รวมมิตร "อิมพีชเมนต์" ผู้นำ 5 ชาติ ใครจะเป็นรายต่อไป..

ถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะปิดประตูใส่หน้าคนไทยทั้งประเทศด้วยการปฏิเสธอย่างไม่ไยดีต่อคำร้องที่ส.ว.ทั้ง 28 คนออกมาเคลื่อนไหวให้มีการพิจารณาคุณสมบัติของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แต่ก็ใช่ว่าหนทางข้างหน้าจะตีบตันไปเสียหมด เพราะกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อล่ารายชื่อให้ครบห้าหมื่นชื่อยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสประชาชน นักศึกษา และองค์กรมากมายที่ออกมาสนับสนุน ความน่าจะเป็นที่ประเทศไทยจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างขึ้น อาจมาถึงเร็วกว่าที่คิดก็เป็นได้


 

จะว่าไปแล้ว กระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่ง (หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนามของการอิมพีชเมนต์-Impeachment) คือ กลไกสำคัญอันชอบธรรมที่มีไว้ควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารประเทศ และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้พ้นไปจากตำแหน่งก่อนเวลาอันควรได้ เพราะในกรณีที่ "คนที่คุณก็รู้ว่าใคร" ได้กระทำความผิด หรือก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงขณะดำรงตำแหน่ง การปล่อยให้ "เขาคนนั้น" ยังดำรงตำแหน่งต่อไป อาจจะนำมาซึ่งภยันตรายที่หนักหนาสาหัส (กว่าเดิม) ต่อประเทศชาติและประชาชน

 

ประเทศต่างๆ ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่าการถอดถอนคือขั้นตอนที่ประชาชนทั่วไปก็สามารถทำได้ และเป็นกระบวนการที่มีความเป็นมายาวนาน ถ้าจะนับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน มีผู้นำที่โดนถอดถอนออกจากตำแหน่งได้สำเร็จทั้งหมด 5 ราย คือ คาร์ลอส อันเดร เปเรซ จากเวเนซุเอลา, เฟอร์นันโด คอลเลอร์ แห่งบราซิล, โจเซฟ เอสตราดา (อดีต) ผู้นำฟิลิปปินส์, โรห์ มู ฮุน แห่งเกาหลีใต้ และ โรลันดัส ปาคกาส จากลิทัวเนีย

 

เปรียบเทียบชะตากรรมผู้นำ 5 ชาติ

 

 

คาร์ลอส อันเดร เปเรซ

ประธานาธิบดีคนแรกในหน้าประวัติศาสตร์ที่โดนถอดถอนออกจากตำแหน่ง คือ คาร์ลอส อันเดร เปเรซ อดีตผู้นำประเทศเวเนซุเอลา ตั้งแต่ปี 1989-1993 (พ.ศ. 2532-2536) เนื่องจากมีผู้กล่าวหาว่าอันเดรรับเงินทุนลับจากรัฐบาลสหรัฐเป็นจำนวน 17 ล้านดอลลาร์ (ในเวลานั้นคิดเป็นเงินไทยราวๆ 425 ล้านบาท) เพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้ความช่วยเหลือ ไวโอเล็ตต้า ชาโมโร ซึ่งเป็นรัฐมนตรีของประเทศนิคารากัว และมีส่วนเกี่ยวพันกับการปราบปรามกองกำลังฮอนดูราส์

 

นอกจากนี้ การที่อันเดรและรัฐบาลยอมรับเงินกู้ยืมจากกองทุนไอเอ็มเอฟมาทั้งสิ้น 450 ล้านดอลลาร์ หรือ 1,250 ล้านบาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2532 ซึ่งเป็นปีแรกในการดำรงตำแหน่งของอันเดร ทำให้ประชาชนไม่พอใจ เพราะเขาเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยที่คัดค้านรัฐบาลชุดก่อนหน้าเอาไว้อย่างรุนแรงว่าการยอมรับเงินของไอเอ็มเอฟก็ไม่ต่างจาก "การรับระเบิดเวลาเข้ามาในประเทศ"

 

เมื่ออันเดรกลืนน้ำลายตัวเองด้วยการยอมลงนามกับกองทุนไอเอ็มเอฟในมติวอชิงตัน (Washington Consensus) ทำให้มีการประท้วงเกิดขึ้นกลางกรุงคาราคัส จนเป็นสาเหตุให้เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ และเป็นที่จดจำกันต่อมาในนามของ "เหตุการณ์นองเลือดที่คาราคัส"

 

