คณบดีรัฐศาสตร์จุฬาฯ ถูกบีบลาออก เหตุไล่ทักษิณ

ผู้จัดการออนไลน์รายงานสถานการณ์หลังจากที่คณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับนักวิชาการหลายคนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกฯทักษิณลาออกว่า คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ถูกบีบให้ลาออก โดยอธิการบดีถึงขั้นต้องออกโรงกำหนดท่าทีเตือนอาจารย์ระมัดระวังห้ามให้ความเห็นในนามสถาบัน


      

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. เวลา 12.00 น. ศาสตราจารย์คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในรายการอธิการบดีออนไลน์ ภายหลังที่คณาจารย์โดยเฉพาะมีคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นคณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ศึกษาอยู่ ออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า จุฬาฯ ได้ประกาศชัดเจนมานานแล้วว่าเปิดเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งไปเกี่ยวพันกับเรี่องสิทธิส่วนบุคคลด้วย เพราะถือว่าทุกคนมีสิทธิแสดงความคิด ความเห็นต่างๆ ตามหลักการทุกอย่างในกฎเกณฑ์ ในกติกาสังคม และกติกาตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นของแต่ละบุคคลถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ มหาวิทยาลัยไม่ได้ปิดกั้นตรงนี้

      

อย่างไรก็ตาม อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวต้องพิจารณาด้วยว่าเสรีภาพทางวิชาการถ้าอยู่ในขอบเขตที่ควรจะเป็นเราก็ต้องรักษาไว้ เหมือนกับการอธิบายสิ่งที่เป็นความคิดของคนในสังคมนั้นๆ

      

"ฉะนั้น การที่คณาจารย์จำนวนหนึ่งมีความคิดความเห็นก็เป็นความเห็นในส่วนบุคคลของเขา เราก็ไม่มีอะไรที่จะปิดกั้นตรงนั้น แต่ก็มีคำถามตามมาว่าเมื่อมีคนจำนวนหนึ่งแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นสถาบันไม่ว่าจะเป็นสถาบันใดก็ตามมันคืออะไร ก็ต้องบอกตรงๆ ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นองค์กรที่บริหารงานโดยองค์คณะบุคคล อธิการบดีจะไปเที่ยวพูดอะไรก็ต้องแยกแยะบทบาทให้ชัดเจน เพราะพูดในฐานะสุชาดา กีระนันทน์ หรือในนามอธิการบดีมหาวิทยาลัยและเป็นผู้แทนของสถาบัน เพราะการที่มหาวิทยาลัยเป็นองค์คณะบุคคลหมายความว่าต้องได้รับ ได้มีการปรึกษาหารือ มีความเห็นชอบแล้วถึงได้พูดในฐานะสถาบันได้ สิ่งนี้ก็เป็นหลักปฏิบัติปกติที่ทำเป็นอยู่ประจำ

      

ศ.คุณหญิงสุชาดา กล่าวว่า เพราะฉะนั้นโดยสรุปแล้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเป็นกลางชัดเจน ยึดถือระบอบประชาธิปไตย และเคารพในสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งวิธีการดำเนินงานของเราถ้าจะเป็นความคิดในองค์รวมของสถาบันจะต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองต่างๆ ของคณะบุคคลที่ทำหน้าที่กำกับดูแลมหาวิทยาลัย ทั้งสภามหาวิทยาลัย ที่ประชุมคณบดีต่างๆ

      

อธิการบดีจุฬาลงกรณ์ฯ ผู้นี้ยังกล่าวอีกว่า ในสังคมปัจจุบันนี้มีข้อมูลที่หลากหลาย การเข้าถึงข้อมูลของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ตนเห็นว่าใครที่พูดอะไรออกไปแล้ว เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการพูดด้วย แต่คิดว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี คิดว่าทุกคนจะหันหน้าเข้ามาคุยกันเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชาติสูงสุดเท่าที่จะทำได้ เพราะปัญหาภายนอกรุมเร้าเข้ามา ดังนั้น เมื่อมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเข้าใจถึงปัญหาที่กระแทกเข้ามาในมหาวิทยาลัยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะคุกคามต่างประเทศ หรือการเปลี่ยนแปลงภายในของเราเอง ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่เราต้องใช้วิจารณญาณ ใช้สติปัญญาในการคิดไต่ตรองให้ดี

      

รายงานข่าวจากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แจ้งว่า ขณะนี้เกิดกระแสการกดดันจากสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งมีอธิบดีกรมการขนส่ง อธิบดีกรมที่ดิน และทั้งนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตอธิบดีกรมที่ดินเป็นแกนนำที่พยายามกดดันให้ นางอมรา พงศาพิชญ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ มีการมองว่าการที่อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น อาจจะสร้างความกดดันให้กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวนายกรัฐมนตรีที่เรียนอยู่คณะรัฐศาสตร์ได้ ทางสมาคมนิสิตเก่าจึงต้องกดดันให้นางอมรารับผิดชอบด้วยการลาออก

      

ผู้จัดการออนไลน์รายงานด้วยว่า ก่อนหน้าที่ศาสตราจารย์คุณหญิงสุชาดา จะพูดในรายการอธิการบดีออนไลน์ ทางพรรคไทยรักไทยได้ส่งข้อความแจ้งให้ทางผู้สื่อข่าวได้รับทราบว่า ในเวลา 12.00 น.จะมีรายการดังกล่าวที่แสดงถึงจุดยืนของจุฬาฯ จึงขอให้สื่อร่วมรับฟังและเสนอข่าว

 

................................................

ข่าวคัดสรรจาก : ผู้จัดการออนไลน์ 6 กุมภาพันธ์ 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท