Skip to main content
sharethis


โดย ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 


วันที่ 9 ก.พ. คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมนาวิชาการ เรื่อง "นวตกรรมการคอรัปชั่นของไทย (ไม่ได้อิจฉา)" ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุติบทบาทการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้สนใจรับฟังจนล้นห้องประชุมจุมภฏ -พันทิพย์ ทั้งนักวิชาการ บุคคลทั่วไปและนิสิต นักศึกษา


 


ยุทธศาสตร์แก้คอรัปชั่นแต่ปาก


 


นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) กล่าวชื่นชม ศ.ดร. อมรา พงศาพิชญ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการอภิปรายว่า การออกแถลงการณ์เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีลาออกเป็นการแสดงความกล้าในฐานะนักวิชาการซึ่งจะเป็นการสะท้อนความคิดความเห็นทางวิชาการให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อประชาชนจะได้เป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งๆที่ขณะนี้ต้องเผชิญอิทธิพลจากผู้มีอำนาจอย่างมาก หลังการพูดมีเสียงปรบมือสนับสนุนลั่นห้อง


 


นายกล้านรงค์ กล่าวต่อในประเด็นนวตกรรมการคอรัปชั่นว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเคยประกาศยุทธศาสตร์การปราบปรามทุจริต โดยระบุให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับองค์กรอิสระต่างๆตามรัฐธรรมนูญ 16 ยุทธศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้ทำตามในหลายยุทธศาสตร์


 


เช่น ยุมธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ ปปช. ข้อเท็จจริงคือ ปปช. พักงานไป 2 ปี เพราะการดำเนินการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย


 


"คุณสมบัติของผู้สมัคร ปปช. คือเป็นอธิบดีหรือเทียบเท่า คือหมายถึงคนๆเดียวที่เป็นหัวหน้าหน่วย แต่กลับใช้การปรับเงินเดือนเทียบเท่ามาเป็นคุณสมบัติแทน ในอีกกรณีคือการที่วุฒิสภาดันทุรังเลือก ปปช. โดยไม่ฟังสว.เสียงข้างน้อย ทั้งที่มีการเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกไม่ครบจำนวน 18 คนตามที่กฎหมายกำหนด "


 


ในกรณียุทธศาสตร์การเสริมสร้างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ให้เข้มแข็งก็เป็นไปลักษณะเดียวกัน คือมีการทำให้ตำแหน่งผู้ว่าสตง.ว่าง ส่วนยุทธศาสตร์การให้ประชาชน สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการคอรัปชั่น ก็ถูกกฎหมายหมิ่นประมาทและดำเนินคดีทางแพ่งค่าเสียหายเป็นหมื่นล้าน เพื่อให้ยุติการตรวจสอบ เป็นการใช้กลไกกฎหมายปิดปาก


 


ส่วนยุทธศาสตร์การสร้างสร้างวัฒนธรรมส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริตยิ่งล้มเหลวไม่เป็นท่า


นายกล้านรงค์ได้ยกตัวอย่างข้อมูลจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยที่เคยสำรวจความเห็นจากเด็กมัธยมกว่า 2000 คน ว่าทำไมคอรัปชั่นจึงดำรงอยู่ในสังคมไทย คำตอบหนึ่งที่น่าตกใจคือเด็กมีทัศนคติว่าคนซื่อสัตย์คือคนที่ถูกเอาเปรียบในสังคม


 


"ถ้าเด็กเหล่านี้เติบโตมาด้วยความคิดว่าการซื่อสัตย์คือการถูกเอาเปรียบ มหาวิทยาลัยก็สอนแต่วิชาการ คนที่รอดคือคนที่ทุจริต แล้วต่อไปบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร" นายกล้านรงค์ กล่าว


 


นอกจากนี้ความเห็นต่อเรื่องปัญหาการคอรัปชั่นของบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเมือง(เพิร์ก) กับความเห็นของดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ที่เบิกความต่อศาลคดีที่ชินคอร์ป ฟ้องนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ 1,000 ล้านบาทฐานหมิ่นประมาท เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าคอรัปชั่นเชิงนโยบายกำลังสูงขึ้น


