Skip to main content
sharethis

เบญจา ศิลารักษ์


สำนักข่าวประชาธรรม


 


            ขณะที่มีกระแสการไล่นายกฯ  ออกจากการบริหารทั่วประเทศที่มาจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้งนักวิชาการ นักศึกษา  องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน   ไม่แต่เฉพาะการเคลื่อนไหวของนายสนธิ ลิ้มทองกุลเท่านั้น   ด้วยเหตุผลหลักๆ คือนายกรัฐมนตรียังไม่สามารถตอบคำถามของสังคมกรณีความไม่โปร่งใสเรื่องการซุกหุ้นที่เกาะบริติช  เวอร์จิ้นได้   โดยมีความเห็นว่ารัฐบาลทักษิณนั้นหมดความชอบธรรมในการ    บริหารประเทศแล้ว    แต่ดูเหมือนว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังคงใช้ข้ออ้างเดิมๆ ว่ากลุ่มที่คัดค้านเป็นกลุ่มเล็กๆ    ประชาชนอีก 19 ล้านเสียงยังคงสนับสนุนรัฐบาลอยู่     เนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาระดับรากหญ้าทำมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สิน  ที่ดินทำกิน   ที่อยู่อาศัย จนถึงระบบสวัสดิการของชุมชน เป็นต้น  


ทั้งนี้พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตรคุยอวดผลงาน 5 ปีเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมาว่าสามารถทำให้จีดีพีของประเทศโตขึ้นจาก 4.9 ล้านบาทเมื่อสิ้นสุดปี 2548 เป็น 7.1 ล้านบาท  หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มกว่า 40 เปอร์เซ็นต์   ประชาชนไทยมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น  เส้นความยากจนได้ขยับจาก  1,135 บาทต่อคนต่อเดือนมาอยู่ที่  1,243  บาทต่อคนต่อเดือน  เป็นต้น


จะเห็นได้ว่ารัฐบาลทักษิณนั้นพยายามชูการแก้ปัญหาของคนจนในชนบทมาหาเสียงอย่างต่อเนื่อง   อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน  เอสเอ็มแอล  กองทุนหมู่บ้าน  โอท็อป  โคล้านตัว  (โคแก้จน)  โครงการจัดสรรที่ดินให้แก่คนจน  เป็นต้น


            แม้ว่านโยบายเหล่านี้ที่เรียกขานกันว่าเป็นนโยบายประชานิยมจะถูกใจคนชนบทจำนวนไม่น้อย  ซึ่งก็แน่นอนว่าการหว่านโปรยเม็ดเงินไปสู่รากหญ้าอาจทำให้ประชาชนบางส่วนรู้สึกพึงพอใจ   แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวนั้นยังขาดการวิเคราะห์อย่างรอบด้านในสังคม   ต้องยอมรับความจริงว่าพลังของประชาชนในการตรวจสอบนโยบายดังกล่าวนั้นถูกทำให้อ่อนแรงอย่างเหลือเชื่อ 


            อย่างไรก็ตามแม้ประชาชนในชนบทบางส่วนจะรู้สึกพึงพอใจกับนโยบายประชานิยม   แต่ที่ผ่านมาก็พบว่ามีประชาชนรากหญ้าที่สะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดจากนโยบายประชานิยมเช่นกัน   ซึ่งน่าสังเกตว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมนี้   รัฐบาลจะตอบคำถามอย่างไรกับสังคม    


            สำนักข่าวประชาธรรมรวบรวมความเห็นของภาคประชาชนต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาของประชาชนระดับรากหญ้ามานำเสนอในที่นี้   โดยหวังว่าจะทำให้สังคมจะร่วมกันตรวจสอบนโยบายรัฐบาลอย่างจริงจังนับจากนี้  เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง


 


 


 


พักชำระหนี้ กับ กองทุนฟื้นฟูที่ไม่คืบหน้า


            อาจกล่าวได้ว่านโยบายพักชำระหนี้ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลใช้หาเสียงกับเกษตรกรในช่วงสมัยแรก  และก็ได้ผลท่วมท้น   เพราะเกษตรกรพากันเทคะแนนเสียงให้กับไทยรักไทยก็เพื่อหวังว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาหนี้สิน   แต่ปรากฏว่าเงื่อนไขของนโยบายพักชำระหนี้ของเกษตรกรกำหนดให้เกษตรกรที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ต้องมีหนี้สินไม่เกิน 1 แสนบาท  และต้องเป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)   ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง  เพราะปรากฏว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้สินเกิน 1 แสนบาท 


            สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)  อันเป็นกลุ่มองค์กรเกษตรกรที่รวมตัวกันเพื่อติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาเกษตรกรพบว่า นโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาลนั้นไม่ได้แก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรจริง  ชาวบ้านในสมาชิกเครือข่ายส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้านโยบายพักชำระหนี้เพราะมีหนี้โดยเฉลี่ยครอบครัวละไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาททั้งสิ้น   ทั้งนี้เกษตรกรมีข้อเสนอว่าต้องการปลดหนี้มากกว่า "พักชำระหนี้"  


            นอกจากนี้ข้อเสนอของ สกน.ยังเห็นว่ารัฐบาลควรจะดำเนินการให้กองทุนฟื้นฟูชีวิตและพัฒนาเกษตรกรใช้การได้จริงตาม  พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปี 2542   กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกิดจากข้อเสนอของเกษตรกร   แต่ปรากฏว่าแม้จะจัดตั้งมาถึง  7  ปีแล้วก็ยังไม่มีเกษตรกรรายใดได้รับการพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร    


สมศักดิ์  โยอินชัย  ตัวแทนสกน.สะท้อนว่าเหตุที่การดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรโดยใช้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่มีความคืบหน้าเลย   เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาเกษตรกร  ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ  นั้นชัดเจนว่าต้องการฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรโดยการพัฒนาอาชีพ  เปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและบริหาร


ประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ  เองก็ยอมรับเองว่าภายในคณะกรรมการกองทุนก็มีความขัดแย้งภายในองค์กร เนื่องจากความเข้าใจไม่ตรงกันทั้งเกษตรกร หน่วยงานราชการ กลไกรัฐรวมทั้งรัฐบาลด้วย 


            ประภาส ปิ่นตบแต่ง  นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเห็นว่าอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินงานตามกองทุนฟื้นฟูฯไม่คืบหน้า  เป็นเพราะรัฐบาลจงใจหลีกเลี่ยงที่จะนำกฎหมายนี้มาใช้  โดยแต่งตั้งตัวแทนของนักการเมืองเข้าไปบริหารงาน ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ให้เกษตรกรบริหารงานเอง   ยิ่งไปกว่านั้นตามหลักการของกองทุนฟื้นฟูฯ นั้นต้องให้เกษตรกรฟื้นฟูชีวิตมากกว่าการกู้ยืมเงิน  แต่รัฐบาลยังไม่จัดสรรงบประมาณให้


              


จากกองทุนหมู่บ้านถึงเอสเอ็มแอล


รัฐบาลแถลงผลงาน 4 ปีก่อนการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลสมัยที่ 2  ว่ากองทุนหมู่บ้านช่วยสร้างงาน  สร้างรายได้ให้คนไทย 13 ล้านคน   งบกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกระจายมาเป็น 2-3 ระลอก  วัตถุประสงค์ของกองทุนระบุว่าเพื่อเป็นแหล่งทุนในการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชน


แต่จากการติดตามของนโยบายดังกล่าวโดยสภาประชาชน  จ.สุรินทร์เมื่อปี 2546  พบว่านโยบายกองทุนหมู่บ้านเป็นนโยบายเร่งด่วน  การดำเนินการไม่มีการเตรียมความพร้อม  ทำให้ชาวบ้านที่เข้ามาขอกู้เงิน ไม่ได้นำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ  ส่วนใหญ่เป็นการนำไปหมุนหนี้มากกว่า 


การพิจารณาอนุมัติให้กู้เงินก็ไม่มีความเท่าเทียม  เช่น ที่ชุมชนศรีบัวราย อ.เมือง จ.สุรินทร์  คนจนไม่มีสิทธิกู้ยืมเงินกองทุนหมู่บ้าน  เพราะไม่มีหุ้นอยู่  หรือเวลาขอกู้ก็ไม่ได้รับการอนุมัติเพราะคณะกรรมการกองทุนกลัวว่าจะไม่ได้เงินคืน เป็นต้น    


นอกจากนี้กองทุนหมู่บ้านกลายเป็นการสร้างภาระ  เพิ่มหนี้สินให้กับชาวบ้าน  เช่นกรณีบางหมู่บ้านไม่เคยมีหนี้กลับมีหนี้เพราะกองทุนเงินล้าน   เมื่อได้เงินล้านมา   ไม่รู้ว่าจะนำเงินไปลงทุนอะไรก็นำไปซื้อของใช้ฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็น  เช่นมอเตอร์ไซด์  มือถือ  เครื่องใช้ไฟฟ้า   หรือบางหมู่บ้านก็นำเงินไปลงทุนทำเกษตรเชิงพาณิชย์  ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยทำกันมาก่อน  เช่นหมู่บ้านกะเหรี่ยงในเขตภาคเหนือ  สุดท้ายก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาคืนกองทุนหมู่บ้าน  เป็นต้น 


กองทุนหมู่บ้านหลายแห่งทำให้ชุมชนแตกแยกกันมากขึ้น  เกิคความคิดแตกแยกในการบริหารจัดการกองทุน  ขณะที่คนจนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน  เพราะคณะกรรมการกลัวว่าจะไม่มีเงินส่งคืนกองทุน


มาถึงงบพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน หรือ เอสเอ็มแอล ที่รัฐบาลทักษิณอนุมัติงบประมาณให้ในสมัยที่ 2  โดยจะให้งบประมาณแก่ชุมชนโดยตรง  หมู่บ้านขนาดเล็กหมู่บ้านละ 200,000 บาท  หมู่บ้านขนาดกลางหมู่บ้านละ 250,000 หมู่บ้านขนาดใหญ่ หมู่บ้านละ 300,000 บาท


            รัฐบาลอนุมัติงบประมาณดังกล่าวตั้งแต่กลางปี 2547   ถือเป็นเงินแบบให้เปล่าเพื่อแก้ปัญหาส่วนรวมให้กับประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน  และพัฒนาอาชีพให้แก่ชุมชนโดยให้ประชาชนเป็นผู้บริหารจัดการเอง    ปีงบประมาณ 2547  รัฐบาลได้กระจายงบประมาณไปสู่หมู่บ้านจำนวน 253 ล้านบาท  จำนวน  1,024  หมู่บ้าน  ปีงบประมาณ 2548  ค.ร.ม.อนุมัติงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 9.4 พันล้านบาท เพื่อกระจายให้แก่หมู่บ้านทั้ง 3 ขนาดจำนวน 38,250 หมู่บ้าน  ทั้งนี้สำนักงบประมาณได้ประกาศแล้วว่ามีการตั้งงบประมาณเอสเอ็มแอลตลอด 4 ปีที่รัฐบาลบริหารประเทศรวมทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านบาท      


อาจกล่าวได้ว่างบประมาณเอสเอ็มแอลเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ภายหลังจากงบกองทุนหมู่บ้านละล้านที่กระจายมาสู่ชุมชน    ดังนั้นเมื่อรัฐบาลมีการกระจายงบประมาณเอสเอ็มแอลมาสู่ชุมชนอีกระลอก  นโยบายดังกล่าวจึงถูกติดตามตรวจสอบเช่นกันว่า  การใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาความยากจนจะมีความยั่งยืนและสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้หรือไม่ 


            หลังการอนุมัติงบประมาณก้อนแรกปีงบประมาณ  2547  จำนวน  253 ล้านบาท  รัฐบาลได้มีการประเมินผลโครงการเอสเอ็มแอลปีแรก ซึ่งพบว่าการนำงบประมาณไปใช้นั้น  งบประมาณที่ชุมชนนำไปใช้มากที่สุดคือด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานร้อยละ  39.43 โครงการ    ด้านการเกษตรคิดเป็นร้อยละ  15  ด้านการส่งเสริมรายได้และอาชีพร้อยละ  13.80  ด้านสวัสดิการชุมชนร้อยละ 27.22  และด้านอื่นๆ อีกร้อยละ 4.56


            จากการติดตามของสำนักข่าวประชาธรรมพบว่าการกระจายเงินดังกล่าวกระจายไปตามสายผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน  ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นงบพัฒนาหมู่บ้านโดยเฉพาะสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่นสร้างถนนมากที่สุด   ส่วนการพัฒนาอาชีพถือว่าน้อยมาก


            สมศักดิ์  โยอินชัย  ตัวแทน สกน.มีความเห็นว่าการกระจายเงินครั้งนี้ของรัฐบาลทักษิณเหมือนกับนโนยายผันเงินสู่ชนบทในสมัยนายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ ปราโมช  ซึ่งพบว่าไม่ได้แก้ไขปัญหาชาวบ้านอย่างแท้จริง  แม้จะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารเงิน  แต่ก็ไม่ได้มีทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาท้องถิ่น  ชาวบ้านจะได้แค่ถนน สะพาน น้ำประปา และค่าแรง   "ที่สุดก็เป็นแค่เงินที่จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็หายไป และสร้างระบบอุปถัมภ์เพื่อหาเสียงทางการเมือง ทั้งที่งบประมาณในส่วนนี้มีอยู่แล้วในอ.บ.จ. หรือ อ.บ.ต"


หากรัฐบาลอยากใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท  ก็ควรนำไปอุดหนุนในช่องทางอื่นมากกว่า โดยให้องค์กรปกครองท้องถิ่นระดมความเห็นของชาวบ้านจากแต่ละชุมชน แล้วทำแผนพัฒนาชุมชนว่าต้องการแบบไหน เช่น ส่งเสริมชาวบ้านที่ทำโอท็อปแต่ยังไม่เข้มแข็ง นำไปต่อยอดสิ่งดีๆ ที่ชุมชนได้ทำมา หรือเป็นกองทุนของหมู่บ้าน ชุมชนมีอำนาจจัดการบริหารเงิน แต่ไม่ใช่เหมือนกับกองทุนหมู่บ้านที่รัฐบาลทำที่ผ่านมา เป็นต้น แล้วรัฐบาลค่อยไปสนับสนุนทุ่มเททรัพยากร งบประมาณลงไปช่วยเหลือ   "คุณทักษิณทำอะไรก็ได้ในทางการเมือง ไม่ต้องไปผ่านส.ส. อำนาจสั่งจ่ายอยู่ที่คุณทักษิณคนเดียว แน่นอนว่าเงินลงถึงพื้นที่เร็วขึ้น ประชาชนได้เงินโดยตรง แต่ผลของเงินที่ลงไปไม่มีใครรู้ว่า ประโยชน์ตกถึงคนจนจริงหรือไม่"


วีระพล โสภา ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า นโยบายนี้ถือเป็นเงินการเมือง ชาวบ้านโดยทั่วไปก็จะชอบใจที่จะได้เงิน แต่ถ้าเป็นชาวบ้านที่ติดตามการแก้ปัญหาคนจนก็จะเข้าใจ และเกิดคำถามว่าจะเป็นการนำเงินก้อนใหม่มาให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้นเหมือนกองทุนหมู่บ้านหรือไม่ เป็นเงินผันสู่ชนบทเพื่อเสริมสร้างระบบอุปถัมภ์หรือไม่ ในส่วนของตนเห็นว่าเหมือนกับเป็นการบอกกับชาวบ้านว่าถ้าต้องการเงินจะต้องมอบอำนาจให้กับคุณทักษิณ เพื่อนำเงินออกมาจ่ายได้ เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า และเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น


ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกล่าวต่อว่าความเห็นตนนั้นไม่ได้ดูถูกความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้านว่าจะบริหารเงินไม่เป็น แต่การนำภาษีของประชาชนมาใช้ต้องมีความรอบคอบเป็นอย่างยิ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ถ้าหากรัฐบาลมีเจตนากระจายอำนาจการคลังจริง ทำไมไม่ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นผ่านองค์กรปกครองท้องถิ่นเพิ่มขึ้นทุกปี อันเป็นหน้าที่ที่ทุกรัฐบาลต้องทำ


วีระพล โสภา กล่าวว่า คำถามสำคัญคือการแจกเงินให้ชาวบ้านรัฐบาลจะแจกได้นานแค่ไหน และตนเชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาชาวบ้านได้จริง  หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาระดับรากหญ้า ตนเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายที่ทำให้ชาวบ้านสร้างรายได้จากผลผลิตการเกษตรของตน โดยเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเอง ราคาสินค้าเกษตรต้องไม่ตกต่ำ และยกเลิกการเปิดการค้าเสรีที่เข้ามาทำลายตลาดสินค้า


 


เอสพีวี กับโครงการโคแก้จน


            หนึ่งในนโยบายแก้จนของเกษตรกรที่ฮือฮา  และฉาวโฉ่อย่างมากคือนโยบายโคแก้จน   โดยรัฐบาลได้จัดตั้งองค์กรนิติบุคคลเฉพาะกิจ  ที่เรียกกันคุ้นหูว่า  เอสพีวี  (Special Purpose Vehicle )  หรือ    บริษัท ส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย  จำกัด (สอท.)  เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย  โดยเอสพีวีมีหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรด้านการจัดการตลาด  และการเงิน   สำหรับสินค้าเกษตรตัวแรกที่เอสพีวีจะช่วยเหลือคือ โคเนื้อ  จึงเกิดโครงการ โคแก้จนดังกล่าว  นอกจากนี้ก็มีโครงการปาล์มน้ำมัน  และโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราในระยะต่อไปอีกด้วย


            หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อตั้งเอสพีวีเมื่อวันที่  19  พฤษภาคม  2548   ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท  โครงการวัวแก้จน หรือโครงการวัวล้านครอบครัวก็เริ่มต้นดำเนินการ 


            คณะรัฐมนตรีอนุมัติส่งมอบโคเนื้อรุ่นแรกของโครงการที่รับการสนับสนุนโดยผ่านกลไกเอสพีวี  ให้เกษตรกรจำนวน 2.5  แสนตัวในเดือนกรกฎาคม 2548  และครบ 5  ล้านตัวในปี 2551 


วงเงินกู้ระหว่างปี 2548-2551 รวมทั้งสิ้น   36,042  ล้านบาท  ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณด้านการผลิตโคเนื้อ 33,532  ล้านบาท  การแปรรูปและผลิตภัณฑ์  1,710  ล้านบาท  ด้านการตลาด  800 ล้านบาท  ทั้งนี้ในปี  2548  ใช้เงินลงทุนด้านการผลิตโค  5,497  ล้านบาท  ปี  2549  จำนวน 8,303 ล้านบาท    โดยคาดว่าเมื่อโครงการสำเร็จในปี  2550-2551  จะมีเกษตรกรที่ได้ประโยชน์ 1.95  ครัวเรือน  สามารถสร้างรายได้ 34,543  ล้านบาทต่อปี   หรือมีรายได้เพิ่มครอบครัวละ 1.3-2.5  หมื่นบาทต่อปีสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงโคเพื่อผลิตลูกขาย  และมีรายได้เพิ่ม 1.8  หมื่นบาทต่อ ปี สำหรับเกษตรกรที่รับจ้างผสมเทียม 


            โครงการดังกล่าวถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง 100 %     เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรยากจน  จะได้รับลูกโคก็ต่อเมื่อผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมวิธีการเลี้ยงโคอย่างถูกวิธี  ถูกสุขลักษณะ  และต้องทำความเข้าใจต่อสัญญาของเอสพีวีเสียก่อน   ช่วงเริ่มต้นหน่วยงานหลักที่จะทำหน้าที่ในการจัดหาสินเชื่อให้แก่เกษตรกร  คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)  เจ้าเดิม    ในโครงการระบุว่าจะส่งมอบโคให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเมื่อลูกโคหย่านม  มีอายุประมาณ  7-8  เดือน    เงื่อนไขในการเลี้ยงโคนั้นจะต้องให้อาหารหญ้าที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่น   เมื่อโคโตเต็มที่ บริษัทเอสพีวีจะรับซื้อคืนกิโลกรัมละ 50  บาท เพื่อจำหน่ายให้โรงฆ่าสัตว์


            แต่ในความเป็นจริงจากการศึกษาขององค์กรพัฒนาเอกชนในอีสานพบว่าการเลี้ยงโคขุนของสหกรณ์การเกษตรที่บ้านโพนยางคำ  ต.เนินหอม จ.สกลนคร   โคที่จะขุนได้ต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 300-400 กิโลกรัม   อายุประมาณ  2-4 ปี  ถึงจะทำให้เนื้อมีคุณภาพ   นอกจากนี้อาหารของโคที่ขุนในแต่ละวันต้องใช้เงินที่สูงมาก   ไม่ใช่แค่หญ้า    แต่ประกอบด้วยน้ำ  หญ้าสดในฤดูฝนวันละ  6-12  กิโลกรัมต่อตัว  ฟางข้าวทดแทนหญ้าสด 3-6 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน   อาหารข้น (อาหารเม็ด)  6-7  กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน   กากน้ำตาลวันละ 2-3 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน    


ในส่วนของอาหารข้นนั้นมีสูตรอาหารที่จะต้องมีสัดส่วนของโปรตีน  ไขมัน  แร่ธาตุ  กาก แป้ง    ซึ่งวัตถุดิบไม่ได้อยู่ในท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง หรือปลาบ่น  น่าสังเกตว่าวัตถุดิบเหล่านี้อยู่ในมือของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ของนายทุน


นายศิริศักดิ์  ฉลามศิลป์  ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรโพนยางคำยอมรับว่าแม้สหกรณ์ฯจะมียอดจำหน่ายอาหารข้นสูงถึง  210  ตัน  ก็ยังไม่ผลิตอาหารข้นเองเพราะต้นทุนสูงมาก  วัตถุดิบต้องสั่งซื้อจากบริษัทใหญ่ๆ   


ข้อเท็จจริงด้านต้นทุนการผลิตที่สูงมากเช่นนี้  จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้จะหายจนได้จริงหรือ   เพราะจากข้อมูลจากสหกรณ์โพนยางคำนั้นขนาดสหกรณ์โพนยางคำรับซื้อราคาประกันกิโลกรัมละ  89  บาท  เกษตรกรยังแทบไม่ได้กำไร  แถมบางตัวยังขาดทุนด้วยซ้ำ   ดังนั้นหากบริษัทเอสพีวีรับซื้อราคากิโลกรัมละ  50  บาท  เกษตรกรจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย   


 


            นโยบายของรัฐบาลทักษิณที่มีต่อประชาชนระดับล่างยังมีอีกมาก เช่น การส่งเสริมการปลูกยางพาราในภาคเหนือ และอีสาน    โอท็อป     30 บาทรักษาทุกโรค    นอกจากนี้ยังนโยบายสาธารณะใหญ่ๆ เช่น  นโยบายพลังงาน  นโยบายการจัดการน้ำ   การจัดการป่า   การจัดการที่ดิน   การศึกษา  สาธารณสุข   และเอฟทีเอ   สำนักข่าวประชาธรรมจะทยอยมานำเสนอในโอกาสต่อไป.


 


แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net