Skip to main content
sharethis



 



ภาพจาก http://www.fahlanna.net/news/113200590858.gif


 


โดย อานุภาพ นุ่นสง : สำนักข่าวประชาธรรม



แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


 


ขณะที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ  มีการชูประเด็นเรื่องเม็ดเงินที่จะหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ   โดยไทยจะขายของได้มากขึ้นเพราะกำแพงภาษีลดลง  แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เป็นประเด็นห่วงใยของฝ่ายภาคประชาชน ทั้งนักวิชาการ  เกษตรกร  ผู้บริโภค เช่นว่า จะขายของได้มากขึ้นจริงหรือ ?  ความปลอดภัยของผู้บริโภคอยู่ตรงไหน ?เกษตรกรจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงไร ?  เศรษฐกิจท้องถิ่นจะเฟื่องฟูขึ้นจริงหรือ ?  ประเด็นเหล่านี้ยังไม่ถูกนำมาคิดอย่างรอบด้านเพียงพอ 


 


กรณีเอฟทีเอไทย-จีน  ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนเชียงแสนนับเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งของการเปิดการค้าเสรีที่ขาดการคิดไตร่ตรองอย่างรอบด้าน  จนถึงวันนี้เริ่มส่งผลกระทบกับเมืองเชียงแสนแล้ว  เมืองการค้าชายแดนที่อดีตเคยเฟื่องฟูที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ  วัฒนธรรม  ประวัติศาสตร์กำลังจะเหลือเพียงชื่อเท่านั้นเอง


 


จีนนับเป็นประเทศแรกที่ไทยเริ่มเจรจาทำเอฟทีเอ และมีการเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2546 ที่ผ่านมาภายใต้สินค้าประเภทผักและผลไม้  116 รายการในกรอบพิกัด 07-08 ก่อนจะมีการขยายกรอบไปสู่สินค้าประเภทอื่นๆ


 


อย่างไรก็ตาม ผลจากการดำเนินการเอฟทีเอไทย-จีนผ่านมากว่า 2 ปี พบว่าข้อมูลสถิติการนำเข้า-ส่งออก ณ ด่านศุลกากรเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระบุว่าในปีงบประมาณ 2547(ต.ค.2546 - ก.ย.2547) มีปริมาณการนำเข้าสินค้าโดยรวม 48,583 ตัน มูลค่า 670.34 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณสินค้าส่งออกมีจำนวน 40,120 ตัน มูลค่า 1,231 ล้านบาทซึ่งในปี 2547 พบว่าไทยได้ดุลการค้า 560.66 ล้านบาท


 


ขณะที่ล่าสุดในปีงบประมาณ 2548(ต.ค.2547 - ก.ย.2548)มีปริมาณการนำเข้าสินค้าโดยรวม 50,164 ตัน มูลค่ารวม 617.04 ล้านบาท ขณะที่สินค้าส่งออกโดยรวมมีปริมาณ 53,321 ตัน มูลค่า 1,256 ล้านบาท


 


กรณีสินค้านำเข้า 5 อันดับแรกคือแอปเปิ้ล สาลี่ ไม้สักแปรรูป ผักสด และกระเทียม ขณะที่สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกนั้นได้แก่ ลำไยอบแห้ง ยางแผ่นรมควัน เส้นด้ายยางยืด ยางแท่ง และน้ำมันปาล์ม


 


หากเปรียบเทียบส่วนต่างปริมาณนำเข้า-ส่งออกในปี 2548 พบว่าไทยได้ดุลการค้าจำนวน 638.96 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าการนำเข้าในปี 2548 ลดลงจากปี 2547 จำนวน 53.3 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกในปี 2548 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2547 จำนวน 25 ล้านบาท


 


แม้ว่าโดยภาพรวมไทยจะได้ดุลการค้าจากการเปิดเอฟทีเอกับจีน แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่าสินค้าเกษตรของไทยบางชนิดโดยเฉพาะกระเทียมที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายจ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ และบางอำเภอของ จ.เชียงรายกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากกระเทียมจีนที่ราคาถูกกว่าเข้ามาตีตลาด


 


ปัญหาดังกล่าวรัฐบาลโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รมว.กระทรวงเกษตรฯเองก็ยอมรับพร้อมทั้งมีมาตราการแก้ปัญหาโดยให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกกระเทียมลงในเบื้องต้นกว่า 50,000 ไร่และสนับสนุนให้ปลูกพริกหวานและหน่อไม้ฝรั่งแทน และแน่นอนว่ามาตรการแก้ปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าวนำไปสู่การท้วงติงของเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมอย่างหนัก


 


