Skip to main content
sharethis


เอแบคโพลล์ รายงานผลการสำรวจ ประชาชาชนไม่เชื่อมั่นศาลรัฐธรรมนูญ หลังไม่รับคำร้อง 27 ส.ว พิจารณาคุณสมบัตินายกฯ ส่วน นิติศาสตร์ มช. ร้องให้ศาลฯทบทวนคำร้องอีกครั้งก่อนจะปิดแนวทางสันติ ด้านนักวิชาการ มธ. ระบุ ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ต้องรื้อศาลรัฐธรรมนูญด้วย

 


สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รายงานผลการสำรวจความเห็นของประชาชาชนเรื่อง "ประชาชนรู้สึกอย่างไรภายหลังการไม่รับพิจารณาคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของศาลรัฐธรรมนูญ และความเห็นต่อกระแสเรียกร้องเงินบริจาคเพื่อสังคมจากการซื้อขายหุ้นชินฯ" ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ จำนวน 1,498 ตัวอย่าง พบว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.1 ให้ความสนใจข่าวการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ ให้นายกรัฐมนตรีลาออก ร้อยละ 63.3 สนใจข่าวปัญหาการเมืองที่ตามมาจากการซื้อขายหุ้นชินฯ ร้อยละ 52.1 สนใจข่าวความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 43.3 สนใจข่าว "ปอ ประตูน้ำ" งัดข้อ "พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์" และร้อยละ 39 สนใจข่าวการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์-บขส.


 


เมื่อสอบถามเฉพาะข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาคำร้องของ 27 ส.ว. เรื่องคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพบว่า ประชาชนเกินกว่าครึ่งหนึ่งเล็กน้อย หรือร้อยละ 53.2 ติดตามข่าว ขณะที่ร้อยละ 46.8 ไม่ได้ติดตาม


 


และเมื่อสอบถามประชาชนที่ติดตามข่าวพบว่า เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.5 ยอมรับได้ เมื่อศาลฯ ไม่รับพิจารณาคำร้องของ 28 ส.ว. ขณะที่ร้อยละ 26.1 ยอมรับไม่ได้ และร้อยละ 38.4 ไม่มีความเห็น


 


ส่วนความเชื่อมั่นต่อการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันนั้น พบว่า ประชาชนร้อยละ 40.3 เชื่อมั่น ขณะที่ร้อยละ 32.7 ไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 27 ไม่มีความเห็น ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนของประชาชนกระจายออกมาจากกลุ่มไม่มีความเห็นไปอยู่กับกลุ่มที่เชื่อมั่นและไม่เชื่อมั่นในสัดส่วนที่ไม่ค่อยแตกต่างกัน ทำให้ตีความได้ว่า จากการสำรวจครั้งนี้พบประชาชนไม่ถึงครึ่งเชื่อมั่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ


         


ส่วนความคิดเห็นของประชาชนกรณีที่ฝ่ายค้านผลักดันให้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในสภาฯ นั้น พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 61 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 20.4 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 18.6 ไม่มีความเห็น


 


สำหรับประเด็นที่น่าสนใจคือ ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 59.9 เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีบริจาคเงินเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยมีค่าเฉลี่ยของจำนวนเงินที่ควรบริจาคในทัศนะของประชาชนคือ 10,473,108,654 บาท ขณะที่ร้อยละ 11.8 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 28.3 ไม่มีความเห็น


 


กล้านรงค์เชื่อยังหวังพึ่งศาลปกครองได้


ด้านคณะนิติศาสตร์ มธ. จัดการอภิปรายสาธารณะเรื่อง "กระบวนการยุติธรรมกับบทบาทในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่น" โดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมการอภิปราย ซึ่งกล่าวตอนหนึ่งว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธไม่รับเรื่องที่ 27 ส.ว.ยื่นให้วินิจฉัยนั้น แม้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะไม่กำหนดไว้ แต่ตามระบบขององค์กรจะต้องใช้วิธีการพิจารณาไต่สวนเมื่อมีการยื่นเรื่องให้วินิจฉัย อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวถึงองค์กรอิสระที่ประชาชนให้การยอมรับในการปฏิบัติหน้าที่ขึ้นอยู่กับประชาชนให้ความเชื่อถือมากน้อยเพียงใด


 


"ขณะนี้มีเพียงศาลปกครองเป็นองค์กรที่ประชาชนให้ความไว้วางใจเชื่อถือสูงสุดในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ปัจจัยที่ประชาชนจะให้ความเชื่อถือหรือไม่ต่อองค์กรนั้นๆ คือ พฤติกรรมของบุคคลในองค์กรซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีปัญหาเรื่องนี้มากที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาเรื่องนี้มาตั้งแต่ครั้งพิจารณาคดีซุกหุ้น 1 " นายกล้านรงค์กล่าว


 


วรเจตน์เสนอรื้อศาลรัฐธรรมนูญ


ด้านเวบไซต์กรุงเทพธุรกิจ ได้รายงานความเห็นของ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ ทั้งในแง่ของโครงสร้างและตัวบุคคล


 


วรเจตน์ กล่าวว่า ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากทั้ง 2 ส่วน คือทั้งตัวบุคคลและระบบ โดยในแง่ของตัวบุคคล ต้องยอมรับว่าพัฒนาการของการมีศาลรัฐธรรมนูญในประเทศไทยค่อนข้างก้าวกระโดด ทำให้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนอย่างเพียงพอ


 


