Skip to main content
sharethis

ด้วยวิธีคิดยุค "ทักษิณ" ที่ไม่คำนึงถึงจริยธรรมใดๆ นอกจากคำว่า "กำไรสูงสุด" กำลังจะทำให้โฉมหน้าอีสานเปี๋ยนไป๋!


 


เมื่อมองผ่าน ธุรกิจเหมืองโปแตช ที่กำลังผุดขึ้นในหลายพื้นที่ภาคอีสาน จะเห็นทิศทางว่าผู้ครองพื้นที่ ผู้ได้สิทธิ์ขาดในทรัพยากรหรือสาธารณะสมบัติของชาติ อาจไม่ใช่ของคนไทย


 


เค้าลางยิ่งชัดขึ้นเมื่อมีข่าวว่า เหมืองโปแตช พื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ โครงการร่วมทุนระหว่างประเทศอาเซียนและรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กลับมีการดอดมาแอบถือหุ้นใหญ่แทนโดย "เหยียนปิน" นักธุรกิจจีน จึงเป็นเหมือนการย้ำภาพการปล่อยให้กลุ่มทุนข้ามชาติมาล่าอาณานิคมยุคใหม่เพื่อแลกผลประโยชน์ของใครเพียงบางกลุ่ม


 


ระยะหลัง เรื่องแบบนี้มีให้ได้ยินถี่บ่อยมากขึ้น แต่คนไทยประมาณ 19 ล้านคนอาจไม่แยแสนัก เพราะเห็น "เขาคนนั้น" เก่งเสียจนไม่รู้จะหาใครมาแทนได้ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เกี่ยวข้องความมั่นคงของชาติที่ควรหันกลับมาสนใจและทบทวนความเข้าใจในระบบทุนใหม่ทั้งระบบ


 


การให้ต่างชาติมาล่าอาณานิคมผ่านการลงทุนอย่างไร้ขอบเขตในแนวทางคล้ายๆ กับที่รัฐบาลออกกฎหมายเข้าทางการขายหุ้นตระกูลชินวัตร - ดามาพงศ์ให้กับเทมาเสก มีความหมายอย่างยิ่งต่อความเป็นไปของภาพรวมของประเทศ รวมทั้งภาพรวมของภาคอีสานในอนาคต


 


แปลงอีสานเป็นเหมือง ยึดอุดรฯเป็นเซ็นเตอร์


ใต้ผืนดินภาคอีสานมีการพบแร่โปแตชและเกลือได้ง่าย นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ จากคณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อธิบายต้นกำเนิดของหินเกลือและแร่โปแตสในภาคอีสานว่า หลายร้อยล้านปีก่อน พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นทะเล การหดถอยลงไปของน้ำทะเลแบบเข้ามาแล้วออกไปหลายๆ ครั้งทำให้มีการสะสมของเกลือ ต่อมาเกิดการยกตัวขึ้นของแผ่นดินระหว่างอีสานกับภาคกลางตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ จึงแบ่งเป็นที่ราบสูงอีสานกับที่ราบภาคกลาง น้ำทะเลถูกปิดกั้นด้วยเทือกเขา พื้นแผ่นดินภาคอีสานกลายเป็นทะเลสาบระยะหนึ่ง คล้ายกับทะเลสาบเดดซีที่กำลังจะแห้งในปัจจุบัน


 


ในขณะเดียวกัน พื้นที่อีสานเองก็มีเทือกเขาภูพานกั้นเป็นแอ่งโคราช กับแอ่งสกลนคร เวลานานเข้าน้ำระเหยไปในอากาศจึงเหลือแต่ชั้นเกลือ และเมื่อเกิดการทับถมจากตะกอนต่างๆ เช่นจากภูเขาหรือแผ่นดิน นานวันเข้า จึงทำให้อีสานสะสมเกลืออยู่ใต้ดิน


 


เกลือที่ทับถมใต้ดินจะมียอดภูเขาเกลือซึ่งสะสมไปด้วยแร่ต่างๆ มากมาย ยอดภูเขาเกลือใต้ดินเองก็มีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีอยู่ตลอดเวลา จนเกิดเป็นโดมเกลือโผล่ขึ้นมา เมื่อยอดโดมโผล่ขึ้น พอมีการชะล้างของน้ำก็ทำให้แผ่นดินที่เป็นยอดของโดมเกลือยุบตัวลงไปเป็นทะเลสาบ แล้วน้ำที่ชะล้างเกลือทำให้สารประกอบในเกลือเปลี่ยนแปลงเป็นสินแร่ โดยเฉพาะแร่ที่เกี่ยวกับโปแตชเซี่ยม


 


"ข้อสังเกตคือ ถ้าเห็นทะเลสาบหรือหนองน้ำใหญ่ในภาคอีสาน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ข้างล่างคือโดมเกลือ และถ้าเจาะไปรอบๆจะเจอไหล่ของโดมเกลือซึ่งก็คือโปแตช ดังนั้นอุดรฯ มีหนองหาน - กุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี รอบๆ ก็คือโปแตชที่มีคุณภาพดี ในระดับ 200 - 300 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่ตื้นมากถ้าเทียบกับแหล่งแร่อื่นๆ ในโลก"


 


ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การทำเหมืองแร่โปแตชจะมีผลพลอยได้เป็นเกลืออันมหาศาล ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการทำอุตสาหกรรมหลากประเภทโดยเฉพาะการทำเคมีภัณฑ์ ทำให้เกิดความพยายามในการวางพื้นที่ตั้งเหมืองโปแตชในจังหวัดอุดรฯให้เชื่อมกับนิคมอุตสาหกรรมเดิม ตามนโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้าในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ชะงักไปในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ


 


หรือในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเอง ก็มีความต้องการเกลือสูงเช่นกัน ดังนั้นเกลือจำนวนหนึ่งจากเหมืองโปแตชอาจถ่ายไปสู่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกด้วย


 


เหมืองแร่โปแตชจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมต่อเนื่องขนาดใหญ่ทำให้มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง


 


มองข้ามช็อต อุดร - อีสาน เตรียมต้นทุนให้นายทุน


นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักวิจัยกลุ่มนิเวศน์วัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า ในอนาคตจังหวัดอุดรฯจะไม่ต่างจากภาคตะวันออก เมื่อมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็มีความต้องการน้ำเพื่อการผลิตสูงมาก วิกฤตการณ์การแย่งชิงน้ำ แบบเมื่อปี 2548 จะเกิดที่อีสาน เพราะทิศทางของรัฐมุ่งไปในการอุปถัมภ์อุตสาหกรรม เห็นได้ชัดมากจากการที่ภาครัฐออกมาพูดเมื่อปีก่อนว่า ภาคอุตสาหกรรมจะลดกำลังการผลิตไม่ได้ ดังนั้นจึงหมายความว่า หน่วยงานราชการ เช่น กรมชลประธาน กรมทรัพยากรน้ำ จะต้องหาน้ำมารองรับนิคมอุตสาหกรรม แต่ภาคเกษตรและน้ำเพื่อการบริโภคจะต้องแบกต้นทุนที่สูงขึ้น


 


แผนเรื่องน้ำที่ตามมาคือ วอเตอร์กริด (Water Grid) หรือโครงข่ายท่อส่งน้ำ ตามโครงการเมกกะโปรเจ็คท์น้ำของรัฐบาล จังหวัดอุดรฯเป็นจุดพักน้ำที่สำคัญโดยผันน้ำเข้ามาตามโครงการโขง ชี มูล เดิมก่อนจะคลี่คลายมาเป็นเม็กกะโปรเจ็คท์ คือน้ำจะผันมาจากแม่น้ำห้วยหลวง ตอนนี้มีการปิดปากเขื่อนแม่น้ำห้วยหลวงแล้ว ต่อไปคือวางท่อโดยตรงมาที่หนองหาน - กุมภวาปี ตัวพักน้ำใหญ่


 


