Skip to main content
sharethis

 


ประชาไท—22 ก.พ. กองทุนสัตว์ป่าสากล (WWF) ประเทศไทย และ CAN Thailand ย้ำถ่านหินสะอาด ไม่มีในโลก เพราะไม่สามารถจัดการกับปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นตัวการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ โลกร้อน ที่กำลังส่งผลที่ชัดเจนและใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะ ชี้เป็นเพียงความพยายามที่จะจัดการกับปัญหาที่ปลายเหตุ สวนกระแสโลกที่กำลังเน้นการลดและแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เรียกร้องเจ้าภาพหลักจัดเวทีการประชุมถ่านหินสะอาดในไทยมีวิสัยทัศน์และให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น


 


ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22-25 ก.พ. ที่จะถึงนี้ กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) จะเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาวิชาการและแนวนโยบายเกี่ยวกับถ่านหินสะอาด ขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย-เปซิฟิค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ภายใต้หัวข้อ Clean Coal - Diversifying and Securing Thailand"s Energy Future: Clean Fossil Energy Technical and Policy Seminar ขึ้น ณ โรงแรมเวียงละคอน จังหวัดลำปาง เพื่อเสนอนโยบายพลังงานฟอสซิลสะอาดในกลุ่ม APEC ด้านพลังงาน จำนวน 21 ประเทศ และนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆด้านถ่านหินสะอาด เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ในประเทศสมาชิกมากขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม ทั้ง WWF และ CAN Thailand ระบุว่า ถ่านหินสะอาด เป็นเทคโนโลยีการกำจัดหรือลดมลพิษจากการเผาถ่านหิน โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ในทางเทคนิค เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดได้รับการพัฒนาและสามารถกำจัดปัญหามลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหินได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วในขณะนี้ หากแต่ เมื่อพิจารณาถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ตัวการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ โลกร้อน อันส่งผลที่ชัดเจนอยู่ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย พายุเฮอริเคนที่ถี่และรุนแรงมากขึ้น ภัยแล้งที่ยาวนาน น้ำท่วม ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จนถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลอันมีผลต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะต่อประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมและต้องขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและปริมาณน้ำฝน ถ่านหินสะอาดไม่ได้ตอบคำถามและไม่ได้ลดปริมาณ CO2 ที่เกิดขึ้น และโดยเฉพาะเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บ CO2 ที่มีอยู่ในขณะนี้ ก็ยังเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ยังต้องอาศัยเวลาอีกนานในการพัฒนากว่าจะสามารถนำมาใช้ได้และไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งราคาก็แพงมาก


 


WWF และ CAN Thailand ให้ข้อมูลว่า อันตรายจากโลกร้อนชัดเจน รุนแรง และใกล้ตัวมนุษย์มากขึ้นทุกขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นใกล้ถึง 2 องศาเซลซียส ซึ่งเป็นจุดอันตรายมาก ในขณะที่ CO2 เองก็กำลังเพิ่มขึ้น และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีก โดยไม่มีการลด หากมีการใช้ถ่านหินสะอาด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด หรือ เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บ CO2


 


นางสาววนัน เพิ่มพิบูลย์ หัวหน้าฝ่ายพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ WWF ประเทศไทย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า "กระบวนการนำถ่านหินมาใช้ รวมทั้งการเผาถ่านหิน ย่อมก่อให้เกิด CO2 ซึ่งเป็นตัวการของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ โลกร้อนที่กำลังคุกคามเราอยู่ในขณะนี้ ถ่านหินสะอาดนั้น ไม่มีจริง เพราะไม่สามารถจัดการกับ CO2 ที่เกิดขึ้นได้ และการจัดการก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเมื่อเกิด CO2 ขึ้น ก็ต้องดักจับและนำไปกักเก็บไว้ ก่อให้เกิดประเด็นความห่วงใยในเรื่องระยะเวลาหรือความยาวนานในการกักเก็บไว้ ความถาวรของการกักเก็บ หากเกิดการรั่วไหลหรือถูกรบกวน CO2 ที่กักเก็บไว้ก็จะรั่วออกมาสู่ชั้นบรรยากาศต่อไป เป็นการเพิ่ม CO2 ในบรรยากาศอีกนั่นเอง อีกทั้งเทคโนโลยีก็มีราคาสูง หากนำมาใช้ในการดักจับและกักเก็บ CO2 ที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต้นทุนก็จะเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ 40-80 ค่าไฟฟ้าก็จะสูงขึ้นไปด้วย และภาระคงตกอยู่กับผู้ใช้ไฟฟ้านั่นเอง"


 


นางสาววนัน ยังย้ำอีกว่า "ในสถานการณ์ที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังใกล้เรามากขึ้นทุกขณะ และความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเราเพิ่มสูงกว่า 2 องศาเซลเซียสจากระดับที่ปล่อยในช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ประเทศต่างๆ รวมถึงรัฐบาลไทยเราด้วย ควรจะต้องหันมาใส่ใจส่งเสริมพลังงานทางเลือกหรือพลังงานยั่งยืนอย่างจริงจังและจริงใจ อันรวมทั้งการประหยัดพลังงาน ประสิทธิภาพพลังงาน และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพสูง และเทคโนโลยีก็มีพร้อมแล้วในขณะนี้ นี่จึงเป็นการแก้ปัญหาในเชิงรุกที่เป็นการจัดการกับปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศด้วย ไม่ควรมาเสียเวลารอคอยเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่ไม่มีจริง และไม่ก่อให้เกิดการลด CO2"


 


ด้านนายพงษ์เลิศ พงศ์วนานท์ กลุ่มพลังงานทางเลือก ได้ข้อสังเกตและเสริมว่า "เมื่อคิดถึงต้นทุนที่สูงขึ้น หากนำเทคโนโลยีที่ลดมลพิษและดักจับและกักเก็บ CO2 มาใช้ กับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะขึ้นใหม่ ก็ควรต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับทางเลือกในการใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ ด้วย ต้นทุนก็จะใกล้เคียงกันมากขึ้น หากแต่การใช้พลังงานหมุนเวียนนั้นๆ ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้กับท้องถิ่นเอง และยังไม่ก่อให้เกิด CO2 ที่เพิ่มขึ้น เป็นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อีกด้วย"


 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net