Skip to main content
sharethis


 

ศาลรธน.ปัดคำร้อง ปปช.หวิว 8 ต่อ 7


แนวหน้า—22 ต.ค. 2547 ศาลรธน.ลงมติเฉียดฉิว 8 ต่อ 7 ไม่รับคำร้องป.ป.ช.ขึ้นเงินเดือนตัวเอง ระบุเป็นแค่คำหารือไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ วุฒิฯเหน็บซ้ำรู้จักเอาตัวรอด ในขณะที่ป.ป.ช.ระทึกลุ้นศาลฎีกาฯชี้ชะวันพฤหัสบดีนี้ ส่วนคดีอุ้มซุกหุ้น ทนายจำเลยแฉซ้ำมีบุคคลที่ 3 รู้เห็นให้สินบน เผยมีข้อมูลลับไว้น็อกด้วย


 


เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ยื่นขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ปชช.ในการออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนของประธานและกรรมการป.ป.ช. พ.ศ.2547


 


มติเฉียดฉิว8ต่อ7ตอกหน้าปปช.


นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ รองเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมมีมติ 8 ต่อ 7เสียงไม่รับคำร้องดังกล่าว


 


ทั้งนี้คำร้องของป.ป.ช.ได้ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 301 (6) มาตรา 302 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 5 และมาตรา107 ในการบริหารงานทั่วไป บริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สิน และการดำเนินการอื่นของสำนักงาน ป.ป.ช.


 


โดยการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของประธานและกรรมการป.ป.ช. ถือว่าเป็นการบริหารงานและการปฏิบัติหน้าที่ให้กับสำนักงาน ป.ป.ช. ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 75 วรรค 2 กำหนดให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้พอเพียงกับการบริหารงานโดยอิสระของคณะกรรมการ ป.ป.ช. การออกระเบียบในการจ่ายตอบแทนดังกล่าวจึงได้กระทำโดยสุจริตและเชื่อมั่นว่ามีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย และถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงได้มีการนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา


 


ปปช.แจงเหตุส่งให้ศาลรธน.


แต่ส.ว.และ ส.ส.จำนวนหนึ่งได้เข้าชื่อร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อดำเนินคดีต่อประธานและกรรมการ ป.ป.ช.ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา 300 จึงเป็นการโต้แย้งอำนาจของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 266 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าป.ป.ช.มีอำนาจในการออกระเบียบดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับสำนักงาน ป.ป.ช.หรือไม่


 


ศาลรธน.ชี้เป็นแค่การหารือ


นายไพบูลย์กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อคณะตุลาการมีการพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้วเห็นว่า คณะกรรมการป.ป.ช.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 301, 302ประกอบกับ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 5 และ 107 แต่ปัญหาการใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการออกระเบียบตามคำร้องจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 หรือไม่


 


"ดังนั้นจึงเห็นว่าคำร้องดังกล่าวยังไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่มีลักษณะเป็นการหารือ จึงไม่รับไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266"นายไพบูลย์ ระบุ


 


เผย"จุมพล"อยู่เสียงข้างมาก


สำหรับตุลาการเสียงข้างมาก 8 คน คือ นายจิระ บุญพจนสุนทร นายจุมพล ณ สงขลานายปรีชา เฉลิมวณิชย์ นายมงคล สระฏัน นายมานิต วิทยาเต็ม นายสุจิต บุญบงการ นายสุวิทย์ธีรพงษ์ และนางเสาวนีย์ อัศวโรจน์


 


ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 7 คน คือ นายกระมล ทองธรรมชาติ นายผัน จันทรปานนายศักดิ์ เตชาชาญ นายสุธี สุทธิสมบูรณ์ พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช นายอภัย จันทนจุลกะและนายอุระ หวังอ้อมกลาง เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นแล้ว และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสนอคำร้อง จึงวินิจฉัยรับคำร้องไว้พิจารณาตามมาตรา 266


 


ปปช.อ้างขอศาลฎีกาเลื่อนชี้ชะตา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่รับคำร้องของ ป.ป.ช. ทางด้านพล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษก ป.ป.ช. ได้ให้สัมภาษณ์โดยยอมรับว่า สาเหตุที่ป.ป.ช.ทำหนังสือถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้ยืดเวลาการวินิจฉัยเรื่องขึ้นเงินเดือนออกไปอีกนั้นเพราะมีกระบวนการทางกฎหมายมาก


 


ทั้งนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาการเมือง ได้นัดที่จะแถลงคำวินิจฉัยปัญหาการขึ้นเงินเดือนของป.ป.ช.ในวันศุกร์ที่ 22 ตุลาคมนี้ หลังจากส.ส.และส.ว. 212 คน ล่ารายชื่อยื่นให้พิจารณาดำเนินการ และหากศาลฎีกาฯ มีคำวินิจฉัยให้รับคำร้อง จะส่งผลให้ ป.ป.ช.ยุติการทำหน้าที่โดยทันที


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลฎีกาไม่เลื่อนการพิจารณาจะมีปัญหาหรือไม่ พล.ต.ท.วิเชียรโชติกล่าวว่า ก็อยู่ที่ศาลฎีกาฯ


 


ยันถ้าเจอแบนชาติเสียหายยับ


"เวลานี้ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย กรรมการป.ป.ช.ชุดนี้ไม่เคยทำอะไรผิด ทุกวันนี้ก็ยังยืนยันว่าที่ทำไม่เคยทำอะไรผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นไม่หนี ที่สำคัญเราไม่ใช่อาชญากรที่จะต้องหนี"กรรมการป.ป.ช. กล่าว


 


เมื่อถามว่า ถ้าต้องถูกยุติการทำงานจริงๆ ได้เตรียมการรองรับไว้อย่างไร พล.ต.ท.วิเชียรโชติกล่าวว่า ก็ต้องทำตามกฎหมายทุกอย่าง ไม่ต้องห่วงเลย แต่ยืนยันว่าหากต้องยุติการทำงานจริงชาติจะเสียหายเพราะกระทบกับคดีที่จะหมดอายุความแน่นอน เราถึงได้พยายามเร่งคดีเพื่อให้เรื่องที่จะหมดอายุความรีบออกไปเสียก่อน เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการต่อไป


 


"ตอนนี้มีคดีที่เกี่ยวกับนักการเมืองด้วยโดยเฉพาะเรื่องการถอดถอน ถ้ากฎหมายบอกให้เราหยุดทำงานก็หยุด แล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นก็แล้วแต่ มันคงต้องมีคนรับผิดชอบ ส่วนใครจะรับผิดชอบก็ไม่ทราบช่วยหาให้ที "พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าว


 


เผย9ปปช.วิ่งยื้อกันพล่าน


ขณะเดียวกัน นายสุภัทร์ สุทธิมนัส เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกล่าวว่า เมื่อเวลา 17.00 น. วันเดียวกันนี้ กรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ได้ส่งตัวแทนมายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกฯ ขอให้องค์คณะพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออกระเบียบของ ป.ป.ช.ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่


 


นายสุภัทร์กล่าวว่า ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้อ้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ในการยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลฎีกาแผนกฯ อย่างไรก็ดีในการประชุมองค์คณะในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ตนจะเสนอเรื่องนี้ให้องค์คณะพิจารณา พร้อมกับเรื่องที่ป.ป.ช.ขอให้ศาลฎีกาแผนกฯเลื่อนนัดฟังคำสั่งไป


 


เหน็บศาลรธน.รู้จักเอาตัวรอด


ขณะที่นายสุนทร จินดาอินทร์ ส.ว.กำแพงเพชร กล่าวถึงเรื่องศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของป.ป.ช.ว่าเป็นเรื่องดีที่รู้จักเอาตัวรอด เพราะศาลรัฐธรรมนูญเองก็อยู่ในข่ายที่ขึ้นค่าตอบแทนให้กับองค์กรของตัวเอง หากรับไว้พิจารณาก็เท่ากับว่าครั้งต่อไปจะเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้ารับก็อาจจะโดนเผาศาลรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน


 


ส่วนกรณีป.ป.ช.ยื่นคำร้องให้ศาลฎีกาแผนกฯ ชะลอคำวินิจฉัยนั้น ส.ว.กำแพงเพชรกล่าวว่าเป็นสิทธิ์ของป.ป.ช.ที่จะทำได้ แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าป.ป.ช.ร้อนรนจนผิดสังเกต


 


"บัณฑิต" ขย่มซ้ำมติสีเทาอุ้มซุกหุ้น


ทางด้านความคืบหน้ากรณีปัญหาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังจากมีการเปิดเผยเบื้องหลังคำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากว่าวินิจฉัยอุ้มนายกรัฐมนตรี และมีการกล่าวหาเรื่องสินบนนั้น


 


วันเดียวกันอนุกรรมาธิการศึกษาและพิจารณาการทุจริต วุฒิสภา ที่มีพล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ส.ว.กทม. เป็นประธาน ซึ่งได้เชิญนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริอดีตคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า มาชี้แจงกรณีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7ขึ้นเบิกความว่านายจุมพล ณ สงขลา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก มาปรึกษาเรื่องการเขียนคำวินิจฉัยอุ้มพ.ต.ท.ทักษิณ


 


นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กทม. ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า นายบัณฑิตได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ อย่างชัดเจนเหมือนกับที่ได้เบิกความในศาลแต่มีบางประเด็นที่นายบัณฑิตได้ขอไม่พูด เพราะอาจต้องไปหักล้างในศาล หากถูกบุคคลที่ถูกพาดพิงฟ้องร้อง


 


แฉมีบุคคลที่3รู้เห็นวิ่งให้สินบน


นอกจากนี้นายบัณฑิตยังได้ระบุอีกว่า ข้อมูลที่ทราบในช่วงที่มีบุคคลเสนอตำแหน่งให้บุตรชายนายอุระนั้น ไม่ได้มีเพียง 2 คน ที่อยู่ในห้องนั้น แต่ยังมีอีก 1 คนที่รับรู้เรื่องนี้แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ ทั้งยืนยันว่าไม่ใช่น้องสาวของคนที่ถูกกล่าวหา โดยกรรมาธิการก็พยายามซักถามแต่นายบัณฑิตขอไม่เปิดเผย


 


"อีกทั้งยังมีข้อความอื่นๆ นอกเหนือจากที่เบิกความในศาลและยังมีความพยายามของฝ่ายโจทก์ให้นายอุระ หวังอ้อมกลาง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธ โดยยื่นเป็นหนังสือแต่พอเห็นพยานหลักฐานของฝ่ายนายบัณฑิตที่มีพยานหักล้างก็เลยถอน"นายเจิมศักดิ์ กล่าว


 


และว่า นายบัณฑิตยังเปิดเผยอีกว่า น้องสาวของผู้ถูกกล่าวหาไปพบนายอุระต่างกรรมต่างเวลา แต่น้องสาวของผู้ถูกกล่าวหาไปกับอีกบุคคลหนึ่ง โดยเอาชื่อของบุคคลที่ถูกล็อบบี้ไปอ้างโดยมีทั้งหมด 4 คน นอกจากนี้นายบัณฑิตยังได้นำเอกสารมาเบิกความในศาลและคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์ รวมทั้งสำนวนแถลงปิดคดีมาให้กรรมาธิการด้วย ทำให้เห็นได้ว่านายจุมพลเคยให้การกับตำรวจและในศาลไม่ตรงกัน


 


ท้าให้ฟ้องอุบ"ข้อมูลลับ"หมัดน็อก


นายเจิมศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้กรรมาธิการจะนำข้อมูลและเอกสารทั้งหมดที่นายบัณฑิตมอบให้มาพิจารณาและจะหารือกันอีกครั้งว่าจะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเมื่อใด


 


"ผมฟังข้อมูลจากนายบัณฑิตแล้วคิดว่า หากมีการฟ้องร้องก็จะเป็นประโยชน์กับสังคมมากเพราะสิ่งที่นายบัณฑิตพูดได้ยืนยันกับกรรมาธิการว่าข้อมูลที่สื่อได้ตีพิมพ์นั้นเป็นความจริงทั้งหมด แต่มีข้อมูลลับบางอย่างที่นายบัณฑิตไม่ยอมบอกกรรมาธิการ"นายเจิมศักดิ์ กล่าว


 


นอกจากนี้นายบัณฑิตยังได้เปิดเผยอีกว่า ขณะที่ขึ้นศาลตุลาการฯ ไปเบิกความในศาลนั้นมีคนที่ไปเบิกความเพียง 2 คน คือ นายจุมพล และนายปรีชา เฉลิมวณิชย์ ส่วน 6 คนที่เหลือไม่ยอมไปเบิกความ แต่ได้ทำหนังสือชี้แจงว่าขอให้การเหมือนกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน


 


เครือข่ายปชช.รุมจี้ศาล รธน.


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้นพ.เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตยและนายวีระ สมความคิด เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น หรือ คปต. ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบและแถลงข้อเท็จจริงเรื่องการเสนอสินบนที่พาดพิงบุคคลในรัฐบาลชุดนี้


 


นายวีระกล่าวว่า ขณะนี้สังคมต้องการรู้ความจริงว่า มีการวิ่งเต้น มีการติดสินบนจริงหรือไม่ แต่พ.ต.ท.ทักษิณ นางเยาวภา นายอุระ และนายจุมพล ยังไม่พูดด้วยการอ้างว่าไม่ต้องการละเมิดศาล ทั้งที่เป็นการชี้แจงความจริงที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้ที่ถูกพาดพิง


 


นิติ มธ.นัดอาจารย์ถกครั้งใหญ่


ส่วนนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าแถลงการณ์ของคณะนิติศาสตร์ มธ.นั้นได้วิจารณ์ถึงการแถลงที่ไม่ถูกต้องของนายจุมพล ที่อ้างเสียงสนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ 11 ล้านเสียง เป็นฐานการวินิจฉัยคดีซุกหุ้น


 


"คณะนิติศาสตร์มธ.จะทาบทามไปยังอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ มาร่วมกันปรึกษาหารือถึงแนวทางการดำเนินการเพื่อปกป้องระบบการปกครองด้วยกฎหมายเพราะประเทศไทยปกครองในระบบ Rule Of Law ไม่ใช่ Rule Of Man ที่ใช้กฎหมายเพื่อคนคนเดียว""นายกิตติศักดิ์ กล่าว


 


