บทความเจิมศักดิ์ : การชุมนุมเป็นวิธีการใน รธน. ตามระบอบ ปชต.

 

โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกวุฒิสภา

 

ขณะนี้ ประชาชนทั่วประเทศเริ่มมีความตื่นตัวทางการเมือง ทั้งนิสิตนักศึกษาและเหล่าคณาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัย ก็มีการเคลื่อนไหว กล้าแสดงออกและมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจริงจัง

 

ผู้ที่มีหัวใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ย่อมจะมองความตื่นตัวของประชาชนในลักษณะนี้ว่าเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะหากเชื่อว่า "เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์" ก็หมายความว่า ในขณะนี้ สวรรค์กำลังจะเปิด ความมืดมิดกำลังจะหายไป และปีศาจร้ายกำลังจะถูกกระชากหน้ากาก

 

น่าเศร้าใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนักการเมืองในพรรครัฐบาลหลายคน กำลังพยายามสร้างความสับสนให้แก่สังคม บิดเบือนหลักการประชาธิปไตย เพื่อหวังเอาตัวรอด โดยใส่ร้ายบิดเบือนอยู่บ่อยครั้งว่า การเคลื่อนไหวของประชาชน โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วงรัฐบาล เป็นการเล่นนอกกติกา เล่นนอกเกม เป็นพวกไม่รู้แพ้รู้ชนะ เป็นการเมืองนอกระบบประชาธิปไตย !?!?

 

วิธีคิดแบบนี้ จะมีผลเลวร้ายอย่างไร?

 

ทำไม ประชาชนต้องชุมนุมประท้วง?

ไม่แปลกใจว่า คนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะไม่เข้าใจความรู้สึกหรือจิตวิญญาณของคนที่รักและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพและการได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยของบ้านเมือง เพราะไม่เคยมีบทบาทในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้ปรากฏมาก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ตุลา 16 หรือ ตุลา 19 หรือ พฤษภา 35 ถึงเป็นนายตำรวจก็ไม่เคยออกสนาม ไม่เคยถือปืนเดินเข้าสู่สมรภูมิ แต่ผลงานชีวิตที่เด่นชัดกลับเป็นการวิ่งเต้นขอสัมปทานผูกขาด ทำมาหากินในธุรกิจส่วนตัว

 

น่าแปลกใจ คนรอบข้างที่รับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น นพ.พรหมมินทร์ - นพ.สุรพงษ์ -จาตุรนต์ -และคนที่เคยมีอุดมการณ์ เคยเอาชีวิตเข้าแลกในการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ กลับไม่แสดงออกให้เห็นถึงจิตสำนึกและระดับความลุ่มลึกของอุดมการณ์ที่ตนมีแตกต่างกับพ่อค้านักธุรกิจผูกขาดเช่น "ทักษิณ"

 

เหตุใด จึงยังคง "พายเรือ" ให้เขานั่งอยู่ต่อไป ทอดทิ้งบรรดามิตรสหายและประชาชนผู้เดือดร้อนให้กรำแดดอยู่กลางป่าคอนกรีต โดยปราศจากความเหลียวแล

 

ผู้ที่เคยร่วมต่อสู้เพื่อส่วนรวมจะทราบว่า การชุมนุมประท้วงไม่ใช่เรื่องสนุก เพราะประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็น ค่าเดินทาง ค่าเสียเวลาการทำงาน ค่าสุขภาพ ค่าความเสี่ยง ฯลฯ

 

หากกลไกในรัฐสภาที่ประชาชนเลือกเหล่าบรรดา ส.ส. และ ส.ว.ให้เข้าหน้าที่แทน สามารถทำงานได้อย่างปกติ ย่อมไม่มีใครอยากจะไปเดินตากแดดบนท้องถนน

 

แต่เป็นเพราะความมักมากในอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่พยายามรวบรวมจำนวน ส.ส.เข้ามาไว้ในมือให้มากที่สุด ซึ่งมีทั้งการใช้วิธีซื้อ เทคโอเวอร์และควบรวมพรรคการเมือง กระทั่งสามารถปิดกั้นรัฐสภา ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบตัวนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ

 

ผู้แทนของราษฎรในสภา ก็ถูกโซ่ตรวนจองจำให้เป็นแค่ลูกจ้างของเจ๊ใหญ่และนายหญิง ไม่สามารถเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนได้ ไม่สามารถตัดสินใจตามความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

 

ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชน ทั้งโทรทัศน์วิทยุและหนังสือพิมพ์ใหญ่บางฉบับ ก็ถูกอำนาจรัฐครอบงำแทรกแซง ถูกอำนาจทุนของธุรกิจพรรคพวกรัฐบาลซื้อและเข้าไปมีอิทธิพลเหนือการทำงาน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ ไม่มีช่องทางส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากรัฐบาล

 

คนที่เคยพูดแทนความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล ก็ถูกอำนาจนอกระบบรัฐธรรมนูญเด็ดหัวออกไปจากสาระบบสื่อสารมวลชนไปทีละคน

 

ใครที่กล้าพูด กล้าวิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ และการหาผลประโยชน์ทางธุรกิจของครอบครัว "ทักษิณ" ก็จะถูกฟ้องร้องข่มขู่โดยเรียกเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน หรือนักธุรกิจที่กระด้างกระเดื่องก็จะถูกสรรพากรหรือกลไกของรัฐเข้าไปคุกคามตรวจสอบ

 

ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม จึงตกอยู่ในสภาพ "น้ำท่วมปาก" อยากพูด แต่ก็ไม่มีช่องทางให้พูด อยากฟัง แต่ไม่มีเสียงที่ต้องการหลุดออกมาให้ได้ยิน

 

เมื่อไม่มีหนทางผ่านตัวแทนของประชาชนและสื่อมวลชนแล้ว ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงต้องลุกขึ้นมามีบทบาท แสดงออก และมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยตนเอง เพื่อปฏิเสธนโยบายหรือตัวบุคคลที่เห็นว่าปราศจากความชอบธรรมในการใช้อำนาจ

 

การชุมนุมประท้วงของประชาชน มิได้มีเจตนาเพียงเพื่อจะ "บอกกับตัวนายกรัฐมนตรี" เท่านั้น เพราะหากต้องการแค่นั้น ก็เดินขบวนไปยื่นหนังสือก็จบ

 

แต่การชุมนุมประท้วงของประชาชน ยังมีเจตสำคัญเพื่อ "สื่อสารกับประชาชนในสังคม" สื่อความหมาย ความรู้สึกนึกคิด ความคิดเห็น ไปยังเพื่อนร่วมสังคมอื่นๆ ทั่วประเทศ

 

 ด้วยเหตุนี้ การชุมนุมสาธารณะ จึงจำเป็นต้องกระทำในที่สถานที่สาธารณะ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถมองเห็น รับรู้ รับฟัง หรือตัดสินใจเดินเข้าไปร่วมได้โดยสะดวก

 

นอกจากนี้ ในเมื่อการชุมนุมมีเจตนาเพื่อ "สื่อความหมาย" ดังนั้น การเลือกสถานที่ชุมนุมที่มีนัยยะ หรือเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน และสนามหลวง ต่างมีประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เรียกร้อง ประกาศธรรมและการเปลี่ยนแปลง

 

ลานพระบรมรูปทรงม้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จึงมักถูกเลือกเป็นสถานที่ชุมนุม เนื่องจากมีความเหมาะสม เพราะเป็นสถานที่เปิด และยังมีความหมายในการเรียกร้องขอความเป็นธรรม ต่อฝ่าละอองธุลีพระบาท

 

การชุมนุมเป็นวิธีการ "ในรัฐธรรมนูญ" ตามหลักประชาธิปไตย

การแสดงออกและมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการชุมนุม เป็นวิธีการที่ถูกบัญญัติไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา ๔๔ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ จึงเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนไทยทุกคน ที่สามารถจะใช้สิทธินั้นได้ทันที โดยรัฐบาลมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน อย่างไม่อาจบ่ายเบี่ยงหลบเลี่ยงได้

 

ประชาชนที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ขาดจริยธรรม หมดความชอบธรรม ไม่ต้องการให้อยู่ในอำนาจต่อไป มีทางเลือกในการดำเนินการหลายวิธี ซึ่งมีทั้ง "ในระบบ" และ "นอกระบบ" ทั้งที่ควรส่งเสริมและไม่ควรส่งเสริม

 

การชุมประท้วง หรือชุมนุมเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นวิธีการ "ในระบบ" ตามระบอบประชาธิปไตย ที่รัฐบาลสมควรจะส่งเสริมเสียด้วยซ้ำ เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดดันในสังคม เหมือนกาน้ำเดือดที่ไม่มีช่องทางให้ไอน้ำได้ระบายออก

 

มิเช่นนั้นแล้ว สังคมไทยอาจจะต้องเตรียมป้องกันการเผชิญหน้ากับวิธีการ "นอกระบบ" ประชาธิปไตย และนอกเหนือบรรทัดฐานทางคุณธรรมและศีลธรรมอื่นๆ ซึ่งไม่อาจยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็น การปฏิวัติล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือการลอบสังหารบุคคลสำคัญ อย่างการพลีชีพที่เกิดในต่างประเทศ

 

นายกรัฐมนตรี จึงไม่สมควรดูถูกเหยียดหยามประชาชนที่ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ตนลาออกว่า โง่เง่า หรือปลุกปั่นสังคมให้เข้าใจผิดว่าเป็นพวกเล่นนอกกติกา แต่ควรมองประชาชนเหล่านี้ด้วยสายตาของผู้มีวุฒิภาวะ มีความละอาย และไม่ยึดติด ไม่อาฆาตมาดร้าย เพราะประชาชนเหล่านี้กำลังใช้วิธีการ "ในระบบ"

 

พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะไม่เคยมีประสบการณ์ในฐานะผู้เข้าร่วมประท้วงในระบบ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีประสบการณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจบริหารจัดการกับการชุมนุมประท้วงอย่างผิดพลาดมหันต์

 

ไม่ว่าจะเป็น การทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่หน้าโรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หรือที่เลวร้ายที่สุด คือ การใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุม จับกุม และขนส่งประชาชนผู้ประท้วงที่บริเวณหน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนทำให้ประชาชนตาย ถึง 85 คน!

 

สังคมไทยต้องจ่ายค่าบทเรียนให้กับความผิดพลาดของรัฐบาลมากมายถึงเพียงนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นเลยหรือ

 

นายกรัฐมนตรี นั่นแหละ ที่กำลังผลักดันความขัดแย้งออกไป "นอกระบบ"!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท