เปิดงานวิจัย 2 ปีไฟใต้ ตอนที่ 1 - ปริศนาแห่งความรุนแรง

วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2006 16:59น.

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

งานวิจัย "ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือโครงสร้างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 2 ปี (พ.ศ. 2547-2548)" โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์เหตุและหาทางออกจากวังวนปัญหา

 

ศูนย์ข่าวอิศรา ได้เรียบเรียงสาระสำคัญของงานวิจัยชิ้นดังกล่าว เป็น 3 ตอน โดยนำเสนอเป็นตอนแรก

 

เหตุแห่งปัจจัยไฟใต้

วันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นจุดเริ่มของแรงเหวี่ยงแห่งความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติใหม่ เกิดคดีบุกเข้าโจมตีปล้นปืนทหารเกือบ 400 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส หลังจากนั้นความรุนแรงหรือที่เรียกว่า "ความไม่สงบ" ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ความไม่สงบหรือความรุนแรงแสดงออกมาในรูปของการลอบยิง การโจมตี การวางระเบิด การวาง เพลิงและการก่อกวนด้วยวิธีการต่างๆ ความรุนแรงดังกล่าวนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิต การหลั่งเลือด ความตายและการบาดเจ็บสูญเสีย รวมทั้งบังเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทั้งทางราชการและส่วนบุคคล

 

สิ่งที่น่าจะให้ความสนใจก็คือ แบบแผนของการเกิดความรุนแรงที่มีลักษณะความเข้มข้น (intensity) อย่างเห็นได้ชัดเจนในปี พ.ศ. 2547 และปี พ.ศ. 2548

 

นอกจากนี้แล้ว ลักษณะพิเศษความความรุนแรงที่มีลักษณะเข้มข้นดังกล่าว เกิดขึ้นทั้งจากการกระทำของฝ่ายที่มิใช่รัฐและความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐ

 

ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ถ้าเริ่มนับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส (รวมทั้งสงขลาและสตูลในบางครั้ง) ในรอบ 11 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2536-2546 มีเหตุ การณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 748 ครั้ง หรือเฉลี่ยปีละ 68 ครั้ง

 

แต่ในปี พ.ศ. 2547 และ 2548 เหตุการณ์ความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรงฉับพลัน กล่าวคือในปี พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 1,843 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2548 เกิดเหตุ 1,703 ครั้ง รวมทั้งสองปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงหรือความไม่สงบ 3,546 ครั้ง

 

โดยเฉลี่ยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในรอบสองปีที่ผ่านมาปีละ 1,773 ครั้งหรือเดือนละ 147.75 ครั้ง กล่าวได้ว่าเหตุการณ์ที่เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2547-2548 นี้นับเป็นอัตราเพิ่มสูง ขึ้นถึงร้อยละ 374 ของเหตุความไม่สงบในรอบ 11 ปีก่อนหน้านั้น

 

เมื่อพิจารณาจากภาพรวมทั้งหมด ในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือระหว่างปี พ.ศ. 2536 ถึง 2548 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส รวมทั้งพื้นที่จังหวัดสงขลาในบางส่วน เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่เรียกว่าความไม่สงบ เช่น การยิง การฆ่า การวางระเบิด การวางเพลิงและการก่อเหตุร้ายด้วยเจตนาทางการเมือง รวมทั้งสิ้น 4,294 ครั้ง

 

ในเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ เหตุร้ายที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2536-2546 รวม 748 ครั้งหรือคิดเป็นเหตุ การณ์ร้อยละ 17 ของเหตุการณ์ทั้งหมด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2547 และ 2548 มีจำนวนถึง 3,546 ครั้งหรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของเหตุการณ์ที่เกิดทั้งหมดในรอบ 13 ปี นี่เป็นเหตุที่ทำให้เราควรตั้งข้อสังเกตถึงความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในระดับสูงอย่างโดดเด่น ฉับพลันและรุนแรงในรอบสองปีที่ผ่านมาว่าไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมดา

 

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในรอบ 13 ปีดังกล่าวถ้านับเอาเฉพาะเหตุ การณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2548 อันเป็นปีเริ่มต้นของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมโจมตีตึก World Trade Center ที่กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติที่เรียกว่า "อัลกอดิดะห์"

 

เราจะเห็นได้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ปีดังกล่าวจนถึงปี พ.ศ. 2548 เกิดขึ้นถึง 3,828 ครั้งหรือร้อยละ 89 ของเหตุการณ์ในรอบ 13 ปี นัยสำคัญของการพิจารณาแบ่งช่วงเวลาของเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะข้อสมมุติฐานที่ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากทั้งสาเหตุที่เป็นปัจจัยภายในและภายนอก กล่าวในอีกแง่หนึ่งสถานการณ์สากล

 

ส่วนปัญหาอุดมการณ์ทางศาสนาอาจจะมีผลกระทบตามมาอย่างมากต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประกอบกับปัจจัยภายในที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรัฐบาลมีการยุบเลิกหน่วยงานประสานนโยบายในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้คือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

