Skip to main content
sharethis

วิษณุ-บวรศักดิ์ เดินทางร่วมหารือ กกต. เตรียมทำประชาพิจารณ์ ทักษิณแบะท่าโยนอธิการบดีเป็นเจ้าภาพ นัดถก17 ก.พ. นี้ ขณะที่ประชุมอธิการบดีได้ตัวแทนสรรหา ป.ป.ช. - อมธ. เผยยอดรายชื่อ 16,000 ส่วน ม.เที่ยงคืน เปิดแนวรบใหม่ รณรงค์ร้องทุกข์ตู้นายกฯ 1 ล้านใบ ไล่ "ทักษิณ"


 


ส่งเนติบริกรหารือ กกต. ทำประชาพิจารณ์


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ร่วมหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงเรื่องการสอบถามความเห็นของประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลาในการหารือกว่า 1 ชั่วโมง


 


หลังการหารือ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ กกต. กล่าวถึงผลการหารือว่า ในส่วนของการทำประชามตินั้น ในกรอบของกฎหมายต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 90 วัน จึงไม่สามารถดำเนินการได้ทันพร้อมไปกับการเลือกตั้ง ส.ว.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 เม.ย. แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งน่าสามารถดำเนินการได้ทัน ขึ้นอยู่ที่ว่า รัฐบาลต้องการจัดการสำรวจความเห็นประชาชนในรูปแบบใด ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ อย่างไรก็ตาม กกต. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา เลขาธิการ กกต. ไปศึกษาและคำนวณถึงงบประมาณค่าใช้จ่ายในการทำประชาพิจารณ์ว่า จะมีต้นทุนจำนวนเท่าไหร่ แล้ว


 


โยน 138 อธิการบดีรับเป็นเจ้าภาพแก้ รธน.


ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมหารือกับ 138 อธิการบดีทั่วประเทศ เพื่อเป็นเจ้าภาพแก้รัฐธรรมนูญ โดย ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สกอ.เป็นผู้ประสานงานให้ 138 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 17 ก.พ.นี้ เวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการจะรับฟังความคิดเห็นจากอธิการบดีทั่วประเทศว่าคิดอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


 


"ถามว่าพร้อมเป็นเจ้าภาพหรือไม่ เราก็พร้อม แต่อย่างไรก็ต้องไปฟังท่านนายกฯ ก่อน คงเป็นการรับฟังเพื่อระดมความคิดเห็นต่างๆ ไม่ได้มีข้อเสนออะไรที่ชัดเจน" ศ.ดร.ภาวิช กล่าว


 


ขณะที่ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การรับเป็นเจ้าภาพแก้ไขรัฐธรรมนูญจากรัฐบาล ถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของทาง ศ.ดร.ภาวิช


 


ส่วน ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า เป็นการแก้เกี้ยวของนายกรัฐมนตรีมากกว่า โดยทางกลุ่มจะเร่งประชุม "เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองรอบ 2" โดยเร็ว เพื่อนำเสนอข้อมูลผลศึกษาเบื้องต้นที่เกี่ยวกับปัญหาจุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญ ที่มีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ 1.การจัดโครงสร้างสถาบันการเมืองใหม่ 2.การปรับปรุงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3.การปรับปรุงการเมืองภาคพลเมือง ผ่าน "เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2


 


ได้ 6 ตัวแทนอธิการบดีสรรหา ปปช.


วันเดียวกันมีการประชุมของอธิการบดีของรัฐที่เป็นนิติบุคคลจำนวน 79 แห่ง เพื่อคัดเลือกอธิการบดีเป็นคณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 6 คน โดยมีอธิการบดีเข้าร่วมประชุมจาก 55 แห่ง แต่สามารถลงคะแนนได้ 52 คน เนื่องจากอีก 3 คนปฎิบัติราชการแทนจึงไม่สามารถลงคะแนนได้


 


ก่อนการประชุม รศ.วิวัฒน์ชัย อรรถากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร เสนอให้เปลี่ยนวิธีเลือกอธิการบดีเพื่อป้องกันการปล็อกโหวต โดยใช้หลักอธิการบดี 1 คน โหวตได้ 1 คน เริ่มจากให้เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่ง แล้วเลือกจนเหลือ 6 คน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีมติว่า จะใช้วิธีการสรรหาแบบเดิมตามระเบียบของ ส.ว. คือให้อธิการบดี 1 คน เสนอ 6 รายชื่อ และผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 6 อันดับแรก จะได้เป็นคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.


ทั้งนี้เพื่อป้องกันการตีความว่ากระบวนการสรรหาผิดระเบียบอันจะมีผลให้การสรรหา ป.ป.ช. เป็นโมฆะอีก


 


ทั้งนี้ผลการลงคะแนนลับ อธิการบดีที่ได้คะแนนสูงสุด 6 อันดับแรก ได้แก่ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 35 คะแนน นายสว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม 31 คะแนน รศ.สมเจตน์ ภูศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม 29 คะแนน ผศ.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี 27 คะแนน คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 17 คะแนน และ     ผศ.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 16 คะแนน


 


ยอดรายชื่อไล่ "ทักษิณ" 16,000


ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังคงมีประชาชนและนักศึกษา ทยอยมาร่วมลงชื่ออย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 15 ก.พ. มียอดรวมกว่า 16,000 คน และวันพรุ่งนี้ (16 ก.พ.) จะเปิดจุดร่วมลงชื่อเพิ่มที่บริเวณถนนสีลม มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช นอกจากนี้ ทุกวันศุกร์ กลุ่มนักศึกษารักประชาชน โดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) จะจัดเวทีสาธารณะให้แสดงความคิดเห็นที่ลานโพธิ์ด้วย ทั้งนี้ อมธ. ยังได้ย้ำว่า ประชาชนที่จะมาร่วมลงชื่อ จะต้องเตรียมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อทั้งหมดได้ที่ www.lawtham.com และ www.board.thaimisc.com/tuthotrajan


 


 


ม.เที่ยงคืน เปิดประเด็น ส่งไปรษณีย์ล้านใบไล่นายก


ที่เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เตรียมรณรงค์ส่งไปรษณียบัตร 1 ล้านฉบับขับไล่นายกรัฐมนตรี ผ่านตู้ ปณ.รับเรื่องร้องเรียนของนายกฯ


 


รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อาจารย์ประจำภาควิชาการพิมพ์ จิตรกรรม และประติมากรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดเผยว่า หลังจากได้หารือกับนักวิชาการอิสระจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) รวมทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เห็นร่วมกันให้มีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมส่งไปรษณียบัตรจำนวน 1 ล้านฉบับขับไล่นายกรัฐมนตรี โดยให้ส่งไปที่ตู้ ปณ.รับเรื่องร้องเรียนของนายกรัฐมนตรีที่กรุงเทพฯ


 


"ไปรณียบัตรจำนวน 1 ล้านฉบับอาจไม่มีผลในเชิงกฎหมาย แต่การเคลื่อนไหวครั้งนี้ต้องการทำในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า เพราะไปรษณียบัตร 1 ล้านฉบับที่ส่งไป เป็นการแสดงออกของประชาชนที่ไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมา แต่เป็นเสียงบริสุทธิ์ ยิ่งกว่า 19 ล้านเสียงที่นายกรัฐมนตรีมักนำขึ้นมาอ้างเสมอ" รศ.สมเกียรติกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net