Skip to main content
sharethis



พันเอกเจ้ายอดศึก ผู้นำสูงสุดของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ (Shan State Army-SSA)


ภาพจาก www.manager.co.th


 


S.H.A.N (18/02/06) - ผู้นำกองกำลังไทยใหญ่ SSA-S ให้มุมมองเป็นการส่วนตัวต่อนายกรัฐมนตรีไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งว่ายังมีข้อดีหลายอย่าง เพราะนอกจากจะเป็นผู้ที่มีความเสียสละเพื่อประเทศชาติแล้วยังให้ความสำคัญต่อปัญหาภายในประเทศเพื่อนบ้านด้วย


 


เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา พันเอกเจ้ายอดศึก ผู้นำกองกำลังไทยใหญ่ภาคใต้ SSA-S เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าว S.H.A.N ที่สถานที่แห่งหนึ่งบริเวณชายแดนไทย-พม่า เกี่ยวกับมุมมองต่อสถานการณ์การเมืองไทย โดยเฉพาะกรณีที่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกำลังถูกกดดันจากหลายฝ่ายให้ลาออกจากตำแหน่งอันเกิดจากปัญหาภายใน โดยส่วนตัวแล้วตนเห็นว่า นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ยังมีข้อดีอยู่หลายอย่าง ที่สำคัญคือเป็นผู้ที่มีแนวความคิดแตกต่างจากผู้นำคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นในนโยบายประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ขณะที่นายกคนปัจจุบันนอกจากจะเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อปัญหาของประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย


 


พันเอกเจ้ายอดศึก เล่าว่า เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่าง SSA กับทหารพม่าด้านตรงข้ามอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2545 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการฝึกของกองทัพไทยภายใต้ยุทธการสุรสีห์ ส่งผลให้พม่าเกิดความไม่พอใจเนื่องจากเข้าใจว่าไทยเป็นผู้ให้การสนับสนุนกองกำลังไทยใหญ่ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้พยายามคลี่คลายปัญหาจนลุล่วงไปด้วยดี พร้อมรับปากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ว่าจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อให้เกิดการเจรจาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และรัฐบาลทหารพม่า


 


พันเอกเจ้ายอดศึกเล่าอีกว่า หลังจากนั้นไม่นาน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ติดต่อกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย อันได้แก่ กะเหรี่ยง KNU คะยา KNPP และไทยใหญ่ SSA โดยให้ทุกกลุ่มทำข้อเสนอขึ้นเพื่อที่จะนำไปหารือกับผู้นำรัฐบาลพม่า โดย SSA ได้ทำข้อเสนอขึ้นรวม 6 ข้อ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เห็นว่ามากเกินไปซึ่งอาจทำให้การหารือในฐานะตนเป็นคนกลางจะไม่สะดวก  ดังนั้น SSA จึงได้ยื่นเสนอเพียงข้อเดียวคือ ขอให้ทางรัฐบาลทหารพม่าเปิดการเจรจากับกลุ่มติดอาวุธอย่างเป็นทางการ
ส่วนข้อเสนออื่นๆ ทาง
SSA จะยื่นเสนอกับพม่าเอง หากมีการเจรจาระหว่างกันเกิดขึ้น ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้นำข้อเสนอของชนกลุ่มชาติพันธุ์ไปหารือกับผู้นำพม่าหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ เดินทางไปเยือนกรุงย่างกุ้ง เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และพฤศจิกายน ปี 2546


 


ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน พม่าได้ส่งตัวแทนนำโดย พ.ต.ซานปวิ้น ไปเจรจากับผู้นำกะเหรี่ยง KNU และทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงหยุดยิงแบบสุภาพบุรุษร่วมกัน พร้อมกันนั้นพม่าได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับผู้นำกลุ่มกองกำลังคะยา KNPP เช่นเดียวกัน แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีข้อตกลงร่วมกัน


 


ส่วนไทยใหญ่ SSA ทางพม่าปฏิเสธที่จะเจราจาด้วย โดยให้เหตุผลว่า กองกำลังของเจ้ายอดศึก เป็นกองกำลังส่วนหนึ่งของขุนส่าซึ่งได้วางอาวุธไปแล้ว และถือว่าเจ้ายอดศึกเป็นกลุ่มที่วางอาวุธ ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิที่จะเจรจาใดๆ


 


พร้อมกันนั้น พันเอกเจ้ายอดศึกได้แสดงความคิดเห็นต่อปัญหาภายในพม่าว่า การที่จะให้ปัญหาความขัดแย้งภายในพม่ายุติลงได้นั้น นอกจากการเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยแล้ว ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขเช่นเดียวกัน และกับการที่พม่าปฏิเสธที่จะเจรจากับ SSA ตามข้อเสนอที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้หารือกับผู้นำพม่าที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องที่เสียดายอย่างยิ่ง   


 


--------------------------------------------------------------------------------


ข่าวทั้งหมดแปลและสรุปความโดยสำนักข่าวเชื่อม เป็นหน่วยงานข่าวภาคภาษาไทยของสำนักข่าว S.H.A.N (Shan Herald Agency for News) ซึ่งเป็นเครือข่ายของศูนย์ข่าวสาละวิน (Salween News Network) ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ chuem@cm.ksc.co.th และ snn_news@cm.ksc.co.th พร้อมติดตามอ่านข่าวสารย้อนหลังรวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศพม่าภาคภาษาไทยได้ที่ www.salweennews.org ภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org และภาคภาษาไทยใหญ่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net