Skip to main content
sharethis

 


 


 


 


แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓)


เรื่องผลการตรวจสอบเบื้องต้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐอเมริกา


______________________________


 


                        ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาตรวจสอบการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ไทย-สหรัฐอเมริกา" ขึ้น เพื่อดำเนินการติดตาม ศึกษา ตรวจสอบและให้      ข้อเสนอแนะต่อการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา โดยมี         วัตถุประสงค์เพื่อให้การเจรจาเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีธรรมาธิบาล เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดย     ส่วนรวมนั้น


                        ในวันที่ ๑๔ และ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้เชิญ       หัวหน้าคณะและผู้แทนคณะเจรจาของไทยที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการค้า    การบริการและการลงทุน เรื่องการเกษตร และเรื่องสิ่งแวดล้อม มาชี้แจงตอบข้อซักถามของ                   คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอขอบคุณในความร่วมมือไว้ ณ ที่นี้ด้วย


                        จากการศึกษาและวิเคราะห์เอกสารที่ได้จากคณะเจรจา และข้อมูลการตอบข้อซักถามของคณะเจรจา คณะอนุกรรมการมีข้อวิเคราะห์และข้อสังเกตต่อการเจรจาของฝ่ายไทย ดังนี้


๑.    คณะเจรจาไม่ได้ชี้แจงให้เหตุผลที่ชัดเจนว่า เพราะเหตุใดประเทศไทยต้องทำการเจรจา FTA กับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ประเทศไทยยังได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐกว่า ๘ พันล้านเหรียญ และการส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐโดยส่วนใหญ่มีอัตราเพิ่มขึ้น เหตุผลหลักที่ตัวแทนคณะเจรจาได้อธิบาย คือ เป็นนโยบายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้


๒.    การศึกษาเพื่อประกอบการเจรจาและกำหนดนโยบายเรื่อง FTA ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในด้านเศรษฐกิจ ยังขาดการศึกษาถึงผลกระทบในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบทางสังคม ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนของประชาชน      คนไทยโดยส่วนรวม ซึ่งจะเป็นผลให้การกำหนดตัดสินใจทางนโยบายไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลอย่างถูกต้องและเพียงพอ


๓.    เหตุผลที่รัฐบาลและคณะเจรจาได้ดำเนินการรักษาความลับในการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐอเมริกา เนื่องมาจากการที่สหรัฐเป็นฝ่ายเรียกร้องตั้งแต่การเจรจาในรอบที่ ๑ โดยฝ่ายไทยได้จัดอยู่ในชั้นข้อมูล "ลับ" ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ        การปฏิบัติดังกล่าวไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม เป็นผลให้กระบวนการเจรจาขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และทำให้เกิดข้อสงสัยถึงการปิดบังซ่อนเร้นผลประโยชน์ที่ไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับรู้


 


 


๔.    กระบวนการกำหนดจุดยืนท่าทีการเจรจาของฝ่ายไทยเป็นไปแบบแยกส่วน ขาดการพิจารณาผลประโยชน์และผลกระทบในภาพรวมตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง แม้แต่ หัวหน้าคณะเจรจาในแต่ละบทของไทย ยังไม่มีเอกสาร (Text) ข้อเรียกร้องของสหรัฐในทุกบทเพื่อการพิจารณาศึกษาความเชื่อมโยงของ   เนื้อหา FTA ทั้งหมด แต่จะได้รับเอกสารเฉพาะบทที่รับผิดชอบเจรจาเท่านั้น จึงทำให้แนวทางในการเจรจาของแต่ละบทขาดพื้นฐานความเข้าใจในภาพรวม และความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างบทต่างๆ รวมทั้งเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการเจรจา


๕.    องค์ประกอบของคณะเจรจาประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด ไม่มีตัวแทนของภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบร่วมในคณะเจรจา การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเจรจาเป็นการมีส่วนร่วมในระดับการให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น ไม่สามารถมีส่วนร่วมในระดับการกำหนดนโยบายตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๖ ได้


๖.    คณะเจรจาได้กำหนดกระบวนการลงนามความตกลง FTA ไทย-สหรัฐ ภายหลังการเจรจาเสร็จสิ้น โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติลงนามโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เมื่อมีการลงนามผูกพันไปแล้ว จึงจะมีการเสนอให้รัฐสภาเพื่อพิจารณาให้สัตยาบัน หากมีการปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว จะเป็นกระบวนการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๒๔ รวมทั้งทำให้รัฐสภาและประชาชนไม่มีโอกาสได้พิจารณาศึกษาร่างความตกลง FTA ก่อนตัดสินใจ


๗.    ในประเด็นรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๔ ซึ่งได้มีข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง      "เขตอำนาจแห่งรัฐ" ไว้เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะต้องนำเสนอหนังสือสัญญาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อนการทำสัญญา คณะเจรจายังคงยึดถือตีความ "เขตอำนาจแห่งรัฐ" โดยมีความหมายเป็นเพียงเขตพื้นที่ในทะเลที่ประเทศไทยไม่มีอำนาจอธิปไตยเท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓๓/๒๕๔๓ อันจะเป็นผลทำให้การปฏิบัติของรัฐบาลในเรื่องนี้มีความผิดพลาดและขัดกับรัฐธรรมนูญ


                        จากข้อวิเคราะห์และข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมและความ    บกพร่องของฝ่ายไทยในกระบวนการเตรียมความพร้อมและกระบวนการเจรจา FTA กับสหรัฐอเมริกา อันจะทำให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมได้


 


 


  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net