Skip to main content
sharethis

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2006 16:46น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


งานวิจัย "ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือโครงสร้างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 2 ปี (พ.ศ. 2547-2548)" โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ถูกนำ เสนอต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์เหตุและหาทางออกจากวังวนปัญหา


 


ศูนย์ข่าวอิศรา ได้เรียบเรียงสาระสำคัญของงานวิจัยชิ้นดังกล่าว เป็น 3 ตอนๆ นี้เป็นตอนที่สอง


 


กรรมของผู้ก่อ


เมื่อมองโดยภาพรวม สิ่งที่น่าสนใจก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสองปีนี้มีแนวโน้มของความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร การกระจายตัวไปตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นอย่างไร และมีลักษณะยุทธวิธีการใช้ความรุนแรงอย่างไร


 


ประเภทความรุนแรงที่ใช้มากที่สุดก็คือการยิงซึ่งในรอบสองปีมี 1486 ครั้งหรือร้อยละ 42 ของเหตุการณ์ทั้งหมด ตามมาด้วยการวางเพลิงมีจำนวน 736 ครั้งหรือร้อยละ 20 การวางระเบิดและขว้างระเบิด 510 ครั้งหรือร้อยละ 14 นอกจากนี้ยังมีการก่อกวนและสร้างสถานการณ์อีก 331 ครั้งหรือร้อยละ 9


 


การก่อกวนนี้หมายถึงการวางตะปูเรือใบตามถนนและการทำลายข้าวของ เช่นพ่นสีตามป้ายสาธารณะหรือทุบทำลายเสาหลักกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีวิธีการฆ่าสร้างความสยองขวัญโดยวิธีฆ่าตัดคอ จำนวน 16 ครั้งในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาแต่ก็สร้างข่าวคึกโครมและสร้างผลสะเทือนต่อจิตใจผู้คนมากแม้จะมีเพียงไม่กี่ครั้ง


 


ทั้งนี้เมื่อแยกรายจังหวัดและยุทธวิธีการก่อเหตุรุนแรง นราธิวาสเป็นจังหวัดที่มีความรุนแรงสูงสุด มีเหตุการณ์การยิง 635 ครั้ง วาง เพลิง 305 ครั้ง และวางระเบิด 266 ครั้ง ตามมาด้วยปัตตานีมีการยิง 498 ครั้ง การวางเพลิง 243 ครั้ง และวางระเบิด 44 ครั้ง และยะลาเป็น จ.ที่มีการยิง 326 ครั้ง การวางเพลิง 183 ครั้งและวางระเบิด 129 ครั้ง น่าสนใจว่า จ.ยะลามีการวางระเบิดเกิดขึ้นมาก กว่าปัตตานีในระยะหลังโดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2548


 


เมื่อดูเหตุการณ์ในภาพรวมและแยกเป็นรายเดือนในวงรอบ 24 เดือน ตั้งแต่มกราคม 2547 จนถึง ธันวาคม 2548 การยิงเป็นยุทธวิธีการก่อเหตุที่มากที่สุดในทุกเดือนในรอบสองปี การฆ่ารายวันที่เกิดขึ้นก็คือ การยิง ซึ่งยุทธวิธีหลักก็คือ ขี่รถมอเตอร์ไซด์มีมือสังหารซ้อนท้ายและปฏิบัติการล่าเหยื่อ การวางเพลิงเป็นยุทธวิธีที่ใช้มากเป็นอันดับสองแทบจะทุกเดือน


 


แต่น่าสังเกตว่านับตั้งแต่มิถุนายน พ.ศ. 2548 มีเหตุการณ์การวางระเบิดเกิดขึ้นสูงอันดับสอง จุดเด่นที่เกิดขึ้นก็คือที่ จ.ยะลา การวางระเบิดทำให้มีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บมากขึ้น ถึงแม้ว่าผลการวางระเบิดนี้จำนวนผู้เสียชีวิตจะไม่มากนัก แต่ก็แสดงให้เห็นว่า การก่อเหตุวางระเบิดยังไม่ถึงกับใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่หวังผลการทำลายที่รุนแรงสูงสุดเช่น การระเบิดพลีชีพ หรือเป้าหมายในพื้นที่สาธารณะ


 


เป้าหมายที่สำคัญของการก่อเหตุระเบิดจึงน่าจะอยู่ที่เป็นอีกยุทธวิธีหนึ่งในการโจมตีเป้าหมายเฉพาะ สร้างความหวาดกลัวและตาดหวังผลทางการเมืองมากกว่า


 


