Skip to main content
sharethis

โดย เบญจา  ศิลารักษ์ : สำนักข่าวประชาธรรม


แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


 


กรณีข่าวครึกโครมเรื่องที่นายทุนจากประเทศจีน "เหยียนปิน"  ที่จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่โครงการเหมืองแร่โปแตซแทนรัฐบาลไทย  ทำให้เรื่องเหมืองแร่โปแตซฮือฮาขึ้นมาอีกครั้ง


 


ความจริงความพยายามของชาวต่างชาติที่จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์กับโครงการเหมืองแร่โปแตซนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีก่อนหน้านี้   ซึ่งกลุ่มคนท้องถิ่นก็ได้พยายามรวมกลุ่มคัดค้านมาโดยตลอด  จนมีการตั้ง "กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" ขึ้นมา  


 


ทั้งนี้ประเด็นคัดค้านของคนท้องถิ่น  ไม่เพียงแต่คัดค้านว่าสิ่งที่ไทยจะเสียประโยชน์มิใช่เรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจเท่านั้น  แต่หากมีการทำเหมืองขนาดใหญ่แถมพกด้วยอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  และวิถีชีวิตคนอีสานจะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล    และจะเกิดการแย่งชิงน้ำจากประชาชนไปใช้ในอุตสาหกรรมอย่างหนักเหมือนเช่นที่เคยเกิดกรณีวิกฤตน้ำภาคตะวันออกมาแล้ว


           


โครงการพัฒนาเหมืองแร่โปแตซและอุตสาหกรรมต่อเนื่องนั้นมีความพยายามผลักดันให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา  โดยในเบื้องต้นบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัดได้ดำเนินการสำรวจแหล่งแร่โปแตซที่ จ.อุดรธานี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 850  ตารางกิโลเมตร   ศึกษาความเหมาะสมของโครงการในปี 2539 


 


นอกจากที่จ.อุดรธานีแล้วก็ยังมีแหล่งอื่นๆ  อีกด้วย เช่น ที่จ.ชัยภูมิ สกลนคร ขอนแก่น และมหาสารคามในงานศึกษาเรื่อง การจัดการทรัพยากรเกลือในภาคอีสาน โดย เลิศศักดิ์  คำคงศักดิ์  กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ระบุว่ารัฐบาลไทยโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้เขียนแผนแม่บทเกี่ยวกับทำเหมืองแร่โปแตซและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในปี  2547  ตั้งเป้าผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตซอย่างน้อย 3 แห่ง คือ โครงการเหมืองแร่โปแตซจ.อุดรธานี ของบริษัทเอเชียแปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ของบริษัทจากประเทศแคนาดา  โครงการเหมืองแร่บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิของบริษัท เหมืองแร่โปแตซอาเชียน จำกัดของอาเชียน  และโครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.สกลนครของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตซ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด  ของบริษัทจากประเทศจีน


 


ดังนั้นจึงไม่แปลกที่นายเหยียนปินจะเข้ามาถือครองหุ้นใหญ่ในเหมืองแร่โปแตซที่อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ   จะด้วยวิธียอกย้อนอย่างไรก็แล้วแต่  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลได้เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนต่างชาติมาแล้วตั้งแต่ต้น


 


นอกจากนี้ในงานศึกษาของเลิศศักดิ์  คำคงศักดิ์   ยังระบุว่าสาเหตุที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐพยายามผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสานนั้นเป็นเพราะต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  โดยวางแผนก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเคมี  ณ แหล่งวัตถุดิบ  เพราะไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณค่าขนส่งวัตถุดิบไปสู่นิคมอุตสาหกรรมทางชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย  และยังมีแผนผลักดันขยายการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมในอีสานเชื่อมต่อกับประเทศในลุ่มน้ำโขง   


 


จึงอาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมของกลุ่มทุนข้ามชาติ  โดยนำทรัพยากรเหมืองแร่โปแตซจากใต้แผ่นดินอีสานนั้นมีการวางแผนเพื่อเอื้อให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ


   


ความจริงก่อนที่จะมีโครงการของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาพัฒนาเหมืองโปแตซในภาคอีสาน    ภาคอีสานก็มีการนำเกลือจากแหล่งแร่โปแตซมาใช้อยู่ก่อนแล้ว    ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ภาคอีสานถือเป็นแหล่งเกลือแหล่งใหญ่          ข้อมูลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ระบุว่าภาคอีสานมีพื้นที่ที่เป็นดินเค็มอยู่ถึง  37.2  ล้านไร่ หรือประมาณ 30 %  ของพื้นที่ภาคอีสาน  และมีพื้นที่ที่มีสภาพดินเค็มจัดอยู่ 17.8 ล้านไร่    


 