 

ปัจจัยทั้งสองอาจจะมีผลต่อความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก โดยมีเหตุปัจจัยอื่นที่เป็นตัวเสริมเช่น ปัญหาความไม่เป็นธรรมโดยรัฐ ปัญหาเศรษฐกิจสังคม ความยากจนด้อยโอกาส และปัญหาการศึกษา รวมทั้งปัจจัยอื่นๆเช่นปัญหายาเสพติด เศรษฐกิจนอกระบบและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เป็นต้น

 

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดกระแสความรุนแรงนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาวิเคราะห์โดยละเอียด เพื่อเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและกำหนดตัวแบบทางนโยบาย ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม

 

เป้าหมายและเหยื่อความรุนแรง

ความหมายของความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็คือ การตายและบาดเจ็บของผู้คนจำนวนมาก ข้อมูลจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่ามีคนตายและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรอบสองปีระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,940 คน ในจำนวนนี้มีผู้ตาย 1,175 คน และบาดเจ็บ 1,765 คน

 

ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ จำนวนคนตายจากเหตุการณ์ทั้งสองปีที่ผ่านมาเมื่อพิจารณาจากภูมิหลังการนับถือศาสนา คนไทยมุสลิมกลับเป็นผู้เสียชีวิตมากกว่าคนไทยพุทธ กล่าวคือคนมุสลิมเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 จำนวน 607 คนหรือเป็นจำนวนร้อยละ 51.7 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด

 

ส่วนคนพุทธเสียชีวิตจำนวน 538 คนหรือเป็นร้อยละ 45.8 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในรอบสองปี (จำนวนที่เหลือไม่สามารถระบุได้) ในส่วนของผู้บาดเจ็บนั้น คนไทยพุทธมีจำนวนมากกว่า กล่าวคือคนพุทธได้รับบาดเจ็บจำนวน 1,085 คน หรือร้อยละ 61.5 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมด ส่วนคนมุสลิมได้รับบาดเจ็บจำนวน 498 ตนหรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.2 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมดระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548

 

การที่คนมุสลิมเสียชีวิตค่อนข้างมากกว่าคนพุทธมีความหมายที่น่าพิจารณาก็คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นมีเป้าหมายที่รวมทั้งคนไทยพุทธ และไทยมุสลิม แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปคนมุสลิมกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงค่อนข้างมากกว่า คนพุทธก็เป็นเหยื่อความรุนแรงเช่นเดียวกันแต่จะได้รับบาดเจ็บมากกว่า

 

ทั้งนี้จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่แสดงในที่นี้รวมถึงเหตุการณ์ในกรณีวันที่ 28 เมษายน 2547 และกรณีตากใบในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน

 

นอกจากคนมุสลิมจะมากกว่าแล้ว ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังด้านอาชีพของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต คนที่กลายเป็นเหยื่อหรือเป้าหมายของการก่อความรุนแรงส่วนมากที่สุดจะเป็นประชาชนทั่วไปที่หาเช้ากินค่ำหรือผู้ประกอบอาชีพที่มิใช่ข้าราชการ จำนวน 471 คนในปี พ.ศ. 2547 และจำนวน 564 คนในปี พ.ศ. 2548 รองลงมาคือกลุ่มตำรวจจำนวน 247 คนไนปี 2547 และ 154 คนในปี 2548 กลุ่มที่ถูกกระทำเป็นกลุ่มที่สามคือทหาร

 

การที่เป้าหมายสำคัญของผู้ที่ถูกกระทำที่กลายเป็นประชาชนทั่วไปแทนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นทหารหรือตำรวจ แสดงว่าการก่อเหตุความรุนแรงมีเป้าที่มิใช่อำนาจรัฐโดยตรง ซึ่งมีผลอย่างมากต่อความรู้สึกหวาดกลัวในหมู่ประชาชนในวงกว้าง

 

ลักษณะเช่นนี้แตกต่างจากการก่อการร้ายโดยทั่วไปที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่เป้าหมายการโจมตีมักจะเป็นกลไกของรัฐ ความหมายในทางการเมืองของความรุนแรงจึงน่าจะกว้างและลึกกว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ตั้งแต่ยุคของการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

 

นี่เป็นเหตุที่ทำให้เราต้องให้ความสนใจต่อสิ่งที่เป็นเป้าหมายและคุณค่าทางการเมืองของการก่อความรุนแรงครั้งนี้ว่า จะต้องมีแรงขับดันอย่างอย่างเป็นระบบ รุนแรงและชัดเจนยิ่งกว่าการต่อสู้ในอดีต

 

นอกจากนี้ ยังน่าสังเกตด้วยว่าเหยื่อของความรุนแรงที่เป็นประชาชนทั่วไปในปี พ.ศ. 2548 ยังมีจำนวนสูงขึ้นกว่าปี พ.ศ. 2547 อย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงในปี พ.ศ. 2548 ได้มีแนวโน้มขยายเป้าหมายไปสู่ประชาชนทั่วไปมากขึ้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท