Skip to main content
sharethis

 


ประชาไท -23 ก.พ. 2549  ก่อนที่จะมีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่ลงมติตามมาตรา 213 ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ใน 4 ประเด็น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ (เรื่องที่เหลือได้แก่ 1.ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น และการบังคับใช้กฎหมาย โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานของรัฐ 2.การปฏิรูปการเมืองรอบสอง 3.ปัญหาเรื่องการทุจริตในวงราชการ)


 


วานนี้ (22 ก.พ.) คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจติดตามเรื่องเอฟทีเอ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ตั้งขึ้นเมื่อ 4 ก.พ.49) ได้แถลงข่าวความคืบหน้าในการตรวจสอบกระบวนการทำเอฟทีเอของรัฐบาล หลังจากได้เชิญตัวแทนคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ มาให้ข้อมูล โดยระบุว่าข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมและความบกพร่องของฝ่ายไทยในกระบวนการเตรียมความพร้อมในการเจรจา อันจะก่อผลเสียหายกับประเทศ


 


ทั้งนี้ มีข้อสรุปสำคัญ 7 ประการ คือ 1. ไม่มีความสมเหตุสมผลในการทำเอฟทีเอกับสหรัฐ เนื่องจากปัจจุบันไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐกว่า 8 พันล้านเหรียญ โดยตัวแทนคณะเจรจาอ้างเพียงว่าเป็นนโยบายรัฐ


 


2.การศึกษาประกอบการทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นด้านเศรษฐกิจ ไม่รอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และฐานทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนของส่วนร่วม ทำให้ข้อมูลไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ


 


3. การเจรจาขาดความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยตัวแทนคณะเจรจาระบุว่าเนื่องมาจากสหรัฐเรียกร้องให้รักษาความลับในการเจรจามาตั้งแต่การเจรจารอบที่ 1 และฝ่ายไทยได้จัดอยู่ในชั้นข้อมูล "ลับ" ภายใต้ระเบียบนายกรัฐมนตรี


 


4. แต่ละกลุ่มการเจรจาไม่ได้พิจารณาตัวบททั้งหมด ได้รับเอกสารเฉพาะบทที่รับผิดชอบ ทั้งที่แต่ละบทสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ทำให้การกำหนดท่าทีการเจรจาของไทยจึงเป็นไปอย่างแยกส่วน ขาดความเข้าใจในภาพรวม


 


5. องค์ประกอบของคณะเจรจาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นเพียงการให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น ไม่สามารถมีส่วนร่วมในระดับการกำหนดนโยบายตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญมาตรา 76


 


6.สำหรับการผูกพันข้อตกลงนั้น คณะเจรจาได้กำหนดไว้ว่าภายหลังเจรจาเสร็จสิ้น จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติลงนามโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เมื่อมีการลงนามผูกพันแล้ว จึงจะมีการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้สัตยาบรรณ ทั้งที่ควรจะเป็นไปตามมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญที่ให้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาก่อนตัดสินใจหากกระทบเขตอำนาจแห่งรัฐ ไม่ใช่นำเข้าสู่สภาหลังลงนามผูกพันไปแล้ว


 


7. คณะเจรจายังคงยึดถือตีความ "เขตอำนาจแห่งรัฐ" ในมาตรา 224 ว่า เป็นเพียงเขตพื้นที่ในทะเลที่ไทยไม่มีอำนาจอธิปไตยเท่านั้น เป็นการตีความที่ทำให้เรื่องนี้ผิดพลาดและขัดรัฐธรรมนูญ


 


 


นอกจากนี้ทางคณะกรรมการสิทธิยังทำหนังสือเชิญให้นายนิตย์ พิบูลสงคราม อดีตหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีไทย-สหรัฐ และนายการุณ กิตติสถาพร หัวหน้าคณะเจรจาคนใหม่ มาชี้แจงให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการฯ ด้วย


 


ส่วนเอกสารเนื้อหาการเจรจาทั้ง 23 หัวข้อนั้น นายบัณฑูร กล่าวว่า ทราบมาว่าทางสหรัฐได้ยื่นข้อเสนอทั้ง 23 หัวข้อให้กับฝ่ายไทยหมดแล้ว และกรรมการสิทธิฯ ได้ทำหนังสือขอข้อมูลดังกล่าวแต่นายการุณ กิตติสถาพร ได้ตอบกลับมาโดยไม่ได้ให้เอกสารที่ต้องการ และกรรมการสิทธิฯ ได้ทำหนังสือเตือนไปเป็นครั้งที่สอง หลังจากนั้นหากยังไม่คืบหน้าอาจมีการพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนด


 


นายบัณฑูรยังระบุด้วยว่า รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศที่มาให้ข้อมูลระบุว่าหัวหน้าคณะเจรจาทุกกลุ่มได้รับเอกสารของทั้ง 23 กลุ่มในการพิจารณา แต่เมื่อสอบถามไปยังหัวหน้าคณะเจรจากลุ่มอื่นแล้วพบว่าไม่มีการให้ดูเอกสารกลุ่มอื่นที่สหรัฐยื่นข้อเรียกร้องมาแต่อย่างใด


 


ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการสิทธิฯ พบว่ามีปัญหาภาครัฐละเลยรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิต่างๆ ของประชาชนตลอดเวลา การตีความรัฐธรรมนูญขณะนี้ก็กำลังเป็นปัญหาอย่างหนัก จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลโปรดอย่าใช้นักวิชาการที่มุ่งแต่จะรักษาฐานเสียงอำนาจรัฐตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย


 


นอกจากนี้ศ.เสน่ห์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้นักวิชาการที่ศึกษา ติดตามตรวจสอบเรื่องเอฟทีเอมาโดยตลอดได้เข้าร่วมซักถาม อภิปรายในการประชุมสภาวันที่  6 มี.ค.นี้ด้วย


 


เฉ่งหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอญี่ปุ่นปฏิเสธให้ข้อมูล


ในตอนท้ายของการแถลงข่าว น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิผู้บริโภค ตัวแทนของกลุ่มเอฟทีเอวอทช์ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนแก่คณะกรรมการสิทธิฯ กรณีนายพิศาล มาณวพัฒน์ หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นปฏิเสธมอบร่างข้อตกลงเอฟทีเอให้กับองค์กรภาคประชาชน โดยอ้างว่ากำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงกว่าจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลานานถึงปลายเดือนมีนาคม ทั้งๆ ที่กำหนดวันลงนามล่วงหน้าในวันที่ 3 เมษายน 2549 เป็นการกีดกันการมีส่วนร่วม และการตรวจสอบจากภาคประชาชน


 


นอกจากนี้กลุ่มเอฟทีเอวอทช์ยังเรียกร้องให้ประชาชนไทยร่วมกันต่อต้านการลงนามเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลนี้ปราศจากความชอบธรรมใดๆที่จะบริหารประเทศ และไม่มีสิทธิที่จะลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศกับประเทศใดๆ ได้อีกต่อไป พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้บริหารประเทศไม่ว่าจะเป็นชุดใดต้องมีกระบวนการจัดทำข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่โปร่งใสและประชาชนมีส่วนร่วม โดยที่หลังจากมีการเจรจาแล้วเสร็จต้องมีเวลาอย่างน้อย 360 วันเพื่อเผยแพร่เอกสารข้อตกลงทั้งที่เป็นต้นฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อประเมินผลประโยชน์และผลกระทบ และเปิดให้มีการปรับปรุงแก้ไข หลังจากนั้น รัฐบาลจะต้องนำข้อตกลงฉบับนี้เพื่อส่งไปให้รัฐสภาพิจารณาและเห็นชอบก่อนการลงนาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net