ดังนั้น แม้ว่าโดยภาพรวมไทยจะได้ดุลการค้าจากการเปิดเอฟทีเอกับจีน แต่กรณีดังกล่าวคือตัวอย่างเล็กๆของปัญหาเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรอันจะนำไปสู่ความล่มสลายของเกษตรกรรายย่อยในอนาคตได้ไม่ยากเย็นนัก


 


ย้อนกลับไปพิจารณาชะตากรรมคนเชียงแสนก็เช่นเดียวกัน


 


เมืองเชียงแสนนับเป็นเมืองโบราณที่มีอายุกว่า 1,000 ปี มีฐานะเป็นเมืองท่องเที่ยวทางโบราณคดีและวัฒนธรรมที่สำคัญของ จ.เชียงราย ทั้งยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเมืองเชียงแสนนอกจากมีพรมแดนติดต่อกับ 3 ประเทศคือไทย พม่า และลาวแล้วยังสามารถติดต่อค้าขายทางแม่น้ำโขงกับจีนตอนใต้ได้อีกด้วย


 


และหลังจากไทยเริ่มเปิดค้าขายกับจีนในปี 2535 เป็นต้นมา เมืองเชียงแสนจึงถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการค้าไทย-จีน หลังจากนั้นเชียงแสนจึงได้รับการพัฒนาทางกายภาพเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง


 


ที่สำคัญหลังจากไทยเปิดเอฟทีเอกับจีนในเดือน ต.ค.2546 โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ  ก็มีแผนดำเนินการในเมืองเชียงแสนอย่างมากมาย อาทิ โครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวจีนเข้ามาลงทุนซึ่งปัจจุบันถูกชุมชนท้องถิ่นคัดค้านจนต้องเปลี่ยนสถานที่ดำเนินการก่อสร้าง โครงการสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่สองเพื่อรองรับเรือสินค้าจากจีน โครงการสร้างอาคารคลังสินค้า รวมไปถึงโครงการสร้างถนนสี่เลนส์เพื่อขยายตัวการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น


 


ในฐานะเมืองประตูการค้าภายใต้กรอบเอฟทีเอไทย-จีน ฟังเผินๆ อาจดูดี หลายคนอาจเข้าใจว่าผลจากการทำเอฟทีเอไทย-จีนซึ่งไทยได้ดุลการค้าตลอด 2 ปีที่ผ่านมานั้นอาจทำให้ชาวเชียงแสนได้อานิสงค์ เศรษฐกิจชุมชนคึกคัก ชาวบ้านพลอยอยู่ดีกินดีตามไปด้วยอย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้างก่อนมีการลงนามในการทำเอฟทีเอกับจีน


 


แต่แท้จริงแล้วตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง !


 


ผ่านมากว่า 2 ปีคนเชียงแสนไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ  จากเอฟทีเอไทย-จีนแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายเศรษฐกิจชุมชน วิถีชีวิต วัฒนธรรมในหลายมิติกลับได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอไทย-จีนอย่างเลี่ยงไม่ได้


 


รายงานการวิจัยโครงการศึกษาภาพรวมธุรกิจท้องถิ่น อ.เชียงแสน โดยนางนิภาวรรณ วิชัย และคณะที่จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาว่าชาวเชียงแสนได้หรือเสียอะไรจากการเปิดเอฟทีเอไทย-จีน ซึ่งจัดทำระหว่างเดือน ก.ค.2548 - ก.พ.2549 ระบุว่าแม้ว่ามูลค่าการค้าขายระหว่างไทย-จีนด้าน อ.เชียงแสนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี


 


ขณะที่เมื่อมีการเปิดเอฟทีเอพบว่าสินค้าในหมวดเอฟทีเอมีมูลค่าการค้ามากถึงปีละ 1,900 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้าถึง 639 ล้านบาท แต่สินค้าที่นำเข้าและส่งออกไม่ได้ซื้อขายที่เชียงแสน ส่วนใหญ่มีการขนสินค้าไปขายตามตลาดใหญ่ๆ เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง รวมทั้งตามหัวเมืองใหญ่ที่มีออเดอร์สั่งเข้ามาผ่านทางบริษัทชิ๊งปิ้ง


 


นอกจากนี้การส่งออกและนำเข้าส่วนใหญ่เป็นกิจการของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งไทยและจีน และหากพิจารณาสินค้าส่งออกทุกชนิดทั้งลำไยอบแห้ง ยางแผ่นรมควัน เส้นด้ายยางยืด ยางแท่ง  น้ำมันปาล์ม ฯลฯ จะเห็นว่าสินค้าเหล่านี้ไม่ได้มีแหล่งผลิตใน อ.เชียงแสน ดังนั้นงานวิจัยชิ้นนี้สรุปได้ว่าชาวเชียงแสนไม่ได้รับผลประโยชน์จากการเปิดเอฟทีเอไทย-จีน ชาวบ้านที่นี่อย่างมากเป็นได้แค่คนเฝ้าประตูการค้าภายใต้เอฟทีเอไทย-จีนเท่านั้นเอง


 


และหากพิจารณาลงไปในรายละเอียดธุรกิจท้องถิ่นหลักๆ รวมทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากพิษการเปิดเอฟทีเอไทย-จีน รายงานวิจัยฉบับดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า อย่างกรณีธุรกิจการค้าขายแอปเปิ้ล สาลี่ของชุมชนท้องถิ่นนั้นช่วงเดือน ต.ค.2546 ก่อนเปิดเอฟทีเอมี 46 ร้าน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 26 ร้านเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะสินค้าต่างๆที่ส่งออกต้องระบุชื่อสวนหรือแหล่งผลิตให้ชัดเจน และก่อนนำสินค้าลงเรือที่จีนก็ต้องมีการระบุชื่อบริษัทผู้รับซื้อปลายทางทำให้ชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถค้าขายกับจีนได้โดยตรง


 


ขณะที่แรงงานขนสินค้าขึ้นจากเรือนั้นหลังไทยเปิดเอฟที่เอกับจีนพบว่ามีแรงงานต่างชาติทั้งพม่า จีน ลาวเข้ามาเป็นแรงงานจำนวนมาก เมื่อมีการแข่งขันกันมากขึ้นทำให้ค่าแรงถูกลง ส่งผลให้แรงงานไทยส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนอาชีพไปเป็นเกษตรกร กรรมกร รับจ้างทั่วไปแทน


 


นอกจากนี้ จากการเติบโตของเมืองเชียงแสนภายหลังเปิดเอฟทีเอไทย-จีน พบว่าธุรกิจบ้านเช่า ห้องพัก ตึกแถว เกสเฮาส์มีการขยายตัวเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ปี 2538-2547 จำนวนบ้านเช่า ตึกแถว มีจำนวนทั้งหมด 302 ห้องจากผู้ประกอบการทั้งหมด 164 ราย ขณะที่ในปี 2548 มีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอีก 16 รายที่กำลังสร้างใหม่อีก 30 ห้อง


 


และที่สำคัญ ธุรกิจนวดแผนโบราณที่ขยายตัวรองรับกลุ่มลูกค้าชาวจีนและพม่าที่มากับเรือสินค้า ในปี 2548 มีจำนวน 12 แห่ง ซึ่งเจ้าของธุรกิจเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นของคนนอกพื้นที่


 


ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการล่มสลายของธุรกิจท้องถิ่นอย่างการค้าขายแอปเปิ้ล สาลี่ รวมทั้งการเกิดขึ้นของธุรกิจท้องถิ่นแขนงใหม่ๆที่ดำเนินการโดยคนต่างถิ่น เช่น บ้านเช่า ห้องพัก นวดแผนโบราณรวมทั้งการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างชาติล้วนเกิดจากการกำหนดให้เชียงแสนเป็นประตูสู่การค้าในภูมิภาคนี้ และเมื่อมีการเปิดเอฟทีเอกับจีนก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ธุรกิจใหม่ๆเหล่านี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งนับวันยิ่งจะขัดแย้งกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนท้องถิ่นมากขึ้นทุกที


 


อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสคลื่นเม็ดเงินที่กำลังไหลบ่าท่วมทำลายวิถีชีวิต รากเหง้าของคนเชียงแสนอย่างหนัก ขณะที่รัฐบาลเองก็ดูเหมือนกำลังหลงปราบปลื้มอยู่กับตัวเลขการได้ดุลการค้าโดยลืมมองไปว่าท่ามกลางการค้าขายกับจีนภายใต้เอฟทีเอที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 1,900 ล้านบาทต่อปีนั้นนอกจากคนเชียงแสนไม่ได้ผลประโยชน์ใดๆแล้วมิหนำซ้ำกลับต้องเผชิญกับปัญหาที่มาร่วมกับเอฟทีเอจนนำไปสู่วิถีชีวิตที่เคยอยู่อย่างสงบสุขต้องเปลี่ยนไปสู่ภาวะการดิ้นรนเอาตัวรอดอย่างเลี่ยงไม่ได้


 


และหากรูปการณ์ยังคงดำเนินเช่นนี้ต่อไป แน่นอนว่าเมืองเชียงแสน เมืองที่มีสถานะเป็นเมืองโบราณที่มีอายุกว่า 1,000 ปี และเป็นเมืองท่องเที่ยวทางโบราณคดีและวัฒนธรรมที่สำคัญของ จ.เชียงราย ย่อมถูกคลื่นการค้าท่วมทำลายและกลืนหายไปกับเอฟทีเอไทย-จีนอย่างแน่นอน .

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net