Skip to main content
sharethis

เวทีถกปัญหาแรงงานข้ามชาติโวย มติ ครม.เรียกเก็บเงินค่าประกันตัวแรงงานสูงถึง 50,000 บาท หวังบีบผลักดันแรงงานไทยใหญ่ออกนอกประเทศ ในขณะที่องค์กรสิทธิฯ ชี้ยิ่งทำให้แรงงานออกนอกระบบ เข้าสู่ใต้ดินมากขึ้น


 


จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จ.สุโขทัยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน โดยคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ได้เสนอให้นายจ้าง สถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงานให้นำแรงงานต่างด้าวมามอบตัว โดยจ่ายเงินประกันตัวจำนวน 10,000 บาท สำหรับแรงงานต่างด้าวที่เคยผ่านการจดทะเบียน ทร.38/1 ในปี 2547 ที่ไม่ได้ขออนุญาตทำงานในปี 2548 สำหรับแรงงานที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนทร.38/1 นายจ้างต้องจ่ายเงินประกันตัว 50,000 บาท ทั้งนี้จะดำเนินการภายในเดือน มกราคม 2549 ที่จะให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวภายใน 30 วันนั้น


 


ทำให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์มติดังกล่าวว่าเป็นการกำหนดเงินค่าประกันตัวแรงงานต่างด้าวในอัตราที่สูง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่นายจ้างจะให้ความร่วมมือจ่ายเงินประกันตัวให้ และยิ่งจะทำให้แรงงานต่างด้าวถูกละเมิดถูกกดขี่มากขึ้น


 


ล่าสุด ที่ห้องประชุม 1-314 อาคารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเวทีประชุม โครงการวิจัย "การศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ: กรณีศึกษากลุ่มแรงงานไทใหญ่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่" ได้มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวออกมานำเสนออีกครั้ง


 


นายคมสัน พัวศรีพันธ์ นักวิชาการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณี แรงงานข้ามชาติไทยใหญ่ ว่า หลังจากที่มีมติคณะรัฐมนตรี 20 ธันวาคม 2548ล่าสุด รัฐมีนโยบายให้คนต่างด้าวที่ตกหล่น หรือที่ทำงานอยู่กับนายจ้าง ให้นายจ้างพาลูกจ้างมามอบตัวและจ่ายค่าประกันตัว จำนวน 10,000 บาท สำหรับแรงงานต่างด้าวที่เคยผ่านการจดทะเบียน ทร. 38/1 ในปี 2547 แล้วไม่ได้ขออนุญาตทำงานในปี 2548 และสำหรับแรงงานที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนทร. 38/1 ให้จ่ายค่าประกันตัว รายละ 50,000 บาท นั้น ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูง ซึ่งทางเราก็ได้มีการเสนอในที่ประชุมให้มีการลดค่าประกันตัวแล้ว แต่ในมติ ครม.ยังยืนยันเช่นเดิม


 


"มติ ครม.ที่ออกมาให้มีค่าประกันตัวเป็นจำนวนที่สูงนั้น อาจเนื่องมาจากว่า ไม่ต้องการส่งเสริมให้มีการจ้างงานที่ผิดๆ อีกทั้งเป็นตั้งเงื่อนไขเพื่อยุติไม่ให้แรงงานต่างด้าวเพิ่มเข้ามาอีก และในอนาคต รัฐมีนโยบายอีกว่า จะรับเฉพาะแรงงานจากประเทศลาวเท่านั้น ดังนั้น ต่อไปเมื่อแรงงานจากประเทศพม่า นายจ้างไม่ได้ค้ำประกัน ก็จะต้องส่งเรื่องให้ทางตรวจคนเข้าเมือง เพื่อผลักดันส่งตัวกลับต่อไป" นายคมสัน กล่าว


 


ในขณะที่ ทันตา เลาวิลาวัณลกุล ผู้ประสานงาน มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีที่มีการบังคับให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวมามอบตัวและประกันตัวในจำนวนเงินที่สูงถึง 50,000 บาทนั้น คงไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการสร้างปัญหามากกว่า เชื่อว่าคงไม่นายจ้างคนใดที่จะยอมจ่ายเงินจำนวนมากขนาดนั้น เพราะต่างก็กลัวลูกจ้างจะหลบหนีไปที่อื่น และยิ่งจะทำให้เกิดปัญหาการถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบมากยิ่งขึ้น


 


"เพราะจากการลงพื้นที่จะพบว่า แรงงานเหล่านี้จะถูกนายจ้างโกงทั้งค่าแรง โกงทั้งแรงงาน ต้องทำงานกันเกิน 8 ชั่วโมงทุกวัน แน่นอนว่า เวลานายจ้างไปกรอกแบบฟอร์มที่จัดหางาน ก็ระบุถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย แต่เวลาปฏิบัติจริงเขาก็กดขี่ขูดรีดลูกจ้าง ซึ่งนี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นอกจากนั้น จะทำให้แรงงานเข้าไปอยู่ในระบบใต้ดินมากขึ้น ในขณะที่อัตราการหลั่งไหลของแรงงานจะต้องเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ"


 


นายบุญเลิศ จันสุวรรณ ศูนย์การศึกษาวัฒนธรรมและผู้ใช้แรงงาน ชมรมไทยใหญ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นคนไทยใหญ่และทำงานช่วยเหลือกลุ่มผู้แรงงานชาวไทยใหญ่ในเขต อ.ฝาง แม่อาย และไชยปราการ เห็นว่า มติ ครม.ดังกล่าว สร้างปัญหาต่อแรงงานไทยใหญ่อย่างแน่นอน เพราะหากต้องมีการประกันตัว 50,000 บาท เพราะคงไม่มีนายจ้างคนไหนยอมจ่ายค่าประกันตัวมากขนาดนี้


 


ด้านนายจายอ่อน เสือคง ผู้จัดรายการวิทยุชุมชนภาคภาษาไทยใหญ่ กล่าวว่า ที่จริง รัฐบาลไทยควรจะทำความเข้าใจให้ชัดว่า ที่คนไทยใหญ่เข้ามาเป็นแรงงานในไทยนั้น บางคนเข้ามาตามความฝันเพื่อทำงาน บางกลุ่มเข้ามากเพราะหนีภัยสงคราม ดังนั้น นโยบายของรัฐไทย กรณีให้มีการประกันตัวในจำนวนเงินที่สูงเช่นนี้ จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้แรงงานไม่กล้าเปิดเผย หรือเข้าสู่ระบบ แต่จะอยู่อย่างหลบๆ ซ่อน


 


ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความแห่งประเทศไทย ก็ออกมากล่าวว่า การประกันตัวแรงงานต่างด้าวถือเป็นระบบทาสยุคใหม่ที่จะไปไหนไม่ได้ โดยต้องอยู่ในที่ระบุในหนังสือประกันตัวที่นายจ้างระบุเท่านั้น การที่รัฐมีนโยบายดังกล่าวจึงจะทำให้การทำงานด้านคุ้มครองสิทธิยากลำบากยิ่งขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net