Skip to main content
sharethis


ประชาไท-24 ก.พ. 2549 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันพระปกเกล้า สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และกลุ่มพลังไท เสนองานวิจัยเรื่อง ธรรมาภิบาลกิจการไฟฟ้าในประเทศไทย: ตัวชี้วัดเพื่อรังสรรค์การปฏิบัติที่เป็นเลิศและส่งเสริมระบบการรับผิดต่อสาธารณะ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 


นายศุภกิจ นันทะวรการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า การศึกษาวิจัยครั้งนี้เน้นไปที่กระบวนการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในช่วงปี 2548 เพราะเป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายครั้งล่าสุดที่มีความสำคัญมากต่อระบบไฟฟ้าของไทย โดยผลการประเมินตัวชี้วัดธรรมาภิบาลในส่วนกระบวนการนโยบาย สรุปได้ว่า การแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไปเป็นบริษัท กฟผ. จำกัด ซึ่งดำเนินการตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ทำให้ไม่ผ่านกระบวนการนิติบัญญัตินั้นถือว่ามีหลักการธรรมาภิบาลด้านระบบความพร้อมความรับผิดชอบต่อสาธารณะอยู่ในเกณฑ์ต่ำสุด อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า พรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่ได้เสนอให้แก้ไขหรือยกเลิก


 


ในแง่การมีส่วนร่วมของประชาชน พบว่า เมื่อรัฐบาลนำการแปรรูปกฟผ. เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีในปี 2548 ได้อ้างถึงกระบวนการประชาพิจารณ์ที่ทำขึ้นเมื่อปี 2547 ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแปรรูป ทั้งที่ควรจะต้องทำประชาพิจารณ์ใหม่ เนื่องจากมีการเปลี่ยนเนื้อหานโยบายไปจากเดิม นอกจากนั้นยังรับฟังความคิดเห็นเฉพาะพนักงานกฟผ.เท่านั้น จึงถือว่าเป็นกระบวนการตัดสินใจที่ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน


 


ด้านการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะประเมินอยู่ในระดับต่ำ เพราะพบว่าไม่มีเว็บไซต์ใดของหน่วยงานหลักในการแปรรูปรวบรวมเอกสารของรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปไว้เลย ทั้งที่มีเอกสารมากมายจัดทำขึ้นในปีนั้น นอกจากนี้ยังไม่มีการเสนอภาพรวมของโครงสร้างระบบไฟฟ้าหลังการแปรรูปกฟผ. ไม่มีการจัดระบบให้ง่ายต่อการสืบค้นข้อมูล และข้อมูลที่นำเสนอก็มักเป็นการประกาศหลังจากตัดสินใจไปแล้ว


 


ด้านการนำเสนอของสื่อมวลชนประเมินอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง เพราะพบว่า ไม่ค่อยมีบทความวิเคราะห์การแปรรูปในหนังสือพิมพ์ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างระบบไฟฟ้าก็มักถูกตัดเหลือเพียงสาระที่รัฐบาลต้องการการสนับสนุนจากสาธารณชน โดยรัฐและหน่วยงานต่างๆ ซื้อพื้นที่โฆษณาจากทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวในช่วงปลายปี 2548 จนกระทั่งศาลปกครองระงับการกระจายหุ้นกฟผ. ในตลาดหลักทรัพย์ชั่วคราว สื่อมวลชนก็ให้ความสนใจเสนอข่าวและบทวิเคราะห์มากขึ้น


 


นอกจากนี้กระบวนการนโยบายที่ผ่านมายังขาดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารล่วงหน้าในเวลาที่เพียงพอก่อนการตัดสินใจ ทำให้สาธารณชนไม่มีโอกาสเสนอความเห็นหรือคัดค้าน ด้านโอกาสของฝ่ายต่างๆ ในสังคมในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายพบว่ายังมีจำกัด เนื่องจากแม้ว่าคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรจะประชุมสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่ได้ทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในเรื่องการแปรรูป หรือจัดกระบวนการสาธารณะ และรายงานที่ให้เหตุผลเรื่องการแปรรูปเลย ด้านวุฒิสภา แม้จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและรายงานต่อวุฒิสภา แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นำผลการศึกษาดังกล่าวไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจแปรรูป กฟผ. แต่อย่างใด


 


ด้านกระบวนการการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน กลุ่มพลังไท กล่าวว่า ในการศึกษาวิจัยประเมินจากคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า โดยจำกัดขอบเขตระยะเวลาวิจัยไว้ที่ 31 ธันวาคม 2548พบว่า กระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการกำกับดูแลยังขาดความเป็นอิสระ โปร่งใสและขาดการกำหนดให้คณะกรรมการหมดวาระในเวลาที่เหลื่อมกัน


 


ส่วนการเปิดเผยข้อมูลขององค์กรกำกับดูแล ประเมินอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง เนื่องจากประชาชนมีสิทธิ์ในการรับรู้เอกสารต่างๆ นอกจากเอกสารนั้นเป็นเอกสารลับ อย่างไรก็ตาม ในการตัดสินว่าเอกสารใดลับไม่ลับขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ ด้านการเข้าถึงข้อมูลเอกสารพบว่า มีระบบข้อมูล แต่ประชาชนไม่รู้ว่าจะขอข้อมูลได้จากทางไหนบ้าง


