Skip to main content
sharethis

 


 


วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2006 17:31น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


งานวิจัย "ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือโครงสร้างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 2 ปี (พ.ศ. 2547-2548)" โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ถูกนำ เสนอต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์เหตุและหาทางออกจากวังวนปัญหา


 


ศูนย์ข่าวอิศรา ได้เรียบเรียงสาระสำคัญของงานวิจัยชิ้นดังกล่าว นำเสนอเป็น 3 ตอนๆ นี้เป็นตอนสุดท้าย


 


 


ปฏิบัติการแห่งความรุนแรง: ความรุนแรงอย่างมีโครงสร้าง


จากข้อมูลเชิงคุณภาพในระดับชุมชนที่ค้นพบจากการศึกษาครั้งนี้ แสดงให้เห็นร่องรอยของการเคลื่อนตัวของความรุนแรงในระดับจุลภาคที่ส่งผลให้เกิดการปะทุขึ้นมาของรูปธรรมแห่งความรุนแรงที่สังเกตเห็นได้ในภาพระดับมหภาคดังที่แสดงข้อมูลไปในตอนต้น


 


สิ่งเหล่านี้ก็คือ ปฏิบัติการอย่างมีระบบและแบบแผนของทั้งฝ่ายผู้ก่อการต่อต้านรัฐและฝ่ายรัฐ


 


ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นทั้งความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (เป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจที่ปะทุขึ้นอย่างรุนแรง) และเป็นความรุนแรงอย่างมีโครงสร้าง


 


กล่าวคือ ตัวของปฏิบัติการความรุนแรงก็มีระบบ การจัดการ การเตรียมการและกำหนดเป้าหมายและการเตือนล่วงหน้าอย่างค่อนข้างชัดเจนและเป็นระบบ สามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้


 


1.การลอบสังหาร เป้าหมายในการลอบสังหาร จำแนกได้ดังนี้


- เจ้าหน้าที่รัฐในหมู่บ้าน ประกอบด้วย อส. ครู ตำรวจชุมชน ชรบ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร (ลูกจ้างกอ.สสส.จชต.) แพทย์ประจำตำบล ข้าราชการบำนาญ (อดีตตำรวจ ทหาร ทหารพราน) เป้าหมายเหล่านี้ถูกกำหนดให้เป็นเป้าสังหารเป็นระยะๆ ตามห้วงเวลาที่ฝ่ายผู้ก่อการกำหนดเช่น บางห้วงเวลากำหนดให้กระทำต่อ อส. ต่อมาเป็นตำรวจชุมชนและครูเป็นต้น


 


 - สายลับในหมู่บ้าน แบ่งเป็นแหล่งข่าวภายในหมู่บ้านซึ่งเป็นสายข่าวของตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง จากรายงานพบว่าแหล่งข่าวบางคนเป็นสายลับให้ทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ในคราวเดียวกัน ทำให้เสียลับต่อกลุ่มผู้ก่อการได้อย่างง่ายดาย แหล่งข่าวจากภายนอกหมู่บ้านที่อำพรางตัวเข้าปฏิบัติการหาข่าวในหมู่บ้านโดยกระทำทั้งในลักษณะที่ไปฝังตัวในพื้นที่เป้าหมาย หรืออาศัยรูปแบบต่างๆ อำพรางตัวเองเข้าไปหาข่าวเป็นระยะๆ อาทิ เป็นเจ้าหน้าที่องค์การโทรศัพท์ คนขายหนังสือพิมพ์ ขายลูกชิ้น พ่อค้าขายของเร่ คนรับจ้างทั่วไปเป็นต้น


 


