Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 23 ก.พ. 49     วันที่ 22 ก.พ. คณาจารย์นิติศาสตร์ 50 คน จาก 14 มหาวิทยาลัย ร่วมออกแถลงการณ์ ขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คน พิจารณาตนเองกรณีไม่รับวินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีว่ามีการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 209 หรือไม่



 


 โดยแถลงการณ์ดังกล่าวสรุปความได้ว่าจากการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 8 ท่าน ลงมติไม่รับคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 27 คน ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 209 ซึ่งมีผลทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 216(6) หรือไม่นั้น


 


 คณาจารย์สอนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ขอแสดงความคิดเห็นดังต่อไปนี้


 


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้วางกฎเกณฑ์ป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจหน้าที่ในทางการเมืองไปเอื้อต่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจ โดยมาตรา 209วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท..."


 


และมาตรา 209 วรรคสองบัญญัติว่า "ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใดๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว" หากมีรัฐมนตรีคนใดละเมิดมาตรานี้


 


มาตรา 216(6) บัญญัติให้เป็นความผิดถึงขนาดต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 96 ประกอบมาตรา 216 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่วินิจฉัยตัดสิน และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของแต่ละสภาเป็นผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย มาตรา 96 นี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องของ ส.ว. หรือของ ส.ส. หากมีจำนวนผู้เข้าชื่อร้องขอครบจำนวนหนึ่งในสิบ ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องรับคำร้องไว้พิจารณา การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้องได้มีกรณีเดียวคือ คำร้องต้องเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลหรือไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยเท่านั้น


 


เมื่อพิจารณามูลจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอร์เรชันให้กับกองทุนเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ปรากฏข้อเท็จจริงหลายประการที่ส่อไปในทางที่ว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีการกระทำที่ละเมิดต่อมาตรา 209 ไม่ว่าจะมาจากปากคำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เอง "พอเข้าสู่การเมืองก็ถูกโจมตีว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน พอดีมีคนสนใจอยากจะซื้อ ลูกๆ เขาก็บอกว่า พ่อขายไปเถอะ"


 


หรือจากปากคำของนายพานทองแท้ ชินวัตร "การขายหุ้นครั้งนี้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่" หรือจากข้อมูลที่ปรากฏมาทางหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีบริษัทแอมเพิลริชอินเวสท์เมนท์ กรณีนี้จึงมีมูลและมีสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องรับไว้พิจารณา ไม่อาจที่จะปฏิเสธได้


 


นอกจากนี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธไม่รับคำร้องด้วยเหตุผลว่าคำร้องเคลือบคลุมไม่ชัดเจนนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากทั้ง 8 ท่าน ไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญ และไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของตนเอง


 


แถลงการณ์ยังระบุอีกว่าเรื่องดังกล่าวมิใช่คดีแพ่งที่เป็นเรื่องเอกชนฟ้องร้องเอกชน ที่ศาลมีอำนาจที่จะไม่รับการฟ้องร้องได้ แต่กรณีนี้เป็นคดีมหาชน ที่ต้องใช้ระบบไต่สวน ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้ชี้มูลให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนว่า มีรัฐมนตรีคนหนึ่งคนใดกระทำการอันเป็นการต้องห้ามที่ถึงขั้นต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่


 


การดำเนินการให้ข้อเท็จจริงปรากฏออกมาจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ผู้ร้อง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนแล้ว ไม่ปรากฏว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 209 ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะยกคำร้องได้


  


ทั้งนี้ ประเทศชาติกำลังประสบกับปัญหาที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าอาจจะนำไปสู่ความรุนแรง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 แทนที่นำความขัดแย้งมาสู่กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ และให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยกระบวนการยุติธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 กลับปฏิเสธการทำหน้าที่ของตน


  


การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงขอเรียกร้องให้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากทั้ง 8 ท่าน แสดงความรับผิดชอบด้วยการพิจารณาตนเอง ทั้งนี้เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักการปกครองโดยกฎหมาย และความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย


  


รายชื่อคณาจารย์นิติศาสตร์จำนวน 50 ท่าน ที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 8 ท่านพิจารณาตนเอง


 


1. กรกฎ ทองขะโชค อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ


2. กรรภิรมย์ โกมลารชุน อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


3. กิตติ ชยางคกุล อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย


4. กฤฏิฎีกา ทองเพ็ชร อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล


5. กฤษณะ ชิณฉัตร อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


6. ขรรค์เพชร ชายทวีป อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


7.คมสัน โพธิ์คง อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


8. จริยาวดี มิตรสูงเนิน อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล


9. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


10. จันทร์เพ็ญ หงษ์มาลัย อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย


11. จรัส วีสุวรรณ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ


12. เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม


13. จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


14. จุมพล แดงสกุล อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


15. ชัช วงศ์สิงห์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


16. ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


17. นิติลักษณ์ แก้วจันดี อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


18. นฤตย์ หม็องพร้า อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต


19. นเรศร์ เกษะประกร อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ


20. นัทมน คงเจริญ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


21. บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


22. บุญชู ณ ป้อมเพ็ชร อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


23. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


24. ปราชญา อ่อนนาค อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต


25. ผจญ คงเมือง อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


26. พิมล จงวรานนท์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย


27. พิรุณา ติงศภัทิย์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


28. ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


29. มณิสรา จุลสมัย อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


30. ยศศักดิ์ โกโศยกานนท์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต


31. วีรวัฒน์ จันทโชติ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


32. วนิดา แสงสาระพันธ์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ


33. ศรุต จุ๋ยมณี อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ


34. ศักดิ์ชาย จินะวงศ์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


35. ศักดิ์ณรงค์ มงคล อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย


36. ศิริญญา สมจริง อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


37. ศาสตรา โตอ่อน อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต


38. สถาพร สระมาลีย์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


39. สหธน รัตนไพจิตร อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


40. สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


41. สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


42. สมบัติ วอทอง อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


43. สมยศ เชื้อไทย อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


44. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


45. สุปรียา แก้วละเอียด อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


46. สุรวุธ จิตกุศล อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ


47. แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


48. สาวตรี สุขศรี อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


49. อภินันท์ ศรีศิริ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


50. อิทธิพล ปรีดิประสงค์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย


 


ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสุดเก๋าสวน 50 คณาจารย์


  


นายมานิต วิทยาเต็ม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ 50 อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ออกหนังสือเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทบทวนตัวเอง หลังจากมีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องของ 28 ส.ว. ว่า การวินิจฉัยในคำร้องทุกเรื่องถือเป็นอำนาจและเป็นดุลพินิจของตุลาการแต่ละคน ที่มีความเป็นอิสระในการวินิจฉัยคำร้องทุกๆเรื่อง ถึงแม้ว่าทุกคนจะมีความรู้และมีความสามารถที่ไม่เท่ากัน แต่ทุกคนก็ควรจะต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต และถือว่าตัวเองก็มี เชื่อว่าอาจารย์คณะนิติศาสตร์ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องนี้คงจะมีเช่นกัน


  


นายมานิต กล่าวด้วยว่า หลังมีคำวินิจฉัยดังกล่าวออกไป ตุลาการการพูดกันบ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญควรจะทำอย่างไรต่อไป เพราะบางครั้งการวิพากษ์วิจารณ์ที่ออกมาใช้คำหยาบๆคายๆ หากการวิจารณ์เป็นธรรมและปราศจากอคติคงจะยอมฟังได้ แต่มีความเชื่อส่วนตัวคือ การที่จะทำให้ทุกคนมีความเชื่อเหมือนกันคงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้


 


 










ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net