"เมื่อบ้านเราขาดตรงนี้ คนที่เข้าสู่ตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงส่วนหนึ่ง กับอีกบางส่วนมาจากศาลฎีกา ซึ่งในส่วนของอดีตข้าราชการนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าท่านไม่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงในเรื่องกฎหมายมหาชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อขาดพื้นฐานตรงนี้ การชี้ขาดวินิจฉัยคดีจึงเป็นไปตามความรู้สึกของท่านเองมากกว่าจะยึดหลักกฎหมาย ผมพูดอย่างนี้หลายท่านอาจจะไม่พอใจ แต่ผมพูดจากมุมมองของผมที่ได้ศึกษาคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการมาโดยตลอด"


 


อย่างไรก็ดี วรเจตน์ ยอมรับว่า ปัญหาเรื่องตัวบุคคลนั้นแก้ได้ยาก เพราะต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ และต้องสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนขึ้นมา ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่


 


"กฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น พอถึงขั้นที่ต้องตัดสินวินิจฉัยแล้ว นับเป็นเรื่องทางเทคนิคพอสมควร หากเปรียบกับหมอ ก็ต้องเป็นหมอที่ชำนาญเฉพาะทาง แต่บ้านเราไม่ค่อยรู้สึกว่ากฎหมายเป็นเรื่องเทคนิค ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องทางเทคนิคที่เกี่ยวพันกับความยุติธรรม สังคม และการเมือง" เขากล่าว


 


ในประเด็นนี้ วรเจตน์ เสนอว่า การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ควรรื้อระบบการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องแสดงวิสัยทัศน์ เพราะสิ่งที่ควรดำเนินการมากกว่าก็คือ น่าจะย้อนกลับไปดูประวัติการทำงานที่ผ่านมาในอดีตว่า บุคคลผู้นั้นได้ทำงานอะไรที่เกี่ยวพันกับการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญบ้าง มีบทบาทหรือผลงานอะไรเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากทำได้ จะช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง


 


นักกฎหมายมหาชนผู้นี้ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาอีกส่วนหนึ่ง ก็คือปัญหาเชิงระบบ หมายถึงวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยประเด็นสำคัญที่เรียกร้องกันมานานแล้ว ก็คือการที่รัฐธรรมนูญไปกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณาของตัวเอง ซึ่งผิดหลักการที่ควรจะเป็น


 


"หลักการที่ใช้กันทุกประเทศ คือกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของศาล จะต้องออกโดยรัฐสภา เพราะจะได้ควบคุมการทำงานของศาลไปในตัว แต่เมื่อปล่อยให้ศาลไปออกข้อกำหนดเสียเอง หลักของการควบคุมการทำงานของศาลจึงไม่เกิดขึ้น บางทีศาลก็กำหนดเอาความสะดวกของตนเองเป็นที่ตั้ง หรือขาดรายละเอียด เพราะหากกำหนดรายละเอียดบางเรื่องมากเกินไป ก็จะเป็นการมัดตัวเอง"


 


วรเจตน์ บอกว่า ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างใน 2 ส่วน คือ 1.คดีที่ขึ้นสู้ศาลต้องชัดเจนยิ่งขึ้น และ 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้รัฐสภามีอำนาจออกกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ


 


"สองเรื่องนี้ต้องทำ และถ้าทำได้ ปัญหาบางอย่างที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้คงแก้ไปได้บ้าง แต่คงไม่หมดเสียทีเดียว เพราะปัญหาอีกด้านเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่ใช้กฎหมายด้วย"


 


กระนั้นก็ตาม วรเจตน์ เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ไม่ควรไปโทษว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคลอย่างเดียว หรือโทษระบบอย่างเดียว เพราะเป็นปัญหา 2 ด้านประกอบกัน


 


"ผมไม่อยากให้กลายเป็นอคติ เพราะจริงๆ แล้วศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีประโยชน์มาก ในเยอรมัน เคยมีการสำรวจความคิดเห็นประชาชน พบว่าองค์กรของรัฐที่ประชาชนเชื่อถือสูงที่สุด คือศาลรัฐธรรมนูญ กับธนาคารชาติ" วรเจตน์ ระบุ


 


ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรง ประเด็นหนึ่งที่พูดกันมากก็คือ ช่องทางที่จะเข้าไปตรวจสอบการทำงานของตุลาการที่นอกเหนือไปจากการยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปได้ยากเหลือเกิน โดย วรเจตน์ บอกว่า ช่องทางดังกล่าวนั้นมีอยู่ นั่นก็คือการเข้าไปตรวจสอบคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละท่าน


 


"รัฐธรรมนูญบังคับให้ตุลาการทุกคนทำคำวินิจฉัยส่วนตน ซึ่งถือเป็นความหวังดีของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยอยากจะให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบ และอยากให้ตุลาการได้ตระหนักและสำนึกก่อนตัดสินใจวินิจฉัยในแต่ละเรื่องว่า คำวินิจฉัยของท่านจะตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา และจะบอกความเป็นตัวตนของท่านไปชั่วลูกชั่วหลาน ฉะนั้นการจะวินิจฉัยอะไรต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงสุด"


 


อย่างไรก็ดี วรเจตน์ ยอมรับว่า ความมุ่งหวังดังกล่าวนี้ ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อมวลชนไม่ค่อยตามไปอ่าน ขณะที่ในทางวิชาการก็ติดตามกันน้อยมาก และปัญหาอีกด้านหนึ่งก็คือ เมื่อตรวจสอบหรือตามไปอ่านแล้วก็ทำอะไรไม่ได้


 


"อย่างตุลาการบางท่าน ผมตรวจสอบดูในคำวินิจฉัย ท่านเขียนเหมือนนิยาย บางท่านก็เขียนตำหนิผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องลงไปโดยไม่ได้อิงหลักกฎหมาย ตุลาการบางท่านเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนขัดกับหลักนิติศาสตร์ด้วยซ้ำไป แม้แต่เรื่องลำดับชั้นของกฎหมายก็ยังไม่ถูกต้อง" วรเจตน์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net