จากเดิมที่ชาวบ้านทำบ่อเกลือขนาดเล็กๆ ก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนเป็นธุรกิจการค้าและผลิตเกลือ จนกระทั่งกลายเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  แต่ใช้กรรมวิธีผลิตแบบ "เกลือตาก"  หรือเกลือบาดาล  โดยการอัดน้ำลงในพื้นที่ดินที่มีแร่เกลือหินเพื่อละลายเกลือหิน  จากนั้นก็จะสูบขึ้นมาตากบนลานดิน   ผลจากการทำอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อชาวอีสานอย่างรุนแรง   จนทำให้เกิดสภาพดินเค็มน้ำเค็มในลุ่มน้ำเสียวใหญ่ จ.มหาสารคาม  ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ  จนต้องมีการร้องเรียนในระงับการทำนาเกลือ   


 


ในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งในระงับการทำนาเกลือ   และยังให้มีการแก้ไขกฎหมายแร่ปี 2510  ผลจากการแก้ไขกฎหมายแร่กลับกลายเป็นว่าเอื้อให้แก่การทำเหมืองแร่โปแตซของกลุ่มทุนใหญ่ไปเสียอีก   โดยอ้างว่าการทำนาเกลือโดยการนำเกลือมาตากบนลานนั้นทำลายสิ่งแวดล้อมดังกล่าว    จึงมีการปรับแก้เรื่องเทคโนโลยีในการทำเหมืองใต้ดิน  โดยการเปลี่ยนนิยามการทำเหมืองใต้ดินเพื่อให้เอื้อกับกลุ่มทุนข้ามชาติที่มีเทคโนโลยีใหม่ในการทำเหมืองนั่นคือ  นิยามว่า  ในมาตรา 4 ว่าหมายความถึงการทำเหมืองด้วยวิธีการเจาะเป็นปล่อง หรืออุโมงค์ลึกลงไปใต้ผิวดิน เพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ที่มีแหล่งแร่อยู่ใต้ผิวดินเกินกว่า 50 เมตร


 


และยังให้อำนาจต่อนายทุนในการทำเหมืองได้อย่างเสรีใต้บ้านใครก็ได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของ ในมาตรา 50 ระบุว่ากรรมสิทธิ์ของบุคคลนั้นไม่ได้รวมถึงกรรมสิทธิ์การทำเหมืองใต้ดิน หรือสิทธิในแร่ หรือที่อยู๋ใต้ดิน ตลอดจนสิทธิในการใช้สอยพื้นที่ใต้ดินในระดับความลึก และเพื่อประโยชน์ในการทำเหมืองใต้ดินในกรณีที่การทำเหมืองแร่ผ่านใต้ดินของป่าไม้ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ให้ผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองต้องขออนุญาต แต่กรณีที่ส่วนบุคคลไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินเพียงแค่แจ้งก็สามารถขุดได้เลย


 


สิ่งที่กลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นมีความกังวลอย่างมากต่อเทคโนโลยีการทำเหมืองแบบใหม่ คือ  กลัวเรื่องการทรุดตัวของแผ่นดินในระหว่างการขุดเจาะแร่   โครงการจะป้องกันการแพร่กระจายของน้ำเค็มในระหว่างกระบวนการแต่งแร่ได้อย่างไร  ลานกองเกลือที่นำมาทิ้งไว้กลางแจ้งยังไม่มีมาตรการป้องกันการชะล้างน้ำฝนในช่วงมรสุม  ถ้าล้นทะลักสู่พื้นที่เกษตรกรรมจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง


 


การพลิกโฉมแผ่นดินอีสานที่มีแหล่งทรัพยากรใต้ดินอันมีค่าด้วยการเอื้ออำนวย  เปิดทางให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการเชื่อมโยงไปทั่งระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  อาจทำให้จีดีพีของประเทศสูงขึ้น   แต่มีคำถามว่าขณะที่นักลงทุนกอบโกยผลกำไรใส่กระเป๋ากลับบ้าน    คนท้องถิ่นได้อะไรบ้างจากการพัฒนาดังกล่าว?


 


ทั้งนี้ในงานศึกษากลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีข้อเสนอแนะต่อแนวทางแก้ปัญหาในระดับนโยบายสาธารณะที่น่าสนใจ  กล่าวคือ ที่ผ่านมาสังคมไทยผลิตเกลือและใช้เกลือในจุดที่สมดุลอัตราเฉลี่ยปีละ 1.7 ล้านตัน   แต่หากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมก้าวกระโดดโดยการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตซ แม้จะตั้งเป้าเพื่อทำปุ๋ยเคมี  แต่ผลพลอยได้จากการทำเหมืองแร่โปแตซคือเกลือหิน   ที่จะมีเกลือที่ได้ออกมาเป็นปริมาณมากจนเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ   ดังนั้นจึงอยากให้ประเทศไทยยึดนโยบายการใช้เกลือที่พอดีกับความต้องการใช้ภายในประเทศเป็นหลัก


 


นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้ส่งเสริม และสนับสนุนการผลิตเกลือขนาดเล็กระดับหมู่บ้าน  และผู้ประกอบการขนาดเล็กเป็นหลักมากกว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่   โดยอาจจะเข้มงวดเรื่องกรรมวิธีการผลิตที่ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนให้มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net