หลังจากนั้น สื่อมวลชนและชาวเวเนซุเอลาก็ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งช่วยกระพือกระแสความไม่พอใจในตัวอันเดรและรัฐบาลมากขึ้น การเรียกร้องมีการถอดถอนประธานาธิบดีเวเนซุเอลาจึงมีจุดเริ่มต้นมาจากความไม่พอใจของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้วุฒิสมาชิกบางส่วนทำเรื่องถอดถอนอันเดรได้ โดยใช้หลักฐานเกี่ยวกับเงินสนับสนุนลับๆ ที่ได้จากสหรัฐมาเป็นเหตุผลประกอบคำร้องขอถอดถอน

 

ในความเป็นจริง การรับเงินสนับสนุนลับๆ นี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ามีความผิดจริงหรือไม่ เพราะแนวร่วมของรัฐบาลกล่าวว่าเงินลับที่ได้มาเป็นข้อยกเว้น เพราะถือเป็นเงินส่วนตัวที่ประธานาธิบดีไม่จำเป็นต้องแจกแจง และไม่ถือเป็นการคอรัปชั่นตามที่ถูกกล่าวหาในกระบวนการถอดถอน แต่ถึงที่สุดแล้วอันเดรก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ไมอามี, สหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่อาจทนรับความกดดันจากพลังประชาชนได้

 

เฟอร์นันโด คอลเลอร์ เดอ เมลโลว์

ประธานาธิบดีคนที่สอง (ของโลก) ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง คือ เฟอร์นันโด คอลเลอร์ ซึ่งเคยเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ของบราซิลมาก่อน เพราะเขามีภูมิหลังที่ดีและมีประวัติสะอาดสะอ้าน มีพ่อที่เป็นทั้งนายกเทศมนตรีเมืองอาลากอสและเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่น่านับถือในสายตาของประชาชน ประกอบกับว่าคอลเลอร์เป็นคนที่มีบุคลิกหน้าตาดี ประชาชนบาวชราซิลจึงพร้อมใจเทคะแนนให้เต็มที่เมื่อคอลเลอร์ลงสมัครรับเลือกในปี 1989 (2532)

 

อย่างไรก็ตาม คอลเลอร์ดำรงตำแหน่งได้เพียงสองปีก็ถูกถอดถอน เพราะน้องชายแท้ๆ ของเขายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยให้เหตุผลว่าเฟอร์นันโด คอลเลอร์ ทุจริตคอรัปชั่นด้วยการแปลงสินทรัพย์ของรัฐให้กลายเป็นของเอกชน เพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง รวมถึงการยกเลิกภาษีและกฏหมายบางอย่างเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนหนุนหลัง ซึ่งกรณีที่น้องชายของเขายกมาอ้างก็คือการสั่งให้ยกเลิกภาษีนำเข้าของสินค้าบางประเภท ทำให้กิจการของกลุ่มทุนบางกลุ่มเติบโตพรวดพราด ในขณะที่ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมของคนในชาติกลับย่ำแย่ เพราะแพ้ทางให้กับสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ

 

เมื่อมีการอิมพีชเมนต์เกิดขึ้น สื่อมวลชนและวุฒิสมาชิกทั้งหลายก็ช่วยกันกระจายข่าวไปยังประชาชนให้มากที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญจึงรับเรื่องเอาไว้และตัดสินให้คอลเลอร์ออกจากตำแหน่งจนกว่าจะมีการพิสูจน์ได้ว่าเขาไม่มีส่วนในการคอรัปชั่น ทำให้ โฆเซ่ ซาร์นีย์ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน

 

 

โจเซฟ เอสตราดา

ถ้าจะพูดถึงผู้นำประเทศที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับนายกฯ ทักษิณ มากที่สุดในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โจเซฟ เอสตราดา แน่ๆ

 

นอกจากเอสตราดาจะเข้ามาในรัฐบาลด้วย "พลังมหาชน" แล้ว เขายังได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของคนยากคนจน-ชนชั้นรากหญ้าทั้งหลายเช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีของไทยด้วย สาเหตุที่ทำให้เอสตราดาเป็นผู้นำที่มีชาวบ้านรักมากที่สุดก็เป็นเพราะเขาเคยเป็นนักแสดงที่รับบทบาทของนักต่อสู้ข้างถนน หรือไม่ก็รับบทเป็นแก๊งสเตอร์ที่รักความยุติธรรม เมื่อเอสตราดาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 1998 (พ.ศ.2541) จึงได้รับคะแนนเสียงแบบถล่มทลาย และเขาได้ปฎิญาณตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันนั้นเอง

 

ความนิยมของประชาชนที่มีต่อเอสตราดา เป็นความนิยมที่เกิดแก่ตัวบุคคลล้วนๆ แต่แทบจะไม่ได้มีส่วนกับนโยบายของเขาเลยด้วยซ้ำไป เมื่อการทำงานของรัฐบาลเอสตราดาผ่านไปได้ไม่นาน กลิ่นของการคอรัปชั่นก็โชยมาเป็นระยะ เพราะเอสตราดาขึ้นชื่อในเรื่องของการเล่นพนัน เจ้าสำราญ และเป็นนักรักตัวฉกาจ ซึ่งหมายความว่าบทบาทของเขาในฐานะ "ผู้นำประเทศ" แทบไม่ได้โผล่ออกมาสู่สายตาประชาชนสักเท่าไหร่ ประกอบกับนักธุรกิจซึ่งมีความใกล้ชิดกับเอสตราดาถูกสอบสวนพบว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับการปั่นหุ้นและเก็งกำไรด้วยการใช้ข้อมูลภายใน (Insider) ทำให้กลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่และรายย่อยไม่พอใจ แต่เอสตราดาก็ใช้กำลังภายในทำให้ประเด็นการขอถอดถอนตกไปจากการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้

 

นอกจากนี้ เอสตราดายังกุมความนิยมในหมู่คนยากจนส่วนใหญ่ได้ด้วยการประกาศสงครามปราบโจรใต้-เอ้ย ไม่ใช่-ประกาศนโยบายปราบปรามกองกำลังมุสลิมที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่ถึงที่สุดแล้ว ชนชั้นกลางและกลุ่มประชาสังคมที่ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวซึ่งเรียกร้องให้เอสตราดาออกจากตำแหน่งก็ประสบความสำเร็จ เมื่อพวกเขาสามารถขับไล่เอสตราออกจากตำแหน่งได้ แม้จะไม่อาจถือว่าเอสตราดาถูกถอดถอนตามกระบวนการทางกฏหมาย แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าความเคลื่อนไหวจากประชาสังคมยังเป็นสิ่งสำคัญต่อกรณีระดับประเทศเช่นนี้อยู่

 

 

โรห์ มู ฮุน

ผู้นำจากดินแดนกิมจิ โรห์ มู ฮุน ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 12มีนาคม 2547 หลังจากที่เพิ่งดำรงตำแหน่งไปได้เพียงปีเศษๆ โดยสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบว่าประธานาธิบดีมูห์ ฮุนกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจริงหรือไม่ เพราะประธานาธิบดีเผลอกล่าวสนับสนุนพรรคยูริที่ตนสังกัดอยู่ต่อหน้าประชาชนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งผู้ช่วยของมู ฮุน ก็พัวพันกับการรับสินบนด้วย ส่วนเหตุผลข้อสุดท้ายก็คือความล้มเหลวด้านการบริหารเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ข้อเรียกร้องที่กล่าวมาทำให้เขาพ้นจากตำแหน่งประธนาธิบดีชั่วคราว

 

จนกระทั่งถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้จึงประกาศคำวินิจฉัยออกมาให้ชาวกิมจิได้รับรู้ว่ามูห์ ฮุนฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญในของเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองของข้าราชการและผู้นำประเทศ แต่เนื่องจากว่าการกล่าวถึงพรรคยูริเป็นการตอบคำถามของสื่อมวลชน จึงไม่นับว่าเป็นการรณรงค์หาเสียงให้พรรค ส่วนอีก 2 ข้อหา มีมติเนชอบว่ามู ฮุนไม่มีความผิด และการกระทำความผิดสถานเดียวที่มีอยู่ก็ไม่ได้เป็นความผิดรุนแรงถึงขั้นที่ต้องถอดถอนออกจากตำแหน่ง โรห์ มู ฮุน จึงกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง

 

 

โรลันดัส ปาคกาส

นายกรัฐมนตรีของลิทัวเนียคนนี้ ได้ชื่อว่าเป็น "นักการเมืองที่มีข่าวอื้อฉาวที่สุด" ตั้งแต่ลิทัวเนียประกาศเอกราชเป็นต้นมา เพราะวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2544 นายกฯ โรลันดัส ปาคกาส ได้ชิงลาออกจากตำแหน่งเสียก่อน เนื่องจากมีปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคม 2546 อดีตนายกรัฐมนตรี ปาคกาสได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนั้นด้วย

 

