Skip to main content
sharethis



ภาพจาก
http://www.aljazeerah.info


 



ประธานาธิบดีแห่งไนจีเรีย โอลูเซกุน โอบาซันโจ ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำการช่วยเหลือและต่อรองกับกองกำลังปลดปล่อยสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์หรือเมนด์ (MEND: The Movement for the Emancipation of the Niger Delta) ภายหลังจากที่พนักงานบริษัทเชลล์จำนวน 9 คนถูกจับตัวเป็นตัวประกันเมื่อวันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้ พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์เป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศไนจีเรีย และถือเป็นบริเวณที่มีบริษัทน้ำมันต่างชาติตั้งอยู่หนาแน่นที่สุด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวจัดเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ที่บริษัทน้ำมันของสหรัฐอเมริกาใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบ


 


การเคลื่อนไหวของกองกำลังกลุ่มต่างๆ ในประเทศไนจีเรีย เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา โดยกองกำลังแต่ละกลุ่มจะมีเจตนารมณ์ที่แตกต่างกัน แต่กองกำลังเมนด์ได้ประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่มอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2549 โดยให้เหตุผลว่าแหล่งน้ำมันธรรมชาติที่มีอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ตกอยู่ในเงื้อมมือของบริษัทต่างชาติซึ่งผลาญทรัพยากรและทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งควรจะเป็นของชาวไนจีเรียทุกคน กองกำลังจึงคิดจะ "ทวงคืน" แหล่งน้ำมันซึ่งควรจะเป็นทรัพยากรของประเทศ


 


ด้วยเหตุนี้ นายพล ก็อดส์วิลล์ ทามูโน ผู้นำกองกำลังเมนด์จึงส่งแถลงการณ์ของกลุ่มไปยังสื่อมวลชนผ่านทางอี-เมล์ เพื่อเตือนให้บริษัทน้ำมันต่างๆ เคลื่อนย้ายออกไปจากพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ โดยกลุ่มเมนด์กำหนดเส้นตายให้ทุกบริษัทเคลื่อนย้ายพนักงานออกไปจากพื้นที่ คือวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2549 ก่อนเวลาเที่ยงคืน แม้ว่าบางบริษัทจะอพยพพนักงานออกไปจากพื้นที่แล้ว แต่ก็ยังมีพนักงานของบริษัทน้ำมัน "เชลล์" ถูกจับเป็นตัวประกัน ในขณะที่พนักงานทีมดังกล่าวกำลังวางท่อส่งน้ำมันอยู่


 


พนักงานที่ถูกจับเป็นตัวประกันทั้ง 9 คน ประกอบด้วย ชาวอเมริกัน 3 คน ไทย 2 คน อียิปต์ 2 คน อังกฤษ 1 คนและฟิลิปปินส์ 1 คน โดยพนักงานชาวไทยที่ถูกจับตัวไปคือนายสมศักดิ์ มัดโม อายุ 43 ปี และนายอารักษ์ สุวรรณา อายุ 33 ปี เป็นชาวกรุงเทพทั้งคู่ ซึ่งทั้งสองคนทำงานเป็นช่างเครื่องของบริษัทดังกล่าวเป็นเวลา 3 - 4 ปีแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวของบีบีซีกล่าวว่าตัวประกันที่ตกอยู่ในสถานการณ์ลักพาตัวในประเทศไนจีเรียมักจะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีอันตรายใดๆ โดยส่วนใหญ่จะมีการจ่ายเงินค่าไถ่เป็นการแลกเปลี่ยน แต่การลักพาตัวครั้งนี้เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะกองกำลังปลดปล่อยดังกล่าวเรียกร้องขอมีส่วนแบ่งในการจัดสรรทรัพยากรน้ำมันราวๆ ร้อยละ 20 จากรัฐบาลไนจีเรีย ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งรัฐบาลไนจีเรียอาจจะไม่ยอมตกลงด้วยอย่างง่ายดายนัก


 


พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ มีขนาดใหญ่ถึงร้อยละ 7.5 ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศไนจีเรีย มีชนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ราว 40 กลุ่ม คิดเป็นประชากรกว่า 20 ล้านคน โดยอาชีพหลักของประชากรในท้องถิ่นได้แก่การทำเกษตรกรรมและการประมง


 


ทว่า นับตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา รัฐบาลไนจีเรียเปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาใช้ทรัพยากรน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าว ประชาชนจึงสูญเสียอาชีพและที่ดินทำกินของตัวเองไป เนื่องจากสภาพแวดล้อมถูกทำลายด้วยการขุดเจาะหาแหล่งน้ำมัน ทำให้เกิดปัญหาความยากจนอย่างรุนแรง ซึ่งขัดแย้งกับรายได้ที่บริษัทต่างชาติได้จากการซื้อขายน้ำมันในตลาดโลก จึงเป็นเหตุให้เกิดความเคลื่อนไหวของกองกำลังต่างๆ ที่ต้องการปลดปล่อยพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นอิสระจากบริษัทต่างชาติ


 


กองกำลังปลดปล่อยสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ได้ร่วมมือกับขบวนการปลดปล่อยในพื้นที่ ซึ่งก็คือ ขบวนการไอจอว์ (Ijaw) พร้อมทั้งประกาศว่าจะมีปฏิบัติการ "กุมภาพันธ์ทมิฬ" (Dark February) เกิดขึ้น เพื่อที่จะทำการยึดพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์คืนมาจากบริษัทต่างชาติให้หมด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net