น้ำอีกส่วนหนึ่งจะผันมาจากแม่น้ำโขง โดยเชื่อมกับเขื่อนในประเทศลาว ได้แก่เขื่อนน้ำงึม และเขื่อนน้ำเทิน 2 นอกจากนี้ยังมีแนวคิดผันน้ำมาจากแม่น้ำโขงโดยตรงด้วย แต่ยังมีข้อจำกัดทางการเมืองตามข้อตกลงของ 4 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงว่า การใช้น้ำโขงต้องขออนุญาตกันและกัน เพราะถ้าสูบมาสูงมากจะกระทบกับนิเวศน์ปากน้ำโขงที่เรียกมังกร 9 หาง อันเป็นพื้นที่ปลูกข้าวขนาดใหญ่ของประเทศเวียดนาม


 


หากพิจารณาเส้นทางผันน้ำ และจุดพักน้ำแล้ว วอเตอร์กริดภาคอีสาน คือการเตรียมน้ำไว้สำหรับภาคอุตสาหกรรม


 


"เดิมหลักคิดของรัฐทำวอเตอร์กริดคือเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมในภาคอีสาน แต่ภาพเริ่มชัดว่าน้ำจากน้ำโขงที่จะมาลงสู่หนองหาน- กุมภวาปี นั้นน่าจะเป็นการพักน้ำเพื่อป้อนเหมืองแร่โปแตชในจังหวัดอุดร กับนิคมอุตสาหกรรม และหากมีท่อก๊าซจากภูฮ่อมลงมา เชื่อได้เลยว่านิคมอุตสาหกรรมที่บ้านโนนสูง จังหวัดอุดรฯ จะกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ หรือต่อไปอาจจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ" นาย เลิศศักดิ์ กล่าว


 


ปูทาง Landlink ทางเศรษฐกิจ


เมื่อมีโปแตชและเกลือเป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานแล้ว เส้นทางการขนส่งจะตามมา เลิศศักดิ์ชี้ให้เห็นภาพสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อรองรับธุรกิจเหมืองโปแตชและอุตสาหกรรมต่อเนื่องภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า สินค้าส่วนหนึ่งอาจส่งเข้านิคมอุตสาหกรรมใหม่ใกล้เหมือง อีกส่วนหนึ่งจะขนส่งเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ทั้งนี้ มีการวางพื้นที่สร้างเหมืองและนิคมฯไว้ใกล้ทางคมนาคมอยู่แล้วคือ ถนนมิตรภาพ อีกทางหนึ่งคือทางรถไฟ


 


กรณีดังกล่าว ตามข้อมูลของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีระบุว่า ทางบริษัทมีความพยายามขอให้มีรางรถไฟเส้นพิเศษเข้ามาเพื่อการขนส่งในเหมืองด้วย


 


ส่วนเส้นทางขนส่งสินค้าในระดับสากล วัตถุดิบและผลผลิตจากอุตสาหกรรม จะสามารถกระจายสู่ตลาดได้ทุกทิศทาง โดยผ่านเส้นทางอีส - เวสต์ คอริดอร์ ที่จะสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมเส้นทางยุทธศาสตร์การค้า ทั้งไทย ลาว พม่า และเวียดนาม ไว้ด้วยกัน ตามแผนการพัฒนาอนุภาคลุ่มน้ำโขง


 


โดยปลายด้านตะวันออกของ อีส-เวสต์ คอริดอร์ คือท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม แล้วพาดผ่านภาคอีสานมา โดยคาดว่านิคมอุตสาหกรรมอุดรฯจะเป็นจุดลิงค์ จากนั้นจึงวางเส้นทางเชื่อมต่อกับสี่แยกอินโดจีนที่จังหวัดพิษณุโลก ถนนเส้นหนึ่งขึ้นไปทางอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จากจุดนั้นจะมีท่าเรือน้ำลึกของจีนที่ตอนนี้เริ่มระเบิดแก่งเตรียมการไว้บ้างแล้ว


 