- กลุ่มต่อต้านภายในหมู่บ้าน กลุ่มนี้ประกอบด้วย อิหม่าม อุสตาซ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนทั่วไปที่เคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มก่อความไม่สงบในหมู่บ้าน โดยมีรูปแบบการเคลื่อนไหวคือ การคุตบะฮ์ การดะวะฮ การจัดรายการวิจารณ์ผ่านวิทยุท้องถิ่น การวิจารณ์ตามสถานที่ต่างๆซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้อาจกระทำการด้วยความบริสุทธิ์ใจของตนเองหรืออาจมีความร่วมมือกับรัฐ


 


- ผู้กลับใจ มีหลายกรณีที่เคยเป็นผู้ร่วมในกลุ่มก่อความไม่สงบ ต่อมาได้ถอนตัวและเข้าร่วมงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ


 


- ผู้บริสุทธิ์ คนส่วนนี้มักจะเป็นผู้มีอายุมาก ส่วนใหญ่เป็นคนนับถือศาสนาพุทธ ตกเป็นเป้าหมายของสมาชิกใหม่ของหน่วยจัดตั้งเพื่อทำการทดสอบด้วยการลงมือปฏิบัติการจริง และมีเป้าหมายทางการเมืองในลักษณะเชิงซ้อนในคราวเดียวกันเพื่อสร้างความหวาดกลัวและกดดันคนไทยพุทธให้ออกนอกพื้นที่ แต่เป้าหมายที่แท้จริงน่าจะเป็นการสร้างนักรบรุ่นใหม่


 


แบบแผนและขั้นตอนในการลอบสังหาร รายงานข้อมูลทำให้พบแบบแผนที่สำคัญคือ การเตือนเป้าหมายก่อนทำการสังหาร โดยมีขั้นตอนดังนี้


 


- การเตือนทั่วไป จำแนกได้เป็น


 


การเตือนเป้าหมายโดยตรง มีรูปแบบคือ ส่งคนไปเตือนเป้าหมายโดยตรงถึงบ้าน การเรียกเป้าหมายมาตักเตือน และการโทรศัพท์เตือน การเตือนในรูปแบบเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการเตือนให้ยุติพฤติกรรมการเป็นสายลับให้เจ้าหน้าที่รัฐ


 


การเตือนโดยทางอ้อม มีรูปแบบคือ กระทำโดยจดหมาย ข่าวลือ และใบปลิว การเตือนในรูปแบบนี้ เป็นการเตือนโดยรวม อาทิ เตือนให้อยู่ห่างจากเจ้าหน้าที่รัฐและสถานที่ราชการที่ตกเป็นเป้าหมาย เตือนให้ออกนอกพื้นที่ เตือนให้ยุติการทำงานให้รัฐ เป็นต้น ที่น่าสังเกต คือ หลังจากมีการเตือนในขั้นตอนสุดท้ายแล้วจะมีการสังหารเป้าหมายในทุกกรณีและภายหลังการสังหารกลุ่มผู้ก่อการจะทิ้งใบปลิวหลังสังหารเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุที่ต้องสังหาร และห้ามผู้รู้เห็นแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย


 


การเตือนครั้งสุดท้าย ในระยะแรกของการก่อเหตุความรุนแรงการเตือนครั้งสุดท้ายกระทำโดยจดหมาย ต่อมาได้เปลี่ยนไปเป็นการใช้สัญลักษณ์แห่งความตายและงานศพแทน เช่น การใช้ไข่เน่า ข้าวสารและผ้าขาว ข้าวสารและไข่ ไข่และผ้าขาว ส่งไปยังเป้าหมายหรือญาติของเป้าหมาย


 


ภายหลังเป้าหมายได้รับการเตือนครั้งสุดท้ายดังกล่าว ก็จะถูกสังหารในเวลาต่อมา และเป็นที่ประจักษ์ว่า คนในชุมชนทั้งหมด เป้าหมายและครอบครัวของเป้าหมายรับรู้สถานการณ์และขั้นตอนแห่งการเตือนที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ไม่อาจป้องกันการลอบสังหารได้ แม้จะถูกเตือนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วก็ตามและ ส่วนใหญ่จะมีผู้เห็นเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของฝ่ายก่อการเพื่อกุมสภาพการเคลื่อนไหวของเป้าหมายและที่พักอาศัยของเป้าหมายก่อนลงมือสังหารแต่ก็ไม่อาจป้องกันได้


