คอลัมน์ ECONOMYTH : จากทักษิโนมิกส์ถึงวอลสตรีท

วรดุลย์ :

ในระยะหลังๆ มานี้ มีการนำผลงานของ Joseph Schumpeter นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญในช่วงทศวรรษที่ 1910 ถึง 1950 มาอ้างถึงอยู่บ่อยๆ ด้วยการนำบางส่วนของผลงานของเขามาใช้อธิบายปรากฏการณ์เศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ หรือ New Economy ว่าการที่เศรษฐกิจบูมและถดถอยนั้น ผู้ประกอบการหรือ entrepreneur เป็นผู้เล่นบทบาทนำ ผู้ประกอบการทำหน้าที่ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือ นวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีใหม่ สินค้าใหม่ ตลาดใหม่ หรือวิธีการใหม่ สิ่งใหม่ๆ เหล่านี้จะทำให้เกิดการรวมกลุ่มกัน เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนา ส่งผลให้เศรษฐกิจบูม ตัวอย่างเช่น การเติบโตของอีคอมเมิร์ซในช่วงหนึ่ง

 

บังเอิญหรือไม่ก็ตาม "ทักษิโนมิกส์" ก็เน้นบทบาทผู้ประกอบการเช่นเดียวกัน แต่ไม่เน้นพัฒนาคุณภาพของผู้ประกอบการที่มีอยู่ คือเน้นขยายจำนวนของผู้ประกอบการให้ครอบคลุมคนทุกระดับ

 

สิ่งสำคัญในการขยายฐานคือการสร้างสำนึก และความหวัง เมื่อประเทศคือบริษัท ประชาชนคือผู้ถือหุ้น ผมคือซีอีโอ ในระดับบุคคล เกษตรกร แรงงาน ลูกจ้างบริษัท รวมทั้งเด็กๆ ก็ได้รับการปลูกฝังสำนึกความเป็นผู้ประกอบการมากกว่ายุคใดๆ ผ่านโครงการปล่อยเงินกู้ให้กับครัวเรือนในชนบทหลายต่อหลายโครงการ เพื่อสร้างผู้ประกอบการ แนวคิดโอท็อป และทั้งจากคำพูดคำจาในเรื่องต่างๆ ที่ใช้ศัพท์แสง ประเภทผลประกอบการ ตลาดใหม่ niche มาให้ได้ยินทางโทรทัศน์อยู่เป็นประจำ

 

สำนึกถัดมาที่เราต้องมีคือ นวัตกรรม คำว่า คิดใหม่ ทำใหม่ การหาตลาดใหม่ รูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่

ก็ถูกสร้างขึ้นมาให้ผู้ประกอบการที่มีสำนึกแล้วต้องมีความสร้างสรรค์

 

ในระบบทักษิโนมิกส์ ผู้นำในระบบทักษิโนมิกส์ มีความเชื่ออยู่บ้างในเรื่องนวัตกรรม เช่น หนึ่งในหนังสือร้อยแปดเล่มโปรดของทักษิณ ที่ชื่อว่า Innovator"s Solution ได้พูดถึงความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ขึ้นมาแซงคู่แข่งเจ้าเดิม โดยต้องเป็นสิ่งใหม่ที่สร้างผลกระทบ (disrupt)

กับเจ้าเก่าในตลาด ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ราคาถูกกว่า จับกลุ่มลูกค้าได้ถูกต้อง เช่น Microsoft ได้กระทบต่อ IBM เหมือนกับ แอร์เอเชียที่สร้างกระทบต่อการบินไทย

 

สรุปก็คือ ทักษิโนมิกส์ ผลิตสำนึกให้ผู้ประกอบการทุกคน มีหน้าที่ในการสร้างนวัตกรรม เมื่อทุกคนเข้าใจแล้วว่า ตัวเองเป็นผู้ประกอบการ ถ้าอยากรักษามันไว้ ก็ต้องสร้างนวัตกรรมให้ใหม่ขึ้นไปอีก ให้คู่แข่งตามไม่ทัน อย่าหยุดนิ่ง

