Skip to main content
sharethis



กชวรรณ ชัยบุตร เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)


 


 


"ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย


ในความคุ้นเคยกันอยู่


มันแฝงอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น


 ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย


ว่าเพื่อนคนหนึ่ง


มันแอบมันคิดอะไรไปไกลกว่าเป็นเพื่อนกัน "


 


เสียงเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "เพื่อนสนิท" แว่วดังระหว่างการเดินทางจากจังหวัดเชียงราย สู่เชียงใหม่ ดินแดนที่ "ไข่ย้อย" และ "ดากานดา" ได้พบกันในรั้วมหาวิทยาลัย ย้ำเตือนความทรงจำในครั้งที่มีโอกาสนั่งชมภาพยนตร์ เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา


 


แต่ว่าเรื่องจริงมักมีความลึกซึ้งและซับซ้อนมากกว่านิยายรัก เพราะชีวิตของพระเอก-นางเอก ในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ได้มีเพียงฉากรักอันโรแมนติก และบางทีวิถีชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้ปูไว้ด้วยดอกกุหลาบ


 


แต่ในวันนี้ ด้วยกระแสความโด่งดังของภาพยนตร์ บันดาลให้คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลายเป็นสถานที่ซึ่งหนุ่มสาวรุ่นใหม่คาดหวังที่จะก้าวไปให้ถึง จนกระทั่งบางคนเอาไปใช้แอบอ้างว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของคณะแห่งนี้ ทั้งที่ไม่มีโอกาสรับรู้ด้วยซ้ำว่า ชีวิตจริงของคนที่นี่แตกต่างจากภาพยนตร์มากเพียงไร


 


"มีอยู่วันหนึ่งไปเดินซื้อของที่ห้าง เดินๆ อยู่ก็ไปเจอเด็กผู้หญิงไว้ผมทรงเดทร็อค แต่งตัวแบบเด็กแนว เที่ยวพูดกับเพื่อนว่า เรียนอยู่คณะวิจิตรศิลป์ เห็นหน้าไม่คุ้น เลยเดินไปดูใกล้ๆ ว่าเขาเรียนอยู่ที่คณะจริงหรือเปล่า พอไปถึงปรากฏว่า ไม่เคยเห็นหน้าเลยว่ะ เราว่ากระแสหนังเรื่องเพื่อนสนิทมันมีอิทธิพลสูง เพราะเดี๋ยวนี้เด็กวัยรุ่นแถวเชียงใหม่ ชอบอ้างว่าเรียนอยู่ที่คณะฯ" กลุ่มเพื่อนนักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกเล่าเรื่องราวความประทับใจปนความสงสัย เกี่ยวกับอิทธิพลของสื่อกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่


 


กระแสสังคม กับ "ความเป็นส่วนหนึ่ง"


หลังเดินทางกลับจากเชียงใหม่ ความโด่งดังเรื่องการขายหุ้นชินคอร์เปอร์เรชั่น ในช่วงที่ผ่านมา ได้กลายเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดการรวมตัวขององค์กรภาคประชาชน นักวิชาการ ตลอดจนภาคการเมือง ในการทวงถามความถูกต้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


 


แต่พลังหนึ่งที่น่าจับตามอง และน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งในช่วง 1-2  สัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะอยู่ที่การรวมตัวของนักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี


 


องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) น่าจะเป็นองค์กรนักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย องค์กรแรกๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการ ด้วยการประกาศตนเป็นตัวแทนในการรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี ผ่านวุฒิสภา โดยจัดการแถลงข่าวขึ้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 และจัดให้มีการลงชื่อ ณ ลานโพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (สถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มรัฐบาลในยุค 14 ตุลาฯ 16 และ 6 ตุลาฯ 19) ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549


 


10 กุมภาพันธ์ 2549 บรรยากาศยามบ่าย ณ ลานโพ ดูคึกคักด้วยจำนวนของผู้เข้าร่วมลงชื่อที่มาจากหลากหลายวิชาชีพ และที่ขาดไม่ได้คือกลุ่มนักศึกษาหนุ่มสาววัยใส


 


ภาคภูมิ เวทย์วิทยานุวัฒน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกเล่ามูลเหตุที่เข้าร่วมในเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า "จริงๆ แล้วถ้าในสถานภาพของนักศึกษา เราอาจไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่ในฐานะคนไทยเราต้องรับผิดชอบต่อความเป็นไปของประเทศ เมื่อนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศไม่ถูกต้อง ขาดความชอบธรรม เราก็ต้องออกมาแสดงความเห็นผ่านกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ แม้ว่าที่ผ่านมารัฐธรรมนูญฉบับนี้ (2540) อาจยังไม่สมบูรณ์นัก แต่การออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อในครั้งนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานในอนาคต


 


"การเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน มันเป็นวิกฤติแฝง เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยอ้อม เชื่อว่าถ้าประชาชนตื่นตัวจะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ส่วนการที่ทาง อมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ถือว่าแสดงบทบาทได้ดีพอสมควร เพราะที่ผ่านมานักศึกษามีความเห็นทางการเมืองมาโดยตลอด เพียงแต่ขาดความร่วมมือ แม้กระบวนการเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะสิ้นสุดลง แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่านักศึกษาสามารถที่จะรวมพลังกันได้เมื่อถึงเวลา"


 


นายอนุพงศ์ (ขอสงวนนามสกุล) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เหตุผลที่มาร่วมลงชื่อว่า "รู้สึกทนไม่ได้แล้วกับพฤติกรรมการโกงชาติ ที่ผ่านมาก็รู้ว่ามีการโกงแต่มันไม่ชัดเจนเหมือนครั้งนี้ อย่างเรื่องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ถามว่าแปรรูปไปทำไม? อ้างว่าแปรรูปเพื่อประสิทธิภาพ แต่ไม่ยอมบอกว่าประสิทธิภาพที่พูดถึงมันเพื่อใครกันแน่


 


ส่วนในประเด็นการออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษา อนุพงศ์ แสดงความเห็นว่า "เมื่อก่อนก็คิดเหมือนกันว่านักศึกษาคงไม่สนใจเรื่องการเมืองแล้ว เพราะคงต้องเอาเวลาไปเดินห้าง ไปแต่งตัว แต่พอเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็ทำให้เห็นแล้วว่านักศึกษายังคงสนใจเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง ส่วนตัวไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้น แต่ก็คิดว่าคงสร้างจิตสำนึกอะไรไม่ได้มาก แต่ถือว่าทำอะไรได้ดีที่สุดก็ต้องทำ สุดท้ายอาจจะล้มนายกฯ ทักษิณไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ยังโดนปิดหูปิดตาอยู่ ยังรู้สึกดีกับนายกฯ อยู่ เพราะเขาทำการตลาดเก่ง"


 


นายวันพืช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า "ไม่ชอบการทำงานของนายกฯ ทักษิณ ที่มีลักษณะเอื้อผลประโยชน์ธุรกิจของตนเอง อย่างเรื่องการขายหุ้นก็ทำมุบมิบ ออกกฎหมายขายหุ้น ซึ่งผลประโยชน์ทั้งหมดก็ตกอยู่ในวงศาคณาญาติ และรัฐมนตรีไม่กี่คน... ไม่ใช่ว่ารัฐบาลอื่นๆ ไม่โกงกิน แต่ครั้งนี้มันโจ่งแจ้งเกินไป"


 


ด้าน น.ส.พลลดา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังกรอกแบบฟอร์มการลงชื่อขับไล่นายกฯ ก็ให้ข้อมูลที่ไม่แตกต่างจากเพื่อนๆ ร่วมสถาบันว่า "ไม่ชอบการทำงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่บริหารประเทศในลักษณะเอื้อประโยชน์กับธุรกิจของครอบครัว"


 


นอกจากการเปิดรับลงชื่อเพื่อถอดถอนนายกฯ แล้ว กิจกรรมหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมงานให้ความสนใจก็คือ เวทีอภิปรายเกี่ยวกับสาเหตุที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ควรยุติบทบาทนายกรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษา


 


ในระหว่างการอภิปราย นักศึกษาผู้ดำเนินรายการบนเวที ได้อธิบายถึงวิธีการตามระบอบประชาธิปไตยในการตรวจสอบการทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ใจความตอนหนึ่งระบุว่า "ที่ผ่านมา หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แม้มีความพยายามในการรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่มีครั้งใดที่ทำสำเร็จ หากครั้งนี้เราทำสำเร็จก็จะถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ การเมืองไทย พวกเราที่ลงชื่อก็จะถือว่าเป็นหนึ่งในวีรชน"


 


พลันที่นักศึกษาผู้ดำเนินรายการบนเวทีพูดจบ หญิงสาวหน้าใสสองคนที่กำลังกำเอกสารการลงชื่ออยู่ในมือ ก็แอบกระซิบกระซาบกันว่า "เขาบอกไม่เคยทำสำเร็จเลยนะแก" คำพูดดังกล่าวดูมีนัยยะสำคัญในการเชิญชวนกันเป็นส่วนหนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์


 


จากจิระนันท์ พิตรปรีชา ถึง กชวรรณ ชัยบุตร "เราจะเอาสังคมอย่างไร"


คืนค่ำของวันที่11 กุมภาพันธ์ 2549 หญิงสาวร่างเล็ก ในเครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก้าวขึ้นบนเวทีอภิปราย ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ท่ามกลางการจับจ้องของประชาชนเรือนหมื่น ที่กำลังส่งเสียงปรบมือให้กำลังใจ


 


เธอคือ กชวรรณ ชัยบุตร เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และนี่เป็นครั้งที่สองที่มีโอกาสได้รับฟังน้ำเสียงจากเธอโดยไม่ต้องผ่านสื่อใดๆ


 


"พี่น้องคะ มีคำถามถามกันมากเหลือเกินว่า ถ้าหากไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนี้แล้วเราจะเอาใครเป็นนายกฯ คำถามนี้เราจะไม่ตอบ แต่คำถามที่เราควรจะถามหลังจากนี้คือ เราจะเอาสังคมอย่างไร?"


 


น้ำเสียงจากหญิงสาวกระตุ้นความรู้สึกฮึกเหิม จนทำให้หัวใจเคลื่อนไหวรวดเร็วกว่าปกติ บ่อน้ำตาเริ่มเอ่อล้นด้วยจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้


 


แม้ว่าโดยส่วนตัวจะไม่เคยสัมผัสกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ด้วยตนเอง แต่จากที่เคยติดตามเรื่องราวเหตุการณ์ในครั้งนั้นผ่านสื่อโทรทัศน์ รวมถึงภาพยนตร์ "14 ตุลา สงครามประชาชน" ต้องยอมรับว่า ภาพของหญิงสาวในนาม กชวรรณ แถบจะถอดแบบเหมือนกับความทรงจำที่มีเกี่ยวกับ จิระนันท์ พิตรปรีชา หญิงสาวซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแกนนำในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย


 


"สิ่งที่เราต้องการข้อแรก คือการปลดล็อคกลไกการตรวจสอบอำนาจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น สตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) องค์กรอิสระต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชน ต้องมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่รองรับว่า กลไกการตรวจสอบต้องไม่ถูกแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ ต้องทำให้กลไกต่างๆ ทำงาน รวมทั้งต้องถอดปลอกคอ ส.ส.ที่นั่งในสภาออก


 


"ข้อที่สองต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจตามระบอบทักษิณ ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทำให้ช่องว่างของชนชั้นมีมากขึ้น ต้องมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ชัดว่า สิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการดำรงชีวิต จะไม่ถูกขาย ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำประปา มหาวิทยาลัย จะต้องไม่ถูกขาย โรงพยาบาลจะต้องไม่ถูกขาย"


 


"ในอดีต สนนท. เคยเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเมืองมาโดยตลอด แต่ก่อนเคยมีนิสิต นักศึกษาหลายคนที่เคยเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความถูกต้อง แต่ปัจจุบันพวกเขาเข้าไปนั่งอยู่ในสภา อยู่กับฝ่ายรัฐบาล...แค่เปิดประตูคุกออกมา ถ้าก้าวเท้าของคุณออกมาประชาชนยังพร้อมจะต้อนรับ ใช่ไหมพวกเรา..."


 


พลันสิ้นเสียงของกชวรรณ เสียงโห่ร้องตอบรับจากคลื่นมหาชน คือสัญลักษณ์แห่งความคาดหวังในบทบาทของ "นักศึกษา" ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย


 


แม้ว่าจะศรัทธาและเชื่อมั่นในพลังบริสุทธิ์ แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า พลังบริสุทธิ์ในครั้งนี้ถูกขับเคลื่อนจากสิ่งใด ระหว่างแรงขับภายในที่ต้องการเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่ดีขึ้นอย่างถาวร หรือแท้จริงแล้วสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นเพียงการลื่นไหลไปตามกระแสธารแห่งสถานการณ์ที่ถูกคาดหวังจากผู้คนรอบข้าง


 


"ส่วนตัวเห็นว่า โดยภาพรวมนักศึกษาคงไม่ได้ตื่นตัวกับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นกันทุกคน แต่มันเป็นเฉพาะกับคนบางกลุ่ม แต่ถ้า อมธ. อยู่เฉยๆ คนทั่วไปก็คงจะตั้งคำถามว่า อมธ. ไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไรบ้างหรือ" ข้อมูลจากความเห็นที่บริสุทธิ์ ของนักศึกษาสาวลูกแม่โดม เผยให้เห็นว่า ภายใต้การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา นอกจากความปรารถนาภายในแล้ว ความคาดหวังที่มาพร้อมสถานการณ์ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่พวกเขาต้องโดดเข้าร่วมวง


 


นี่ไม่ใช่การมุ่งหวังเพื่อจะจับผิดในเจตนาอันบริสุทธิ์ หากแต่เป็นคำถามที่ก่อเกิดจากความปรารถนาดี เพราะเชื่อมั่นว่า บทเพลงที่ไพเราะและกินใจที่สุดย่อมเกิดจากเสียงขับขานผ่านดวงใจของผู้ร้อง มากกว่าการทำหน้าที่เป็นนักร้องตามที่ผู้คนทั่วไปกำหนดให้เป็น


 


ด้วยความปรารถนาที่จะสดับฟังบทเพลงแห่งพลังบริสุทธิ์ขับขานอย่างไพเราะเพราะพริ้ง และยาวนาน มิใช่เพียงวันผ่าน กระแสเปลี่ยน แล้วหยุดลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net