 


ภายหลังลงมือสังหาร ผู้เห็นเหตุการณ์เกือบทุกกรณีสามารถระบุพื้นที่ที่มาของผู้ลงมือได้ อาทิ เป็นพื้นที่เดียวกับที่เป้าหมายอยู่อาศัย เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับพื้นที่ที่เป้าหมายอาศัยอยู่ และเป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์รุนแรงบ่อยครั้งนอกจากนี้ยังสามารถระบุเส้นทางหลบหนีได้ด้วย


 


สรุปเฉพาะกรณีที่เป็นสายลับทั้งที่มาจากภายในและภายนอกนั้น ส่วนใหญ่เป็นแหล่งข่าวของหลายหน่วยงานพร้อมกัน ชาวบ้านเองก็สงสัยในพฤติกรรม โดยเฉพาะสายลับที่มาจากภายนอกนั้นหลายรายชาวบ้านไม่รู้จักผู้ตายมาก่อน


 


2.การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ มีหลายกรณีจากรายงานที่ระบุว่า การสังหารเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ คือ


-ผู้ตายถูกระบุว่าเป็นแกนนำหรือกลุ่มผู้ก่อการ


-เจ้าหน้าที่เคยเรียกไปสอบหลายครั้งก่อนมีการสังหาร


-เจ้าหน้าที่แวะเวียนไปที่บ้านของเป้าหมายเป็นระยะๆ


-ชาวบ้านระบุยานพาหนะที่ใช้ได้ว่าเป็นของเจ้าหน้าที่ และกลุ่มคนที่ลงมือปฏิบัติการถูกระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ร่วมในชุดปฏิบัติการด้วย จำยานพาหนะที่ใช้ในการสังหารได้แต่ระบุว่าคนขับและคนลงมือเป็นคนแปลกหน้า ในบางกรณีระบุว่าคนลงมือสังหารไม่ใช่คนในพื้นที่แต่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ (กรณีที่ระบุเป็นคนแปลกหน้าและไม่ใช่คนในพื้นที่ อาจหมายถึง เจ้าหน้าที่จากส่วนอื่นที่เข้าปฏิบัติการ)


 


3.การแก้แค้นส่วนตัว


จากรายงานพบว่า เป็นปัญหาความขัดแย้งโดยทั่วไประหว่างบุคคล เช่นปัญหาเรื่องชู้สาว ปัญหามรดก แสดงตัวเป็นผู้มีอิทธิพลแอบอ้างว่าเป็นคนของเจ้าหน้าที่ บางกรณีพบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีพฤติกรรมชอบรีดไถ ความขัดแย้งทางด้านธุรกิจ เรื่องหนี้สิ้น เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น การเมืองท้องถิ่น ซึ่งกรณีทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นที่รับรู้ของชุมชนเช่นกัน บางกรณีก็มีแบบแผนคล้ายกับการสังหารสายลับ เช่น กรณีปัญหาชู้สาว ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องจะเรียกมาตักเตือน พี่ชายของผู้เสียหายได้ไปดูหน้าฝ่ายชายถึงที่ทำงานพร้อมขู่เอาชีวิตหากไม่เลิกพฤติกรรม


 


4.การลอบวางระเบิด


การวางระเบิดจำแนกได้เป็น การกระทำต่อเป้าหมายที่ทำการลาดตระเวนและให้การคุ้มครองครู ด่านลอยที่ตั้งฐานทหารและสถานที่ต่างๆ สรุปรูปแบบสำคัญได้คือ


 


-กระทำต่อเป้าหมายที่เคลื่อนไหวจนปรากฏเป็นกฎเกณฑ์ เช่น มีระยะเวลาที่แน่นอนในการผ่านจุดกำหนด, แวะพักในสถานที่เดิม, ตั้งด่านลอยเพื่อทำการตรวจค้นในสถานที่เปลี่ยวเป็นประจำ


 


-ฝ่ายก่อการใช้รูปแบบการหยุดซ่อมรถจักรยานยนต์ใกล้สถานที่วางระเบิด ใช้เยาวชนชายและหญิงทำการวางระเบิดใกล้เป้าหมายโดยการอำพรางเป็นเรื่องชู้สาว อำพรางชุดปฏิบัติการวางระเบิดด้วยการแต่งกายเป็นเยาวชนไทยพุทธ (ใส่กางเกงขาสั้น) อนึ่งในรายงานพบว่าในการกระทำแต่ละครั้ง จะมีการวางจุดเพื่อกุมสภาพเป้าหมาย เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยในหลายจุดให้กับผู้ทำการวางระเบิดด้วย


 


-เป็นสถานที่และร้านค้าที่เป็นที่ชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อการหาข่าว


 


-การวางระเบิดในเขตเส้นทางในชนบท ซึ่งมักจะมีประชาชนพบเห็นชุดปฏิบัติการวางระเบิดด้วยการอำพรางด้วยการขุดหาจิ้งหรีดซึ่งเป็นพฤติกรรมโดยทั่วไปของเยาวชน


 


-ในระยะหลัง ภายหลังการระเบิดพบว่า ฝ่ายผู้ก่อการได้ส่งคนเข้ามาถ่ายรูป "ผลการระเบิด" ด้วย


 


ตัวอย่างของความรุนแรง


1.กรณีวางระเบิดสะพานและเผาป้อมตำรวจทางหลวง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จากรายงานพบการเคลื่อนไหวคุมสภาพสถานที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่องคือ


 


มีการส่งเยาวชนเข้าคุมสภาพเป้าหมายสะพานแต่ละแห่งอย่างต่อเนื่องทั้งทางบก (บนสะพาน) และทางน้ำ (โดยเรือ) รายงานระบุว่า มีกลุ่มวัยรุ่นรวมกลุ่มบริเวณสะพานเป้าหมายทั้งโดยการตกปลาตลอดทั้งวันและนอนบริเวณสะพานเป้าหมายด้วย ทางน้ำพบกลุ่มชายวัยกลางคนลอยเรือตกปลาบริเวณสะพานก่อนเกิดเหตุตลอดทั้งวัน ซึ่งรายงานระบุว่าโดยปกติแล้วคลองนี้ไม่มีปลา พบวัยรุ่นพร้อมชายวัยกลางคนลอยเรือตกปลาในสะพานอีกแห่งตลอดวันเช่นกัน และพบวัยรุ่นลอยเรือตกปลาตลอดทั้งวันในสะพานอีกแห่งโดยเปลี่ยนหน้ากันแต่ใช้เรือลำเดิม ส่วนกรณีป้อมทางหลวงนั้นพบเยาวชนขับรถซิ่งบริเวณเป้าหมายตั้งแต่พลบค่ำ และก่อนเกิดเหตุเห็นเยาวชนจากสถานที่ใกล้เคียงพร้อมอุปกรณ์สำหรับเผาป้อมยาม


 


2.กรณีการตายของอาจารย์ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง พบว่ามีพฤติกรรมเป็นคนเจ้าชู้ ชอบคุยโวโอ้อวดประกาศไม่เกรงกลัวผู้ก่อการ (ทั้งๆ ที่ในพื้นที่นี้ถูกระบุไว้ว่าไม่ใช่พื้นที่เคลื่อนไหว) ชอบพกอาวุธโอ้อวดประชาชน โดยเฉพาะมีประชาชนบางส่วนพบเห็นปืน AK-47 ในรถยนต์ของอาจารย์ดังกล่าวด้วย


 


3.เป้าหมายหรือคนที่เคลื่อนไหวโดยเปิดเผยเพื่อ คัดค้าน ต่อต้านกลุ่มก่อความไม่สงบ ล้วนถูกระบุว่าเป็นคนดี เคร่งครัดศาสนา และเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน อาทิ


 


-อิหม่าม เป็นผู้มีประวัติและความประพฤติดี อ่านคุตบะฮ์(แสดงธรรม)กระทบกลุ่มผู้ก่อการตลอดเวลา และทำงานร่วมกับฝ่ายรัฐอย่างเข้มแข็ง มี 2 กรณีเกิดขึ้นในยะลาและนราธิวาส


 


-อุสตาซก็ตกเป็นเป้าหมายด้วย กล่าวคือ ได้ออกดะวะฮฺแสดงความไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ก่อการ


 


-เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกระบุว่าเป็นคนเคร่งครัดในศาสนา เคลื่อนไหวทำการชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามมัสยิดต่างๆ


 


-รองนายก อบต.เป็นนักจัดรายการวิทยุ มักกล่าวถึงกลุ่มผู้ก่อการในทางลบตลอดเวลา


 


-แพทย์ประจำตำบลที่ทำงานช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องและเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มแข็ง แม้จะถูกโทรศัพท์ข่มขู่ถึง 3 ครั้งให้ยุติการดำเนินการก็ไม่ท้อถอยจนถูกเตือนครั้งสุดท้ายด้วยข้าวสารและผ้าขาวที่บ้าน


 


4.ในการลอบวางระเบิดได้พบร่องรอยการขุดหลุมบริเวณริมถนน ผู้พบเห็นได้แจ้งให้กำนันพื้นที่ทราบ แต่กำนันเชื่อว่า "เป็นการขุดหาจิ้งหรีดของเด็กๆ" จนในที่สุดเกิดการระเบิดขึ้น และที่สำคัญในรายงานระบุว่า "สมาชิกผู้ก่อการได้มาทำการถ่ายรูปหลังเหตุการณ์ระเบิดด้วย"


 


5.ผู้ตายถูกระบุว่าเป็น "แกนนำเมื่อครั้งกรณีตากใบ" และเคยถูกเรียกไปสอบสวนหลายครั้ง ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่าคนยิง "ไม่คุ้นหน้าแต่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายตำรวจ" ในขณะที่บางรายงานสามารถระบุได้ว่า "จำหน้าได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.อ.แห่งหนึ่ง"


 


6.กรณีเนื้อหาในใบปลิวที่เตือนคนที่เป็นสายลับระบุว่า "เป้าหมายทั้งสองเป็นสายลับ และประกาศให้เลิก" ต่อมาครอบ


 


ครัวของสายลับถูกขว้างด้วยไข่เน่า ก่อนเกิดการสังหาร 3 วัน ใบปลิวในบางพื้นที่ใช้สำนวนที่มีนัยโดยเขียนเป็นภาษายาวีมีความว่า "สุนัขรับใช้สยาม ถ้าไม่เลิกยิงทิ้งทันที"


 


7.การวางระเบิดต่อเป้าหมายที่เป็นสถานที่ มักเป็นร้านอาหารที่เป็นที่ชุมนุมของข้าราชการ โดยที่ร้านดังกล่าวมีจดหมายขู่ให้หยุดค้าขายวันศุกร์ แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม ก่อนเหตุการณ์ระเบิดมีผู้พบเห็นวัยรุ่นชายและหญิง (มุสลิม) จอดรถมอเตอร์ไซค์บริเวณที่เกิดเหตุเป็นเวลานานแต่ไม่มีผู้ใดสงสัย


 


8.กรณีซุ่มโจมตีทหารชุดจู่โจมพิเศษรังสิต 543 หน่วยรบพิเศษ พลร่มป่าหวาย ลพบุรี นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ทหารจากหน่วยนี้ได้เข้าทำการตรวจค้นภายในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง จากการกระทำดังกล่าวกลุ่มผู้ก่อการได้ส่งจดหมายไปที่ฐานทหารและผู้ใหญ่บ้านมีเนื้อหาว่าจะกระทำการตอบโต้ และฝ่ายก่อการได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ แม้จะไม่ก่อความเสียหายใดๆ ก็ตาม


