Skip to main content
sharethis


 


นอกจากเรื่องของความรักแล้ว เซ็กส์ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มักถูกหยิบยกมาพูดคุยกันในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ บางกระแสบอกว่า ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หากยังไม่ถึงเวลา บ้างก็ว่ามีได้ แต่ต้องป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อเอชไอวีและการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์


 


ถุงยางอนามัยคุ้มครองสังคม


"พวกเราตระหนักว่าผู้ใหญ่ในสังคมนี้ล้วนรักและห่วงใยลูกหลาน และแต่ละคนก็มีการแสดงออกถึงความรู้สึกได้หลากหลายวิธี เช่นเดียวกัน เราเยาวชนก็รักและห่วงใยในชีวิตทางเพศของเพื่อนๆ รวมทั้งผู้ใหญ่ที่พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์ และก็ต้องการแสดงความถึงความรู้สึกดังกล่าว


 


"การจัดงานครั้งนี้คือหนึ่งในวิธีการที่ทำให้สังคมรับรู้ว่า มีเยาวชนส่วนหนึ่งได้เลือกที่จะแสดงความห่วงใยในชีวิตทางเพศของคนในสังคมด้วยการสร้างความเข้าใจเรื่องถุงยางอนามัยว่าคือเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความปลอดภัยให้กับทุกผู้คนที่มีเพศสัมพันธ์" ตัวแทนจากกลุ่มเยาวชนเครือข่ายเพศศึกษาและเอดส์ กล่าวในพิธีเปิดงาน "รักปลอดภัยวาเลนไทน์ Sign In"


 


ภายในงาน ถุงยางยี่ห้อ "Oop!" จำนวน 16,000 ชิ้น ที่เยาวชนกลุ่มนี้ออกแบบเอง ถูกนำมาแจกจ่ายแก่ผู้คนที่เดินผ่านไปมาบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อรณรงค์ให้ทุกคนใช้ถุงยางเมื่อมีเพศสัมพันธ์ พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับถุงยางไปพร้อมกัน


 



 


ถุงยางอนามัยกันไว้ดีกว่าแก้


กมล เมืองจันทร์ พนักงานโรงแรมย่านท่าน้ำสี่พระยา วัย 25 ปี  แสดงความคิดเห็นต่อการที่เยาวชนออกมารณรงค์ว่า เป็นเรื่องดีที่ออกมารณรงค์กันเพราะบางคนยังใช้ถุงยางไม่เป็น เมื่อก่อนก็เคยมองว่าคนที่มีถุงยางคือคนที่พร้อมจะมีเซ็กส์ แต่เดี๋ยวนี้ก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเครื่องมือป้องกันอย่างหนึ่ง


 


มณี ชินุประการพงษ์ พนักงานบริษัทเอกชน วัย 35 ปี บอกว่า แปลกดีที่เด็กออกมาแจกถุงยาง "ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้เห็นความตั้งใจของเด็กๆ แต่ต้องดูด้วยว่าสังคมแข็งแรงพอรึเปล่า คนที่เอาไปใช้ต้องใช้ในทางที่ถูกและมีสติ"


 


ถ้าเกิดว่า ลูกของตัวเองพกถุงยาง คุณแม่ลูกสามบอกว่า คงไม่ดุลูกถ้าลูกจะพกถุงยาง ก็คงสอนลูกให้เขารู้วิธีใช้จะได้รู้วิธีป้องกันตัวเอง  


 


"ถูกแล้วที่ออกมาช่วยรณรงค์ เห็นคนต่อต้านเยอะเหมือนกัน ก็ดีที่เด็กกระตือรือร้น ยังไงมีถุงยางก็ดีกว่าไม่มี เอาไว้ป้องกันเผื่อฉุกเฉิน แต่ส่วนตัวคิดว่าเรียนให้จบก่อนดีกว่าถึงจะมีเพศสัมพันธ์" ยุทธนัย หินเทา ปวส.ปี1โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์แสดงความเห็น


 


ชมพูพล หาญยงค์ ปวช.ปี3 โรงเรียนศรีวัฒนา เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่าคนที่พกถุงยางคือคนที่ต้องการมีเซ็กส์เพราะ "ถ้าไม่อยากมีก็คงไม่พก แต่ก็มองว่าเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า ถ้าจะมีเซ็กส์ก็ให้ใช้ถุงยางป้องกันก็จบ"   


 


อลงกรณ์ โพธิ์ทอง ออร์แกไนซ์เซอร์ วัย 25 ปี เห็นว่า แปลกดี เหมือนให้เขาเรียนรู้เองว่าการป้องกันตัวเป็นยังไง "การพกถุงยางก็ดีกว่าที่ไม่ได้เตรียมตัวแล้วมีเซ็กส์โดยไม่ใส่ถุงยาง เรื่องพวกนี้พ่อแม่ควรจะพูดคุยกันตรงๆ ดีกว่าลูกไปทำอะไรแล้วพ่อแม่ไม่รู้"


 



 


ชลหทัย วงคนัน นักเรียนชั้นป.6 โรงเรียนเอกมัยนานาชาติ บอกว่าไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแจกถุงยาง เพราะเท่ากับสนับสนุนให้คนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร มองว่าคนที่มีถุงยางแปลว่าจะไปมีเซ็กส์ เพราะถ้าไม่คิดเรื่องอย่างนั้นคงไม่ซื้อถุงยางไว้


 


หญิง ปวส.ปี 2 โรงเรียนบริหารธุรกิจกรุงเทพ แสดงความเห็นในเรื่องที่ว่า คนที่พกถุงยางแปลว่ากำลังจะไปมีเซ็กส์ว่าเป็นเรื่องตลก "ถ้าเพื่อนรู้ว่าพกถุงยางเพื่อนก็จะแซวๆ กัน แต่ถ้าคนจะมีอะไรกันจริงๆ ก็อาจจะใส่หรือไม่ใส่ถุงยางก็มีได้ ไม่เห็นเกี่ยวกันเลย อาจไม่ต้องเจาะจงด้วยว่าต้องเป็นวันวาเลนไทน์ เพราะถ้าคนจะมีวันไหนก็มีทั้งนั้น"  


 


ธานัท ธำรงศักดิ์ คุณพ่อลูก 4 วัย 51 ปี บอกว่า น่าชื่นชมที่สอนให้เยาวชนรู้จักป้องกันตัวเอง ส่วนเรื่องที่ว่าคนที่พกถุงยางแปลว่าต้องไปมีเพศสัมพันธ์นั้นไม่จริง "เวอร์ มันก็เหมือนกับเรามีไม้จิ้มฟันอยู่ในกระเป๋า ถ้าไม่มีอะไรติดฟันจะแคะทำไม ถ้าไม่ได้อยู่ในภาวะที่ต้องใช้ก็เก็บไว้จะเสียหายอะไร" ผมก็ให้ลูกพกถุงยาง ยังไงก็ป้องกันโรคไว้ แล้วก็สอนลูกว่าอย่าหมกมุ่น ต้องรู้จักกาลเทศะและไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับใครง่ายๆ


 


กิตติพันธ์ กันจินะ ผู้ประสานงานกลางเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย (YouthNet) หนึ่งในแกนนำการจัดกิจกรรมครั้งนี้ แสดงความเห็นว่า "ที่คนมักบอกว่า การแจกถุงยางจะเป็นการส่งเสริมให้มีเพศสัมพันธ์กันมากขึ้น ผมว่าไม่เกี่ยว เป็นเรื่องที่ไม่รู้จะอ้างอะไรแล้วก็เลยเอาเรื่องนี้มาอ้าง ในงานมีถุงยาง 16,000 ชิ้นก็ไม่เห็นว่าจะมีใครรู้สึกอยากมีเพศสัมพันธ์กัน"


 


"มีผู้ใหญ่มาถามน้องอาสาสมัครคนหนึ่งอายุ 13 ปีซึ่งน้อยที่สุดในกลุ่มอาสาสมัครว่า มาแจกถุงยางนี่มายุให้คนมีเซ็กส์กันเหรอ น้องก็ตอบไปว่า "คนที่คิดจะมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ามีหรือไม่มีถุงยางเขาก็มีเพศสัมพันธ์กันได้ แต่ถ้ามีถุงยางด้วยก็จะเป็นเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย"


 


การกระจายถุงยางในวันนี้ทำให้ได้บทเรียนไปใช้ในกิจกรรมในอนาคต "พี่ผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 23 โทรมาหาโดยดูเบอร์จากข้างแพคเกจถุงยาง เขาแนะนำว่า ควรบอกผู้รับด้วยว่าแจกอะไร เพราะตอนเขารับมาเขาก็ไม่รู้ว่าคืออะไร พอเห็นเป็นถุงยางก็ตกใจ เพราะคิดว่าเราสนับสนุนให้มีเพศสัมพันธ์ แต่เมื่อได้คุยกันแล้ว เขาก็ให้คำแนะนำว่าควรแจกยังไง ก็เลยได้ปรับกันใหม่ว่า ต้องมีการคุยกัน ถามความสมัครใจ ว่าสะดวกใจจะรับไหม ให้คนรับมีสิทธิ์เลือก"


 


"ยังไงถุงยางเป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยลดการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เพราะความต้องการทางเพศเป็นธรรมชาติของมนุษย์และเราไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าใครบ้างที่ติดเชื้อเอชไอวีโดยการดูจากรูปร่างหน้าตาภายนอก"


 


แน่นอนว่าถุงยางคงไม่ใช่คำตอบสำหรับคนทุกคน แต่ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net