Skip to main content
sharethis


 




 


โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ องค์การแพธ จัด "สังวาสเสวนาครั้งที่ 4" ตอน "เมื่อนักเรียนจะขายถุงยาง" โดยมีนายสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล พิธีกรรายการชูรักชูรส เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ โรงแรมเฟิสท์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


 


นางสาววรรณกนก เป๊าะอิแตดาโอะ ผู้ประสานงานกลางเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย (YouthNet) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย พบว่า แม้จะมีโครงการถุงยางอนามัย 100% ของกระทรวงสาธารณสุขแต่เยาวชนยังเข้าไม่ถึงถุงยางอนามัย เกิดปัญหาท้องแท้งและไม่มีข้อมูลเรื่องการป้องกัน จึงเกิดโครงการถุงยางอนามัยคุ้มครองสังคมขึ้น โดยผลิตถุงยางอนามัยยี่ห้อ Oop! ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ จุดเด่นของOop! คือ เป็นถุงยางที่พัฒนาโดยเยาวชน โดยคนที่ทำหน้าที่กระจายเป็นคนที่ผ่านการอบรมมาแล้วสามารถสื่อสารให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาและเอดส์กับเพื่อนได้ นอกจากนี้ การให้นักเรียนขายถุงยางฯ ถือเป็นการให้นักเรียนมีส่วนร่วมรับผิดชอบปัญหาทางสังคมโดยการหยิบยื่นการป้องกันให้กับเพื่อน


 


"อยากเปลี่ยนกระแสที่มองว่าการมีถุงยางฯ เป็นเรื่องน่าอาย มาเป็นการพกถุงยางฯคือ การแสดงความรับผิดชอบและรู้จักป้องกัน อยากให้ผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เด็กทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง โดยผู้ใหญ่คอยดูแลให้คำแนะนำ มากกว่าที่เราจะต้องกังวลว่าผู้ใหญ่จะคิดอย่างไร เพราะเสียงของผู้ใหญ่มักจะดังกว่าเด็กเสมอ อยากฝากทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้เทศกาลวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้เป็นเทศกาลแห่งความรักที่เยาวชนได้เริ่มต้นทำสิ่งดีๆ รณรงค์ให้นึกถึงการป้องกันตัวเองจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยมากกว่าเป็นเทศกาลด่าเด็ก" วรรณกนก กล่าว    


 


นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนการแจกจ่ายถุงยางให้ใช้ อยากให้วางแจกให้เห็นทั่วไปเลย ให้หยิบใช้ได้ง่ายเหมือนไม้จิ้มฟัน เพราะสังคมในปัจจุบันเต็มไปด้วยสิ่งกระตุ้น สื่อลามกอนาจาร หากฉุกเฉินต้องใช้ขึ้นมาจริงๆ เช่น ถูกข่มขืน อย่างน้อยก็ป้องกันตัวเองจากโรคเอดส์และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ ส่วนเยาวชนอยากให้สร้างเครือข่ายให้ความรู้กับเพื่อนเรื่องเอดส์ และสนับสนุนให้พกถุงยางฯ เผื่อในกรณีที่จำเป็น นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้สอนเรื่องศีลธรรมในโรงเรียนเพื่อสอนให้เด็กรู้จักรักนวลสงวนตัวและผู้ชายให้เกียรติผู้หญิงด้วย


 


นายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารนิตยสารอะเดย์ แสดงความเห็นว่า ถ้ามองแบบวิทยาศาสตร์ คนเราอายุมาถึงระดับหนึ่งก็มีความต้องการทางเพศ อย่างในขุนช้างขุนแผน ขุนแผนกับนางพิมมีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่ประมาณอายุ 16 สมัยก่อน คนเรียนไม่สูง อายุ 19-20 ก็แต่งงานแล้ว แต่การศึกษาสมัยนี้ต้องเรียนสูงๆ จบปริญญาตรี ก็อาจมีความต้องการทางเพศ ฉะนั้นเมื่อหมุนกลับมาไม่ได้ ก็วิ่งตามมันดีกว่า การป้องกันก็เป็นเรื่องดี


 


"การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาดูไม่ใช่เรื่องน่าห่วง เพราะหลักสูตรและสื่อก็ตอบสนองได้ แต่ปัญหาเป็นเรื่องทัศนคติที่มีต่อเซ็กส์ คนที่มีปัญหาอาจไม่ใช่เด็ก แต่เป็นครู ผู้ปกครอง ที่ยังไม่มีทัศนคติที่เหมาะกับยุคสมัย คิดว่าการรณรงค์กับเด็กก็ทำไป แต่ต้องทำกับผู้ใหญ่ด้วย กระทรวงศึกษาธิการปิดตั้งแต่แรก เพราะไม่ยอมสอนเรื่องทัศนคติ การวางตัวกับคนต่างเพศ"  ทรงกลดกล่าว


 


จากนั้น มีการแถลงข่าวการจัดกิจกรรมรณรงค์ "รักปลอดภัย วาเลนไทน์ Sign in" โดยกลุ่มเยาวชนเครือข่ายเอดส์และเพศศึกษา ร่วมกับ โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ องค์การแพธ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เวลา 11.00 -17.00 น. บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทั่วกรุงเทพฯ เช่น สนามกีฬาฯ สยาม หมอชิต อนุสาวรีย์ ชิดลม อโศก อ่อนนุช ฯลฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net