Skip to main content
sharethis

คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กมธ.) วุฒิสภา เปิดเวทีประชาชนกับความมั่นคงทางการเมืองไทย  ที่อาคารวุฒิสภา รัฐสภา วันนี้ (10 ก.พ.) โดยในช่วงเช้า เวทีดังกล่าวเปิดรับฟังการนำเสนอจากภาคประชาชนและนักวิชาการในกรณีผลกระทบจากนโยบายสาธารณะของรัฐบาลทักษิณ


 


พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ รวมศูนย์อำนาจให้ทักษิณ


นายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ ที่ปรึกษากรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวถึงปัญหาในการออกพื้นที่ท่องเที่ยวพิเศษและเขตเศรษฐกิจพิเศษว่า การที่รัฐบาลมีความต้องการในการออก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นการคอรัปชั่นทางกฎหมาย โดยถ่ายโอนอำนาจสู่กลุ่มบุคคลที่ตั้งขึ้น ที่เรียกว่าคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่างกฎหมายนี้กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาหลังการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในสมัยหน้า


 


ทั้งนี้ จะมีการแต่งตั้งผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีอำนาจสูงมากมาดูแล แม้แต่การปรับลดเงื่อนไขในการทำธุรกิจ เช่น การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอก็สามารถยกเว้นได้หากเป็นภาระทางเศรษฐกิจ หรือการถมทะเล การอนุมัติใช้ที่ป่าสงวน การอนุมัติเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ หรือกาสิโน ก็สามารถทำได้เช่นกัน จะนำไปสู่การยึดทรัพยากรให้นายทุน และหากมีข้อขัดแย้งต้องให้คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นผู้ตัดสิน การถ่ายโอนอำนาจแบบนี้ทำให้ไม่มีอำนาจในการถ่วงดุล


 


นอกจากนี้ การออกกฎหมายดังกล่าวเท่ากับการล้มล้างหลักการการกระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะอำนาจการตัดสินต่างๆ ของ องค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องขึ้นกับผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษ


 


ชาวบ้านตัวแทนจากเกาะเสม็ด กล่าวเสริมในประเด็นดังกล่าวว่า แม้ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ จะยังไม่ได้ออกมา แต่มีการบังคับใช้กฎหมายผ่านทางพระราชกฤษฎีกาแล้ว โดยซุกแนวทางของ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษไว้ด้วย ตอนนี้นำไปใช้ในพื้นที่การท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น เกาะช้าง เกาะเสม็ด ไนท์ซาฟารี เป็นต้น โดยให้นักลงทุนมาลงทุนในโครงการต่างๆ มีการริดรอนสิทธิชาวบ้านโดยเอาพื้นที่ชาวบ้านไปใช้ มีการให้สัมปทานพื้นที่อุทยานเพื่อทำสนามกอล์ฟ แต่ในกรณีป่าชุมชนกลับห้ามชาวบ้านเข้าไปใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์พิเศษ


 


สึนามิ 1 ปีแล้วยังไม่ช่วยชาวบ้าน


นางราตรี คงวัดใหม่ ตัวแทนผู้ประสบภัยสึนามิ 6 จังหวัด กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์สึนามิปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะผู้มีอิทธิพลและนายทุนเป็นคนของรัฐเองมาใช้ประโยชน์ในที่อาศัยและทำกินเดิม แม้แต่ไฟฟ้ายังต้องขโมยไฟหลวงเป็นเวลากว่า  1 ปีตั้งแต่เกิดเหตุการณ์


 


"ขโมยไฟไปใช้เจ้าหน้าที่ก็ขู่ว่าเป็นคดีอาญา ทำเรื่องทุกวิถีทางก็ไม่ยอมต่อให้ ความเป็นคนเขาไม่ค่อยมี" นางราตรีตัดพ้อ หลังจากที่ต้องพูดเรื่องนี้มาหลายครั้งทั้งต่อ กมธ.พัฒนาสังคมฯ เจ้าหน้าที่รัฐและสื่อมวลชน


 


นอกจากนี้ นางราตรียังยืนยันว่า พื้นที่ประสบภัยและต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน อย่างบ้านแหลมป้อม บ้านทับตะวัน บ้านในไร่  จังหวัดพังงา บางจุดมีการตรวจสอบพบว่า นายทุนได้เอกสารสิทธิมาโดยไม่ชอบ แต่ทางรัฐก็โยนเรื่องกันไปมา ส่วนนายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิช รัฐมนตรีช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งๆ ที่เคยรับปากกับ กมธ.พัฒนาสังคมฯแล้วเมื่อปีก่อน


 


"โดยเฉพาะพื้นที่บ้านแหลมป้อมยืนยันได้ชัดว่า ผู้มีอิทธิพลเป็นถึงรองประธานรัฐสภา พูดได้โดยไม่กลัว อยากให้ลงไปแก้ไขจริงๆ ไม่ใช่ให้ชาวบ้านแก้ปัญหากันเอง"


 


ส่วนตัวแทนจากเครือข่ายคนไร้สัญชาติ กล่าวเสริมประเด็นว่า คนไร้สัญชาติที่ต้องสูญเสียอาชีพไปจากเหตุการณ์สึนามิ โดยเฉพาะการประมงพื้นบ้านก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ รวมทั้งไม่ได้รับสิทธิใดๆ ด้วยทั้งๆ ที่เป็นคนไทย


 


"ยืนยันว่าเราเป็นคนไทยพลัดถิ่นตอนที่เสียดินแดนไปให้อังกฤษ คนฝั่งโน้นนับถือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเหมือนคนไทยอื่นๆ"


 


ปัจจุบันยังมีคนพลัดถิ่นจากเหตุการณ์สึนามิที่ จ.ระนอง 1,909 คน ส่วนที่ จ.ประจวบฯ 674 คน รัฐควรต้องดำเนินการคืนสัญชาติให้คนไทยที่ตรวจสอบและรับรองโดยเครือข่ายฯ ขณะนี้มีการออกบัตรรับรองกันเองในเครือข่ายชั่วคราว การที่รัฐคืนสัญชาติจะทำให้มีสิทธิในการประกอบอาชีพได้ ขอให้มีเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจนด้วย


 


ปัญหาความยากจนแก้ที่โครงสร้างไม่ใช่ "ประชานิยม"


ดร.ประภาส ปิ่นตกแต่ง นักวิชาการจากรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาความยากจนว่า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่นโยบายประชานิยมของรัฐบาลมีฐานคิดว่า ความยากจนเป็นปัญหาส่วนบุคคล การแก้ปัญหาจึงบอกได้เพียงการขยันอดออม ทำบัญชีรับจ่าย


 


นอกจากนี้ ยังใช้เกณฑ์วัดความยากจนจากรายได้เป็นตัวกำหนดเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่มีปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงโครงสร้างทางนโยบายรัฐด้วย เช่น เกษตรกรถูกตลาดเอาเปรียบ แต่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจนต้องออกมาขายแรงานในเมือง


 


หรือในกรณีสมัชชาคนจนก็เป็นปัญหามาจากนโยบายรัฐเช่นกันคือ สร้างเขื่อนทำให้คนขาดทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ในขณะที่นพยปัญหามาจากนโยบายรัฐ เช่นเขlyP=k9b py' รัฐบาลทักษิณเองกลับไปทำลายกลไกต่างๆ ในการประเมินผลกระทบจากปัญหา เช่น ข้อตกลงที่ให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมถูกยกเลิกโดยให้ตั้งบริษัทที่ปรึกษาแทน เป็นต้น


 


ดร.ประภาส กล่าวอีกว่า เมื่อความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ เห็นหัวคนจน และให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะต่างๆตามรัฐธรรมนูญ แต่ความคืบหน้าในการพัฒนาตรงนี้กลับไม่มีจากภาครัฐ ทำให้ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองที่คนจนมีส่วนร่วม


 


"ประชานิยมแก้ปัญหาเชิงปัจเจกให้เฉพาะทุนการผลิตอย่างเดียว เช่น กองทุนหมู่บ้าน หรือ SML รัฐบาลบอกว่ามีตัวเลขชี้วัดว่าสำเร็จ 17 ล้านคน แต่ไม่ให้ข้อมูลว่ามีการคืนเงินแค่ไหน ยืมต่อมาหรือไม่ มันเหมือนผลัดผ้าขาวม้า ตอนนี้หนี้สินภาคต่อครัวเรือนเพิ่มจาก 80,000 บาท เป็น 140,000 บาท"


 


"ไกรศักดิ์" ยันแค่ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็เพียงพอให้ออกไป


ในเวทีเดียวกัน นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัน ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า ในการปกครองของรัฐบาลทักษิณ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด โดย 90 เปอร์เซ็นต์ เกิดในภาคใต้ และเชื่อเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความรุนแรง


 


"คนเกือบ 3,000 คน ตายหรือหายไปจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด หลายร้อยคนหายไปที่ภาคใต้ และภายในวันเดียวตำรวจฆ่าคนได้ 108 คน ทั้งๆ ที่มีหลักฐานว่ามีการตอบโต้เจ้าหน้าที่ที่มัสยิดกรือเซะเพียงแห่งเดียว หลังเหตุการณ์ที่กรือเซะ เกิดเหตุการณ์ตากใบ เจ้าหน้าที่จับกุมคน 1,300 คน คนส่วนใหญ่ไม่อยู่ในพื้นที่ประท้วง แต่ไปจับมาจากที่อื่น แล้วซ้อนกัน 5 ชั้น มีคนตาย 78 คน


 


"มีรายงานว่า ตายเพราะตับวาย หายใจไม่ออกตาย แต่เรามีข้อมูลว่า มีการใช้ความรุนแรงกระทำให้ตาย 10 คน มีผลรายงานออกมาแล้ว "


 


นายไกรศักดิ์ กล่าวต่อว่า วันที่ 11 ก.พ. จะพูดเรื่องเอฟทีเอ ซึ่งเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากธุรกิจของนายกรัฐมนตรี อีกทั้งเป็นการแลกผลประโยชน์ของประชาชนเพื่อความมั่งคั่งของตนเอง


 


"ตอนนี้ นายบุญคลี ปลั่งศิริ กำลังเสนอว่าให้ต่างชาติสามารถซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์  จีน ตอนนี้ก็กำลังต้องการที่ดิน 2,000,000 ไร่ ปลูกยูคาลิปตัส การขายหุ้นชินคอร์ปเองก็ผิดกฎหมาย เพราะให้ต่างชาติถือหุ้นมากกว่า 49 เปอร์เซ็นต์ในธุรกิจโทรคมนาคม ตอนนี้ต่างชาติถือไปแล้ว  97 เปอร์เซ็นต์ แอร์เอเชีย เป็นของสิงคโปร์กับมาเลเซียทั้งหมด แต่กลับได้อภิสิทธิ์ที่รัฐเคยให้มากกว่าไทยอินเตอร์ทั้งหมด"


 


เอฟทีเอ นายกฯทำไทยเสียเปรียบ


นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ นักกิจกรรมทรัพยากรชีวภาพและเกษตรแห่ง "ไบโอไทย" กล่าวถึงการทำ เอฟทีเอว่า ผลออกมาแล้วคือเสียเปรียบ เอฟทีเอไทยกับออสเตรเลีย เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องทิ้งธุรกิจ 20 -30 เปอร์เซ็นต์ กระทบไปแล้วกว่า 200,000 คน ต่อไปคือธุรกิจโคเนื้อกว่า 5,000,000 คน กำลังจะหมดอาชีพ เพราะเนื้อคุณภาพเดียวกัน ราคาจากทางออสเตรเลียถูกกว่าถึงครึ่งหนึ่ง


 


