Skip to main content
sharethis



 


 


"ประภาส ปิ่นตบแต่ง" เป็นอาจารย์ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานเคลื่อนไหวทางวิชาการเคียงคู่กับ "สมัชชาคนจน" มายาวนาน เมื่อกองทัพคนจนตัดสินใจกลับมาค้างแรมหน้าทำเนียบอีกครั้ง (20 ..49) ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนผ่าวไม่เอาทักษิณฯ "ประชาไท" จึงต้องรีบเข้าไปซักถามหัวเรี่ยวหัวแรงคนนี้ ซึ่งได้คำตอบแบบว่า ขอประชาธิปไตยที่กินได้  ส่วนอัปรีย์จะไป จัญไรจะมาช่างหัวมันเถอะ!


 


0 0 0


 


สาเหตุ และ เป้าหมายของสมัชชาคนจน ในการกลับมาครั้งนี้คืออะไร ?


การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 10 ปีสมัชชาคนจน (ก่อตั้งเมื่อ 10 ธันวาคม 2538) เนื่องจากมีมติพ่อครัวใหญ่ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ปลายปี 2548 ว่า จะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนที่รัฐบาลที่รับปากไว้ตั้งแต่สมัยที่แล้ว แต่จนถึงวันนี้แทบจะไม่มีความก้าวหน้าเลย


 


การชุมนุมจะเริ่มขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ มีเป้าหมายหลัก 3 ข้อ คือ 1. เปิดโปงการแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมารัฐบาลมักจะโฆษณาสร้างภาพว่า ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาต่างๆ  ตลอดเวลา สมัชชาคนจนในฐานะที่เป็นกลุ่มคนชายขอบที่ยากจนจากนโยบายการพัฒนา การแย่งชิงทรัพยากร  โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ  ซึ่งถือเป็นความยากจนที่มีปัญหาเชื่อมโยงโดยตรงจาก "โครงสร้าง" ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม จึงอยากมาบอกกล่าวกับสังคมว่า ขณะนี้รัฐได้แก้ไขปัญหาหรือไม่ อย่างไร


 


2. เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา โดยพื้นฐานองค์กรอย่างสมัชชาคนจน หรือองค์กรชาวบ้าน องค์กรแรงงาน และอื่นๆ มีลักษณะเป็น "องค์กรมวลชน" ซึ่งมีที่มาของการรวมตัวจากปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น  ดังนั้นเป้าหมายของการรวมตัว คือ การแก้ไขปัญหาของสมาชิก ตราบใดที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข และองค์กรยังไม่ถูกทำลายหรือหมดแรงไปเองเสียก่อน การเคลื่อนไหวเรียกร้องก็ยังต้องดำเนินต่อไป


 


3. ผลักดันเรื่องการปฏิรูปการเมืองเพื่อคนจน  นอกจากที่จะผลักดันการแก้ไขปัญหาของตนเองแล้ว ในสถานการณ์ไล่นายกฯ ทักษิณในปัจจุบันนั้น การปฏิรูปการเมืองรอบ 2 เป็นวาระที่สำคัญของสังคม สมัชชาคนจนซึ่งมีส่วนร่วมในการผลักดันปฎิรูปการเมืองในรอบแรกโดยหวังว่าจะนำพาสังคมการเมืองไทยไปในทางที่ดีขึ้น แต่ถึงวันนี้ เราได้ข้อสรุปได้ว่า การปฏิรูปการเมืองที่ผ่านมา คนจนแทบจะไม่ได้ประโยชน์เลย ดังนั้น พวกเราทุกคนจึงไม่ควรไปฝากความหวัง หรือให้อำนาจกับพวกนักกฎหมายมหาชน พวกเทคโนแครต ชนชั้นนำบางกลุ่มเท่านั้น เพราะไม่อย่างนั้นก็คงไม่ต่างกับครั้งแรก


 


สรุปว่าในสถานการณ์ร้อน ไม่เอานายกฯ ทักษิณ สมัชชาคนจนจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้ยังไง แล้วมีการต่อเชื่อมกับองค์กรพันธมิตรที่เคลื่อนไหวอยู่หรือเปล่า


แน่นอน นี่เป็นคำถามที่พันธมิตรและองค์กรภาคประชาชนที่กำลังเคลื่อนไหวถามมายังสมัชชาคนจนด้วยว่าจะเอายังไง  มันเป็นโจทย์ที่ยากที่สุด และทุกคนในสมัชชาคนจนก็ตระหนักมาตลอด เข้าใจว่ามีการประชุมแลกเปลี่ยนกันหลายต่อหลายครั้ง ก่อนที่จะตัดสินใจออกมาเป็นอย่างนี้


 


ในสถานการณ์ที่กระแสการไล่ทักษิณสูงขึ้นไปเรื่อยๆ คำถามจากฝ่ายต่างๆ ที่พุ่งตรงมายังสมัชชาคนจนคือ รัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศหรือยัง ถ้าหมดแล้ว ก็ต้องไล่  ถ้าไม่ไล่รัฐบาลแล้วยังมาเรียกร้องอีก ก็หมายความว่า ยังความความชอบธรรมกับรัฐบาลใช่ไหม หรือคำถามทำนองว่า ไม่กลัวตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองหรือ แม้กระทั่งมีการมองว่า องค์กรอย่างสมัชชาคนจนเห็นแก่ตัว คิดแต่เรื่องปัญหาของตนเอง ไม่ก้าวหน้า ไม่ยกระดับ ซึ่งผมคิดว่าบางเรื่องเข้าใจได้ แต่บางทีไม่ค่อยเป็นธรรมกับพวกเขาเท่าไหร่


 


สมัชชาคนจนอาจจะไม่จำเป็นต้องต้องตอบคำถามเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะคำถามเหล่านี้มันมีเพียง 2 ทางให้เลือก คือ ไล่กับไม่ไล่ แต่อาจจะเริ่มจากว่า สมัชชาคนจนต้องการอะไร และปัญหาเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ต้องออกมาแก้ไขปัญหา


 


แสดงว่ารัฐบาลยังมีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ


ไม่ใช่ ปัญหาเรื่องปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาล สมัชชาคนจนเองเขาก็รู้สึกมานานแล้ว เพราะเขาได้รับผลกระทบโดยตรง รัฐบาลไม่เคยมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเลย  ลึกๆ หลายคนคงอยากไล่มานานแล้วด้วยซ้ำไป แต่เพราะด้วยปัญหาที่ค้างคาอยู่ต้องใช้อำนาจของรัฐบาล หรือกลไกของรัฐในการแก้ปัญหา จึงต้องตัดสินใจแบบนี้ ให้การมาชุมนุมครั้งนี้ของสมัชชาคนจนมุ่งเพียงระดับการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของสมาชิกเป็นพื้นฐาน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ถ้าเราเข้าใจลักษณะของขบวนการเคลื่อนไหวแบบสมัชชาคนจน


 


เพราะในยุคที่รัฐบาลมีความมั่นคง มีเสถียรภาพทางการเมือง ได้รับความนิยมชมชอบจากส่วนต่างๆ การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนทำได้ยาก ถึงแม้จะพยายามหลายครั้งหลายคนก็ไม่ประสบความสำเร็จ และถูกตอบโต้ด้วยวิธีการรุนแรง เช่น การใช้เทศกิจกดดันการชุมนุม ไล่ชาวบ้านกลับบ้านเหมือนไม่ใช่คน  เรียกได้ว่า เป็นช่วงที่โครงสร้างโอกาสทางการเมืองปิด โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหวก็มีน้อย แต่ในขณะนี้รัฐบาลเริ่มมีปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง ไม่เข้มแข็ง มีปัญหาต่างๆ รุมเร้า หรือโครงสร้างโอกาสทางการเมืองเริ่มเปิดขึ้น ก็ถือว่า เป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรแบบนี้เคลื่อนไหวมากขึ้น


     


อันนี้เป็นการพิจารณาการเคลื่อนไหวจากโครงสร้างโอกาสทางการเมือง และอีกส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหว คือ ความพร้อมภายในองค์กรเอง ซึ่งถ้าเข้าใจเรื่องนี้ ก็จะสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมช่วงหนึ่งสมัชชาคนจนหายไปจากหน้าทำเนียบ


 


พูดกันตรงไปตรงมา สมัชชาคนจนไม่ค่อยสนใจว่า ไม่เอาทักษิณแล้วจะเอาใคร  เพราะมีคำถามสำคัญกว่านั้นคือ จะสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ แก้ไขปัญหาคนจนได้อย่างไร จะสร้างการเมืองที่เห็นหัวคนจนได้อย่างไร  ส่วนอัปรีย์จะไป จัญไรจะมาก็ช่างหัวมันเถอะ


 


นี่เป็นสิ่งซึ่งสรุปร่วมกันว่า การเคลื่อนไหวจะไม่ผูกติดกับตัวผู้นำ พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ประสบการณ์จากการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาให้บทเรียนว่า การเมืองแบบล็อบบี้ไม่ควรเป็นยุทธศาสตร์หลักของขบวนการฯ


 


ความจริงเรื่องไล่รัฐบาล ผมคิดว่าไม่เพียงเฉพาะสมัชชาคนจนเท่านั้นที่ต้องคิดมาก คนอื่นๆ ก็คิดมากเหมือนกันในการเข้าร่วม คือวันนี้เราก็ไม่รู้ว่าหลังทักษิณคืออะไร แล้วประชาชน คนยากจนจะได้ประโยชน์ยังไง ปัญหาของเขาจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ นี่ยังไม่นับถึงเรื่องความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และผลกระทบกับองค์กรเอง เช่น มีสมาชิกมาไล่รัฐบาล ข้างหลังในหมู่บ้านก็ถูกกลไกรัฐ ข้าราชการ ตามไล่เช็คบิล เรื่องนี้องค์กรพันธมิตรต่างๆ ที่กำลังไล่ทักษิณอยู่ในตอนนี้ก็เข้าใจได้ไม่ยากนัก


 


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สมัชชาคนจนยังไม่ได้ออกมาเรียกร้องหรือไล่รัฐบาล แต่โดยกระบวนการแล้ว การมาชุมนุมของสมัชชาคนจน มันก็เป็นส่วนหนึ่งในการเปิดโปงปัญหาของระบบทักษิณ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องความยากจน โดยตัวมันเอง


 


แล้วอะไรคือหัวใจ ในการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน


ความยากจนที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ "การเมืองไม่เห็นหัวคนจน" ชาวบ้านไม่มีโอกาส ไม่มีอำนาจ ไม่มีพื้นที่หรือช่องทางที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม ตรวจสอบนโยบายสาธารณะ โครงการขนาดใหญ่ที่มากระทบกับวิถีชีวิต


 


ดังนั้น สำหรับคนจนแล้วการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ จะต้องตอบปัญหาเฉพาะหน้า คือเรื่องปากท้องก่อน ซึ่งเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับปัญหาความเป็นธรรมทางสังคม คนจนอาจจะสนใจเรื่องนี้มากกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพ ธรรมาภิบาลแบบกระแสเรียกร้องของคนชั้นกลาง


 


คาดว่าจะชุมนุมยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน


โดยปกติของการชุมนุมของชาวบ้านในชนบทมักจะเกิดขึ้นหลังจากเสร็จจากฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว การมาครั้งนี้ก็มีการเตรียมการไว้แล้ว ก่อนที่จะกระแสเคลื่อนไหวไล่ทักษิณจะแรงขึ้น


 


ส่วนว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อมากน้อยแค่ไหนก็คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์  ไม่ได้กำหนดตายตัว ถ้ารัฐบาลแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จอย่างเป็นรูปธรรมน่าพอใจ ชาวบ้านก็ไม่มีเหตุผลจะอยู่ เพราะไม่มีใครอยากมานอนข้างถนนนานๆ หรอก มันลำบาก เหนื่อย  แต่คิดว่าเรื่องนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก หากรัฐบาลไม่แก้ปัญหา ใช้วิธีการกดดันผู้ชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงอีก ชาวบ้านเขาก็อาจเข้าร่วมขบวนการไล่ทักษิณก็ได้ เพราะเอาเข้าจริงๆ ชาวบ้านเหล่านี้แหละ สมัชชาคนจนนี้แหละ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ มีความขัดข้องใจกับรัฐบาลทักษิณเป็นกลุ่มแรกๆ เสียด้วยซ้ำ


 


อย่างไรก็ตาม เรื่องการเคลื่อนไหวในระดับที่สูงไปมากกว่านี้ มันอาจจะมีบ้างขึ้นอยู่กับระดับความพร้อมขององค์กรและสมาชิก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วถ้าเคลื่อนไหวในเรื่องที่ไกลจากปัญหาพื้นฐานชีวิตชาวบ้านแล้วค่อนข้างที่จะทำได้ยาก เนื่องจากลักษณะขององค์กรแตกต่างจากองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ คือ ต้องรับผิดชอบต่อสมาชิก และหากตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องนำสมาชิกเข้ามาร่วมผลักดันเคลื่อนไหวด้วย ไม่ใช่แค่ประกาศหรือแถลงการณ์เพียงอย่างเดียว


           


คิดยังไงกับกระแสการปฏิรูปการเมืองรอบ 2


อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ ที่เราก็ร่วมผลักดันด้วย ในแง่มุมของคนจน คิดว่าต้องใช้ช่วงเวลาและเวทีในการชุมนุมนั้นในการการระดมความคิดเห็นของสมาชิกและพันธมิตร ซึ่งเป็นองค์กรประชาชนต่างๆ ร่วมจัดทำข้อเสนอของคนจนต่อการปฏิรูปการเมือง โดยมีเนื้อหาที่สะท้อนปัญหารูปธรรมจากความเรียกร้องต้องการ ซึ่งจะไปปรากฏในกฎหมายลูกหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เรื่องพวกนี้ต้องได้รับการรองรับและนำไปสู่การปฎิบัติอย่างรูปธรรม  เช่น สิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ภาษีสิ่งแวดล้อม สวัสดิการแรงงาน สิทธิของเกษตรกร สิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัย การกระจายรายได้ การเก็บภาษีก้าวหน้า เป็นต้น


 


อันนี้คงต้องผ่านกระบวนการระดมความคิดเห็น ทำเป็นหลักการ ร่างละเอียด และการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง


อย่างไรก็ดี กลุ่มคนจนต่างๆ ไม่เพียงเฉพาะสมัชชาคนจนเท่านั้น ที่ต้องค้นคิดและผลักดันให้เป็นวาระหนึ่งของสังคมด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญมากนัก


 


ย้อนกลับมาที่ปัญหาคนจน สถานการณ์ปัญหาของแต่ละกลุ่มในช่วงที่เงียบหายไปดีขึ้นหรือแย่ลงยังไงบ้าง


ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลไทยรักไทย พูดได้ว่าโดยภาพรวมแล้วความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ช่วงหลังจากที่นายกฯ ลงไปกินข้าวกับชาวบ้านที่หน้าทำเนียบรัฐบาลรัฐบาลทักษิณได้มีแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญาสมัชชาคนจนขึ้น มีนายปองพล อดิเรกสาร รองนายกฯ เป็นประธาน และมีการตั้งคณะกรรมการติดตามการแก้ปัญหาฯ ซึ่งพ่อใหญ่จิ๋วเป็นประธาน แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการกลายเป็นเพียงกลยุทธ์ของรัฐบาลในการซื้อเวลา มีการประชุมครั้งเดียวเท่านั้น  และในที่สุดรัฐบาลได้ยุบทั้ง 2 ชุดในปี 2548 โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อใช้กลไก ศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน(ศตจ.) 


 


นอกจากนี้ ยังยกเลิกคณะกรรมการเขื่อนที่ยังไม่สร้าง 5 เขื่อน เพื่อเป็นองค์กรที่ผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ ได้เข้าร่วมและทำหน้าที่ในการกำกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA) โดยมีมติให้ชะลอการสร้างเขื่อนต่างๆ ไว้ก่อน เหตุผลในการยกเลิกคณะกรรมการเขื่อนของรัฐบาลคือ ทำให้ขั้นตอนล่าช้า และกลับไปว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งก็จะไปสร้างปัญหาความขัดแย้งดังกรณีโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ อีก


 


ในด้านเนื้อหา อาจจำแนกให้เห็นในรายละเอียด คือ 


 


1.กรณีเครือข่ายปัญหาเขื่อน  มีเพียงกรณีเขื่อนห้วยละห้าเท่านั้นที่ได้รับความสนใจซึ่งมีแม่ใหญ่ไฮ ขันจันทา ผู้ได้รับผลกระทบจาการสร้างเขื่อนร่วมอยู่ด้วย และได้ดำเนินการทุบเขื่อนเอาชีวิตเข้าแลก    แต่ปัจจุบันแม่ใหญ่ไฮก็ไม่ได้รับค่าชดเชยค่าเสียโอกาสที่มีมาร่วม 27 ปี เป็นผลให้แม่ใหญ่ไฮ  ไม่มีทุนรอนในการจัดการที่ดินที่ได้คืนมา


 


ส่วนกรณีปัญหาเขื่อนอื่นๆ มีชะตากรรมไม่แตกต่างกัน เช่น กรณีเขื่อนสิรินธรมีมติคณะรัฐมนตรีให้ช่วยเหลือชาวบ้านโดยการให้จัดหาที่ดินให้ชาวบ้านครอบครัวละ 15 ไร่ ถึง 4 ครั้งในรัฐบาลเดียวก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กรณีเขื่อนปากมูลมีข้อตกลงว่าจะใช้ผลการศึกษาของ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในการตัดสิน  แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจตามใจรัฐบาล โดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลฯ  เป็นต้น


 


2. กรณีปัญหาเครือข่ายที่ดินสาธารณะ พื้นฐานปัญหามาจากการออกเอกสารสิทธิ์และการประกาศเขตที่ดินของรัฐโดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม การแก้ไขปัญหาระดับนโยบาย เช่นการจำกัดการถือครองที่ดิน การจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าไม่มีการดำเนินการ ส่วนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านรายกรณีแม้ว่าจะมีกลไกการทำงานต่อเนื่องมาตลอดแต่เป็นเพียงการชะลอไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าของคู่กรณีเท่านั้น


 


3. กรณีปัญหาของเครือข่ายป่าไม้ เครือข่ายป่าไม้เป็นเครือข่ายกรณีปัญหาที่มีมากที่สุดในสมัชชาคนจนตลอด 5 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถตกลงหาหลักการแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ ที่สำคัญรัฐบาลยังมีนโยบายขยายเขตอุทยานแห่งชาติ นโยบายหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่โดย ทำนองให้นโยบายหนึ่งคือการยึดที่ดิน อีกนโยบายหนึ่งคือการอพยพโยกย้าย ส่วนพระราชบัญญัติป่าชุมชนที่เสนอโดยภาคประชาชนยังคงค้างไว้ในสภา โดยไม่ได้รับความจริงใจจริงจังจากรัฐบาลแต่อย่างใด


 


4. กรณีปัญหาของสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม ปัญหาของสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมนั้น มีเพียงกรณีสารเคมีระเบิดที่คลองเตยเท่านั้นที่ได้รับการแก้ไขปัญหา ส่วนกรณีปัญหาข้อโต้แย้งกับกองทุนเงินทดแทนก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะหาข้อยุติได้ เนื่องจากทางกองทุนไม่ยอมรับผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และพยายามจะให้ผู้ป่วยไปตรวจใหม่กับหมอของกองทุน ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ที่เป็นข้อเรียกร้องร่วมกันของผู้ใช้แรงงานยังไม่มีความคืบหน้า แต่รัฐบาลกลับส่งเสริมการลงทุนของนายทุนโดยไม่มีมาตราการคุ้มครองชีวิตคนงานแต่อย่างใด


 


5. กรณีปัญหาของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ปัญหาของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักในการสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยมีความพยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการจัดทำเป็นนโยบายเสร็จแล้ว ตั้งแต่พฤศจิกายน ๒๕๔๕ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไม่นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี 


 


นอกจากนั้นรัฐบาลยังพยายามล้มมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการห้ามปลูกทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรมในระดับไร่นา จนกว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยทางชีวภาพ  ตลอดจนทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาค (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้ผลิตและผู้บริโภคในอนาคต


 


6. กรณีปัญหาเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ปัญหาเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน  เป็นอีกเครือข่ายหนึ่งที่ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ทั้งในด้านการปราบปรามเครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง การฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง นอกจากไม่มีความชัดเจนทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติแล้ว ยังมีการทำนโยบาย SEAFOOD BANK ซึ่งนอกจากกระทบต่อสิทธิการทำกินของชาวประมงพื้นบ้านแล้วยังอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรชายฝั่งด้วย


 


ส่วนด้านการพัฒนากฎหมายประมง ทางกรมประมงได้ทำการยกร่าง พ...ประมง ที่จำกัดสิทธิและทำลายวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านเช่น กฎหมายบัญญัติให้มีเขตประมงชุมชน แต่วิถีจริงของชาวประมงพื้นบ้านนั้นมีการทำประมงโดยไม่จำกัดอาณาเขต เป็นต้น


 


7. เครือข่ายชุมชนแออัด เครือข่ายชุมชนแออัด  เป็นเครือข่ายหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจจากรัฐบาล ภายใต้นโยบายบ้านมั่นคง แต่นโยบายดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาชาวชุมชนให้ลุล่วงไปได้  เพราะชาวชุมชนต้องพบปัญหาการความมั่นคงในที่ดิน ซึ่งเจ้าของที่ดิน โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ เช่น การรถไฟ การท่าเรือ ให้เช่าในระยะเวลาสั้นๆ  ในขณะที่นโยบายบ้านมั่นคง ชาวชุมชนต้องกู้เงินจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในระยะยาว  นอกจากนั้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็น 5 ปีที่เต็มไปด้วยอภิมหาโปรเจค ที่ต้องการใช้ที่ดินทำให้การไล่รื้อชุมชนแออัดฟื้นคืนชีพมาอีกครั้ง


 


แนวทางการแก้ปัญหาความยากจนที่รัฐบาลพยายามโปรโมทหนักในช่วงนี้ ช่วยแก้ปัญหาได้บ้างหรือไม่?


ผมพูดเอาไว้หลายแห่งแล้ว  ปัญหาสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลก็คือ ความกลวงและความไม่เพียงพอของนโยบาย


 


ความกลวงด้านฐานคิดเกี่ยวกับความยากจน รัฐบาลและนายกฯ มองความยากจนเป็นเรื่องความบกพร่องส่วนบุคคล จนเพราะไม่รู้จักอดออม ไม่รู้จักใช้จ่าย ไม่รู้จักผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการ ฯลฯ 


 


แต่กรณีความจนแบบสมัชชาคนจนเป็นเรื่องของ จนอำนาจ จนโอกาส จนเพราะการเมืองไม่เห็นหัวกู ไม่ให้พื้นที่ กลไกการมีส่วนร่วมแก่คนจนเพราะที่จะตรวจสอบนโยบายรัฐ  ให้อำนาจชุมชนในการดูแลปกป้องฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ฯลฯ ของชุมชน


ความกลวงด้านการชี้วัดความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน  เช่น การใช้เส้นความยากจน 1,243 บาท ต่อคนต่อเดือน หรือเกณฑ์จปฐ. 20,000 บาทต่อคนต่อปี  ซึ่งคงแก้ไขไม่ได้ยากตามเกณฑ์นี้  เพราะกลไกผู้ว่าฯ ซีอีโอ คงช่วยเสกเป่าตัวเลขให้คนจนหายไปในไม่ช้านี้


 


การชี้วัดความสำเร็จของกองทุนหมู่บ้านโดยอาศัยตัวเลขการคืนเงินกู้ได้สูงถึงร้อยละ 97.5 ซึ่งมีการโฆษณากันในงาน "มหกรรมจากรากหญ้าสู่รากแก้ว" พอผู้คนรุมด่าว่า หนี้ที่คืนเป็นแบบผลัดผ้าขาวม้า เงินกู้ไม่ได้นำไปสู่การลงทุนหรือการผลิต การแถลงผลงานล่าสุดจึงเปลี่ยนมาโฆษณาจำนวนผู้ที่กู้กองทุนหมู่บ้านว่ามีสูงถึง 17 ล้าน แต่ไม่เคยลงไปตรวจสอบว่า ผู้คนเอาไปลงทุนมากน้อยแค่ไหน


 


ตัวเลขการขายสินค้าโอท็อป 1.5 แสนล้าน แต่ก็ไม่เคยแจกแจงให้เห็นว่า สินค้าต่างๆ เหล่านี้เป็นของผู้ประกอบการ SME ที่ตั้งกันมาก่อนโอท็อป ชาวบ้านตาสีตาสาได้ประโยชน์แค่เป็นลูกจ้างที่ไม่มีการคุ้มครองสวัสดิการ ค่าจ้างขั้นต่ำ  ซึ่งรัฐบาลนี้ไม่เคยเหลียวแลแรงงานนอกระบบ ฯลฯ


 


การแก้ไขปัญหาด้วยการเอาเงินไปใส่มือชาวบ้านแล้วหวังว่า ชาวบ้านจะเอาไปลงทุนทำการผลิต เมื่อได้ผลผลิตแล้วก็เอาไปขายโอท็อปจึงเป็นภาพลวงตาที่รัฐบาลสร้างขึ้น ผู้คนก็มักจะตามไม่ทันว่ามันกลวงอย่างไร เพราะเป็นเรื่องซับซ้อนซ่อนเงื่อน    


 


การแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินราว 4 แสนล้านบาท ก็ดำเนินการแค่ซื้อหนี้เกษตรกรที่ถูกยึดทรัพย์และขายทอดตลาด ภายใต้กลไกกองทุนฟื้นฟูฯ มีข้อตกลงที่จะซื้อหนี้เพียง 126 ราย เครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ ที่ออกมาชุมนุมชี้ให้เห็นว่า แม้แค่ที่ตกลงกันธนาคารก็ยังไล่ยึดทรัพย์ชาวนา เพราะไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง เป็นเพียงข้อตกลงเบื้องต้นเท่านั้น การแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐบาลจึงเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเท่านั้น การมีเงินกองทุนเข้ามาสู่ชุมชนไม่ไดทำให้สถานการณ์หนี้สินดีขึ้น ดังตัวเลขเฉลี่ยหนี้เพิ่มขึ้นจาก 84,000 บาท เป็น ราว 104,000 บาท สภาพเกษตรกรที่ไปไม่รอดในระบบเศรษฐกิจการตลาดยังดำรงอยู่โดยที่นโยบายประชานิยมไม่ได้เข้ามาเตะแต่อย่างไร


 


โดยสรุป การแก้ปัญหาความยากจนจึงเป็นเพียงการสร้างมายาภาพ สำหรับสมัชชาคนจนแล้วเป็นการละเลยปัญหาที่เกิดจากผลกระทบนโยบายรัฐ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องล้มเหลวส่วนบุคคล  นโยบายประชานิยมคงช่วยบรรเทาปัญหาบางมิติของชีวิตได้บ้าง แต่ยังห่างไกลกับปัญหาของคนจนอำนาจ จนโอกาส  


 


 


=================================================


ต้องการแสดงความเห็นและอ่านความเห็นของข่าวนี้ คลิกที่นี่


=================================================

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net