 


เพิร์ก ระบุว่า ขณะนี้สภาพการคอรัปชั่นของไทยมีลักษณะเหมือนกับฟิลิปินส์ คือการคอรัปชั่นเล็กน้อยลดลง แต่การทุจริตด้วยการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สัมพันธ์กับนักการเมืองมีมากขึ้น


 


บันทึกของคำเบิกความ ดร.สมเกียรติ ได้ระบุถึงการออกระเบียบเอื้อธุรกิจ 10 เรื่อง ได้แก่ การออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตรประโยชน์ที่บริษัทได้รับคือปกป้องจากการแข่งขัน การอนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายในการโรมมิ่งก่อนคิดส่วนแบ่งรายได้โดยการที่ทำให้ส่วนจ่ายเงินให้รัฐลดลง การส่งเสริมการลงทุนโดยยกเว้นภาษี 8 ปีบริษัทได้รับประโยชน์โดยมีภาระด้านภาษีลดลง


 


การให้เงินกู้แก่พม่าโดยไม่มีกำหนดให้มีการแข่งขันที่โปร่งใส มีบางบริษัทได้รับประโยชน์และโอนถ่ายความเสี่ยงไปรัฐบาลคือกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน การร่วมคณะไปต่างประเทศของผู้ถือหุ้นในบริษัทต่างๆเพื่อให้บริษัทมีรายได้ด้านการค้า รัฐไม่ดำเนินการยับยั้งเมื่อบริษัทผิดสัญญาเกี่ยวกับเรื่องผังรายการ การยินยอมให้บริษัทเอกชนยกเลิกการพิมพ์สมุดรายนามโทรศัพท์ การเข้าไปอุ้มเอกชนเมื่อขาดทุน ไม่เปิดเสรีโทรคมนาคมในการเจรจาการค้าเสรี การไม่ออกกฎระเบียบเพื่อบังคับกฎหมายในทางจริยธรรม


 


อย่างไรก็ตาม นายกล้านรงค์ แสดงความกังวลว่า แม้การคอรัปชั่นเชิงนโยบายเป็นเรื่องผิดกฎหมายและสามารถดำเนินคดีได้ แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการพิสูจน์ ซึ่งตรงนี้ต้องพึ่งนักวิชาการช่วยวิจัยออกมาแล้วนำความจริงออกมาให้ประชาชนรับรู้


 


แฉปมขาย "ชินวัตร" ขายประเทศไทย


 


นายกล้านรงค์ เปิดเผยถึงรูปธรรมนวตกรรมการโกงเพิ่มเติม 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือ ธุรกิจแอร์เอเชีย เดิมชินคอร์ป ถือหุ้นใหญ่ 51 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มาเลเซียถือ 49 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กลายเป็นสายการบินของคนไทยและได้รับสิทธิ์หลายอย่าง จนมีข่าวด้วยว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้การบินไทยขาดทุน เพราะเส้นทางและเวลาทับกัน


 


แต่หลังการขายหุ้นใหญ่ให้กับสิงคโปร์แล้ว ตอนนี้เท่ากับว่าไม่มีคนไทยเป็นหุ้นใหญ่ทำให้ขาดคุณสมบัติในการอนุญาตให้บินและผิดกฎหมายการเดินอากาศของไทยที่จะต้องมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศยังให้สิทธิ์ผ่อนผันไปอีก 15 วัน เพื่อให้ทำให้ถูกต้องไม่ฉะนั้นจะต้องเพิกถอนใบอนุญาตการบิน


 


จึงน่าสนใจว่าการหมดคุณสมบัติไปแล้ว ณ ตอนนี้ อนุญาตได้อย่างไร ควรต้องหยุดไปก่อน เมื่อเป็นไปตามระเบียบแล้วจึงค่อยมาขออนุญาตกันใหม่


 


ประเด็นต่อมาคือกรณีแอมเพิลริช เกิดขึ้นในปี 2542 มีข้อสังเกตว่าจดทะเบียนที่เกาะบริติช เวอร์จิ้น นั้น ต้องดูว่าจดทะเบียนได้อย่างไร เอาเงินไปเท่าไหร่ ขออนุญาติเอาเงินออกนอกประเทศไปลงทุนหรือไม่


 


จากการชี้แจงผู้ว่าการธนาคารชาติ ได้ความว่า ไม่มีราบงานการขออนุญาตเอาเงินออกนอกประเทศไปลงทุนจดทะเบียนบริษัทแอมเพิลริช เพราะตามระเบียบจะรายงานได้ต้องเกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


 


ข้อกังขาตรงนี้กระจ่าง เมื่อ กลต.แถลงว่า แอมเพิลริช จดทะเบียนในราคาเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐขณะนั้นราคา 25 บาท แล้วเพิ่มทุนเป็น 5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 125 บาท เมื่อ นายพานทองแท้ ชินวัตร เข้ามาถือหุ้น ทำให้ไม่ต้องขออนุญาต เพราะจำนวนเงินไม่มาก


 


แต่เงื่อนงำอยู่ที่ แอมเพิลริช เอาเงินมาจากไหนมาซื้อ หุ้น 32.92 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท และตอนหลังแตกเป็นราคาหุ้นละ 1 บาท คือ 329. 2 ล้านหุ้น คือเงิน 329.2 ล้านบาท ปัญหาคือแอมเพิลริชจดทะเบียนเพียง 25 บาท เอาเงินที่ไหนมาซื้อ ถ้าไม่มีการซื้อขายเป็นการให้เฉยๆก็ต้องถือว่ายังเป็นเจ้าของอยู่ แต่ถ้ามีการซื้อขายกันต้องมีการได้รับเงิน ถ้าสมมตินายกฯให้แอมเพิลริชกู้ หลักฐานก็ต้องบอกว่าเป็นเจ้าหนี้ในตอนรับตำแหน่งและตอนพ้นจากตำแหน่ง ประเด็นนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องตอบกับสังคมให้ได้


 


อีกประเด็นที่น่าจะเป็นปัญหาคือผลประโยชน์ทับซ้อนตามมาตรา 209 สรุปว่ารัฐมนตรีต้องไม่ถือหุ้นหรือคงไว้ซึ่งหุ้นเกินกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าประสงค์จะคงไว้ต้องโอนไว้ให้กับนิติบุคคลโดยต้องไม่มีทางรับรู้ได้ว่าหุ้นนั้นไปทำอะไรบ้าง เพราะรัฐมนตรีมีอำนาจในทางบริหารสามารถออกกฎหมาย ระเบียบต่างๆเอื้อประโยชน์ธุรกิจได้


 


อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่มีข้อจำกัดการยกให้ภรรยาหรือบุตร ทำให้รู้ตลอดเวลาว่าธุรกิจต่างๆเป็นอย่างไร แต่ต่อมา สว. 29 คน ได้ทำเรื่องเสนอประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติตามมาตรา 209


 


"อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ สว.กรุงเทพฯ ตีความว่ากรณีของรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชนแตกต่างกับกฎหมายเอกชน ให้มองถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าไม่ต้องการให้รัฐมนตรีไปใช้อำนาจของตัวเองเกื้อหนุนบริษัท แม้ว่าจะโอนหรือให้คนอื่นถือหุ้นไปแล้ว แต่ถ้าการครอบงำยังคงเป็นของรัฐมนตรีผู้นั้นอยู่ในหลักของกฎหมายมหาชนยังถือว่ายังคงไว้ซึ่งคามเป็นวุฒิ"


 


เพื่อน 14 ตุลา วอนเพื่อน "จาตุรนต์" ลาออก


 


นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สว.อุบลราชธานี กล่าวในเวทีเดียวกันว่า เสียงข้างน้อยในวุฒิสภาฝากมากราบเคารพ ศ.ดร.อมรา ด้วยความมีคุณูปการต่อสังคมไทย ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นวิชาการและนักรัฐศาสตร์ที่ดำรงไว้ซึ่งประโยชน์ของพี่น้องประชาชนไม่ใช่ของรัฐบาล จากนั้นเสียงปรบมือจึงดังไปทั่วห้องเสวนาอีกครั้ง


 


จากนั้นนายแพทย์นิรันดร์ประกาศเจตนารมณ์ว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง เพราะตระหนักว่าคือปัญหาของแผ่นดิน


 


ประการแรกคือการคอรัปชั่นทั้งระบบ ปัญหาคือตัวการเมืองซึ่งตัวกำหนดทิศทางของประชาชน แต่กลับมีการคอรัปชั่นตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ และการลงจากอำนาจ ซึ่งซับซ้อน จนต้องใช้เวลากว่า 5 ปี จึงกล่าวหานายกรัฐมนตรีได้ตามมาตรา 209


 


แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลยืนยงมาจนบัดนี้ได้ คือมีผู้ผ่านการจัดตั้งและเข้าป่าไปร่วมรัฐบาล น่าเสียดายว่าประสบการณ์ตรงนั้นไม่ได้ทำให้ตระหนักในเรื่องของอุดมการณ์ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สาธารณะ แต่กลับต้องการเข้าสู่ศูนย์รวมอำนาจ โดยไม่คิดว่าตรงนั้นมีการขี้โกงมากที่สุด


 


นายแพทย์นิรันดร์ อธิบายว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นทฤษฎีบางส่วนของคนที่ผ่าน 14 ตุลา ที่ว่าถ้าจะแก้ไขปัญหาประเทศชาติต้องเข้าไปอยู่กับศูนย์รวมอำนาจ แต่ตอนนี้คงรู้แล้วว่าไม่ได้เป็นคนใช้อำนาจแต่กลับเป็นทาสรับใช้ของผู้ที่กุมอำนาจ


 


จากนั้นนายแพทย์นิรันดร์ ขอฝากบทกลอนให้กับเพื่อน 14 ตุลา โดยย้ำไปที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ความว่า


 


"เจ้าซื่อต่อคนคด


 เจ้าทรยศต่อคนไทย


(เพียงกระดาษไม่กี่ใบ)ขอเปลี่ยนเป็น เพียงมุ่งหวังในอำนาจและผลประโยชน์


ก็ขายตัวเป็นทุรชน"


 


นายแพทย์นิรันดร์กล่าวเตือนไปอีกว่าหากนายจาตุรนต์ลาออกตอนนี้ยังไม่สาย และอย่าเชื่อว่าจะเปลี่ยนอะไรได้ เพราะไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจ และที่ขอแบบนี้ก็เพื่อสังคมไทยไม่ใช่เพื่อตัวเอง คอรัปชั่นทั้งระบบมันโกงหมดแม้แต่เพื่อน


 


กระบวนการคอรัปชั่นเหนือชั้น


 


หมอนิรันดร์ กล่าวถึงนวตกรรมการโกงประการต่อมาคือ การคอรัปชั่นเข้าสู่อำนาจ เช่น มีการใช้งบของรัฐบาลในการหาเสียงผ่านโครงการของรัฐต่างๆโดยบอกให้เลือกพรรคไทยรักไทยจึงจะได้ เช่น กองทุน SML กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งนายทุนไม่ต้องออกทุนเพื่อหาเสียงเองเหมือนในอดีต ในบางจังหวัดตอนนี้รู้แล้วด้วยซ้ำว่าใครจะได้เป็น สว. เพราะแบ่งสรรพื้นที่กันเรียบร้อยแล้ว ในอีสานไม่มีพรรคมีแต่พวก สิ่งที่ตามมาคือการผูกขาดอำนาจรัฐสภา การครอบงำฮุบสื่อ โดยอำนาจทั้งหมดไปรวมศูนย์ที่นายกฯจนกลายเป็นปัญหาของแผ่นดิน


 


ประการต่อมาคือคอรัปชั่นการใช้อำนาจ เป็นเรื่องการเข้าไปผูกขาดสัมปทานต่างๆ จนทำให้ค่าของคอรัปชั่นสูงขึ้น เกิดทุจริตเชิงนโยบาย ในอดีตคนไม่รู้เรื่องนัก แต่พอขายหุ้นชินคอร์ปทำให้เข้าใจได้ทันทีว่าเป็นพฤติกรรมในการลุแก่อำนาจแต่ไม่รู้ว่ากำลังทำผิด


 


ทั้งนี้ หุ้นทักษิณมี 5 บริษัท ได้แก่ชินคอร์ป ชินแซทเทิลไลซ์ ไอทีวี เอไอเอส และธนาคารทหารไทย โดยมูลค่าพ.ศ.2546 ปีเดียวเพิ่มขึ้น 300,000 ล้านบาท มูลค่าที่เพิ่มขึ้นบางส่วนมาจากอำนาจที่สัมพันธ์กับการเมืองตามที่เพิร์กระบุว่าออกกฎหมายให้เอื้อกับการโกง ตรงนี้เป็นเรื่องที่รู้ยากจึงต้องการนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ออกมาพูด จึงจะรู้ทัน


 


"การที่อาจารย์อมรา และอาจารย์รัฐศาสตร์ออกมาระบุว่า ทักษิณต้องออกไป เป็นการนำเสนอทางวิชาการที่สันติวิธีที่สุด เพราะไม่ต้องการให้เกิดการปะทะกัน ม็อบชนม็อบ และม็อบที่จะมาชนไม่ใช่ประชาชนเป็นม็อบที่จัดตั้งจากข้าราชการและพวกสมุนกระเลวกระลาด ทั้งสิ้น นี่คือปัญหาที่ไม่อยากย้อนรอย 14 ตุลา แล้วสมาคมศิษย์เก่าจุฬาฯยังไม่สำนึกบุญคุณของอาจารย์อีกหรือ ที่ช่วยรักษาสถาบันและอิสรภาพทางวิชาชีพ วิชาการ ศักด์ศรีของความเป็นนักรัฐศาสตร์ เป็นหมอยังรู้สึกเลยว่าเป็นครูบาอาจารย์ที่แท้จริง"


 


ประการที่ 4 คือผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งธุรกิจของตระกูลชินวัตร ได้แก่ ดาวเทียม มือถือ ไอทีวี ธนาคารทหารไทย แอร์เอเชีย เอสซีเอสเซ็ท และแคปปิตอลโอเค ซึ่งหลายธุรกิจเคยได้รับสิทธิจากรัฐ แต่ตอนนี้ได้ขายให้กับต่างชาติ และมีประเด็นทางกฎหมายตามมามากมาย เช่น เรื่องสิทธิชิงวงจรดาวเทียม การเลี่ยงภาษี การซุกหุ้น ทำให้นำมาสู่การขัดรัฐธรรมนูญตามมาตราที่ 209 ตามที่นายกล้านรงค์ได้กล่าวไปแล้ว


 


ประการดังกล่าว นายแพทย์นิรันดร์ เรียกร้องให้ภาคประชาชน นิสิต นักศึกษา ช่วยกันทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญในสิ่งที่กำลังวินิจฉัย


 


ประการสุดท้ายของนวตกรรมการคอรัปชั่นที่นายแพทย์นิรันดร์นำเสนอ คือ การออกสู่อำนาจเพื่อการโกงอมตะนิรันดร์กาล โดยการพยายามเชื่อมทุนข้ามชาติ แปลงทุกอย่างให้เป็นตลาดหลักทรัพย์ข้ามชาติ เช่น การทำ เอฟทีเอ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ และมีตัวนอมินีซึ่งตรวจสอบยึดทรัพย์ไม่ได้แม้จะหมดอำนาจไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ยังอาจกลับมาซื้อได้ใหม่ด้วย เพราะทุกอย่างจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์


 


สิ่งที่จะเป็นมรดกตกทอดของคนไทยต่อไปคือ ความยากจน นิสัยบริโภคนิยม ทุนนิยม ความเป็นปัจเจกขาดคุณธรรมจริยธรรม และความรุนแรงก็จะเกิดตามมา


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net