Skip to main content
sharethis

ประชาไท—19 ก.พ. 2549 "ครูหยุย" เชิญผู้ว่าฯ ระนอง แจงกรรมาธิการกิจการสตรีฯ วุฒิสภา กรณี "ปลัดอำเภอเมืองระนอง" แจ้งความจับ "เอ็นจีโอกระจกเงา" บุกขอสูติบัตรให้ลูกคนไทยพันธุ์แท้ แต่มีแม่เป็นไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติ หลังถูกฝ่ายทะเบียนราษฎร์ยื้อไม่ยอมออกให้ พบนักเรียนพังงาไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรร่วมพัน แต่มีชื่อแค่ 96 คน หวั่นเด็กมีปัญหา สั่งสำรวจใหม่อีกรอบ


 


ระหว่างวันที่ 17 - 18 กุมภาพันธ์ 2549 นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ประธานคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางมาติดตามการดำเนินการด้านการสร้างเครือข่ายคณะทำงานด้านเด็กและเยาวชน ก็ก็ที่จังหวัดภูเก็ต และหารือเรื่องการสำรวจข้อมูลสถานะของบุคคลไร้สัญชาติในพื้นที่จังหวัดพังงา  


 


โดยเวลา 15.00 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2549 ที่โรงแรมเขาหลักเมอร์ลิน รีสอร์ท อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา นายภควินท์ แสงคง ผู้ประสานงานโครงการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย ได้นำนายณัฐพล สิงห์เถื่อน เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา เข้าร้องเรียนปัญหาการประสานงานด้านงานทะเบียนราษฎรกับอำเภอเมือง จังหวัดระนอง ต่อนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ประธานคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา


 


นายณัฐพล ชี้แจงว่า นายชัชชัย ชาญสมุทร อายุ 40 ปี ไปยื่นคำร้องขอออกใบสูติบัตรให้แก่บุตรของนายชัชชัย หลังจากนายชัชชัยไปดำเนินการมาแล้ว 3 ครั้ง ทางอำเภอไม่ยอมออกสูติบัตรให้ อ้างว่านางปรีดา ชาญสมุทร อายุ 20 ปี ภรรยาของนายชัชชัย เป็นคนไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติ ต่อมา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ตนได้นำนายชัชชัยไปพบนายชนรรถ แก้วบำรุง ปลัดฝ่ายทะเบียน อำเภอเมืองระนอง พร้อมกับยกพระราชบัญญัติสัญชาติขึ้นมาอธิบาย นายชนรรถไม่พอใจโทรศัพท์แจ้งตำรวจ 191 ให้มาจับกุมในข้อหาก่อกวนในสถานที่ราชการ ทั้งยังให้ตนแสดงบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อตนยื่นให้ดู นายชนรรถให้เจ้าหน้าที่นำไปถ่ายเอกสาร โดยมิได้บอกกล่าวให้ตนทราบ ตนจึงแย่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากมือนายชนรรถจนฉีกขาด เป็นเหตุให้นายชนรรถบันดาลโทสะ เข้ามากระชากคอเสื้อตนเป็นเวลานาน และแจ้งความดำเนินคดีตนในข้อหาทำลายเอกสารทางราชการ


 


นายณัฐพล ชี้แจงต่อไปว่า การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาในการประสานงานกับทางอำเภอ และถือว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐคุกคามเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน ตนจึงร้องเรียนขอความเป็นธรรม และให้คณะกรรมาธิการฯ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการออกใบสูติบัตรให้เด็ก ที่บิดามีสัญชาติไทย เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการช่วยเหลือประชาชนต่อไป


 


รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร รองประธานอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา แนะนำให้นายณัฐพลแจ้งความดำเนินคดีกับนายชนรรถ ในข้อหาทำร้ายร่างกาย และแนะนำให้นายชัชชัยติดต่อกับทางอำเภอ เพื่อขอสูติบัตรให้บุตรอีกครั้ง


 


นายวัลลภ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายอำเภอเมืองระนอง ปลัดอำเภอเมืองระนอง และพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ไปชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นต่อคณะกรรมาธิการฯ ที่รัฐสภา เวลา 14.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549


 


ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 13.00 น. วันและสถานที่เดียวกัน คณะอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดพังงา มาร่วมหารือเรื่องแนวทางการสำรวจข้อมูลของเด็กนักเรียนที่ไม่มีสถานะทางการทะเบียนและการลงรายการบุคคล มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 50 คน โดยนายวัลลภ เป็นประธานการประชุม


 


นายไกรลาศ แก้วดี ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง ในฐานะอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ กล่าวรายงานผลการสำรวจนักเรียนผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรของจังหวัดพังงา จากผลการสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2548 มี 994 คน แต่ทางอำเภอต่างๆ ในจังหวัดพังงา มีรายชื่อเพียง 96 คน จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าอีก 898 คน หายไปไหน


 


นายไกรลาศ ตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนที่หายไปอาจเกิดจาก 3 สาเหตุ คือ นักเรียนมีเลข 13 หลักแล้ว, โรงเรียนไม่ได้แจ้งไปที่อำเภอ, โรงเรียนสำรวจแต่ไม่นำข้อมูลไปเชื่อมกับอำเภอ จึงขอให้ครูแต่ละโรงเรียนช่วยกรอกประวัติเด็กนักเรียนที่ยังไม่มีเลข 13 หลัก ในแบบสำรวจ เพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เพื่อเด็กจะได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิในการแจ้งเกิด แจ้งย้าย ตาย การรักษาพยาบาล และการศึกษา แล้วให้ทางโรงเรียนนำส่งแบบสำรวจที่กรอกประวัติเด็กนักเรียนส่งไปทางอำเภอ เมื่อทางอำเภอตรวจสอบแล้ว ไม่ปรากฏชื่อในทะเบียนราษฎร ให้ทางอำเภอให้เลข 13 หลัก ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 เพื่อรอพิสูจน์สัญชาติ ถ้าหากพิสูจน์ได้แล้ว เป็นคนสัญชาติไทย ก็ให้เปลี่ยนจากเลข 0 เป็นเลข 5


 


นายวัลลภ ได้ขอให้นายสนิท กั่วพาณิชย์ รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดพังงา ช่วยประสานงานระหว่างโรงเรียนต่างๆ กับอำเภอ เกี่ยวกับรายชื่อเด็กนักเรียนที่ตกสำรวจผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรของจังหวัดพังงา ซึ่งจะมีผลต่องบประมาณการศึกษารายหัวของเด็กนักเรียนที่กำลังศึกษาในภาคบังคับ


 


ทั้งนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. วันเดียวกัน ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา ร่วมกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กและองค์กรเครือข่ายคณะทำงานด้านเด็กจังหวัดภูเก็ต จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามการดำเนินการด้านการสร้างเครือข่ายคณะทำงานด้านเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 40 คน


 


ผลจากการดำเนินการปรากฏว่า ปัญหาที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน คือ พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหายาเสพติด เด็กได้รับผลกระทบจากปัญหาเอดส์และกลุ่มเด็กที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ หลังเกิดเหตุธรณีพิบัติภัย รวมทั้งหมดประมาณ 3,000 คน เด็กไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรในระบบโรงเรียน 300 คน เด็กไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยชาวเล ประมาณ 60 คน


 


ปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานด้านการสงเคราะห์ และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก คือ ผู้ปกครองเด็กไม่ให้ความร่วมมือ ในขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามช่วยเหลือเด็ก ทำให้เจ้าหน้าที่มีความยากลำบากในการให้ความช่วยเหลือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net