เมืองยะลาเป้าหมายการก่อการ


เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกในแง่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของการก่อเหตุเป็นรายอำเภอใน จ.ปัตตานีพื้นที่เกิดเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรกก็คือ อ.เมืองปัตตานี อ.ยะรังและ อ.หนองจิก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์ในเขตเมืองปัตตานีในรอบปี พ.ศ. 2548 กลับลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบจากปี 2547 เหตุการณ์ที่ อ.ยะรังและหนองจิกก็ลดลงเมื่อเทียบระหว่างปี 2547 กับปี 2548 เช่นกัน แต่ระดับความรุนแรงของทั้งสอง อ.ก็ยังคงมากอยู่เช่นเดียวกัน


 


ในขณะเดียวกันพื้นที่เกิดเหตุในระดับสูงขึ้นมากในปี 2548 คือ อ.ยะหริ่งและมายอ ส่วนที่ จ.ยะลา อ.ที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงสูงสุด 3 ลำดับแรกคือ อ.เมืองยะลา อ.รามันและ อ.บันนังสตา โดยทั้งสามพื้นที่ดังกล่าวมีเหตุการณ์เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบสถิติปี พ.ศ. 2547 กับปี พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะที่ อ.เมืองยะลา และ อ.รามัน ที่ อ.รามันเหตุการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 133


 


ส่วนที่ จ.นราธิวาสพื้นที่ที่มีเหตุการณ์มากที่สุด 3 ลำดับแรกคือ อ.ระแงะ อ.สุไหงปาดีและ อ.รือเสาะ เหตุการณ์ที่ อ.ระแงะมีจำนวนลดลงกว่าเดิมเมื่อดูสถิติในปี 2548 แต่ที่ อ.รือเสาะกับ อ.สุไหงปาดีมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากขึ้นในปี 2548 โดยเฉพาะที่ อ.สุไหงปาดีซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงสูงขึ้นมากกว่าปี พ.ศ. 2547 ถึงร้อยละ 131


 


กล่าวโดยสรุป เมื่อดูภาพรวมทุกอำเภอในทั้งสามจังหวัด พื้นที่ 5 ลำดับแรกที่มีความถี่ของเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นสูงสุดในรอบสองปี ปรากฏว่า อ.เมืองยะลากลายเป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากที่สุด (305 ครั้ง) รองลงมาคือ อ.รามัน จ.ยะลา (240 ครั้ง) อ.ระแงะ (230 ครั้ง) และ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส (222 ครั้ง) อ.เมือง จ.ปัตตานี (198 ครั้ง) ลักษณะเด่นของเหตุการณ์สะท้อนลักษณะของสังคม มีจุดเน้นต่างกันตามเงื่อนไขสังคม เหตุความรุนแรงใน จ.ยะลาและปัตตานี เกิดขึ้นหนักในพื้นที่ที่มีความเป็นเมืองและกึ่งเมือง ส่วนเหตุการณ์ในนราธิวาสเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในพื้นที่ชนบทมากกว่าเขตเมือง


 


ผลของความรุนแรงและปฏิกิริยาตอบโต้


การที่เหตุการณ์เคลื่อนตัวไปตามสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ในลักษณะที่ต่างกันภายในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาอาจจะแสดงให้เห็นอิทธิพลของตัวแปรสองกลุ่มคือ ลักษณะโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจ องค์ประกอบในด้านเครือข่ายการเคลื่อนไหว ทิศทางการเคลื่อนไหวและจุดเน้นของผู้ก่อเหตุความรุนแรง พื้นที่ที่มีระดับของการเคลื่อนไหวของฝ่ายก่อการมากอาจเป็นจุดที่มีลักษณะพิเศษของโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจและโครงสร้างของการปฏิบัติการหรือฐานการสนับสนุนรองรับอยู่มากกว่าหรือเข้มแข็งกว่าที่อื่น


 


แต่ในอีกด้านหนึ่งตัวแปรด้านนโยบายและมาตรการของรัฐในการปราบปรามและจัดการกับวิกฤติ ก็อาจจะเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เกิดผันแปรของพื้นที่และระดับความรุนแรงในรอบสองปีที่ผ่านมาด้วย เพราะสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นผลมาจากอิทธิพลของตัวแปรทั้งเชิงโครงสร้าง และพลังสองฝ่าย (อำนาจรัฐและฝ่ายต่อต้าน) ที่ก่อปฏิกิริยาตอบโต้กัน


 


ตัวอย่างเช่นการปรับยุทธวิธีการปฏิบัติการตอบโต้ของฝ่ายรัฐ มาตรการทางการทหาร การไล่ล่าจับกุม รวมทั้งมาตรการการเมือง การเยียวยาผู้เสียหาย งานมวลชนในพื้นที่และการใช้นโยบายสมานฉันท์ในบางสถานการณ์อาจจะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงเปลี่ยนรูปแบบไป มีการขยับเคลื่อนพื้นที่ของการก่อเหตุความรุนแรงและเปลี่ยนแปลงระดับความรุนแรงในต่างพื้นที่ ดังนั้น สถานการณ์การต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายในระดับท้องถิ่นจึงเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาเป็นอย่างมากในการเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


 


ประเด็นที่น่าจะต้องให้ความสนใจอย่างมากก็คือ นอกจากปฏิบัติการที่รุนแรงของฝ่ายต่อต้าน มาตรการตอบโต้ของฝ่ายรัฐก็น่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งมาตรการนี้แสดงออกในสองลักษณะ


 


ด้านหนึ่ง การใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามและกำจัดฝ่ายตรงข้ามอาจจะยับยั้งปฏิบัติการความรุนแรงในพื้นที่เฉพาะได้บางระดับและชั่วคราว แต่ถ้ากระทำเกินเหตุ ไม่มีเหตุผล ผิดพลาดหรือไม่มีความชอบธรรมจะทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนสูงและมีผลทำให้การขยายตัวของความรุนแรงลุกลามบานปลายออกไป เนื่องจากปฏิบัติการของรัฐไปกระทบต่อผู้บริสุทธิ์ และมีผลทางจิตใจต่อประชาชนซึ่งมีพื้นฐานความไม่พอใจต่อรัฐไทยอยู่แล้ว โอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงในลักษณะดังกล่าวจะสูงมากทุกๆ ครั้งที่รัฐก่อความรุนแรงและมีผลลบทวีคูณอยู่ตลอดเวลา


 


อีกด้านหนึ่งมาตรการเชิงนโยบาย มาตรการทางการเมืองเช่นโครงการพัฒนาในด้านต่างๆ การปรับโครงสร้าง นโยบายสมานฉันท์ การเยียวยาความเจ็บปวด การทำงานมวลชนของหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ มีผลในทางบวกที่ทำให้ความรุนแรงและผู้ก่อเหตุความรุนแรงกลายเป็นผู้ไร้อำนาจในการปฏิบัติการและหมดอิทธิพล (neutralized capacity) ผลที่ตามมาในระยะยาว การแก้ปัญหาในทางการเมืองก็จะทำได้ง่ายกว่า และการใช้ความรุนแรงก็จะลดระดับลงได้


 


แบบแผนที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเทียบระดับของความรุนแรงในรอบสองปี มีร่องรอยบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงของทั้งปี พ.ศ. 2547 และ 2548 เมื่อเทียบเป็นรายเดือนมีลักษณะและระดับใกล้เคียงกันในช่วงครึ่งปีแรก จากนั้นระดับความรุนแรงในปี 2548 ลดลงเล็กน้อยในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายและมาตรการบาง อย่างของรัฐบาลที่หันมาทางสันติวิธีและใช้การเมืองนำการทหาร เกิดคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการและการวางกำลังในพื้นที่


 


อย่างไรก็ดี ระดับความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นอีกในช่วงกลางปีจนถึงเดือนมิถุนายนจากนั้นก็ลดลงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และก็เริ่มขยับขึ้นอีกครั้งหลังเดือนกันยายนจนถึงเดือนพฤศจิกายนก็พุ่งสูงอีกครั้ง


 


ส่วนในตอนปลายปีเดือนธันวาคมความรุนแรงก็ลดต่ำลงอย่างมากเพราะเป็นช่วงฝนตกหนักและน้ำท่วม เหตุการณ์ดูเหมือนว่าจะเคลื่อนตัวขึ้นๆลงๆเป็นคลื่น แต่เมื่อดูภาพแนวโน้ม (trend) การเคลื่อนตัวของเหตุการณ์ความรุนแรงแบบอนุกรมเวลาในรอบ 24 เดือนตั้งแต่มกราคม 2547 จนถึงธันวาคม 2548


 


สิ่งที่เห็นชัดด้วยสายตาก็คือ แนวโน้มที่เพิ่มระดับความรุนแรงนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 ถึงเดือนมิถุนายน 2548 หลังจากที่พุ่งขึ้นสูงสุด ในช่วงต้นปี 2547 จากนั้นก็เริ่มตกลงอีกครั้งในช่วงปลายปี พ.ศ.2548


 


เมื่อดูที่สภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เราจะเห็นการกระจายตัวและความหนาแน่นของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสองปีของ พ.ศ. 2547 และ 2548 ภาพจากระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์หรือ GIS แสดงให้เห็นว่า จุดของการเกิดเหตุในรอบสองปีมีลักษณะการกระจายไปหลายพื้นที่ใน จ.ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส และบานปลายไปถึงบางส่วนของ จ.สงขลาคือ อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี อ.จะนะ อ.นาหม่อมและเมืองสงขลา ปัจจัยที่ทำให้ความรุนแรงกระจายในวงกว้างและครอบคลุมทุกพื้นที่เพราะการใช้ยุทธวิธีลอบยิงของผู้ก่อเหตุซึ่งสูงมากถึง 1,300-1,400 ครั้งในรอบสองปีดังที่ได้กล่าวไปแล้ว


 


เมื่อดูลักษณะเฉพาะของการกระจายตัวของเหตุการณ์ความรุนแรงในแต่ละ จ. แบบแผนการเกิดความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ก็แสดงให้เห็นความแตกต่างกันบางอย่างซึ่งสะท้อนลักษณะโครงสร้างทางสังคมและอาจจะสะท้อนลักษณะการจัดตั้งของโครงสร้างเครือข่ายการปฏิบัติการของผู้ก่อเหตุความรุนแรง


 


แบบแผนการก่อเหตุความรุนแรงใน จ.ปัตตานีในรอบสองปี กระจายตัวออกในพื้นที่วงกว้าง หรืออาจจะทุกพื้นที่ใน จ.ปัตตานี แม้ว่าในพื้นที่ อ.เมืองปัตตานีจะมีเหตุเกิดสูงโดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2547 แต่ก็เกิดโดยรอบนอกพื้นที่เขตเทศบาล นอกจากนั้นจะกระจายไปทั่วทั้งเขต จ.มีจุดเน้นที่ อ.ยะรัง อ.หนองจิก อ.สายบุรีและ อ.ยะหริ่ง


 


อาจจะสรุปได้ว่า ความรุนแรงมีแบบแผนกระจายรอบนอกเขตเทศบาลปัตตานีลักษณะคล้ายวงแหวนรอบเขตชุมชนเมืองที่เป็นศูนย์กลางหรืออาจจะเรียกว่าวงแหวนปัตตานีก็ได้ ส่วนที่ยะลาจากภาพจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในเขตใจกลางเมืองยะลาส่วนมากและยังมีจุดเข้มข้นอีกจุดที่ อ.รามันซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองยะลาไปทางทิศตะวันออก


 


จากนั้นจุดการเกิดเหตุก็กระจายไปตามเส้นทางเป็นแนวยาวไปทางใต้ผ่าน อ.กรงปินัง อ.บันนังสตา อ.ธารโตและบางส่วนที่ อ.เบตง แบบแผนการกระจายจุดเกิดเหตุในพื้นที่คล้ายรูปกริชมีด้ามและฐานอยู่ที่เมืองยะลาและ อ.รามัน หันปลายแหลมไปทาง อ.เบตง แบบแผนลักษณะการก่อเหตุรุนแรงใน จ.นราธิวาสมีลักษณะพิเศษที่อาศัยพื้นที่ที่มิใช่เขตเมืองเป็นจุดศูนย์กลางแต่มีจุดเกิดเหตุทีสำคัญอยู่ที่สามพื้นที่คือ อ.ระแงะ อ.สุไหงปาดีและ อ.รีอเสาะ โค้งไปตามแนวเทือกเขาเหมือนแนวพระจันทร์เสี้ยว


 


ใครเป็นคนทำ : การแยกประเภทสถานการณ์


แบบแผนของความรุนแรงที่เกิดในพื้นที่ต่างๆทำให้เกิดคำถามที่ตามมาว่า เราสามารถบ่งชี้ได้หรือไม่ว่า ใคร ? บุคคลกลุ่มใดและพลังทางสังคมอะไร ? ที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้เกิดเหตุความรุนแรงอย่างมากมายและซับซ้อนในพื้นที่แห่งนี้ ประเด็นการวิเคราะห์ที่จะต้องทำก็คือ แยกประเภท สาเหตุและแรงจูงใจในเหตุทั้งหมดที่เกิดขึ้น


 


การแยกสาเหตุของความรุนแรงในที่นี้จะต้องอาศัยการแยกแยะด้วยวิธีการเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือพอสมควร อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีคำอธิบายหลายอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดในภาคใต้ว่า เกิดจากหลายสาเหตุจนไม่อาจจะเหมารวมว่า เป็นเรื่องของการกระทำโดยขบวนการผู้ก่อความไม่สงบทั้งหมดได้


 


หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าการดำเนินนโยบายของรัฐเองในการกำจัดหรือยับยั้งฝ่ายตรงข้าม บวกกับความผิดพลาดในการปฏิบัติการที่ไม่อาศัยวิธีทางกฎหมายก็เป็นผลทำให้เกิดการก่อความรุนแรงหรือการเก็บอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งอาจจะผิดตัวหรือถูกตัวก็ได้ ปัจจัยดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวเร่งความรุนแรงในพื้นที่


 


ทั้งนี้การวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุร้ายในแต่ละครั้งเป็นเรื่องยาก เพราะประชาชนทั่วไปมักจะไม่รู้ข้อมูลด้านลึก หรือไม่กล้าเผยความจริงแม้จะรู้เรื่องดังกล่าวก็ตาม ซึ่งกรณีของงานวิจัยชิ้นนี้ ทางทีมงานใช้วิธีการประมวลรายงานข่าวเหตุการณ์จากหนังสือพิมพ์รายวัน โดยเก็บรายละเอียดเหตุการณ์ บุคคลและสถานที่ ลักษณะรายละเอียดของเรื่องราวในแต่ละกรณี และนำมาตรวจซ้ำกับฐานข้อมูลของทางราชการอาทิ ข้อมูลของตำรวจ โดยกองกำกับการตำรวจภูธรภาค 9 ในเว็บไซด์ของตำรวจและตรวจกับฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.)


 


ผู้วิจัยได้แยกประเภทเหตุการณ์ได้เป็นสามกรณีคือ 1) การกระทำของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ หรือผู้ก่อการร้าย ขบวนการแยกดินแดน หรือ "พวกนั้น" ตามการเรียกของชาวบ้าน 2) การเกิดเหตุการณ์เพราะเรื่องส่วนตัว ชู้สาว ขัดผลประโยชน์ แก้แค้นส่วนตัว อาชญากรรมและเรื่องส่วนตัวต่างๆ 3) กรณีที่ระบุเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่เพื่อเก็บฝ่ายตรงข้ามหรือภาระกิจการต่อต้านการก่อการร้าย


 


ผลสรุปการศึกษาพบว่า จากจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงต่อบุคคลทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งหมด 1,435 เหตุการณ์ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลาและนราธิวาสระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 โดยเป็นเหตุการณ์ที่เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบ 1,221 กรณีหรือร้อยละ 85 ของเหตุการณ์ที่ศึกษาทั้งหมด เป็นเหตุการณ์ที่เชื่อว่าเกิดจากเรื่องส่วนตัว อาชญากรรมและยาเสพติด 175 กรณี หรือร้อยละ 12 ข้อมูลที่น่าสนใจพิจารณาก็คือ มีกรณีที่ระบุว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต่อแกนนำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอยู่ 39 กรณีหรือร้อยละ 3 ของเหตุการณ์ทั้งหมด


 


เมื่อแยกความชุดของเหตุการณ์ในแต่พื้นที่พบว่า จ. ยะลามีเหตุการณ์ที่ผู้ให้ข้อมูลเชื่อว่าเกิดจากผู้ก่อความไม่สงบมากที่สุด (331 กรณี หรือร้อยละ 92) รองลงมาคือนราธิวาส (519 กรณีหรือร้อยละ 83) และปัตตานี (371 กรณีหรือร้อยละ 81)


 


ในอีกด้านหนึ่ง พื้นที่ที่มีสัดส่วนการรายงานเรื่องการเกิดเหตุร้ายเพราะเรื่องส่วนตัวมากที่สุดคือ จ.ปัตตานี (72 กรณีหรือร้อยละ 16) รองลงมาคือนราธิวาส (78 กรณี ร้อยละ 13) และยะลา (25 กรณีหรือร้อยละ 7)


 


ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือการก่อเหตุความไม่สงบที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ใน จ.นราธิวาสมีรายงานดังกล่าวจำนวนมากที่สุด (24 กรณี หรือร้อยละ 4) รองลงมาคือ จ.ปัตตานี (13 กรณีหรือร้อยละ 3) และยะลา (2 กรณีหรือร้อยละ 1)


 


ข้อมูลในส่วนการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่นี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวมาก มีความเป็นไปได้มากที่เป็นเป็นรายงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริง (underreported) ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบซ้ำอีกรอบหนึ่งเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net