 


ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแลนั้นไม่สามารถประเมินได้ อาจเพราะในช่วงศึกษาวิจัยยังไม่มีการตั้งองค์กรกำกับดูแลจึงไม่สามารถนำตัวชี้วัดมาประเมินได้


 


เรื่องระบบรับผิดชอบต่อสาธารณะและการเยียวยาความเสียหาย พบว่า ข้อกำหนดที่มีไม่เพียงพอในการป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะกำหนดว่าคณะกรรมการต้องไม่ดำรงตำแหน่งอื่นใดนอกเหนือจากตำแหน่งคณะกรรมการ แต่สามารถดำรงตำแหน่งหลังจากหมดวาระได้ ด้านกระบวนการการอุทธรณ์ประเมินอยู่ในระดับต่ำสุด เพราะระเบียบสำนักนายกฯ ไม่มีข้อกำหนดว่าด้วยการอุทธรณ์หรือทบทวนคำสั่งของคณะกรรมการฯ ซึ่งเท่ากับคำสั่งหรือคำวินิจฉัยขององค์กรกำกับดูแลถือเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้


 


ด้านคำสั่งและการตัดสินใจขององค์กรกำกับดูแลก็ประเมินอยู่ในระดับต่ำสุดเช่นกัน เนื่องจากไม่มีการกำหนดว่าการตัดสินใจใดๆ ขององค์กรกำกับดูแลต้องมีเหตุผลประกอบหรือตอบข้อคิดเห็นของประชาชน ส่วนหลักการกำหนดค่าไฟฟ้า พบว่า ขาดมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ชัดเจน ขาดการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงหลักเกณฑ์กำหนดค่าไฟฟ้าและใช้ศัพท์เทคนิคในการนำเสนอทำให้เข้าใจยาก มีข้อดีเพียงข้อเดียวคือมีการศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนและผลด้านเศรษฐศาสตร์


 


สำหรับขีดความสามารถขององค์กรพบว่า องค์กรกำกับดูแลที่จัดตั้งขึ้นสามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนดที่กฎหมายจัดตั้ง แต่มีข้อจำกัดเรื่องอำนาจ เช่น ไม่มีอำนาจในการปรับโทษ ออกใบอนุญาต กำหนดฐานค่าไฟฟ้า หรืออนุมัติสัญญาซื้อขายไฟฟ้า นอกจากนี้ยังไม่มีอิสระในการตัดสินใจและปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกฯ และกพช. ขาดความเป็นอิสระทางการเงินและการคัดเลือก ว่าจ้างบุคลากรที่เพียงพอ เพราะไม่มีข้อกำหนดที่แน่ชัดว่ารายได้และงบประมาณขององค์กรมาจากไหน


 


ส่วนมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมนั้น นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีพรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 แต่ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมบางเรื่องกฎหมายยังไม่ได้กำหนดไว้ ทำให้การประเมินการเปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชนทำได้ยาก และบางกรณีกฎหมายก็ยังไม่ชัดเจนว่าครอบคลุมเรื่องใดบ้าง จึงสรุปได้ว่า กฎหมายเกี่ยวกับธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและสังคมในกิจการไฟฟ้ายังไม่สอดคล้องกับหลักความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล


 


นอกจากนี้ พบว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบของหน่วยงานของรัฐไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเพราะไม่มีกฎเกณฑ์บังคับไว้ กฎหมายเกี่ยวกับการอนุมัติก่อสร้างโรงงานและรายงานEIA ก็ไม่ได้กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการอนุมัติเห็นชอบ การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศก็ขาดกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นกัน ทั้งยังไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมต่อประชาชนที่มีรายได้น้อยอีกด้วย


 


ด้านความรับผิดต่อสาธารณะและกลไกการเยียวยา พบว่า คุณภาพของศาลปกครองที่พิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนในคดีสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ค่าสูงสุด โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองและศาลยุติธรรมได้ ส่วนการประเมินการเลิกจ้างพนักงานกฟผ. ไม่สามารถประเมินได้ เพราะรัฐไม่มีนโยบายเลิกจ้างพนักงาน


 


สำหรับการประเมินขีดความสามารถพบว่า ทั้งคณะกรรมาธิการทางนิติบัญญัติ ได้แก่ คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน วุฒิสภา ซึ่งรับผิดชอบร่างกฎหมายเกี่ยวกับกิจการไฟฟ้าและองค์กรประชาสังคมด้านคุ้มครองผู้บริโภคและพลังงาน มีขีดความสามารถในการประเมินประเด็นทางสิ่งแวดล้อมและสังคมสูง โดยในช่วง 1-2 ปีของการแปรรูปกิจการไฟฟ้า องค์กรประชาสังคมฯ ถือว่ามีบทบาทผลักดันประเด็นทั้งสองให้ประชาชนรับรู้ ส่งผลต่อการตัดสินใจทางนโยบายของภาครัฐ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net