Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 14 ก.พ. 49     อธิการบดีธรรมศาสตร์ เสนอรื้อวิธีเลือกกรรมการสรรหา ให้อธิการฯเสนอชื่อเพียงคนเดียวป้องกันบล็อกโหวต "ป.ป.ช." ชี้ เป็นการกำหนดอนาคตประเทศ

 


วันที่14 ก.พ. นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในวันที่ 15 ก.พ. เวลา 10.00 น.จะมีการประชุมใหญ่ของอธิการบดีมหาวิทยาลัยในสังกัดรัฐทั่วประเทศ 77 อธิการบดีมหาวิทยาลัย ที่โรงแรมสยามซิตี้ เพื่อประชุมลงมติเลือก 6 อธิการบดีเข้าไปเป็นกรรมการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)


 


ในการประชุมดังกล่าวจะเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงการลงคะแนนเลือกตัวแทนอธิการบดี 6 คนเข้าไปเป็นกรรมการสรรหา จากเดิมที่จะให้แต่ละอธิการบดีลงคะแนนเลือกรายชื่อ 6 คน เป็นตัวแทนกรรมการสรรหา เป็นลงคะแนนเลือกได้เพียง 1 คน แล้วมาไล่คะแนนว่าใครได้รับคะแนนสูงสุด 6 อันดับแรก
       
สาเหตุที่ให้เปลี่ยนมาเป็นวิธีการดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีการบล็อกโหวตที่มีใบสั่งจากฝ่ายการเมือง เพราะครั้งที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันว่า มีความพยายามของฝ่ายการเมืองต้องการบล็อกคนของตัวเองเข้าไปเป็นกรรมการสรรหา และที่สำคัญ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้มีภาระสำคัญและจะได้รับแรงกดดันทางการเมืองเป็นอย่างมาก ในการดำเนินการตรวจสอบ และถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายกรัฐมนตรี ตามที่นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้


 


รวมทั้ง การดำเนินการตรวจสอบการทุจรติใหญ่ๆ มากมาย เช่น คดีซีทีเอ็กซ์ ทุจริตคลองด่าน หรือคดีฮั้วประมูลของกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นการคัดเลือกโดยวุฒิสภาชุดใหม่
       


 "การตัดสินใจของอธิการบดีทั้ง 77 คน จึงเป็นการตัดสินใจกำหนดอนาคตทางการเมืองในองค์กรตรวจสอบ ในระบอบการเมือง จึงเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว


 


วุฒิฯ กำหนดวันสรรหา ปปช.


ขณะที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ แจ้งไปยังหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อให้คัดเลือกบุคคลมาเป็นกรรมการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และได้แจ้งให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธาน กกต. ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะกรรมการสรรหา ให้มาประชุมกรรมการสรรหา ป.ป.ช.นัดแรกในวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ จากนั้นจะเปิดรับสมัครบุคคลที่ต้องการเป็น ป.ป.ช. และดำเนินการการสรรหา โดยในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม จะมีการลงมติเลือกเหลือ 18 คนเพื่อเสนอรายชื่อต่อประธานวุฒิสภา


 


ด้าน พล.ต.อ.ดรุณ โสตถิพันธุ์ และ พล.อ.เกษมชาติ ณเรศเสนีย์ อดีตว่าที่ ป.ป.ช. ยอมรับว่าสนใจที่จะลงสมัครอีกครั้ง แต่คงต้องรอดูมติกรรมการสรรหาก่อนว่าจะเป็นอย่างไร


 


แก้รัฐธรรมนูญไหม? มีคำตอบ 2 ล้านแบบ


ส่วนเรื่องที่ 28 ส.ว.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงกรณีว่า ไม่มีเหตุผลใดที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้องไว้ เพราะผู้ร้องดำเนินการเป็นไปตามกติกา เช่น ลงชื่อครบถ้วน อ้างกฎหมายถูกต้อง มีข้อมูลสนับสนุนชัดเจน  จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ไปตรวจสอบดำเนินการตัดสินกันในเนื้อหาอีกครั้ง ส่วนเมื่อรับไว้แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง


       
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเสนอให้ทำประชาพิจารณ์แก้ไขรัฐธรรมนูญพ่วงไปกับการเลือกตั้ง ส.ว. นั้น นายสุรพล กล่าวว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งในทางเทคนิค และกฎหมาย เพราะในทางเนื้อหาของเรื่องให้ประชาชนจัดทำประชาพิจารณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กรอบแนวคิดต้องมีข้อเสนอที่ชัดเจน เพื่อจะให้ประชาชนจะได้สามารถตัดสินใจได้ เพราะนี้คือแนวคิดพื้นฐานในการจัดทำประชาพิจารณ์ และประชามติ
       
ที่สำคัญ คือยังมีประชาชนจำนวนมหาศาลที่จะยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ที่เป็นประเด็นสลับสับซ้อนของเนื้อหา ซึ่งแตกต่างจากการทำประชาพิจารณ์ หรือประชามติที่มีความชัดเจนในด้านเนื้อหาของมันเองอยู่แล้ว และประชาชนก็เข้าใจดี เช่น การจะทำประชามติให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต



"รัฐบาลจะมาตั้งคำถามว่า จะแก้รัฐธรรมนูญไหม ไปถามคนล้านคนอาจจะได้คำตอบ 2 ล้านคำตอบ หรือแก้ปลดล็อก 90 วัน ตามที่คุณเสนาะ เทียนทอง เสนอ หรือแก้ไของค์กรอิสระไม่เป็นอิสระ บางฝ่ายเสนอให้องคมนตรีแต่งตั้ง ส.ว.ไม่ใช่ให้เลือกตั้งแบบนี้ เพราะถ้าการแก้รัฐธรรมนูญในทางเนื้อหากว้างเกินไป ก็ไม่อาจจะทำประชาพิจารณ์หรือประชามติได้ต้องมีการสรุปแนวทางเนื้อหาที่ชัดเจน" นายสุรพล กล่าว
       
ดังนั้น รัฐบาลต้องทำประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ก่อนที่จะดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์หรือประชามติ เช่น ต่อไปนี้ ส.ส.จะไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ไม่ต้องจบปริญญาตรี เพราะประเด็นแบบนี้ประชาชนเข้าใจ และต้องดำเนินตามขั้นตอน เช่น ประกาศล่วงหน้า 90 วัน ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนจะดำเนินการทำประชามติ เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net