Skip to main content
sharethis


เอกชนล้านนาเตรียมเสนอ ครม.สัญจรที่เชียงใหม่ มุ่งเน้นการฟื้นตลาดเชิงวัฒนธรรม ชูตั้ง Hall of Fame ทางด้านเอกลักษณ์วัฒนธรรมของแต่ละจังหวัดก่อนจะขยายสู่ฐานเศรษฐกิจใหม่ด้านการบริการและสินค้าที่โดดเด่นของภาคเหนือสู่ตลาดโลก พร้อมปรับโครงสร้างการบริหาร - จัดการยุทธศาสตร์ใหม่ด้วยการจัดตั้งสถาบันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ล้านนา - ศูนย์บริการการค้า และการลงทุน และ ศูนย์นวัตกรรมล้านนา เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ยุค Value Creation Economy


 


นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ประเด็นสำคัญในนำเสนอนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 ที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและประเด็นปัญหาในเรื่องระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคแล้ว ทางหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าประเด็นในเรื่องการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และการปรับแนวการบริหาร-จัดการกลุ่มจังหวัดล้านนาใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ถึง 8 จังหวัด (Super Cluster) ได้แก่เรื่องการฟื้นตลาดเชิงวัฒนธรรม รวมถึงการจัดตั้งสถาบันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ล้านนา และศูนย์บริการการค้าและการลงทุน (Trade Information Services Center : TISC) ขึ้นมา


 


ทั้งนี้ กลุ่มจังหวัดล้านนามีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาอย่างมากในเชิงวิถีชีวิต ความรู้และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่โดดเด่น แต่ขาดการบริหารจัดการที่ดีจึงทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ทางด้านการท่องเที่ยว การค้า และบริการได้ ซึ่งหอการค้าฯ เห็นว่าแต่ละจังหวัดสามารถจัดทำโครงการร่วมกันในเชิงวัฒนธรรมได้ เช่น การจัดตั้งหอแสดงวัฒนธรรม (Lanna Hall of Fame)ทางด้านผ้าทอ ซึ่งมีทั้ง 8 จังหวัด, การติดตั้ง-เผยแพร่เรื่องราวของสถานที่มีความสำคัญ - โบราณสถานของแต่ละจังหวัดทั้งหมด เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่ตลาดเชิงวัฒนธรรม ซึ่งหากทำได้กลุ่มจังหวัดล้านนาจะสร้างจุดขายใหม่ที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้และบรรลุตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้คือเป็นประตูทางการค้าสู่โลก โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา และสังคมน่าอยู่ทุกถิ่นที่


 


นายณรงค์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทุกโครงการและทุกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กลุ่มล้านนาจะบรรลุวัตถุประสงค์ไม่ได้ เนื่องจากมีหน่วยงานรับผิดชอบหลายหน่วยงาน ซึ่งขาดการประสานงานและการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ซึ่งหอการค้าฯ ได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีไปเมื่อการประชุมที่จังหวัดพะเยาไปแล้วแต่ไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากโครงสร้างยังไม่ชัดเจน ในการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้จะได้นำเสนออีกครั้งหนึ่งโดยจะนำเสนอจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดล้านนา เพื่อให้เกิดการบริหาร-จัดการที่เป็นเอกภาพ


 


นอกจากนั้นในด้านการค้าการลงทุน หอการค้าฯ จะได้นำเสนอโครงการจัดตั้งศูนย์ ศูนย์บริการการค้า และการลงทุน Trade Investment Services Center หรือ TISC ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ที่มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาครัฐ ที่ครบวงจร (One Stop Services) โดยจะเน้นการบริหารจัดการในกลุ่มจังหวัดที่จะรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทุกด้านเกี่ยวกับการค้า การลงทุน ตลอดจนเป็นศูนย์ในการวิจัยด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค มีการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำการค้า การลงทุน พร้อมกับให้ความช่วยเหลือนักธุรกิจไทยในการมองหาลู่ทางการตลาด และสรรหาโอกาสในการทำธุรกิจร่วมกับ รวมถึงจะเป็นส่วนประสานงาน ให้ข้อมูล และอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติในการทำธุรกิจร่วมกันกับผู้ประกอบการในกลุ่มล้านนา และในทุกภาคส่วนของประเทศ พร้อมกับมุ่งเน้นการพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดล้านนาให้ทำการค้ากับต่างประเทศอย่างมีคุณภาพ และเป็นมาตรฐานสากล
"การจัดตั้งศูนย์นี้เป้าหมายของความสำเร็จทางเศรษฐกิจของกลุ่มล้านนาจะเป็นจริงได้ โดยวางไว้ว่าภาคการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น 10%จากฐานเดิม ภาคเอกชนท้องถิ่นมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น และเกิดการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้" นายณรงค์กล่าว


 


ด้านนายวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้เตรียมโครงการเสนอนายกรัฐมนตรีในเรื่องการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมล้านนา หรือ Lanna Innovation Center เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันตามยุทธศาสตร์เชิงรุกของกลุ่มจังหวัดสู่ Value Creation Economy ตามมติของ ครม.สัญจรที่จังหวัดพะเยา นอกจากนั้นจะได้ขยายแนวคิด เครือข่ายการพัฒนานวัตกรรม ในส่วนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของกลุ่มล้านนาในหลายด้านให้สามารถใช้การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ได้ซึ่งกำหนดโครงการไว้ในหลายภาคธุรกิจที่ตรงกับยุทธศาสตร์กลุ่มได้แก่ อุตสาหกรรม ICT, อุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป , อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว , หัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น






 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net