ส่วนเอฟทีเอไทยกับจีน จะเห็นว่าสินค้าจากจีนรุกเข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบอกว่ามีกองทุน 10,000 ล้านบาทไว้เยียวยา แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ใช้แม้แต่บาทเดียว


 


การทำเอฟทีเอไทยกับสหรัฐในอนาคต ผู้ปลูกถั่วเหลืองกับข้าวโพดกำลังจะหมดอาชีพเช่นกัน และหากทบทวนประสบการณ์จากประเทศอื่นก็จะโดนเรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืช ตอนนี้สหรัฐได้จดสิทธิบัตรกวาวเครือรอบที่ 2 แล้ว รวมทั้งข้าวหอมมะลิที่จดไปก่อนหน้านี้ ต่อไปต้องถูกยึดครองตามกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐ


 


ส่วนการลงทุนจะต้องให้สิทธิกับสหรัฐเท่ากับคนไทย หมายความว่า หากมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ สหรัฐก็สามารถมาลงทุนได้


 


อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง แนวโน้มทิศทางตลาดเอเชียจะสูงขึ้น หากไม่ทำเอฟทีเอ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะมีสูงกว่า ส่วนดุลการค้าของไทยกับสหรัฐจะเห็นว่าเพิ่มขึ้นมาตลอด ดังนั้นจึงไม่เห็นความจำเป็นของการทำเอฟทีเอ


 


"ธุรกิจของนายกฯสามารถไปลงทุนในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ได้ หลังการทำเอฟทีเอ ซึ่งก่อนหน้านี้ทำไม่ได้ ขณะนี้ทนายของนายกฯพยายามกว้านซื้อโรงพยายาบาลไปหลายแห่ง เพราะการทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่นจะทำให้คนญี่ปุ่นได้สิทธิในการรักษาของไทย" นายวิฑูรย์ สรุปทิ้งท้าย


 


อมธ. ลงจารึกต่อ ปธ.วุฒิ ขอถอดถอนนายกฯ


ระหว่างการเสวนา ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าแจ้งต่อ นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภาว่า จะรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้นจึงมาร่วมเวทีเสวนา เพื่อแถลงผลการยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภาในครั้งนี้


 


นายธนาชัย สุนทรอนันตชัย  นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) กล่าวว่า นายสุชน มีความยินดีที่ได้เห็นพลังนักศึกษาใช้กระบวนการตามกฎหมายมากกว่าวิธีการนอกสภา


 


ทั้งนี้ ทาง อมธ. ระบุว่า ไม่ต้องการเห็นความรุนแรง จึงเลือกวิธีเข้าชื่อเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ให้เป็นทางเลือกที่ 3 แก่ประชาชน การรวบรวมรายชื่อจะมีไปเรื่อยๆ จนครบ 180 วัน ตามที่กฎหมายเปิดช่องให้ หากมีคนขยายจำนวนมากกว่า 50,000 คนมาลงชื่อ เช่นเป็นแสนหรือมากกว่านั้น ก็จะไม่เป็นเพียงกระบวนการทางกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการทางสังคมด้วย


 


ด้าน นายการุณ ใสงาม ส.ว.บุรีรัมย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญระบุให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองได้หลายทาง การถอดถอนเพราะขาดคุณสมบัติโดยร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างที่ 28 ส.ว.ทำก็เป็นวิธีการหนึ่ง การที่นักศึกษาล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อก็เป็นวิธีการหนึ่ง การชุมนุมอย่างสงบแบบเมื่อวันที่ 4- 5 ก.พ. ก็เป็นวิธีการหนึ่ง


 


"วันที่ 11 กพ.ก็เป็นวิธีการชุมนุมอย่างสงบ หลังจากทำหน้าที่ ส.ว.ในสภาอย่างเต็มที่แล้ว ก็ใช้สิทธิในความเป็นประชาชนคนหนึ่งไปร่วมชุมนุม เพราะหน้าที่ไม่ได้อยู่แค่ในสภา สามารถทำนอกสภาได้ การชุมนุมเพื่อไล่นายกรัฐมนตรีก็เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญเช่นกัน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net