อีกเส้นทางหนึ่ง แยกไปทาง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปถึงม่อนมะละแหม่ง ประเทศพม่า จะทำให้ถนนเส้นนี้มีความสำคัญที่ทำให้อีสานมีพื้นที่นำสินค้าออกสู่เส้นทางการค้าทางทะเลได้


 


 


อาณานิคมผ่านทุน


คุณูปการของเศรษฐกิจขนาดใหญ่แบบนี้ หมายถึงการมีเม็ดเงินเข้าประเทศมหาศาล แต่ผู้ลงทุนทำธุรกิจตามแผนการขนาดใหญ่ขนาดนี้ได้ คงไม่ใช่ชาวบ้านร้านตลาดแน่ แม้แต่กลุ่มทุนของไทยเองยังไม่แน่ว่าจะลงทุนในธุรกิจที่มีโครงสร้างใหญ่ขนาดนี้ได้ ในเชิงธุรกิจต้องมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่างต่อกัน ดังนั้นการเตรียมพื้นที่เพื่อเศรษฐกิจขนาดใหญ่เช่นนี้จึงคล้ายกับเป็นการคุยระหว่างพ่อค้าไทยกับพ่อค้าต่างประเทศเพื่อหาสิ่งแลกเปลี่ยนกันอย่างลงตัวมากกว่า


 


หากประเมินจากกรณีการขายหุ้นของชินคอร์ป ของครอบครัวนายกรัฐมนตรีให้กับบรรษัทสิงคโปร์ ที่มีลักษณะการมุ่งประโยชน์สูงสุดจากกำไรในการขายหุ้นแล้ว อาจตีความหมายได้ว่า ต่อไปนี้อำนาจแห่งรัฐจะเปลี่ยนไป กลุ่มทุนต่างชาติจะสามารถเข้ามามีอำนาจทางเศรษฐกิจถึงขนาดที่อาจทำให้อำนาจรัฐอ่อนแอลง เพราะแม้แต่เรื่องความมั่นคงอันเป็นสิ่งที่ต่างชาติไม่ควรได้ถือครองก็ได้ถือครอง เช่น เรื่องการโทรคมนาคมและการสื่อสารต่างๆ


                                           


การแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณะก็เช่นกัน กำลังเป็นเรื่องไม่มีสัญชาติ เพราะนายกรัฐมนตรีนำแนวความคิดเพื่อ "กำไรสูงสุด" มาใช้เป็นต้นแบบชนิดที่ไม่มีเส้นแบ่งกั้นว่า อะไรคือธุรกิจ อะไรคืออธิปไตย และความมั่นคงของรัฐ เป็นไปได้ว่า ในมาตรฐานแบบนี้ กลุ่มทุนใด ประเทศใด ก็มามีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เหนืออธิปไตยของรัฐได้ หากมีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้บริหารฝ่ายรัฐ


 


ข้อกังวลดังกล่าวขยายตัวสูงขึ้น เพราะแม้แต่ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตประธานบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ก็ลาออกจากการเป็นบอร์ด กฟผ.เพราะความไม่มั่นใจกับระบบธุรกิจแบบนี้


 


"มาบัดนี้ข้าพเจ้าไม่แน่ใจในอนาคตของ กฟผ. เพราะเหตุการณ์ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐให้บริษัทต่างชาติ เป็นเหตุให้เกิดความกังวลว่า ในอนาคตรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะดำเนินการอย่างเดียวกัน ข้าพเจ้าไม่อยู่ในวิสัยที่จะป้องกันได้" ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายการลาออกของ ศ.ดร.ชัยอนันต์


 


กลับมากรณีการทำเหมืองโปแตช จะเห็นว่ารัฐบาลออกกฎหมายในลักษณะที่ยอมลิดรอนสิทธิ์ในที่ดินชาวบ้านว่า หากลึกว่า 100 เมตรเป็นต้นไป สามารถทำแร่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของที่ดิน หมายความว่า ต่อไปกลุ่มทุนทำเหมืองไม่ว่าจะสังกัดประเทศใด จะมาใช้สิทธิ์ในการหากำไรตรงนี้โดยการยินยอมของรัฐ นายทุนบางประเทศใช้การเจรจาผ่านทางการทำเอฟทีเอ เช่น กลุ่มทุนทำเหมืองจากออสเตรเลีย มีข้อตกลงให้เปิดเสรีการทำเหมือง


 


ส่วนที่จังหวัดอุดรฯ ซึ่งเป็นจุดลิ้งค์ เป็นไปในรูปแบบการยอมรับสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในอดีต คือขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอประทานบัตรของบริษัท เอเชียแปซิฟิกโปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ประเทศแคนาดา โดยมีพื้นที่ในการขอประทานบัตรกว่า 70,000 ไร่ และต่อไปอาจขยายไปได้ทั่วภาคอีสาน หากบริษัทสามารถสำรวจพบแหล่งแร่ต่อเนื่อง เพราะมีข้อสัญญาผูกมัดที่รัฐบาลเคยทำเอาไว้เมื่อ พ.ศ. 2527


ข้อที่ 3 ความว่า "บริษัทมีสิทธิ์ขยายเขตเหมืองแร่ออกไป เพื่อรวมเอาอาณาเขตแหล่งแร่ต่อเนื่องซึ่งอยู่นอก "เขตเหมืองแร่" โดยแสดงหลักฐานอันสมควรในแหล่งแร่ที่ขยายออกไป "


 


นายเลิศศักดิ์ ได้แสดงความกังวลในจุดนี้ทิ้งท้ายว่า หากมีการออกเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก จะยิ่งน่ากลัวในการรุกเข้ามาอย่างเสรีของนายทุนต่างชาติ เพราะเอฟทีเอต่างๆ มีลักษณะเอื้อไปตรงนั้น


 


 เมืองอุตสาหกรรม ชีวิตเล็กๆ ที่ถูกทำลาย


หากทบทวนบทเรียนของเมืองอุตสาหกรรมภาคตะวันออก พื้นที่ภาคอีสานจะเผชิญปัญหาน้ำที่หนักกว่าคือ การผันน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นเป็นพิเศษ วัฒนธรรมปลาและข้าวที่ฝังรกรากมานานในภาคอีสานจะถูกลดความสำคัญลง


 


ในกรณีเหมืองที่จังหวัดอุดรฯ หากมีการผันน้ำไปลงหนองหาน - กุมภวาปี นิเวศน์ของหนองอาจเปลี่ยนไปทันที


 


สภาพของหนองหาน - กุมภวาปี มีลักษณะกว้างใหญ่แต่ไม่ลึกมากนัก ทำให้พืชน้ำขึ้นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบัว จึงมีนกน้ำนานาชนิดมาอาศัย รวมทั้งง่ายต่อการหาปลาของชาวบ้านรอบๆ หนอง ในบางจุดจะมีเกาะกลางหนองซึ่งกว้างพอที่จะตั้งหมู่บ้านประมงเล็กๆ ได้


 


ดังนั้นหนองหานจึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตมากมายที่ผูกพันกันเป็นนิเวศน์ หากผันน้ำเข้ามามากขึ้น เกาะที่เป็นหมู่บ้านประมงก็จะจมลง บัวก็จะไม่สามารถขึ้นได้ในระดับน้ำที่ลึกเกินไป นกน้ำต่างๆ ก็จะหายไป ชีวิตต่างๆ ในนิเวศน์หนองหานก็จะหายไป


 


นอกจากนี้ จังหวัดอุดรฯไม่มีทางน้ำระบายลงสู่ทะเล น้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมจะไหลไปตรงไหนจึงเป็นเรื่องที่น่าคิด หนองหานและห้วยหลวงซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำอาจกลายเป็นที่ระบายไปโดยปริยาย


 


ส่วนรอบๆ เหมืองอาจไม่สามารถใช้ทำการเกษตรกรรมได้ เนื่องจากการทำเหมืองจะต้องมีพื้นที่เก็บหางแร่ ซึ่งตามโครงการระบุว่า จะมีขนาดกว้างยาวและสูง 40 เมตร และอยู่กลางแจ้ง เมื่อมีฝนตกอาจชะเกลือลงสู่พื้นที่รอบๆ หรืออาจไหลไปตามทางน้ำธรรมชาติทั้งใต้ดินและบนดิน ซึ่งผลให้ดินและน้ำเค็ม การเกษตรที่เป็นอาชีพหลักของชาวอีสานจึงอาจถูกทำลายไปทางอ้อม


 


และเมื่อชาวบ้านไม่มีทางเลือกก็ต้องกลายมาเป็นแรงงานราคาถูกป้อนให้กับเหมือง และอุตสาหกรรมต่างๆ วิถีชีวิตแบบอีสานจะสูญหายไป


 


อีกกลุ่มหนึ่งที่รับผลกระทบแน่นอนคือ ผู้ทำอุตสาหกรรมเกลือรายย่อย หรือเกลือแบบนาตาก อาจต้องเลิกทำเนื่องจากเส้นทางการค้าเกลือจะมุ่งไปที่เหมืองโปแตชแทน เพราะสามารถผลิตเกลือได้ถึง 7,000,000 ตันต่อปี และมีความบริสุทธิ์กว่า ส่วนเกลือนาตากผลิตได้เพียง 4-5 แสนตันเท่านั้น


 


เฉพาะนาเกลือบ้านดุง จังหวัดอุดรฯ ข้อมูลจากสหกรณ์ผู้ผลิตเกลือพบว่า คนที่มีลูกโซ่เกี่ยวพันกับการสูญพันธุ์ของธุรกิจนาเกลือมีไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ซึ่งเกลือพวกนี้เดิมทีผลิตเพื่อส่งอุตสาหกรรม ดังนั้น เศรษฐกิจที่เติบโตด้วยน้ำมือคนท้องถิ่น เมื่อเปลี่ยนเป็นคนต่างชาติจะเป็นอย่างไร ในประเด็นนี้จึงต้องตามต่อไปอย่างใกล้ชิด


 


อย่างไรก็ตาม นาเกลือแบบนาตากส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมสูงมาก โดยเฉพาะการระบายน้ำสู่พื้นที่เกษตร แต่ทั้งข้าราชการ นักการเมืองเคยสนับสนุนให้ทำและมีขึ้นมาแล้ว ต้องไปแก้ว่าจะทำให้ดีอย่างไรหรือหากจะยกเลิกจะรองรับอย่างไร ไม่ใช่พอมีเทคโนโลยีใหม่อย่างเหมืองโปแตชก็ถีบหัวส่ง เพราะตามข้อมูลจากร่างยุทธศาสตร์เหมืองแร่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กระทรวงอุตสาหกรรม เขียนไว้ว่า รัฐบาลจะสนับสนุนการทำเกลือ 2 ประเภทเท่านั้น คือ การทำเกลือที่เกิดจากเหมืองเกลือพิมาย และการทำเกลือที่เกิดจากเหมืองแร่โปแตช จึงเหมือนกับการคิดเพียงดูแลทุนรายใหญ่ แต่ไม่สนใจทุนท้องถิ่น


 


ส่วนผลกระทบอื่นที่ยังไม่มีแนวทางรองรับที่ชัดเจนได้แก่ ปัญหาดินยุบ ปัญหามลภาวะทางอากาศจากฝุ่นที่เกิดจากกองหางแร่ ปัญหามลภาวะทางเสียงจากเครื่องจักรในกระบวนการผลิต และปัญหาการจราจรเพราะต่อไปหากมีนิคมอุตสาหกรรมจะต้องมีรถไม่ต่ำกว่า 1,000 คันต่อวันวิ่งผ่านชุมชน


 


และอย่าลืมข้อมูลที่กล่าวไว้เบื้องต้นว่า อีสานพบทั้งเกลือและโปแตชได้ง่าย ต่อไปทั้งเหมืองและโรงงานอุตสาหกรรมหนักมีโอกาสจะผุดขึ้นอีกมากมายแค่ไหน และผุดมาเพื่อใครกันแน่.....?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net