 

ดังนั้นชาวนาที่เป็นผู้ประกอบการ จึงต้องปลูกข้าว ไปพร้อมๆ กับนั่งคิดนวัตกรรมแชมพูสมุนไพร ไม่ให้ซ้ำกับหมู่บ้านข้างๆ เพื่อส่งออกตลาดโลก

 

ไม่นานมานี้เอง "เลียลิตี้โชว์" เรื่องความยากจน เป็นนวัตกรรมละครรูปแบบใหม่ทางโทรทัศน์ มีเนื้อหา

แนะนำให้ชาวนาแต่ละราย ต้องใช้เงินอย่างไร ต้องออมเท่าไร ต้องจะขายอะไร ขายในตลาดไหน

ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ค้นคิดสิ่งใหม่ๆ จึงจะพ้นจากความยากจนได้

 

ความคิดคล้ายกันถูกนำเสนอต่อนักธุกิจมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งจากนายกฯและนักการตลาดที่เป็นรองนายกฯ

 

แต่สำนึกของผู้ประกอบการบวกสำนึกแห่งนวัตกรรม เพียงพอหรือไม่ ในการสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ประกอบการในระบบทักษิโนมิกส์ คำตอบคือ ไม่ เพราะยังมีสำนึกที่สามที่ทุกคนต้องมีคือ สำนึกความเป็นผู้ประกอบการมหาชน

 

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราคงได้ยินกันหนาหูขึ้นจากบรรดาผู้ประกอบการว่า ต้องเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้น ไม่กี่วันมานี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯแถลงว่า มีการตั้งเป้าหมายให้บริษัทใหม่ เข้ามาจดทะเบียนไม่น้อยกว่าร้อยรายในปีนี้ แรงจูงใจคือ ทักษิโนมิกส์ ได้โชว์ผลกำไรที่เพิ่มทวีคูณจากราคาหุ้นบางกลุ่ม อีกทั้งบริการสาธารณะอย่างรัฐวิสาหกิจพอได้เข้าตลาดหุ้นแล้วราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้นอย่างอื้อฉาว เมื่อผู้ประกอบการเห็นผลตอบแทนแล้ว พวกเขาก็เตรียมแต่งตัว เพื่อเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นบ้าง

 

การที่ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มจาก 200 กว่าจุด ขึ้นไปเป็น 700 กว่าจุด เป็นความภูมิใจของนายกฯที่อ้างว่า

ตนเองเป็นผู้สร้างขึ้นมา และเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง

 

บันได สามขั้นของ ทักษิโนมิกส์ เป็นการเดินตามตรรกะของทุนนิยมที่คนไทยจำนวนไม่น้อย เริ่มเคลิ้มตามไป ฝันถึงความมั่งคั่งที่เริ่มต้นจากตัวเองที่เป็นผู้ประกอบการก่อน จากนั้นจึงผลิตสินค้า เริ่มมีการจ้างงาน คนเริ่มมีรายได้ มาซื้อสินค้า พ่อค้าก็ขายสินค้าได้ แล้วเงินก็วนกลับมา สองรอบ สามรอบ แปลว่า เศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น ประโยชน์มวลรวมของประเทศเพิ่มขึ้น

 

แต่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อ บริษัทชื่อ ชิน คอร์ป ที่เคยมีเจ้าของกิจการเป็นเจ้าพ่อเทคโนโลยีของเมืองไทยในช่วงต้น ซึ่งหลายคนคงเดาว่าบริษัทนี้คงจะเป็นเยี่ยงอย่างสร้างแรงบันดาลใจให้กับเจ้าของกิจการทั้งหลาย โดยการค้นคิดสิ่งใหม่ๆ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จนเกิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน แล้วถ่ายเทไปให้คนอื่นสามารถพัฒนานวัตกรรมไปใช้ ทำให้เศรษฐกิจบูม

 

แต่ว่ากันไปจนแล้วจนรอดก็ไม่มีการคิดค้น พัฒนา ประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ เพียงซื้อสินค้ามา แล้วขายไป

สร้างกำไรจากผู้บริโภคเท่านั้น ซ้ำร้าย ถึงจุดหนึ่งเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็ว ต้องมีการลงทุนเพิ่ม

เพื่อรองรับกับสินค้าเทคโนโลยีตัวใหม่ บริษัทก็ขายกิจการทิ้งเสียเฉยๆ ไม่เห็นเหมือนกับโฆษณาที่ชวนให้ประชาชนเชื่อว่า บริษัทต้องผลิตสินค้า ให้มีการจ้างงาน พอคนมีรายได้ ก็ไปซื้อของ แล้วเงินก็จะวนกลับมา สองรอบ สามรอบ อยู่ในประเทศ เศรษฐกิจจะเติบโต เป็นการกระทำเพื่อชาติ

 

ในสำนึกของผู้ประกอบการ การอยู่ในระบบทุนนิยมจึงไม่ซับซ้อน และง่ายกว่าที่รัฐบาลสร้างขึ้นมามาก คือ อย่ายึดติด อย่ายึดติดกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อย่ายึดติดกับธุรกิจที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นมา อย่ายึดติดกับคุณธรรม อย่ายึดติดกับสิ่งที่ตนเองพูด

 

ที่น่ากลัวคือ เมื่อเจ้าของกิจการที่มีญาติสนิทเป็นนายกฯและได้แปลงสภาพจากเจ้าของกิจการเป็นผู้ถือ

"เงิน" อำนาจของเงิน คือ สภาพคล่อง เงินจำนวนมากไม่เคยปรากฏว่า อยู่ในที่แห่งใดได้นาน

เชื่อได้เลยว่า เงิน 70,000 กว่าล้านบาทนี้ ต้องกลับเข้าไปในตลาดทุน หรือตลาดหุ้น

 

หากเจ้าของกิจการกำลังกลายสภาพเป็น นักลงทุนรายใหญ่ การจ้อง take over กิจการต่างๆ ผ่านตลาดหุ้น เพื่อขายทำกำไรในระยะสั้นๆ แล้วกลับมาเข้าซื้อกิจการอื่นๆ อีก จึงสามารถเกิดขึ้นได้ และสร้างกำไรได้หลายเท่า

 

ยิ่งเป็นที่รู้กันว่า ตลาดหุ้นของไทยเป็นตลาดที่ประชาชนมีข้อมูลข่าวสารที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก

ผู้ที่ได้เปรียบก็จะกอบโกย บนค่าใช้จ่ายของคนอื่นๆ

 

ที่สำคัญเงินที่อยู่ในมือของผู้ไม่ยึดติด อาจจะล่องหนไปในเกาะที่ห่างไกล แล้วก็วนกลับมาได้ด้วยจำนวนที่มากกว่าเสมอ

 

Schumpeter พูดไว้ก่อนที่จะจากโลกไป ใน Capitalism Socialism and Democracy ว่า ทุนนิยมจะเปิดทางให้สังคมนิยม ไม่ใช่เพราะว่า ความล้มเหลวของทุนนิยม เหมือนที่ Marx บอก แต่เป็นเพราะความสำเร็จของมันต่างหาก ที่ทำให้บริษัทในระบบทุนนิยมจะมีขนาดใหญ่มากเกินไป สูญเสียเหตุผลของการดำรงอยู่ และปราศจากความชอบธรรม ซึ่งรัฐก็จะเข้ามาดำเนินการเองในที่สุด

 

เผลอคิดไปได้ว่า ความร่ำรวยล้นเหลือที่ทำให้สังคมถ่างหางจากกัน นั้นเป็นความไม่ชอบธรรมเสมอ และไม่มีเหตุผลของการดำรงอยู่ ไม่ว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม คนในสังคมจึงค่อนข้างรับฟัง เมื่อมีคนกล่าวบนเวทีปราศรัยถึง การเช็กบิล หรือการให้รัฐเข้า take over ทรัพย์สิน หรือเงินในธนาคาร

 

0 0 0

 

อิิสระ :

ในการชุมนุมทางการเมืองเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีเมื่อคืนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจสองท่านขึ้นร่วมปราศรัยด้วย เนื้อหาส่วนใหญ่ของการปราศรัยเป็นการโจมตีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน

 

แต่ที่น่าแปลกใจอยู่หน่อยคือหนึ่งในสองผู้นำแรงงานได้กล่าวปราศรัยโจมตีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ว่าเป็นเรื่องของคนโลภเห็นแก่ได้จนเกินพอดี ทั้งๆ ที่สังคมไทยได้มีพัฒนาการมาสู่ระบบทุนนิยมเป็นร้อยปีแล้ว

 

พฤติการณ์ของทุนไม่น่าจะเป็นสิ่งผิดแผกอะไรในสายตาของคนไทยเลยนี่นา หรือจะเป็นเฉพาะไม่ไว้ใจนายทุนที่ลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เป็นพิเศษ

 

คำถามก็คือ ทำไมคนจำนวนหนึ่งจึงรู้สึกหวาดระแวงนายทุนที่ก่อตั้งกิจการหรือดำเนินกิจการด้วยตนเอง

(Entrepreneur) น้อยกว่านายทุนประเภทนักลงทุน (Investor) ที่รอรับผลประโยชน์จากการเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นเพื่อร่วมเป็นเจ้าของกิจการ? ทั้งๆ ที่เป้าหมายของนายทุนทั้งสองกลุ่มก็คือ กำไรเช่นเดียวกัน

 

Wall Street : ภาพจาก www.courttvcanada.ca

 

คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวในภาพยนตร์คลาสสิกเมื่อ 20 กว่าปีก่อนชื่อ Wall Street (ออกฉายปี 1987 แสดงนำโดย ไมเคิล ดักลาส, มาร์ติน และ ชาร์ลี ชีน) ซึ่งเล่าเรื่องของนายหน้าค้าหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์หนุ่มคนหนึ่ง ผู้พยายามไต่บันไดวิชาชีพไขว่คว้าหาความมั่งคั่งที่เขาขาดหายไปในวัยเด็ก

เนื่องจากเขามาจากครอบครัวของกรรมกรโรงงานซ่อมบำรุงเครื่องบิน

 

อยู่มาวันหนึ่งโบรกเกอร์คนนี้มีโอกาสได้พบกับนักลงทุนผู้ปราดเปรื่อง ซึ่งสามารถทำเงินมหาศาลได้ในชั่วพริบตาด้วยการใช้เงินน้อยเข้าไปครอบงำกิจการในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผลประกอบการไม่ค่อยดี

(ราคาหุ้นต่ำ) จากนั้นก็ปรับปรุงโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัทนั้น ขายทิ้งกิจการส่วนที่ไม่มีกำไร (งบดุลดีขึ้น รายจ่ายลดลง) จนเมื่อกิจการนั้นมีผลประกอบการดีขึ้นและราคาหุ้นของบริษัทสูงขึ้นจนน่าพอใจก็ขายกิจการนั้นผ่านตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง

 

โบรกเกอร์หนุ่มมองนักลงทุนผู้ปราดเปรื่องราวกับศาสดาหรือพ่อคนที่สอง ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่นี้เห็นชายหนุ่มเป็นศิษย์ที่ต้องโอบอุ้มและ "สอนให้รวย"

 

ด้วยเคล็ดลับความเก่ง-ฉลาดเท่าทันหรือเหนือกว่าคนอื่น ความรวดเร็วที่จะทำอะไรก่อนคนอื่น หรือเก็บรับประโยชน์ดีๆ ก่อนที่มันจะด้อยค่าไป

 

ชายหนุ่มหันหลังให้กับโลกของพ่อทางสายเลือดที่ให้คุณค่ากับการทำงานหนักและการช่วยเหลือเผื่อแผ่กันระหว่างพี่น้องร่วมสหบาลกรรมกร

 

สำหรับกรรมกรคอเสื้อน้ำเงิน (Blue-collared labour) เช่นพ่อของเขา การทำงานในกิจการแห่งเดียวชั่วชีวิตไม่ใช่เรื่องผิดแปลก แม้จะหมายถึงการละทิ้งโอกาสก้าวหน้าด้านผลตอบแทน อาวุธอันทรงพลังที่พอและเพื่อนๆ ของพ่อเขามีก็คือการรวมตัวและการนัดหยุดงาน

 

แล้ววันหนึ่งโอกาสครั้งเดียวในชีวิตของโบรกเกอร์หนุ่มก็มาถึง

 

นักลงทุนซึ่งเป็นเสมือนพ่อทางอุดมการณ์ได้ให้เขาช่วยในงานครอบงำกิจการสายการบินที่ีพ่อของเขาทำงานอยู่ ซึ่งมีผลประกอบการย่ำแย่ เขามีหน้าที่หว่านล้อมพ่อและสหบาลกรรมกรของเพื่อนๆ พ่อให้ร่วมมือกับ "นักลงทุน" เจ้าของกิจการรายใหม่อย่างเต็มที่ แม้จะหมายถึงการสูญเสียสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง

 

เพื่อให้กิจการนั้นมีผลประกอบการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ในที่สุดการการครอบงำกิจการก็ "สำเร็จ" ลง

และตามมาด้วยการปรับโครงสร้างกิจการ ซึ่งหมายถึงการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ การขายกิจการบางส่วนที่ด้อยประสิทธิภาพ การขายสินทรัพย์เพื่อให้งบดุลด้านรายรับดีขึ้น

 

และแน่นอนเพื่อแลกกับกำไร มันหมายถึงการเลิกจ้างแรงงานจำนวนหนึ่งไม่ว่าอีกฝ่ายจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

 

เพราะเป็นเรื่องแต่ง ในตอนจบของ Wall Street โบรกเกอร์หนุ่มจึงเลือกยืนอยู่ข้างกรรมกร ซึ่งเป็นเสมือนญาติพี่น้องของพ่อเขา โดยการทรยศนักลงทุนผู้ไร้ใจ และหันไปช่วยนักลงทุนที่มีความเป็นมนุษย์มากกว่าเข้าช่วงชิงกิจการสายการบินกลับคืนมา และดำเนินกิจการต่อไปตามครรลองธุรกิจที่มี "จริยธรรม" โดยไม่มีการขายกิจการทิ้งเพียงเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้นในรูปเงินทอง

 

หากบทความนี้เป็นการวิจารณ์ภาพยนตร์ ผมก็คงจะวิเคราะห์สัญลักษณ์ต่างๆ โดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นชื่อของตัวละครต่างๆ เช่น โบรกเกอร์หนุ่ม Bud (แรกผลิ) นักลงทุนผู้โลภโมโทสัน Gordon Gekko

(ออกเสียงเหมือนคำว่า gecko 'ตุ๊กแก' ที่ยึดเกาะอะไรได้แล้วไม่ยอมปล่อย) และ Carl พ่อของ Bud

(ออกเสียงเหมือนคำว่า Karl ซึ่งมีนัยประหวัดไปถึง 'คาร์ล มาร์กซ์' เจ้าลัทธิสังคมนิยมแบบคอมมูนิสม์) และการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในจิตใจของ Bud

 

ระหว่างความต้องการส่วนตัวที่จะแสวงหาผลประโยชน์เพื่อความพึงพอใจสูงสุด หรือความสำนึกในการคุ้มครองผลประโยชน์ร่วมกันของคนหมู่มาก

 

แต่เนื่องจากไม่ใช่การวิจารณ์ภาพยนตร์ ผมจึงขอข้ามประเด็น "พระเอก-ผู้ร้าย" ที่ถูกผูกโยงไว้กับอุดมคติเรื่องการเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น และความยึดมั่นในการแสวงหาประโยชน์เพื่อสนองความพึงพอใจส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น ไปพิจารณาความเชื่อของคนในสังคมเกี่ยวกับระบบนายทุน กล่าวคือ ความรู้สึกว่าทุนผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Capital) เป็นผู้ร้ายน้อยกว่าทุนของนักลงทุน (Investment Capital)

 

เพราะทุนผู้ประกอบการยังมีเปลือกนอกที่ฉาบทาไว้ด้วยความหมายประกอบอื่นๆ ของการทำงาน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานหนักเพื่อก่อร่างสร้างกิจการ การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจและการร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับพนักงานเพื่อผลักดันกิจการไปข้างหน้าและการมีความผูกพันระดับหนึ่งกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ หรือกับประวัติศาสตร์ของธุรกิจที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นมา แต่ทุนนักลงทุนปราศจากเครื่องประดับทางอุดมการณ์เหล่านี้ มันจึงเหลือเพียงความโลภ "เปลือยๆ"

 

ในภาพยนตร์เรื่อง Wall Street ความโลภที่เปลือยเปล่าถูกนำเสนอในลักษณะของ "บุคลาธิษฐาน" (Personification) ผ่านการแสดงของดักลาสในบทนักลงทุนผู้ฉ้อฉล จนทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำฝ่ายชายไปครอง

 

และสำหรับผู้ที่เคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้ (ใครที่ยังไม่เคยขอแนะนำให้ไปหาดีวีดีมาชม) คงจะจำได้ว่าดักลาสในบทของ Gekko นั้นมีบทพูดบทหนึ่งที่ซึ่งแสดงปรัชญาของระบบทุนนิยมที่ลึกซึ้งกินใจยิ่ง

บทพูดนั้นอยู่ในฉากที่ Gekko กล่าวต่อกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัทกระดาษชื่อ "เทลดาร์เปเปอร์"

เพื่อเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นยินยอมมอบอำนาจบริหารกิจการแก่เขาในอันที่จะสร้างกำไรแก่บริษัทต่อไป

บทพูดที่ว่านั้น (พร้อมคำแปล) มีดังนี้ครับ

 

"The point is, ladies and gentlemen: Greed, for lack of a better word, is good. Greed works, greed is right. Greed clarifies, cuts through, and captures the essence of the evolutionary spirit. Greed in all its forms, greed for life, money, love, knowledge has marked the upward surge in mankind —and greed, you mark my words — will save not only Teldar Paper but

that other malfunctioning corporation called the USA."

 

"ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ประเด็นสำคัญก็คือ ความโลภ... ต้องขออภัยที่ไม่มีคำเหมาะใจกว่านี้

...มันเป็นของดี ความโลภทำภารกิจให้สำเร็จ ความโลภถูกต้อง ความโลภทำให้ชัดเจน มันกรีดผ่านกระพี้ตรงไปจับแก่นแท้ของจิตวิญญาณแห่งวิวัฒนาการ ความโลภไม่ว่าจะในรูปลักษณ์ใด โลภจะมีชีวิต โลภเงินทอง โลภความรัก หรือโลภความรู้ มันได้ฉุดดึงมนุษยชาติให้วิวัฒน์ขึ้นมาเรื่อยๆ และความโลภ ท่านทั้งหลายจงจำคำของผมไว้ ความโลภไม่เพียงจะช่วยบริษัทเทลดาร์เปเปอร์นี้ไว้เท่านั้น แต่ยังจะช่วยรักษาบรรษัทที่มีผลประกอบการล้มเหลวแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่าสหรัฐอเมริกา"

 

ผมลองสร้างภาพในใจว่ามีผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเอาเรื่อง Wall Street มาแก้ไขบทเสียใหม่ให้กลายเป็นหนังไทย แล้วเอานักแสดงคนโปรดของผมมารับบท "นายตุ๊กแก ตีนเหนียว" ยืนกล่าวในห้องประชุมโอ่โถงด้วยบทพูดในย่อหน้าข้างบน มันช่างซาบซึ้งกินใจ (+กินตับ) เสียเหลือเกิน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท