Skip to main content
sharethis

 


ประชาไท - 14 ก.พ. 49     นายไพบูลย์ วรหไพฑูรย์ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวสรุปผลการประชุมศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ตรวจคำวินิจฉัยคำร้องที่ส่งมาจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 28 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 96 ประกอบมาตรา 216 และ มาตรา 209 หรือไม่


 


ในเบื้องต้นที่ประชุมเพียงแค่รับคำร้องไว้พิจารณาตามกระบวนการ และจะบรรจุลงในวาระเพื่อลงมติวินิจฉัยหรือไม่นั้น ต้องรอผลสรุปการประชุมอีกครั้งในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้


 


 


คำร้องระบุนายกฯมีอิทธิพลเหนือชินคอร์ป ขาดคุณสมบัติ


ทั้งนี้คำร้องของนายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพฯและคณะ ระบุว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 209 ได้ห้ามมิให้รัฐมนตรีถือครองหุ้นในบริษัทใดเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดคือร้อยละ 5 หรือหากถือครองอยู่ก่อนก็ต้องไม่คงไว้ต่อไปซึ่งการถือครองนั้น แต่ถ้ายังประสงค์จะรักษาประโยชน์ของตนในหุ้นนั้นไว้ก็ต้องแจ้งให้ประธาน ป.ป.ช.ทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และโอนหุ้นดังกล่าวให้นิติบุคคลรับจัดการทรัพย์สินรับไปจัดการต่อไป โดยจะต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการในหุ้นหรือกิจการของบริษัทดังกล่าว


 


ทั้งนี้ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมนตรีกับหุ้นของบริษัท จึงต้องตีความให้เป็นผลโดยเด็ดขาด หากรัฐมนตรีผู้ใดยังคงความสัมพันธ์นี้ไว้ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อม ถือเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 209


 


ในวันเดียวกัน ก่อนการประชุมคณะตุลาการฯ นายแก้วสรร พร้อมด้วย ส.ว.ที่ร่วมเข้าชื่อจำนวนหนึ่ง ได้เข้ายื่นคำชี้แจงเพิ่มเติม ต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผ่านเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยืนยันหลักฐานว่า นับแต่พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังคงความเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ปไว้


 


กล่าวคือมีอำนาจและใช้อำนาจครอบงำจัดการหุ้นและจัดการกิจการของบริษัทชินคอร์ปอยู่เช่นเดิม ปรากฏให้เห็นจากพฤติการณ์แวดล้อม และคำรับในกาละต่างๆ ดังที่ได้แสดงไว้ในคำร้องที่ยื่นไปก่อนแล้ว และแม้พฤติการณ์ในคดีจะเป็นการกระทำส่อในทางทุจริตถูกถอดถอนได้ แต่ขอยืนยันใช้สิทธิตามมาตรา 209 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับไว้ดำเนินการต่อไป


 


ส่วนการใช้มาตรา 209 นั้น นายแก้วสรร และคณะเห็นว่าต้องตีความทั้งมาตรา โดยได้ชี้แจงแล้วว่า มาตรา 209 นี้จะต้องปฏิเสธไม่ดูความเป็นผู้ถือหุ้นตามชื่อต่างๆ ที่ตัวการได้เชิดอำพรางไว้ แต่ต้องดูอำนาจครอบงำจัดการหุ้นว่าได้โอนไปตาม "ชื่อ" จริงหรือไม่ แม้ในกรณีที่นายกฯโอนหุ้นชินคอร์ปให้บริษัทจัดการหลักทรัพย์ใดรับไปจัดการ ก็ยังติดตามมาสำทับว่าต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการอีก


 


ในกรณีที่โอนไปเป็นชื่อผู้อื่น เช่น บุตรชายหรือแอมเพิล ริช นายกฯยิ่งต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการอีกเช่นกัน ไม่มีเหตุผลใดที่จะห้ามยุ่งเกี่ยวแต่เฉพาะกรณีโอนให้บริษัทจัดการหลักทรัพย์ ส่วนกรณีโอนให้บุตรชายนั้น กลับอนุญาตให้เข้ามาสั่งขายสั่งโอนได้ตามชอบ


 


นอกจากนี้ในคดีปกปิดทรัพย์สินในบัญชีแจงทรัพย์สินของนายกฯเมื่อปี 2544 นั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ต่อสู้คดีโดยรับว่าหุ้นในคดีนั้นได้ให้ผู้อื่นถือแทนดังธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป แต่มิใช่ทรัพย์สินที่ต้องแจ้ง หรือหากต้องแจ้งก็มิได้จงใจปกปิด เพราะไม่ทราบว่าเป็นหุ้นที่ต้องแจ้งตามกฎหมาย


 


ในชั้นวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็ปรากฏว่า ในประเด็นที่ว่าหุ้นที่ถือครองแทนกันถือเป็นทรัพย์สินของผู้ถูกร้องหรือไม่นั้น มีตุลาการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นวินิจฉัยเพียง 3 คนที่วินิจฉัยตรงกันว่า การถือครองแทนกันจะนำมากล่าวอ้างหลีกเลี่ยงการตรวจสอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมิได้ การตีความมาตรา 209 ของผู้ร้องจึงสอดคล้องกับแนวทางที่เคยปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วอย่างชัดเจนยิ่ง


 


'แก้วสรร' เตรียมหารือ ส่งหลักฐานเพิ่มเติม


นายแก้วสรร  อติโพธิ ส.ว.กทม.ให้สัมภาษณ์หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้วว่า จากนี้ศาลฯคงจะตรวจพยานหลักฐานว่ามีมูลหรือมีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน ถ้าเห็นว่าไม่มีมูลก็อาจจะไม่รับไว้พิจารณา ตอนนี้ก็เปรียบเหมือนกระดาษที่เรายื่นไปให้ใช้ได้ แต่เนื้อหาของกระดาษควรจะรับไว้พิจารณาหรือไม่เป็นอีกเรื่อง


 


โดยศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมปรึกษาหารือกันอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเรียกคณะ ส.ว.มาไต่สวนเพิ่มเติม แต่ถ้าเห็นว่าชัดเจนแล้ว ก็อาจจะรับพิจารณาหรือยกฟ้องเลยก็ได้ อย่างไรก็ตามยังมีหลักฐานอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะให้ยื่นเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ โดยในวันที่ 15 ก.พ.จะปรึกษากับเพื่อนส.ว.ในกลุ่มว่าจะยื่นหลักฐานได้เพิ่มเติมอย่างไร


 


ส่วนบรรยากาศ หน้าศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 14 ก.พ. กลุ่มองค์กรภาคประชาชนกว่า 50 คน และเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ก็เดินทางมาเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณามีการนำดอกกุหลาบมามอบให้ส.ว. และนำป้ายผ้ามีข้อความว่า "ศาลรัฐธรรมนูญต้องฟื้นศรัทธา อย่าต่อเวลาให้ทักษิณ" , "ศาลรัฐธรรมนูญต้องกลับใจรับวินิจฉัยทักษิณซุกหุ้น 2" และ "คนอะไรบกพร่องโดยสุจริตได้ตลอดชีวิต"


 


ปรากฎว่าเมื่อเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงผลการพิจารณาว่ารับคำร้องไว้ดำเนินการ ทางกลุ่มองค์กรประชาชนเข้าใจว่าเป็นการรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยทำให้มีการปรบมือและส่งเสียงร้องด้วยความดีใจ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net