"ชวน" อัดปปช.ไม่โปร่งใส


ทางด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์แสดงความเชื่อมั่น 100% ว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ และนายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงราคายางพารา แต่ก็พร้อมจะให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ


 


ทั้งนี้ นายชวนยังเรียกร้องให้ป.ป.ช.ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเรียกศรัทธากลับคืนมา พร้อมเชื่อว่า การที่ป.ป.ช.ดำเนินการในช่วงนี้เป็นเพราะแนวทางรัฐบาลชุดปัจจุบันเห็นว่าใครมีบทบาทในการดำเนินการทางการเมืองก็จะดำเนินการ



"ปรีชา" ชี้ตายแล้วยึดทรัพย์ไม่ได้


นายปรีชา สุวรรณทัต มือกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า ป.ป.ช.กำลังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการทำงาน การที่ออกมาแถลงเรื่องทุจริตคลองด่านช่วงนี้ น่าจะเพียงเพื่อล้างภาพมัวหมองเพราะยังเป็นแค่การชี้มูลของคณะอนุกรรมการป.ป.ช.เท่านั้น


 


และว่า ในกรณีอดีตรัฐมนตรีที่เสียชีวิตไปแล้ว ทาง ปปง.ไม่สามารถไปยึดทรัพย์ได้แม้ว่าป.ป.ช.จะวินิจฉัยความผิดก็ตามเพราะตามหลักกฎหมายทั่วไป ความผิดจะระงับไปพร้อมความตายของบุคคลที่ถูกกล่าวหา เว้นแต่ว่าจะมีการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย


 


ขณะที่พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษก ป.ป.ช.กล่าวว่า การที่ป.ป.ช.ถูกวิจารณ์หนักเพราะการทำงานอย่างนี้ไม่มีคนรัก ฉะนั้นเมื่อป.ป.ช.ตื่นขึ้นมา ไอ้กลุ่มที่ไม่ชอบป.ป.ช.ก็บอกว่าผิด จึงให้รอดูข้อยุติถ้าเรื่องจบเมื่อไหร่จะรู้อะไรคืออะไร


 


สุวัจน์ ยืนยันไม่เกี่ยวคลองด่าน


วันเดียวกัน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ป.ป.ช.ระบุมีอดีต 3 รัฐมนตรีพัวพันกับการทุจริตคลองด่านนั้น ตนไม่ทราบว่าหมายถึงใคร สำหรับตนเคยเป็น รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ประมาณ6 เดือน ในช่วงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และช่วงนั้นงานที่ไปเกี่ยวข้องก็มีอยู่เรื่องเดียวคือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีประมาณ 10 กระทรวง รวมแล้วกว่า 20 คน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในสมัยนั้นได้เห็นชอบในหลักการของโครงการนี้ในการที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษ น้ำเสีย ใน จ.สมุทรปราการ ในช่วงที่ตนเป็นรมว.วิทยาศาสตร์ฯนั้น ก็มีเรื่องเดียวที่เกี่ยวข้อง และหลังจากนั้นตนก็ออกจากตำแหน่ง และพร้อมที่จะไปอธิบายรายละเอียดกับป.ป.ช.


 


ศาลรธน.ยืนยันคำวินิจฉัย "จารุวรรณ" พ้น "ผู้ว่าการ"


มติชน 31 ก.ค. 2547 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายนพดล เฮงเจริญ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าการแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของวุฒิสภาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน และอาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรศาลรัฐธรรมนูญจึงจำต้องชี้แจง โดยยืนยันว่าการรับคำร้องไว้วินิจฉัยไม่เกินกว่าขอบเขตอำนาจที่มี เพราะคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) และวุฒิสภาต่างเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีขึ้นและกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ จึงถือเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 312 บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการฯตามคำแนะนำของวุฒิสภา เมื่อการสรรหาในชั้นวุฒิสภาเกิดปัญหาจนประธานรัฐสภาเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน จึงถือเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาไม่ถือเป็นการก้าวก่ายอำนาจ คตง. หรือวุฒิสภาแต่อย่างใด


 


สำหรับที่ระบุว่าผลคำวินิจฉัยขาดความชัดเจน และคุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติหรือไม่นั้น นายนพดลกล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของ คตง.และวุฒิสภาไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 312 และ 313(1) ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงิน และระเบียบ คตง.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ว่าการฯ คำวินิจฉัยดังกล่าวถือเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันให้ คตง.และวุฒิสภา ต้องไปดำเนินการให้เป็นไปโดยชอบ ส่วนที่ไม่ได้วินิจฉัยว่าคุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นจากตำแหน่งไปเลยหรือไม่ เพราะคำร้องไม่ได้ขอให้วินิจฉัย แต่เมื่อศาลวินิจฉัยว่ากระบวนการได้มาซึ่งผู้ว่าการฯไม่ชอบ ต้องถือว่านางจารุวรรณ ไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับเลือกจาก คตง. และไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาตามกระบวนการมาแต่ต้น ซึ่งไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย


 


ศาลรธน.ชี้ 'จารุวรรณ' พ้น สตง.


ไทยโพสต์ 31 ก.ค.2547 ศาลรัฐธรรมนูญ - ตั้งหลักนานศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งตื่น แถลงยืนยันคำวินิจฉัย การสรรหา "คุณหญิงจารุวรรณ" ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม คุยลั่น 6 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีคู่กรณีร้องเรียนว่าวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญบกพร่อง


 


นายนพดล เฮงเจริญ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดแถลงข่าวชี้แจงตอบข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า การแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของวุฒิสภาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน และอาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรศาลรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องชี้แจง โดยยืนยันว่าการรับคำร้องดังกล่าว วินิจฉัยไม่เกินกว่าขอบเขตอำนาจที่มี เพราะคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และวุฒิสภา ต่างเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีขึ้น และกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ จึงถือเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 312 บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการฯ ตามคำแนะนำของวุฒิสภา และเมื่อการสรรหาในชั้นวุฒิสภาเกิดปัญหา จนประธานรัฐสภาเห็นว่าการดำเนินการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ โดย คตง. และวุฒิสภา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน จึงถือเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 ที่ได้เกิดขึ้นจริง ศาลรัฐธรรมนูญจึงย่อมมีอำนาจที่จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา ไม่ถือเป็นการเข้าไปก้าวก่ายอำนาจของ คตง. หรือวุฒิสภา


 


สำหรับที่ระบุว่า ผลคำวินิจฉัยขาดความชัดเจนว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการอย่างไร มติของวุฒิสภาที่เลือกผู้ว่าการฯ ยังคงอยู่หรือไม่ และคุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติหรือไม่นั้น เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของ คตง. และวุฒิสภา ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการฯ มีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 312 และ 313 (1) ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และระเบียบ คตง.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ว่าการฯ คำวินิจฉัยดังกล่าวถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันให้ คตง. และวุฒิสภา ต้องไปดำเนินการให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


 


"ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่าคุณหญิงจารุวรรณ ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเลยหรือไม่ ก็เพราะตามคำร้องของประธานรัฐสภาไม่ได้ขอให้วินิจฉัยประเด็นนี้ แต่เมื่อศาลวินิจฉัยว่า กระบวนการได้มาซึ่งผู้ว่าการฯ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเท็จจริงว่า คุณหญิงจารุวรรณได้รับคะแนนตามมติ คตง. เพียง 3 คะแนน ขณะที่นายประธาน ดาบเพชร ได้รับ 5 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุด จึงต้องถือว่าคุณหญิงจารุวรรณไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับเลือกจาก คตง. และไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาตามกระบวนการมาแต่ต้น ซึ่งไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการฯ ต่อไปได้ นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย" นายนพดลระบุ


 


ส่วนที่วิจารณ์ว่า ผลคำวินิจฉัยในคำร้องนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้ผู้ว่าการฯ ตกอยู่ในอาณัติของ คตง. ขัดกับหลักความเป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญและหลักการตรวจเงินแผ่นดินสากล เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินบัญญัติไว้แล้วว่า ให้ คตง.เป็นองค์กรสรรหาและคัดเลือกแล้วเสนอวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ขณะที่รัฐธรรมนูญก็กำหนดให้วุฒิสภาเป็นองค์กรถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ จึงถือว่าวุฒิสภามีอำนาจเพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบบุคคลที่ คตง. มีมติเลือกมาด้วยคะแนนสูงสุดหรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหากไม่เห็นชอบตาม พ.ร.บ.ประกอบฯ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 31 ก็ระบุชัดว่าให้ คตง.คัดเลือกบุคคลเสนอต่อวุฒิสภาจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบ ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่การวางบรรทัดฐานให้ผู้ว่าการฯ จึงไม่ได้อยู่ในอาณัติของ คตง. เพราะหากวุฒิสภาไม่เห็นชอบบุคคลที่ คตง. มีมติเลือก คตง.ก็ต้องไปคัดเลือกบุคคลมาใหม่จนกว่าวุฒิสภาจะเห็นชอบ และไม่ได้ขัดกับหลักความเป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญและหลักการตรวจเงินแผ่นดินสากล


 


นอกจากนี้ ที่วิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการปรับปรุงวิธีพิจารณาคดีให้น่าเชื่อถือและเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นนั้น นายนพดลชี้แจงว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการปรับปรุงข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีโดยมีเนื้อหาสาระที่เป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญครบถ้วน ซึ่งตลอด 6 ปีของการปฏิบัติงาน ไม่เคยมีการร้องเรียนจากคู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้องว่า วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่อง และที่ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรอให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เสียก่อนแล้วจึงนำคำวิจารณ์ไปปรับแต่งการเขียนคำวินิจฉัยกลางที่จะออกมาภายหลัง ซึ่งผิดหลักทั่วไปในการทำคำพิพากษานั้น ยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการจัดทำคำวินิจฉัยให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตลอด โดยคำร้องนี้ คณะตุลาการฯ ได้แถลงด้วยวาจาและมีมติเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม จากนั้นได้ยกร่างคำวินิจฉัยและมีการลงนามก่อนที่จะจัดส่งให้กับผู้ร้องและผู้เกี่ยวข้องในวันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งการจัดทำวินิจฉัยกลางนั้น ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องยกร่างตามมติตุลาการเสียงข้างมาก มีการสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมทั้งความเห็นและเหตุผลของตุลาการแต่ละคนที่ได้แถลงคำวินิจฉัยส่วนตัวไปแล้วตอนก่อนลงมติด้วย


 


ศาลรธน.ไม่รับคำฟ้องสรรหาปปช.


เดลินิวส์ -4 มิ.ย. 2547 เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังการประชุมคณะตุลาการว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของประธานรัฐสภาที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. โดยสืบเนื่องจากที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กรุงเทพฯ พร้อมด้วย ส.ว. อีก 54 คน ได้ยื่นเรื่องผ่านประธานรัฐสภา ระบุว่า การสรรหาผู้เหมาะสมเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ของคณะกรรมการสรรหาอาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ม.256 (3) ที่ระบุว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อจะต้องรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่า แต่คณะกรรมการสรรหาเลือกใช้เพียงแนวทางที่ว่า อธิบดีหรือเทียบเท่า พิจารณาเพียงแค่เคยเป็นข้าราชการระดับ 10 โดยไม่คำนึงว่าเป็นตำแหน่งด้านบริหารหรือไม่ จึงได้มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนสาเหตุที่ไม่รับคำร้องเพราะขั้นตอนที่ดำเนินการต่าง ๆ นั้นเป็นไปตามอำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญโดยไม่มีปัญหา ซึ่งครั้งนี้จะต่างจากกรณีคำร้องการสรรหา กกต. ที่ร้องในขั้นตอนกระบวนการสรรหาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด


 


 ด้านนายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำ 2 มาตรฐาน เลือกปฏิบัติ เพราะคราวที่แล้วก็กระบวนการสรรหาไม่ชอบ เที่ยวนี้ก็กระบวนการสรรหาอีก คือไปรับคนที่ขาดคุณสมบัติ แต่กลับไม่รับคำร้อง ซึ่งตนก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวแล้ว ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะพิจารณว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป


 


อนาถศาลรธน.รับอุ้ม'ราชภัฏ'


เว็บไซต์ไทยโพสต์ 5 มี.ค. 254 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากรับ "อุ้มเพื่อชาติ" วินิจฉัยส่งร่าง พ.ร.บ.ราชภัฏคืนสภายันตีความถูกต้อง ไม่ได้ทำให้บ้านเมืองล่มจมหรือเปิดช่องโกงกิน


 


"จุมพล" อ้างฝ่ายนิติบัญญัติหมดปัญญาแก้ปัญหา หากไม่โดดร่วมวงเกรงเข้าทางตันอย่างที่ฝ่ายค้านต้องการ ยอมรับตีความโดยไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญรองรับชัดเจน


 


นายจุมพล ณ สงขลา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก กล่าวชี้แจงถึงผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏว่า ไม่อยากให้สังคมมองว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องการอุ้มรัฐบาล เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะได้หน้าตา หรือมีใครที่จะต้องหลุดออกจากตำแหน่งทางการเมือง แต่อยากให้มองเรื่องนี้อย่างใจเป็นธรรมและสร้างสรรค์ว่าเพื่อให้กฎหมายที่ต้องชะงักงันได้ผ่านไปโดยเร็ว


 


"ถ้าเห็นแก่บ้านเมืองก็จะมองเรื่องนี้ไม่มีอะไร เพราะคำร้องนี้ไม่ได้ต้องทำให้ใครหลุดออกจากตำแหน่ง เราต้องการแก้ปัญหาให้บ้านเมืองให้มันเดินไปได้ไม่ต้องตั้งต้นใหม่ ไม่ใช่มองว่าศาลมีคำวินิจฉัยแล้วจะเกิดการโกงกิน บ้านเมืองจะล่มสลาย เพราะถ้าทุกคนบอกแก้ไม่ได้แล้วมันก็จะถึงทางตันอย่างที่ฝ่ายค้านต้องการ แล้วผมคิดว่าเรื่องอย่างนี้ชาตินี้ทั้งชาติก็คงไม่เกิดอีก กรณีที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นบทเรียนของทั้ง 2 สภาที่ต้องจำไปจนตาย ถ้าเกิดอีกก็ต้องประณามกันว่า มีเงินเดือนกันเยอะแยะแล้วทำไมยังบกพร่องอีก" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้นี้กล่าว


 


นายจุมพลยังย้ำว่าปัญหาที่เกิดฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีปัญญาจะทำอะไรอีกแล้ว ซึ่งตนก็อยากให้ประธานรัฐสภาตัดสินใจทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่เมื่อไม่ทำแล้วโยนมาให้ศาลรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องแก้ให้เขาไป


 


"ผมก็คิดอยู่แค่นี้ว่าเขาจนปัญญาแล้วมันก็เท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วผมก็ไม่อยากที่จะพิจารณาเรื่องนี้เลย แต่ผมก็มีความรู้สึกว่าเป็นคนไทยคนหนึ่ง ก็ไม่อยากให้เอาเรื่องที่แม้จะถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อมันมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกัน จะนำขึ้นไปกราบบังคมทูลฯ มันไม่บังควร เมื่อมาดูรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บัญญัติไว้ ผมก็ต้องหาทางออกจนได้ โดยการเลี่ยงกฎหมาย ผมอ่านแล้วก็อาศัยมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะถือว่ากรณีนี้เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญแก้ แต่ตุลาการคนอื่นจะไปเอาระเบียบสารบัญมาจับก็เป็นเรื่องของเขา" นายจุมพลกล่าว


 


ด้านนายสุจิต บุญบงการ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญไม่มีช่องทางไหนที่เปิดให้สามารถนำร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านรัฐสภาแล้วนำกลับมาแก้ไขได้ จึงต้องอาศัยการตีความ โดยเอาหลักของมาตรา 266 มารองรับว่าแม้ร่างกฎหมายจะผ่านรัฐสภาไปเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผ่านโดยมีความในกฎหมายขัดแย้งกัน เพราะเขียนไม่ตรงตามมติก็ให้สามารถนำกลับมาแก้ไขให้ตรงตามมติได้ ซึ่งเป็นการแก้ไขถ้อยคำไม่ใช่เป็นการไปแก้ในกระบวนการร่างกฎหมาย เพราะขั้นตอนนั้นได้เสร็จสิ้นไปถูกต้องแล้ว


 


นายสุจิตกล่าวอีกว่า แม้หลายฝ่ายจะมองว่าการมีคำวินิจฉัยนี้เป็นการทำผิดหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็อยากให้มองว่ามาตรา 266 เขียนไว้ค่อนข้างกว้าง ระบุแค่ว่าถ้ามีปัญหาอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรก็ให้ศาลวินิจฉัย ซึ่งศาลก็เคยวินิจฉัยมาตรา 266 ไว้ในขอบเขตที่กว้างขวางมาแล้ว ขอยืนยันว่าไม่ได้ทำให้มาตรา 93 ขาดความศักดิ์สิทธิ์หรือถูกล้มล้างไป ซึ่งในคำวินิจฉัยกลางศาลจะตีกรอบในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน


 


"ที่ว่าศาลอุ้มรัฐบาลคงไม่ใช่ เพราะมันไม่มีความจำเป็นต้องไปอุ้ม เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาล แต่เป็นความผิดพลาดในการใช้ถ้อยคำในทางกฎหมาย เมื่อมีปัญหาเราก็ชี้แนะทางออกให้เพราะคิดว่าทางออกมันไม่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับหรือหลักการ แล้วคำวินิจฉัยที่ออกมาก็ไม่ได้มีการตั้งธงไว้ก่อน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นการพิจารณาก็คงใช้เวลาไม่นาน ดังนั้นการมีคำวิพากษ์วิจารณ์ตามหลังมาผมก็น้อมรับและพร้อมที่จะรับฟัง และที่มีการใช้คำว่าสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ก็ไม่ถือว่าเป็นถ้อยคำที่รุนแรง เพราะเห็นว่าอยู่ที่ข้อเท็จจริง" นายสุจิตกล่าว


 


ขณะที่นายจิระ บุญพจนสุนทร ตุลาการเสียงข้างน้อย ได้ระบุในคำวินิจฉัยส่วนตนว่า ในกรณีที่ผู้ร้องได้ร้องมาตามมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ กรณีคดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงในลักษณะดังกล่าว คงปรากฏแต่เพียงว่าประธานรัฐสภาได้เชิญประธานวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทุกคณะ ประธานกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านมาประชุมกัน เพื่อพิจารณาหาข้อเท็จจริงที่เป็นสาเหตุของปัญหา ที่มีข้อความในร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏมีความขัดแย้งกัน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะถือว่ามีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาและไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดรองรับ ไม่อาจอ้างได้ว่าปัญหา 2 องค์กรเกิดขึ้นแล้ว จึงไม่อาจใช่เป็นช่องทางเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 266 ได้ ดังนั้นอาศัยเหตุดังกล่าวที่ได้พิจารณามาจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง


 


นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ในเบื้องต้นร่าง พ.ร.บ.นี้ผิดตรงไหนก็ต้องแก้ตรงนั้น คือคลาดเคลื่อนที่วุฒิสภา ดังนั้นต้องส่งไปที่วุฒิสภา


 


ด้านนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อาจารย์กฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าคำวินิจฉัยนี้ออกมาศาลรัฐธรรมนูญอาศัยมาตราใดในรัฐธรรมนูญ มาอ้างว่ารัฐสภาสามารถดึงเรื่องกลับมาแก้ไขได้ จึงเห็นว่าสิ่งที่รัฐธรรมนูญทำเป็นการตัดสินนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งในระยะยาวก็จะเกิดปัญหาว่า เราไม่มีหลักอะไรที่ชัดเจนให้ปฏิบัติ ทุกอย่างผิดเพี้ยนไปหมด เพราะถ้าสมมุติว่ารัฐบาลสงสัยว่าร่างกฎหมายฉบับหนึ่งมันขัดกันหรือสภาส่งร่างกฎหมายไป แล้วรัฐบาลกำลังจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ สภาเกิดสงสัยจะขอดึงกลับมาใหม่ได้หรือไม่


 


"ปัญหานี้อยู่ที่รัฐบาลมองคำวินิจฉัยนี้อย่างไร ซึ่งผมอยากให้มองในแง่ที่ดีคือ รัฐบาลจะต้องไม่ทำให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีกต่อไป ให้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นกรณีเฉพาะ แต่ถ้ารัฐบาลมองว่านี่เป็นมาตรฐานใหม่ที่ศาลยอมให้แก้ไขเพิ่มเติมได้ก็เละ ระบบกฎหมาย ระบบนิติรัฐก็จะพัง ซึ่งอนาคตหากรัฐบาลปล่อยให้เกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้นอีก 2-3 ครั้ง ผมว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบ โดยรวมศาลคิดในทางที่จะช่วยเหลือประเทศ ต้องการให้วิกฤตการณ์นี้สงบลง แต่ความหวังดีกับสิ่งที่ถูกต้องมันไปด้วยกันไม่ได้ ซึ่งศาลต้องยึดความถูกต้องไม่ใช่ยึดความหวังดี" นายสมคิดกล่าว และว่า คำวินิจฉัยนี้คงไม่ทำให้ปัญหาจบสิ้น เพราะขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีการแก้ไขกันอย่างไร การแก้ไขจึงไม่ใช่การให้ฝ่ายสำนักงานหรือประธานวุฒิสภาไปลบคำผิด แต่ประธานวุฒิฯ จะต้องมีการเรียกประชุม ส.ว. เพื่อสอบถามว่าจะแก้เอาตามมติที่ 1 หรือมติที่ 2 จากนั้นก็ต้องมีการส่งไปยังที่ประชุมสภาผู้แทนฯ เพื่อให้ลงมติ แล้วจึงค่อยส่งให้ฝ่ายบริหารส่งขึ้นทูลเกล้าฯ


 


นายปกิต พัฒนกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงแนวทางของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏเมื่อศาลรัฐธรรมนูญส่งเรื่องกลับให้สภาเป็นผู้แก้ไขว่า เนื่องจากวุฒิสภามีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป 2 ทาง คือ ฝ่ายของนายวิบูลย์ แช่มชื่น ส.ว.กาฬสินธุ์ และคณะ ที่ได้แสดงความเห็นว่า ร่างกฎหมายที่ส่งสภานั้นไม่ตรงกับมติของวุฒิสภา แต่มี ส.ว.อีกคณะหนึ่งที่เห็นว่าร่างที่วุฒิสภาส่งมายังสภาผู้แทนราษฎรนั้นตรงกับมติของวุฒิสภา ดังนั้นประธานวุฒิสภาควรเรียกประชุมปรึกษาเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยเป็นมติของวุฒิสภาและมีการแก้ไขให้ถูกต้อง


 


ส.ส.บัญชีรายชื่อผู้นี้กล่าวว่า จากนั้นประธานวุฒิสภาจะส่งเรื่องมายังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจะได้ประชุมพิจารณาว่าที่วุฒิฯ ส่งมานั้นได้แก้ไขถูกต้องหรือไม่ เพื่อลงมติเห็นชอบและนำเข้าสู่กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 ต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของประธานรัฐสภาต่อไป ทั้งนี้ หากมีกรณีเช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ก็สามารถนำผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเทียบเคียงได้ทันที เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกา


 


เมื่อถามว่า จะมีการแก้ไขข้อบังคับเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติต่อไปหรือไม่ นายปกิตกล่าวว่า เนื่องจากข้อบังคับของสภาถือเป็นเรื่องที่รัดกุมอยู่แล้ว แต่ข้อผิดพลาดคือเรื่องของตัวบุคคลหรือจิตสำนึกในการรับผิดชอบ จึงไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขข้อบังคับ แต่เมื่อผิดที่คนก็ต้องแก้ที่คน ไม่ใช่ที่ตัวหนังสือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net