ผลปรากฏว่าปาคกาสประสบชัยชนะเหนือวัลดัส อะดัมคุส ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญไปได้ด้วยคะแนนร้อยละ 54.91 และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 เพราะประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่ายังไม่มีผู้สมัครคนไหนที่เข้าท่าเท่ากับปาคกาส ทำให้ผู้นำคนใหม่มั่นใจถึงขั้นประกาศออกมาเป็นวาทะแห่งปีว่า "ผมจะอยู่ในตำแหน่งนี้ไปอีก 10 ปี" แต่หลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไปได้เพียงปีเดียว รัฐสภาลิทัวเนียก็ลงมติให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีปาคกาสออกจากตำแหน่ง เนื่องจากตรวจพบว่าปาคกาสกระทำผิดในข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญจริง

 

ข้อกล่าวหาทั้งหมดมี 3 เรื่อง คือ การมอบสัญชาติลิทัวเนียให้แก่นักธุรกิจรัสเซียซึ่งพัวพันกับการค้าอาวุธโดยมิชอบ, การเปิดเผยข้อมูลลับของราชการ และการใช้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซงธุรกิจของบริษัทเอกชนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

 

ทิศทางของแต่ละประเทศหลังจากมีการถอดถอนผู้นำ

คำถามยอดนิยมที่เกิดขึ้นหลังจากมีการถอดถอนผู้นำทั้ง 5 ประเทศออกจากตำแหน่ง ไม่แตกต่างจากที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่สักเท่าไหร่ เพราะคำถามว่า "ถ้าไล่เขา แล้วเราจะเอาใครมาแทน?" คือข้อสงสัยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังหาคำตอบให้กับตัวเองไม่ได้ แต่ถ้าหากมองจากห้ากรณีระดับโลกเหล่านี้ เราจะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงที่ตามมา (หลังการถอดถอน) อาจไม่ได้เป็นความเลวร้ายเสมอไป

 

แม้เวเนซุเอลาและบราซิลจะประสบกับภาวะขาดแคลนผู้นำอยู่ในระยะหนึ่ง แต่การเลือกตั้งซึ่งเกิดขึ้นหลังกระบวนการถอดถอน ส่งผลดีกับทิศทางของทั้งสองประเทศอย่างเห็นได้ชัด เพราะเวเนซุเอลาได้ผู้นำที่มีความเด็ดขาดในการจัดการและมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อระบบทุนนิยมอย่าง ฮิวโก ชาเวซ มาช่วยบรรเทาความบอบช้ำทางเศรษฐกิจลงได้บ้าง เพราะถึงแม้ว่าปัญหาเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาจะยังไม่พัฒนาถึงขั้นก้าวกระโดด แต่อาการของปัญหาก็ไม่ได้ทรุดลงไปมากนัก เพราะผู้นำคนใหม่ของบราซิลยังมาจากพรรคฝ่ายซ้ายที่เชื่อมั่นในแนวคิดแบบสังคมนิยม ทำให้พอจะสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนได้บ้างว่าเขาคงจะไม่คอรัปชั่นในระดับนโยบายแบบมโหฬารบานตะไทแน่ๆ

 

ส่วนบราซิลก็ได้ หลุยส์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ซึ่งเป็นนักการเมืองสายกรีนและเป็นนักปฏิบัติมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ และมีแนวโน้มว่าจะแก้ไขปัญหาภายในประเทศด้วยวิธีที่แตกต่างไปจากเดิม รวมถึงเป็นผู้นำที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากขึ้นด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำของบราซิลส่งผลดีมากกว่าผลเสียแก่ประชาชน

 

หากประเทศที่มีความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยยะสำคัญที่สุดคงจะหนีไม่พ้นเกาหลีใต้ เพราะประธานาธิบดีมู ฮุน แสดงสปิริตด้วยการยินยอมออกจากตำแหน่ง (ชั่วคราว) แต่โดยดี และยอมรับการพิจารณาไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญด้วยความร่วมมือเต็มที่ (เพราะเขาเคยเป็นทนายด้านสิทธิมนุษยชนมาก่อน) ทำให้กระแสความนิยมในตัวมู ฮุน กระเตื้องสูงถึงร้อยละ 20 เลยทีเดียว

 

การยอมรับกฏ กติกา และคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ประธานาธิบดีมู ฮุนแสดงออกมา ส่งผลดีให้กับเกาหลีใต้มากทีเดียว เพราะถ้าหากมองจากสายตาของนักวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการเมืองการปกครอง วุฒิภาวะของผู้นำเป็นเรื่องสำคัญต่อการบริหารประเทศไม่แพ้ปัจจัยอื่นๆ เลย แม้ว่าการกลับมาของมู ฮุนจะไม่ได้สร้างความพอใจให้กับประชาชนทั้งหลายสักเท่าไหร่ เพราะกรณีที่รัฐบาลส่งทหารเกาหลีใต้ไปช่วยสหรัฐรบที่อิรัก และปัญหาเศรษฐกิจที่ยังร่อแร่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด แต่เมื่อปฏิกริยาของผู้นำประเทศที่ตอบโต้กับความขัดแย้งภายในเป็นไปด้วยดีและเคารพในกฏเกณฑ์ที่มีอยู่ ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ก็ดูจะมีน้ำหนักในสายตาชาวโลกมากขึ้นทันตาเห็น

 

ส่วนทางด้านฟิลิปปินส์ ต้องถือว่าอาการยังทรงกับทรุดอยู่ เพราะ กลอเรีย แมคคาปากัล อาร์โรโย ซึ่งมารับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ก็มีปัญหาคล้ายๆ กับเอสตราดาตรงที่มีส่วนพัวพันกับการคอรัปชั่นด้วยการรับสินบน การแก้ไขปัญหาของอาร์โรโยก็ได้แก่การเตะถ่วงและซื้อเวลาการพิจารณาถอดถอนไปเรื่อยๆ ด้วยการอ้างถึงความมั่นคงและภาพลักษณ์โดยรวมที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับการที่มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงทำให้อุณภูมิร้อนระอุทางการเมืองฟิลิปปินส์ลดลงไปบางส่วน แต่ชาวฟิลิปปินส์คงรู้ดีว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน แต่มันยังคงอยู่เพื่อรอการสะสางในเร็ววัน

 

ในกรณีของลิทัวเนีย อาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปอะไรที่ชัดเจนนัก แต่หลังจากการถอดถอนประธานาธิบดีปาคกาสออกไปจากตำแหน่ง การเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่าเป็นไปอย่างขาวสะอาดก็เกิดขึ้นต่อจากนั้นไม่นาน

หากจะกันมาดูสถานการณ์ในประเทศไทยกันดูบ้างก็จะพบว่าบทวิเคราะห์เรื่องความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นประจำเดือนกุมภาพันธ์ของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งซึ่งแจกจ่ายให้กับลูกค้าต่างๆ ได้รายงานถึง "ปัจจัยลบ" ในตลาดหลักทรัพย์ว่าราคาหุ้นจะได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นคงทางการเมืองอันเกิดจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เป็นเพียงระยะสั้นๆ แต่สิ่งที่น่าหวั่นใจกว่านั้นคือแนวโน้มของราคาหุ้นในระยะยาว เพราะมีข่าวว่านักลงทุนจากต่างชาติไม่มั่นใจในการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสักเท่าไหร่นัก

เพราะจนถึงวันนี้ ความโปร่งใสในกรณีที่ลูกชาย-ลูกสาวของนายกฯ ทักษิณทำการขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ก็ยังไม่ได้รับการชี้แจงแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ข้อมูลอินไซเดอร์ หรือข้อมูลภายในมาปั่นราคาหุ้น จากนั้นก็เป็นเรื่องของจำนวนหุ้นที่ไม่รู้ว่ามีเท่าไหร่กันแน่ รวมถึงความซับซ้อนโยงใยระหว่างแอมเพิลริชและเกาะบริติชเวอร์จินนั่นก็ด้วย

ข้อข้องใจเหล่านี้ ไม่เคยมีคำชี้แจงแถลงไขจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเลย ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ต่างหากที่อาจจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติไม่คิดจะมาร่วมลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยในระยะยาว และที่ร้ายกว่านั้นคือมันอาจจะส่งผลกระทบถึงโครงการเมกะโปรเจ็คต์ (ซึ่งทุ่มงบโฆษณาเสียใหญ่โต) ของรัฐบาลด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว ความมั่นคง (ภายในประเทศ) และความเชื่อมั่น (ภายนอกประเทศ) คงไม่อาจเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ผู้นำประเทศยังคงทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนและออกอาการตอบไม่ตรงคำถาม และไม่แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีใดๆ ทั้งสิ้นที่ประชาชนยังคงสงสัย ซึ่งมันคงไม่ต่างอะไรกับการเกาไม่ถูกที่คัน

 

การถอดถอนผู้นำประเทศออกจากตำแหน่งจึงไม่ได้หมายถึงความวุ่นวายหรือความไม่ต่อเนื่องทางการเมืองอย่างที่ใครหลายคนคิดเสมอไป หากแต่น่าจะหมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้นำแสดงความรับผิดชอบและแสดงความเคารพต่อกฏและกติกาทางการเมืองที่กำหนดเอาไว้ด้วยเช่นกัน

 

 

=================================================

ต้องการแสดงความเห็นและอ่านความเห็นของข่าวนี้ คลิกที่นี่

=================================================

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท