Skip to main content
sharethis


ประชาไท—19 ก.พ. 2549 อาจารย์นิติศาสตร์ มช. ออกโรงร่วมแถลงการณ์ จี้ศาลรัฐธรรมนูญทบทวนคำร้องของ 27 ส.ว.ใหม่ ชี้ชัดขัดกับรัฐธรรมนูญ และถือว่าเป็นการสาดเชื้อไฟให้เกิดสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มนักศึกษา มช.ได้ออกมาตั้งโต๊ะล่าลายชื่อเพื่อถอดถอน ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


 


หลังจากเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมเรื่อง คำร้องของสมาชิกวุฒสภาจำนวน 27 คน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ม.96, ม.216, และ ม.209 หรือไม่นั้น


 


ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 8 ต่อ 6 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องไว้วินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่า คำร้องมิได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การกระทำใดๆ ของนายกรัฐมนตรีเป็นการเข้าไปบริหารจัดการเกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของบริษัทหรือนิติบุคคลที่เป็นการต้องห้ามตาม ม.209 นั้น


ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผศ.สมชายปรีชาศิลปกุล อาจารย์ไพสิฐ พาณิชยกุล อาจารย์ประจำวิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดแถลงข่าวแสดงจุดยืนกรณีไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ 27 ส.ว.ซึ่งทางคณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเห็นว่า การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้


ประการแรก การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นขั้นตอนเบื้องต้นว่า คำร้องดังกล่าวมีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไปหรือไม่ ในขั้นตอนนี้ผู้ร้องใหม่จำเป็นต้องพิสูจน์จนเป็นที่ประจักษ์ชัดแต่อย่างใด เพียงแสดงข้อมูลและเหตุผลที่รับฟังได้ว่าคดีมีมูลก็เป็นการเพียงพอแล้ว


 


ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างคำร้องมิได้แสดงให้เห็นว่าการกระทำใดของนายกรัฐมนตรีเป็นการเข้าไปบริหารก้าวก่ายเกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการนั้น แค่ในคำร้องของ ส.ว. ได้อ้างคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีและบุตรในกรจัดการหุ้นบริษัทชินคอร์ป ซึ่งตามกฎหมายพยานนั้นก็ถือเป็นคำรับที่ผูกมัดตัวเองและสามารถนำมารับฟังได้ แต่เหตุใดดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่นำมาพิจารณาประกอบ


           


ประการที่สอง การกระทำผิดตาม ม. 209 วรรค 2 เป็นกรณี "ห้ามมิให้รัฐมนตรีกระทำการอันใดมีลักษณะเข้าไปบริการหรือจัดการใดๆเกี่ยวกับหุ้น" ก็เป็นข้อห้ามการมีส่วนร่วมที่มิได้ดำเนินการโดยตรงแต่เป็นการกระทำในลักษณะทางอ้อม หรือหลบเลี่ยงกฎหมายเช่นการโอนหุ้นให้ลูกหรือบุคลใกล้ชิด โดยที่ตนแงยังมีอำนาจแท้จริงในการตัดสินใจ


 


การที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ส.ว. ยังไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในความผิดตาม  ม. 209 จึงเท่ากับเรียกร้องให้พิสูจน์ความผิดที่มีลักษณะหลบเลี่ยงกฎหมายซึ่งมีความเป็นไปได้ยากในการนำพยานหลักฐานมายืนยันอย่างชัดแจ้ง ต้องไม่ลืมว่า ส.ว. มิใช่หน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบสวน สอบสวน แต่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนิติบัญญัติ หากยึดการตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้เป็นบรรทัดฐานต่อไป ก็จะเป็นผลให้การดำเนินการกับนักการเมืองหรือบุคลอื่นใดที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่สามารถเป็นผลขึ้นจริงไม่เพียงกับในปัจจุบันแต่จะรวมไปถึงอนาคตด้วย บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มุ่งป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจก็จะไม่มีความหมายใดเลย


 


ประการที่สาม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้ศาลรัฐธรรมนูลมีบทบาทหน้าที่มีบทบาทในการค้นหาความจริงในข้อพิพาทต่างๆดังที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ใน ม.265 ในการเรียกเอกสาร บุคล เจ้าหน้าที่รัฐ มาให้ปากคำหรือดำเนินการอื่นใดอันจะเป็นประโยชน์แก้การวินิจฉัยคดี ศาลรัฐธรรมนูญมิใช่มีหน้าที่เพียงรับฟังพยานหลักฐานของคู่กรณีแต่เพียงอย่างเดียว


           


การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่าคำร้องของ ส.ว.ไม่มีความชัดเจนจึงไม่รับคำฟ้องมาวินิจฉัยจึงขัดกับเจตนารมณ์และบทบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมีบทบาทในการแสวงหาความจริงให้ปรากฏว่าข้อกล่าวหานั้นเป็นไปตามที่กล่าวอ้างหรือไม่


           


นอกจากเหตุผลทั้งสามข้อแล้ว พึงตะหนักว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันทางการเมืองที่จะเป็นกลไกลแสวงหาข้อยุติในความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันทางการเมืองระหว่างบุคล กลุ่ม องค์กรต่างๆในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมและส่วนรวม อันจะทำให้การเมืองระบอบประชาธิปไตย สามารถดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะห้วงเวลาที่มีคำถามต่อความชอบธรรมของผู้นำทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง


           


การยกคำร้องของ ส.ว. โดยศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์และหลักการของรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่เป็นผลดีอย่างใดกับสังคมไทยเลยเพราะเท่ากับปิดประตูของกรต่อสู้โดยใช้เหตุผลและกระบวนการทางรัฐธรรมนูญให้เหลือน้อยลง และรวมถึงความเชื่อถือที่มีต่อสถาบันแห่งนี้ที่จะลดต่ำลงไปอีก ภายหลังจากการที่ได้เกิดความกังขาต่อการปฎิบัติหน้าที่ของสถาบันนี้มาหลายครั้งแล้ว


 


ดังนั้น จากเหตุผลดังกล่าว ทางคณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ทบทวนคำวินิจฉัยในคำร้องของ ส.ว.ทั้ง 27 คนใหม่ โดยให้การพิจารณาดำเนินไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขวิกฤตการณ์ของสังคมในขณะนี้


ทั้งนี้ นายไพสิฐ พาณิชยกุล กล่าวว่า จากตราสัญลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าวงกลมชั้นในตรงกลางมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประดิษฐานอยู่บนพานสองชั้น เบื้องบนมีพระดุลพาห์ ซึ่งหมายถึงความสุจริต ยุติธรรม และความเฉลียวฉลาดหลักแหลมในการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบ แต่สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กระทำในขณะนี้ ได้สะท้อนถึงศักดิ์ศรี ซึ่งประชาชนได้อาศัยเป็นที่พึ่งได้ทำตามหน้าที่และมีความสง่างามหรือไม่


ผศ.สมชาย กล่าวในตอนท้ายอีกว่า เรายืนยันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ได้ทำผิดหลักการและขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งที่ผ่านมาหลายครั้ง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีมาตรฐาน ซึ่งถือว่านี่คือปัญหาขององค์ประกอบตัวบุคคลที่วินิจฉัย รวมไปถึงการแทรกแซงของอำนาจฝ่ายบริหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก ซึ่งในรัฐธรรมนูญ ระบุอยู่แล้วว่า ห้ามนักการเมืองถือหุ้น หรือแม้กระทั่งจะไปชักใยอยู่เบื้องหลังก็ไม่ได้ การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จึงเหมือนเป็นการสาดเชื้อไฟ ทำให้สถานการณ์รุนแรงและจะทำให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนมากยิ่งขึ้น


สำหรับการเคลื่อนไหว ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ล่าสุด นายพงษ์พันธุ์ ชื่นใจ ชมรมนักศึกษากับการเมืองเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่มนักศึกษาได้ร่วมกันตั้งโต๊ะเพื่อลงลายมือชื่อถอดถอน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขึ้นที่หน้าห้องสมุดคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากนั้น ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ทางสโมสรนักศึกษา มช.ร่วมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาล้ยธรรมศาสตร์ จะร่วมกันออกแถลงการณ์ร่วมกันและในวันที่ 24 ก.พ.นี้ จะจัดเวทีสาธารณะขึ้นเพื่อเสนอปัญหาข้อเท็จจริงให้นักศึกษา ประชาชนได้รับรู้ต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net