Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 11 - 12 กุมภาพันธ์ 2549 ที่สถานีทดลองยางภูเก็ต อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มูลนิธิชุมชนไท ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดสัมมนากำหนดแนวทางการปรับปรุงภูมิทัศน์บ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 70 คน


 


นายจำนงค์ จิตนิรัตน์ อาสาสมัครฟื้นฟูผู้ประสบภัยสึนามิ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนบ้านเค็ม โดยมีความเห็นร่วมกันว่า ชุมชนบ้านน้ำเค็มตั้งขึ้นโดยไม่มีการวางผังชุมชน ไม่มีการวางระบบสาธารณูปโภค เนื่องจากเดิมเป็นเหมืองแร่ มีประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ ทยอยกันเข้ามาจับจองอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ชุมชนอยู่ในสภาพแออัด ถนนแคบ ไม่มีทางระบายน้ำ ต้องระบายน้ำเสียจากชุมชนลงขุมเหมือง ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


 


นายจำนงค์ เปิดเผยต่อไปว่า เนื่องจากคนในชุมชนบ้านน้ำเค็ม ต่างมาจากหลายพื้นที่ ต่างคนจึงต่างอยู่ ต่างมุ่งหน้าทำมาหากิน ไม่ได้สนใจที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหาจึงสะสมมานาน จนกระทั่งเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ สภาพความเป็นอยู่ต่างๆ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง บ้านเรือนขยับขยายไม่ได้ จึงจำเป็นต้องทำให้คนในชุมชนเกิดความร่วมมือ รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา และดูแล โดยจัดระบบชุมชนให้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มออมทรัพย์ รวมทั้งสร้างพื้นที่กิจกรรมทางสังคมให้มากขึ้น


 


นายจำนงค์ เปิดเผยอีกว่า จากสภาพปัญหาดังกล่าว ในเบื้องต้นที่ประชุมจึงได้แบ่งพื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชนใน 21 ซอย ประกอบด้วย ซอยองค์การ 1 ซอยองค์การ 2 ซอยสุพรรณ ซอยถนนน้ำเค็ม ซอยร่มเย็น ซอยตกปู ซอยเสนา ซอยนครศรี - ทรายทอง ซอยทักษิณ ซอยเรือสีส้ม ซอยข้างโรงเรียน ซอยรุ่งใหม่ ซอยแสงอรุณ ซอยแหลมสน ซอยท่าเรือ ซอยทางไปแหลมป้อม ซอยพัฒนา - ธารน้ำใจ ซอยโกผัด ปากซอยท่าเรือจ้าง ซอยแหลมป้อม ซอยหัวควน ใช้งบประมาณเบื้องต้น 1,142,000 บาท


 


"ทั้งนี้ ที่ประชุมต้องการปรับปรุงภูมิทัศน์ทั้ง 21 ซอย ด้วยการปลูกต้นไม้ จัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน จัดให้มีอาชีพเสริมในแต่ละซอย ส่งเสริมศักยภาพเยาวชนด้วยการตั้งศูนย์การเรียนรู้ ส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้าน มีศาลาอเนกประสงค์เป็นศูนย์กลางชุมชน มีการกระจายความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และเสียงตามสาย มีถนนซอยที่สามารถใช้สัญจรไป - มาสะดวก มีระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน มีการดูแลด้านความปลอดภัย และมีพื้นที่หลบภัย เป็นต้น" นายจำนงค์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net