 


ผลของความรุนแรง


โดยสรุป ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์รุนแรงทุกครั้งเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปในพื้นที่ที่เกิดเหตุแต่ไม่สามารถป้องกันได้ และมีการปฏิบัติการสังหารเกิดขึ้นจริง ซึ่งผู้เห็นเหตุการณ์รับทราบและสามารถระบุสถานที่มาและเส้นทางการหลบนี้ของผู้ลงมือได้ นี่คือสภาพสะท้อนความเป็นจริงในหลายพื้นที่ ผลที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงดังกล่าวคือ


 


1.เกิดความหวาดกลัวอย่างลึกซึ้งของประชาชนในชุมชน


2.รัฐไม่อาจอำนวยการด้านการรักษาความปลอดภัยให้ชุมชนได้


3.พื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์หลายแห่งเป็นเขตไร้อำนาจรัฐที่การข่าวล้มเหลวโดยสิ้นเชิง อาจจะกล่าวได้ว่าพื้นที่หลายพื้นที่มีความไม่มั่นคงแน่นอนในเรื่องอำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ อาจจะกล่าวได้ว่าพื้นที่ๆเกิดความรุนแรงดังกล่าว รัฐถึงแม้ว่าไม่ล้มเหลวแบบที่เรียกว่า failed state แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ (dysfunctional state)


 


4.ฝ่ายที่ก่อการต้านอำนาจรัฐมีการออกแบบการปฏิบัติการที่สลับซับซ้อนที่ยากจะคาดถึง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงดอกผลจากการสรุปบทเรียนการต่อสู้จากหลายประเทศและภูมิปัญญาในการผลิตซ้ำและการประยุกต์แบบแผนปฏิบัติการใหม่ๆอย่างชัดเจน


 


5. ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับก็คือ มีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐแทรกอยู่ด้วยในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นจำนวนไม่มากนักซึ่งอาจจะเป็นการรายงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริงก็ได้ แต่ระดับความรุนแรงและปฏิกิริยาตอบโต้ที่มีต่อกันก็มากพอที่จะทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจในความปลอดภัยจากภัยคุกคามของทั้งสองฝ่าย หรือมีตวามมั่นใจต่อรัฐในฐานะผู้รักษาความสงบและเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างชอบธรรม


 


6. สิ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินอยู่อาจจะมิใช่ความรุนแรงเชิงโครงสร้างอย่างเดียว แต่แสดงให้เห็นว่า มีโครงสร้างแห่งความรุนแรงแทรกอยู่ด้วยอย่างชัดเจน ความรุนแรงอย่างมีโครงสร้างในที่นี้หมายถึง ตัวของปฏิบัติการความรุนแรงเองที่มีระบบ มีการจัดการ การเตรียมการและกำหนดเป้าหมายและการเตือนล่วงหน้าอย่างค่อนข้างชัดเจนและเป็นระบบ รวมทั้งมีชุดของแนวความคิดรองรับอยู่ด้วย


 


ดังนั้นการจะต่อสู้กับความรุนแรงที่มีโครงสร้างอาจจะต้องเข้าใจแบบแผนของความคิด ความเชื่อและชุดของเหตุผลรองรับปฏิบัติการเหล่านี้ รัฐมิใช่ผู้ผูกขาดโครงสร้างของความรุนแรงในกรณีนี้ พลังความรุนแรงจึงมีภาวะสถิตต่อเนื่อง มีภาวะการเคลื่อนตัว และขยายออกได้อย่างน่ากลัว หากรัฐยังจัดการความรุนแรงด้วยความรุนแรงเพียงอย่างเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net