าสร้างอำนาจต่อรองกันแบบสบายๆ ต่อไปเรื่อยๆ นั้นก็น่าจะเป็นไปไม่ได้ ยิ่งอิหร่านยุคนี้เป็นอิหร่านที่ดุขึ้นๆ ไม่ใช่แค่แสดงความกร้าวกับอเมริกาเท่านั้น ยังหันไปด่า ไปข่มขู่อิสราเอลที่เป็น "หมากสำคัญ" ของอเมริกาในตะวันออกกลางอย่างตรงไปตรงมาอีกด้วย เพราะฉะนั้นการที่อเมริกาหันไปเล่นบทบาททางการทูตหรือวิถีทางสันติในการยับยั้งอิหร่านนั้นก็ไม่น่าจะเป็นการเล่นแบบเรื่อยๆ เปื่อยๆ แน่ อย่างน้อยคงต้องทุ่มเทพละกำลัง และหากรรมวิธีต่างๆ ที่จะลดศักยภาพของอิหร่านลงมาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการโดดเดี่ยวอิหร่าน ลดความชอบธรรมของอิหร่านในประชาคมโลกให้ลดน้อยลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้


 


จากการประชุมผู้แทนสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ อันประกอบด้วยผู้แทนจากอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี จีน และรัสเซีย ที่กรุงลอนดอน เมื่อ 16 มกราคมที่ผ่านมา พอจะแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของแนวทางดังกล่าวอยู่ไม่น้อย คือหลังจากนั่งถกนั่งเจรจาอย่างยืดเยื้อยาวนานกว่า 7ชั่วโมง ก็สามารถสรุปว่าที่ประชุมมีความเห็นพ้องต้องกันว่าอิหร่านต้องระงับโครงการนิวเคลียร์ลงไปทั้งหมด แต่ที่ยังไม่ลงตัวดีนักคือควรจะผลักดันเรื่องนี้ให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติอย่างเป็นทางการเลยหรือไม่ ซึ่งผลที่ปรากฏออกมาสรุปได้ว่าไม่ใช่แต่เฉพาะอเมริกากับอังกฤษที่เป็นคู่หูคู่ฮากันมาโดยตลอดเท่านั้น กระทั่งฝรั่งเศสกับเยอรมนีที่ครั้งก่อนๆ เคยค้านอเมริกา-อังกฤษในการบุกอิรักมาก่อน แต่คราวนี้กลับเห็นพ้องกันว่าจะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การบอยคอตอิหร่านในอนาคตก็ไม่แน่ ก็เหลืออยู่แต่จีนกับรัสเซียเท่านั้นที่ยังแสดงท่าทีคัดค้าน และท่าทีของทั้งสองประเทศนี้ ถือได้ว่าเป็นที่พึ่งที่หวังของอิหร่านมาโดยตลอด จึงน่าสนใจว่าจีนและรัสเซียจะ "เล่นไพ่อิหร่าน" ในแบบไหนกันแน่


 


จีน : หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่โลเล


หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 6 ตุลาคม-17 พฤศจิกายน 2548 ตีพิมพ์บทความความยาว 3 ตอนจบเรื่อง "เมื่ออิหร่านมองจีน" โดย "อดุลย์ รัตนมั่นเกษม" ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจมาก เพราะผู้เขียนระบุว่านำข้อมูลมาจาก "เว็บไซต์ภาษาจีนของทางการอิหร่าน" หรือเป็นความเห็นของผู้คนในรัฐบาลอิหร่านที่สะท้อนมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตัวเองกับจีนเอาไว้ค่อนข้างละเอียดทุกแง่ทุกมุมก็ว่าได้


 


กล่าวโดยสรุปคงต้องบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอิหร่านนั้นมีความแน่นเหนียวพอสมควร ไม่ว่าในแง่เศรษฐกิจหรือการเมือง ในด้านเศรษฐกิจนั้น อิหร่านมองว่าจีนเป็นประเทศทีมีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจเข้มแข็งอย่างมาก อาจเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของโลกในอนาคต มีเงินทุนสำรองจำนวนมหาศาล สามารถสนองตอบความต้องการเงินลงทุนในอิหร่าน ได้มากมาย รวมทั้งสามารถที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ให้อิหร่านได้ด้วย และเท่าที่ผ่านมา แม้ว่าอิหร่านจะถูกปฏิเสธ หรือถูกต่อต้นจากประเทศมหาอำนาจหรือองค์กรการเงินระหว่างประเทศในการกู้เงินมาพัฒนาประเทศ แต่อิหร่านก็ได้จีนนี่แหละที่ปล่อยกู้ให้ในระดับที่มากกว่าผู้ให้กู้รายใดๆ อิหร่านกู้เงินจากจีนมาแล้วประมาณ 1,700 ล้านดอลลาร์ในการพัฒนาโครงการสำคัญๆ เช่น อู่ต่อเรือ โรงไฟฟ้า โรงงานปูนซีเมนต์ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน เป็นต้น


 


สำหรับด้านการเมืองและความมั่นคงนั้น อิหร่านมองว่าจีนมีความสำคัญในระดับที่เป็น "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" คือนอกจากจะมองว่าจีนนั้นมีจุดร่วมต่างๆ คล้ายกับอิหร่านในหลายๆ เรื่อง เช่น การไม่เห็นด้วยกับการเป็นอภิมหาอำนาจเดียวของอเมริกา อิหร่านยังมองว่าศักยภาพทางการทหารของจีนที่มีกำลังทหารมากถึง 2.5ล้านคน มีอาวุธทันสมัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จีนน่าจะมีบทบาทร่วมกับอิหร่านในการยับยั้งการแทรกซึม การแผ่อิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคที่สามารถส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของทั้งอิหร่านและจีน คือภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียและภูมิภาคเอเชียกลาง นอกจากนั้น สถานภาพของจีนที่เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติที่สามารถใช้สิทธิวีโต้ ก็ยังมีความสำคัญและเป็นความหวังของอิหร่านว่าจีนน่าจะช่วยอิหร่านในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติได้ไม่น้อย


 


อิหร่านนั้นมองว่าตัวเองก็มีความสำคัญต่อจีนไม่น้อย ไม่ว่าในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ที่นอกจากจะเป็นตัวช่วยปกป้องการแผ่อำนาจของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางและเอเชียกลางซึ่งจะเป็นผลดีต่อความมั่นคงของจีนแล้ว ลักษณะที่ตั้งของอิหร่านที่ตั้งอยู่ตรงอ่าวเปอร์เซีย จ่อช่องแคบโฮร์มุช ยังถือว่าเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญของโลกที่อยู่ใกล้กับเอเชียกลางซึ่งจะเป็นแหล่งน้ำมันสำคัญของโลกในอนาคต หรือเป็นจุดที่ตั้งของเส้นทางขนส่งน้ำมันออกสู่ตลาดโลกที่ถูกที่สุด สั้นที่สุด ปลอดภัยที่สุด และจีนสามารถใช้เป็นประตูสู่เอเชียกลาง และคอเคซัสได้อีกด้วย


 


อิหร่านยังเชื่ออีกด้วยว่าความต้องการน้ำมันและก๊าซของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น ทำให้อิหร่านมีความสำคัญในฐานะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ให้จีน และการที่จีนกำลังเร่งการเติบโต สร้างความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในแบบที่ไม่ต้องการเป็นที่สองรองใคร ทำให้จีนต้องแสวงหาแหล่งวัตถุดิบรวมทั้งตลาดใหม่ๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งระบายสินค้า จำนวนประชากรอิหร่านที่มีอยู่จำนวนไม่น้อย อีกทั้งพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงพอสมควร เป็นพื้นที่ที่น่าลงทุนในหลายๆ เรื่องด้วยกัน เป็นแหล่งวัตถุดิบให้อุตสาหกรรมบางอย่างของจีน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้อิหร่านเชื่อว่าจีนคงมองเห็นความสำคัญของอิหร่าน อย่างไรก็ตาม อิหร่านยังรู้สึกหวั่นๆ อยู่เหมือนกันว่าความสัมพันธ์ที่ดูจะสวยสดงดงามนี้จะมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย


 


ในบทความชิ้นนี้ตั้งคำถามว่า แล้วอะไรคืออุปสรรคในความสัมพันธ์ของอิหร่านกับจีน คำตอบคือ สหรัฐอเมริกา ที่ไม่ต้องการให้จีนเข้ามายุ่มย่ามในตะวันออกลางและเอเชียกลาง แม้ว่าจีนจะดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ดูจะเป็นเอกเทศ ไม่ผูกพันกับใคร และแม้ปัญหาไต้หวันจะเป็นเรื่องอ่อนไหวที่อาจก่อให้เกิดการขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่โดยทั่วไปแล้วจีนมักมีท่าทีอ่อนข้อให้กับสหรัฐฯ พูดง่ายๆ ว่าอิหร่านก็ไม่ค่อยจะไว้ใจจีนสักเท่าไหร่ หรืออย่างที่ในบทความนี้ใช้คำว่า "อิหร่านเห็นว่าจีนนั้นมักใช้นโยบายตีสองหน้ากับทุกๆประเทศอยู่เสมอๆ" ตัวอย่างที่เห็นกันชัดเจนคือ จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเพราะยอมอ่อนข้อในหลายเรื่องให้กับสหรัฐฯ ปัญหาคือ จีนจะดูโลเล และอ่อนข้อทุกครั้งที่เผชิญกับอิทธิพลกดดันของสหรัฐฯ ดังนั้น แม้จีนจะเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับอิหร่าน แต่อิหร่านก็เชื่อว่าจีนจะยังไม่ยอมทิ้งมูลค่าการค้าหลายหมื่นล้านเหรียญที่มีอยู่กับสหรัฐฯ รวมทั้งสัญญาความร่วมมืออีกหลายฉบับที่จีนทำไว้กับอิสราเอล เพียงเพื่อแลกกับมูลค่าการค้าแค่ไม่กี่พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กับอิหร่านอย่างแน่นอน เรียกว่าจีนในยุคเซ็งลี้ เป็นทุนนิยม ทำให้อิหร่านอดเสียวสันหลังวูบขึ้นมาไม่ได้


 


หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง คือ กรณีที่จีนยกเลิกสัญญาที่อิหร่านขอซื้อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ มูลค่า1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอิหร่านยอมรับไม่ได้ และมองว่าจีนยอมทำตามแรงกกดันนของสหรัฐฯมากเกินไป ดังนั้นหากจีนต้องการยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้ดีขึ้น ผู้นำจีนต้องขจัดอิทธิพลต่างชาติออกไปจากนโยบายต่างประเทศของจีนเสียก่อน


 


นี่อาจจะเป็นอุทาหรณ์ได้เหมือนกันว่าประเภทที่ชอบคิดว่าเมื่อไม่เอากับสหรัฐฯ แล้วควรจะวิ่งไปซบจีนนั้น ไปๆ มาๆ แล้วมันคงไม่ถึงกับปลอดภัยนัก เพราะเรื่องผลประโยชน์นั้นไม่เข้าใครออกใคร หรืออะไรต่อมิอะไรมันไม่ได้เป็นไปตามสูตรเป๊ะๆ


 


รัสเซีย : เวทีนี้ต้องมีพี่เลี้ยง


ในขณะที่จีนแหยง ยกเลิกสัญญาซื้อ-ขายกันไปดื้อๆ รัสเซียกลายเป็นประเทศที่อาสาเข้ามาสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ให้กับอิหร่านแทน น่าเสียดายที่ไม่มีใครนำเอาทัศนะที่อิหร่านมีต่อรัสเซียมาถ่ายทอดไว้ ไม่ว่าในกรณีที่อิหร่านมองรัสเซียอย่างไร หรือมองว่าตนเองนั้นสำคัญต่อรัสเซียแค่ไหน แต่ถ้าหากมองกันแบบกว้างๆ แล้ว ความสำคัญของอิหร่านที่มีต่อรัสเซียนั้นก็คงไม่ต่างอะไรไปจากที่อิหร่านมองว่าตัวเองมีความสำคัญต่อจีน ไม่ว่าในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ที่อิหร่านนั้นมีความสำคัญต่อภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียกลาง สามารถเป็นตัวสกัดกั้นอิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคที่ว่านี้ ซี่งไม่ได้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับจีนเท่านั้น แต่มีความสำคัญกับรัสเซียควบคู่ไปด้วย เพราะอิทธิพลของสหรัฐฯ ในพื้นที่บริเวณนี้ไม่ใช่กระทบต่อจีนเท่านั้น แต่กระทบไปถึงรัสเซียอย่างเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วในหลายต่อหลายกรณีด้วยกัน


 


นอกจากนั้นรัสเซียยังเป็นอีกประเทศหนึ่งที่แสดงท่าทีคัดค้านเรื่องการมีมหาอำนาจเดียวในโลกหรือการมีขั้วอำนาจเดียวในโลกไม่ต่างไปจากจีนและอิหร่านและอีกหลายต่อหลายปะเทศ


 


เมื่อมาถึงเรื่องที่บรรดามหาอำนาจอเมริกาและยุโรป พร้อมใจกันคิดเล่นงานอิหร่านด้วยการที่จะนำโครงการนิวเคลียร์อิหร่านเข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ รัสเซียที่ยื่นมือเข้ามาช่วยอิหร่านในการสร้างเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์แทนที่จีนนั้น จะหาทางออกอย่างไรดี เพราะดูๆ แล้ว แรงกดดันของบรรดาชาติมหาอำนาจอเมริกา-ยุโรปในเรื่องนิวเคลียร์น่าจะหนักมาก คือถึง ขั้นที่นาย "ฮาร์เวียร์ โซลานา" หัวหน้าฝ่ายนโยบายของประเทศในเครือสหภาพยุโรป หรือ อียู (EU) ได้ให้สัมภาษณ์แสดงความมั่นอกมั่นใจโดยเชื่อว่า หลังจากที่มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมฉุกเฉินของคณะกรรมการของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากลแล้ว ทั้งรัสเซียและจีนจะต้องสนับสนุนท่าทีของอียูและสหรัฐฯ ที่จะให้นำปัญหานิวเคลียร์อิหร่านเข้าไปสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติต่อไป


 


ถึงแม้นว่าจะมีการกดดันกันขนาดไหน อย่างไรก็แล้วแต่ ท่าทีของรัสเซียที่แสดงออกในเรื่องนี้ต้องเรียกว่าได้พยายามขวนขวายหาทางออกที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย คือแทนที่จะปฏิเสธหรือคัดค้านการนำเรื่องเข้าสู่คณะมนตรีความมั่นคงแต่เพียงอย่างเดียว นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเสนอให้อิหร่านดำเนินโครงการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าในประเทศรัสเซียแทน อันจะเป็นหลักประกันได้ว่าการดำเนินการโครงการดังกล่าวของอิหร่านเพื่อการผลิตไฟฟ้า ไม่ใช่เพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์


 


ตามรายงานข่าวระบุว่า "นายโกลัม เรซา อันซารี ทูตอิหร่านประจำรัสเซีย ได้แสดงความชื่นชมต่อข้อเสนอของรัฐบาลมอสโกที่จะให้อิหร่านย้ายโครงการเพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียมไปดำเนินการในรัสเซีย ซึ่งอาจเป็นทางออกของความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก นายอันซารีกล่าวด้วยว่าเรามองข้อเสนอของรัสเซียว่าสร้างสรรค์และกำลังศึกษาอย่างระมัดระวัง เพระถือเป็นแผนริเริ่มที่ดีเพื่อแก้ปัญหา และเชื่อว่าอิหร่านกับรัสเซียจะร่วมกันหาทางออกร่วมกัน"


 


อย่างไรก็ตามข้อเสนอของรัสเซียนี้ยังไม่ได้มีการตอบรับหรืปฏิเสธอย่างเป็นทางการจากชาติต่างๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แม้แต่อิหร่านเองก็ยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่ารัฐบาลเตหะรานเห็นด้วยมากน้อยแค่ไหน ความคิดความเห็นที่มีการบอกกล่าวในแง่ชื่นชมยินดีเป็นเพียงความเห็นของทูตอิหร่านประจำรัสเซียเท่านั้น


 


ไม้ตายของอิหร่าน


แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือรัฐบาลอิหร่านได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้าหากชาติตะวันตกคิดจะบอยคอตอิหร่านขึ้นมาเมื่อไหร่อิหร่านก็พร้อมจะตอบโต้ทันที ดังเช่นที่ปรากฏเป็นคำสัมภาษณ์ของ นาย "ดาวูด ดาเนซ" รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอิหร่านที่บอกว่า "ถ้าหากเกิดการคว่ำบาตรอิหร่านขึ้นมาไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ผู้ที่จะเสียหายมากกว่าคือชาติตะวันตก ไม่ใช่อิหร่าน"


 


ทำไมอิหร่านจึงมองอย่างนี้ นาย "บรูซ เอเวอร์ส" นักวิเคราะห์ของบริษัท "อินเวสเทค" ที่เชี่ยวชาญในด้านพลังงานให้คำตอบว่า "สิ่งที่อิหร่านจะตอบโต้มาตรการบอยคอตของชาติตะวันตกนั้น ก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าการหยุดส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว และจะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของชาติต่างๆทั่วโลกรวมทั้งชาติตะวันตกด้วย" โดยที่อิหร่านนั้นเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอันดับสอง ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปค รองจากซาอุดิอาระเบีย


 


จากจุดนี้นี่แหละ ที่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกชักจะผันผวน ไม่แน่นอนกันต่อไป ตราบใดที่ยังไม่สามารถเอาแน่เอานอนกันได้แน่ๆ ว่าผลของการหาข้อยุติความขัดแย้งในเรื่องนิวเคลียร์อิหร่านจะมีผลสรุปกันตรงจุดไหน และที่สำคัญคือ เมื่อไหร่


 


ในเรื่องนี้ นาย "ไมค์ วิตต์เนอร์" นักวิเคราะห์พลังงานของบริษัท "คาลิยง" ได้สรุปว่า "วิกฤตการณ์ที่ว่านี้น่าจะมีผลต่อราคาน้ำมันลากยาวต่อไปอย่างน้อยอีก 6 เดือน ก่อนที่มันจะเกิดความเป็นไปได้หรือความเป็นไปไม่ได้ว่าจะเกิดการหยุดส่งน้ำมันขึ้นมาจริงๆ หรือไม่ ตราบใดที่ความขัดแย้งเหล่านี้ยังไม่ผ่อนคลายลงมา ย่อมทำให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มขยับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ"


 


ซึ่งตอนนี้มันก็สูงขึ้นมาเป็น 63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว (ตัวเลข ณ วันที่ 21 มกราคม 2549) สูงขึ้นประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่เริ่มต้นปี ค.ศ. 2006 แต่จะสูงขึ้นไปอีกหรือไม่ อย่างไร นานขนาดไหน ก็คงต้องขึ้นอยู่กับบทบาทของบรรดามหาอำนาจชาติต่างๆ ที่จะเริ่มต้นหารือกันในคณะกรรมการสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไปนั่นแหละ แน่นอนว่าหากข้อเสนอแบบกลางๆ ของรัสเซียถูกปฏิเสธ มหาอำนาจตะวันตกยังไม่ไว้วางใจว่าการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านในประเทศรัสเซียนั้นจะช่วยคลี่คลายความระแวงที่มีต่ออิหร่านลงไปได้ หรือถ้าหากทั้งจีนทั้งรัสเซียเกิดอาการแหยงด้วยกันทั้งคู่ จนต้องมีการผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติกันต่อไป ไม่ว่าการพิจารณาจะยืดเยื้อออกไปนานขนาดไหน แนวโน้มราคาน้ำมันก็คงไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ และเราทั้งหลายก็คงต้องรับประทานน้ำมันในราคาที่พุ่งโด่งต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน


 


ซึ่งคงต้องภาวนากันว่า อย่าถึงกับให้ผลของการเจรจาหาข้อจัดแย้งมันยุติลงในแบบที่เกิดการบอบคอตอิหร่าน และนำไปสู่การหยุดส่งน้ำมันออกสู่ตลาดโลกอย่างสิ้นเชิงกันเลย เพราะถ้าหากถึงเวลานั้นไม่รู้ว่าราคาน้ำมันจะพุ่งไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือไม่


 


ถ้าหากเป็นเช่นนั้น  ใครต่อใครที่ประกาศกันไว้ล่วงหน้าว่าจีดีพี. ประเทศไทยปีนี้ต้องโต 5 โต 5.5 แน่ๆ ก็คงต้องออกมา "แก้ตัว" กันอีกตามเดิม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายหนักกว่าการดูเรียลลิตี้ โชว์ เสียอีก…

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net